Aromatic Farm นับ 1 ให้ถึง 10 บันไดสู่ความสำเร็จ การเกษตรยั่งยืน

ในประเทศไทย เกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) หมายถึง ระบบการเกษตรที่ครอบคลุมถึงวิถีชีวิตเกษตรกร กระบวนการผลิต และการจัดการทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ นำไปสู่การพึ่งตนเองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค มีรูปแบบค่อนข้างหลากหลาย โดยมีการเรียกชื่อต่างกันไป แต่พบว่ารูปแบบที่เป็นที่ยอมรับ และบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 เป็นต้นมา คือ เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ และเกษตรธรรมชาติ และรูปแบบอื่นๆ ที่สอดคล้องกับหลักการเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้ง 5 รูปแบบสามารถจัดเป็นกลุ่มได้ 3 กลุ่ม 1. เน้นการจัดการระบบดิน น้ำ และความหลากหลายของกิจกรรม 2. เน้นการจัดการปัจจัยการผลิต และ 3. เน้นการไม่รบกวนระบบ (แหล่งที่มา : สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม)

Aromatic Farm ถือเป็นอีกหนึ่งฟาร์มต้นแบบเกษตรกรรมยั่งยืน ที่มีการนำหลักคิดการทำเกษตรอินทรีย์ ผสมผสานกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ BCG Economy Model ในการสร้างความเข้มแข็ง ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” และเกิดความยั่งยืน

คุณนวลลออ เทอดเกียรติกุล หรือ พี่ออน เจ้าของ Aromatic Farm

คุณนวลลออ เทอดเกียรติกุล หรือ พี่ออน เจ้าของ Aromatic Farm ตั้งอยู่ที่ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อดีตมนุษย์เงินเดือน ตัดสินใจลาออกจากงานประจำก้าวเข้าสู่อาชีพเกษตรที่ใฝ่ฝันมาตั้งแต่อายุ 19 ปี แต่เธอเพิ่งจะมาได้ทำตามความฝันเมื่อตอนอายุ 40 ปี เธอบอกว่า “เป็นการวางแผนที่นานมาก แต่เราได้ความมั่นคงจากตรงนี้มา ไม่ใช่แค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่คือความยั่งยืน”

พี่ออน เล่าให้ฟังว่า Aromatic Farm มีจุดเริ่มต้นจากที่ตนเองไม่ได้เป็นเกษตรกรมาก่อน มีวิถีชีวิตอย่างคนทั่วไป คือเรียนจบและทำงานประจำอยู่ในเมืองเกือบครึ่งชีวิต จนถึงจุดที่ต้องการทำกิจการเป็นของตัวเอง และเลือกอาชีพเป็นเกษตรกร โดยสวนแห่งนี้เดิมเป็นสวนมะพร้าวที่ซื้อต่อมาจากเจ้าของเดิมที่ปลูกไว้เป็นเวลากว่า 7 ปี แล้วเรามาทำกิจการอีก 6 ปี เพราะฉะนั้นมะพร้าวของที่สวนนี้อายุ 13 ปีนั่นเอง

Aromatic Farm เกษตรอินทรีย์ ฟาร์มอัจฉริยะ

“สวนมะพร้าวแห่งนี้เริ่มต้นจากที่พี่เป็นโคโคนัท เลิฟเวอร์ ชอบดื่มน้ำมะพร้าวมาก จนใฝ่ฝันว่าอยากมีสวนมะพร้าวเป็นของตัวเอง แต่ยังเป็นความใฝ่ฝันที่เลี้ยงชีพไม่ได้ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ใช่โลกสวย เพราะฉะนั้นการที่เราชอบแล้วเราอยากทำเป็นสัมมาอาชีพ เราก็ต้องเกิดการวิเคราะห์ข้อมูลว่า ถ้าเราหันหลังให้ชีวิตเมืองหลวงแล้ว ออกจากงานประจำที่มีเงินเดือนมั่นคงเพื่อมาทำสวน มาทำธุรกิจการเกษตรมันจะเพียงพอในการเลี้ยงชีพเราได้ไหม ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาหาข้อมูล ตั้งแต่อายุ 19 ปี จนกระทั่งมาเริ่มตอนอายุ 40 ปี ฟังดูเป็นการวางแผนที่นานมาก แต่เราได้ความมั่นคงจากตรงนี้มา มันไม่ใช้ชั่วครั้งชั่วคราว” พี่ออน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ Aromatic Farm

สวนมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์
สไตล์
Aromatic Farm
ยึดหลัก 5 ข้อ สู่ความสำเร็จ

เมื่อผู้เขียนเกิดข้อสงสัยว่าทำไม Aromatic Farm ถึงเลือกที่จะปลูกมะพร้าวอินทรีย์ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก พี่ออน บอกว่า มีอยู่ 5 เหตุผลหลักๆ ดังนี้

  1. ธรรมชาติดีที่สุด ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก แต่ถ้าไม่ปรุงแต่งอะไรเลย ปล่อยแบบตามมีตามเกิดก็คงไม่ได้เช่นกัน ซึ่งความหมายของคำว่าไม่ปรุงแต่งมาก คือ “เราไม่ใช้สารเคมี หรือสารสังเคราะห์ในการบำรุงพืชผลภายในสวน แต่เราใช้วัสดุจากธรรมชาติในการบำรุงดูแล นี่คือสิ่งที่เราชอบและเป็นตัวตนเราอยู่แล้ว”
  2. คู่แข่งทางการตลาดน้อย เพราะโดยทั่วไปแล้วในแวดวงอุตสาหกรรมมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ยังมีไม่มากนัก หากคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรม นี่คือความโดดเด่นทางการตลาด
  3. เป็นสัมมาอาชีพ การทำสวนมะพร้าวอินทรีย์ตอนนี้ ถือว่าตอบโจทย์คำว่าสัมมาอาชีพแล้ว เพราะความหมายของคำว่า สัมมาอาชีพนอกจากเป็นอาชีพที่สุจริตแล้ว ต้องเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วย

“แน่นอนว่าถ้าสินค้าเราเหมือนคนทั่วไปเราก็จะอยู่ไม่ได้ในโลกของธุรกิจเพราะสเกลเราเล็กมาก เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้แตกต่างจากอุตสาหกรรม แตกต่างจากคนอื่น และ 1 ในความแตกต่างที่พี่ออนทำคือการเป็นอินทรีย์”

  1. แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ BCG Economy Model มาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ทำให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน ในเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
  2. ความเป็นตัวตน ที่ไม่ใช่การสร้างตัวตน แต่ใช้ความเป็นตนเองเป็นตัวแทนของ Aromatic Farm และเป็นหนึ่งในผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือไม่จำเป็นต้องเป็นคนรุ่นใหม่ แต่มีความต้องการพัฒนาสวนตนเองให้มีความโดดเด่นขึ้นมา
BCG ติดอยู่ทุกต้น เพื่อยืนยันว่ามะพร้าวน้ำหอมทุกต้นของ Aromatic Farm เป็นน้ำหอมพันธุ์แท้

Aromatic Farm ฟาร์มอัจฉริยะ
ต้นทุนต่ำ คุณภาพสูง

พี่ออน อธิบายว่า ปัจจุบัน Aromatic Farm ปลูกมะพร้าวน้ำหอมกว่า 400 ต้น บนพื้นที่ 10 ไร่ เน้นใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดการดูแล แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียน และนวัตกรรมเชิงสังคม โดยในส่วนของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้คือพลังงานสะอาด ใช้โซลาร์เซลล์ในการหล่อเลี้ยงสวนแห่งนี้บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ 10 กิโลวัตต์ แบ่งใช้ในโรงงานตัดแต่งมะพร้าว 5 กิโลวัตต์ และใช้หล่อเลี้ยงสวนซึ่งเป็นเลินนิ่งเซ็นเตอร์ อีก 5 กิโลวัตต์ เป็นในส่วนของเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานสะอาดที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

ร่องสวนสวย อุดมสมบูรณ์

ถัดมาคือเรื่องของการตรวจพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีจีโนมพืชมาพัฒนาเป็นเครื่องหมายดีเอ็นเอมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการประกันคุณภาพและควบคุมคุณภาพในระดับพันธุกรรม จะมีส่วนสำคัญ ในการย่นย่อ ระยะเวลาในการพัฒนาพันธุ์เหล่านั้นให้มีความรวดเร็ว มีคุณสมบัติของพันธุ์ถูกต้องแม่นยำตรงตามความต้องการของเกษตรกร ผู้บริโภค และตลาด สอดคล้องต่อสถานการณ์ของความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงปัญหาสภาพแวดล้อมวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นและยากต่อการเดาในอนาคต

ซึ่งจะเห็นได้ว่ามะพร้าวในสวนจะมีป้ายเล็กๆ พร้อมกับข้อความ BCG ปี 65 และหมายเลขต้น ติดอยู่ทุกต้น เพื่อยืนยันว่ามะพร้าวน้ำหอมทุกต้นของ Aromatic Farm เป็นน้ำหอมพันธุ์แท้ และยังคงรักษาสายพันธุ์แท้นี้ไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการผลิตพันธุ์มะพร้าวให้เป็นพันธุ์แท้จริงๆ ไม่ว่าจะนำไปปลูกที่ไหนสัดส่วนในการกลายพันธุ์ก็จะน้อยลง และยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นมะพร้าวน้ำหอมแท้ให้คงเดิม

และในด้านของนวัตกรรมเชิงสังคม Aromatic Farm ได้ทำงานร่วมกับชุมชน โดยมีเกษตรกรเครือข่ายอยู่ประมาณ 34 ครัวเรือน หรือประมาณ 1,020 ไร่ ที่ทำงานด้วยกัน จึงมองว่าเรื่องนี้เป็นนวัตกรรมเชิงสังคมที่ทุกคนสามัคคีกัน สร้างความเข้มแข็งไปด้วยกัน สุดท้ายแล้วการตลาดหรือการผลิตจะไปได้อย่างยั่งยืน

ประโยชน์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร

พี่ออน อธิบายถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเพิ่มเติมว่า แน่นอนว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง เบื้องต้นที่มองเห็นได้ชัดคือการลดรายจ่าย นวัตกรรมที่สวนผลิตปุ๋ยใช้เอง โดยการเอาของเสียจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ทางมะพร้าว เปลือกมะพร้าว มาทำปุ๋ยหมักเองโดยหมักกับมูลสัตว์ นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ลดรายจ่ายกับเกษตรกร

และในส่วนของการเพิ่มรายได้ ที่นี่ไม่ได้ปลูกแค่มะพร้าว แต่มีการปลูกพืชแซมภายในสวนมะพร้าว ทำให้เกิดรายได้อื่นๆ ตามมา รวมถึงการเลี้ยงชันโรงถือเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่ง ที่ Aromatic Farm ทำเป็นต้นแบบของกลุ่มและชุมชน เพื่อให้นำไปประยุกต์ใช้ภายในสวนของตนเอง ช่วยลดความเสี่ยง มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ซึ่งนวัตกรรมจะช่วยมาตอบโจทย์เรื่องตรงนี้

สถานีเรียนรู้ชันโรง “Aromatic Farm”

“พี่เริ่มรู้จักชันโรงตั้งแต่พี่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทางภาครัฐ ทั้งกับสำนักงานเกษตรในอำเภอ สำนักงานเกษตรต่างอำเภอที่อยู่ใกล้เคียงกัน พี่ๆ เขาก็มีความรู้เรื่องชันโรงแล้วก็มาสอนพี่ แล้วพี่เล็งเห็นข้อดี จึงเกิดความสนใจอยากนำชันโรงเข้ามาเลี้ยงภายในสวนมะพร้าวของตัวเองบ้าง ได้ศึกษาพฤติกรรมของชันโรงจนเริ่มเข้าใจ จนได้พัฒนาขึ้นมาเป็นอีกสถานีการเรียนรู้ชันโรง เป็นอีก 1 สถานี สอนให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจได้รู้ว่าชันโรงมีประโยชน์ยังไงต่อสวน ชันโรงเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์อะไรบ้าง แล้วยังเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย”

ประโยชน์ของการเลี้ยงชันโรงในสวนมะพร้าว

ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับชันโรงมาพอสมควร พี่ออน บอกว่า ประโยชน์ของชันโรง หลักๆ มีอยู่ 3 ข้อ คือ

  1. ช่วยเพิ่มผลผลิตมะพร้าวประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ไม่ต้องฉีดฮอร์โมนบำรุงเพื่อทำให้ผลผลิตดก แต่เป็นการเอาธรรมชาติช่วยธรรมชาติ
  2. เป็นตัวชี้วัดอีโคซิสเต็ม หรือระบบนิเวศ ถ้าสวนมีการฉีดสารเคมี ชันโรงอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตัวชี้วัดก็คืออีโคซิสเต็ม ถ้าไปนั่งอยู่สวนไหนแล้วมีแมลงมาตอม สามารถชี้วัดได้ว่าสวนแห่งนี้ปลอดภัยจากสารเคมีในเบื้องต้น ดังนั้น ชันโรงก็เป็นตัวชี้วัดอีกอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าสวนแห่งนี้เป็นสวนอินทรีย์
  3. สร้างรายได้เสริม เพราะว่าชันโรง 1 กล่อง ที่สวนจำหน่ายอยู่ในราคา 1,500 บาท เพราะฉะนั้นถ้าใครมาสวนแล้ว อยากทดลองนำไปเลี้ยงที่นี่มีจำหน่าย ถือเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
เลี้ยงชันโรงภายในสวน ประโยชน์มากมาย

อินทรีย์เท่ากับสมดุล
ผลผลิตออกสม่ำเสมอ

การทำเกษตรอินทรีย์ที่นอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรได้แล้ว พี่ออน บอกว่า อินทรีย์เท่ากับสมดุล ความหมายก็คือ

  1. ความสมดุลช่วยทำให้ผลผลิตสม่ำเสมอ ถ้าคนในวงการจะรู้ว่าที่ Aromatic Farm ผลผลิตไม่เคยขาดคอเลย แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์เอลนีโญ หรือลานีญา เพราะมีการบำรุงดูแลมะพร้าวทุกต้นมาอย่างแข็งแรง สมบูรณ์ตลอดระยะเวลา จึงทำให้มีผลผลิตออกมาได้อย่างต่อเนื่อง นี่คือคุณภาพด้านผลผลิต
  2. คุณภาพน้ำ เนื้อ หอมหวาน คงที่ ส่วนนี้อาจเป็นความโชคดีที่สวนอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ “ทุกคนคงทราบว่ามะพร้าวน้ำหอมที่ดีที่สุดในโลกอยู่ในประเทศไทย และมะพร้าวน้ำหอมที่ดีที่สุดในประเทศไทย อยู่แค่ 4 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งราชบุรีเป็นหนึ่งในนั้นที่มะพร้าวน้ำหอมดีที่สุดในโลก เราได้ดิน เราได้น้ำ เราได้ทรัพยากรธรรมชาติ ยิ่งส่งเสริมให้มะพร้าวน้ำหอม ที่เป็น GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ยังคงคุณภาพได้อยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นชาวสวนก็ต้องช่วยกันปรับปรุงดูแลคุณภาพนี้ ไม่ให้ปล่อยไปตามมีตามเกิดเช่นกัน”
  3. การรักษาสมดุลทรัพยากรทุกอย่างที่ใช้บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ หรือแม้กระทั่งของเสียต่างๆ เอากลับคืนมาเป็นวัสดุปรับปรุงดิน เปลือกมะพร้าวที่ฟาร์มไม่ได้ทิ้ง แต่เอามาทำเป็นปุ๋ย เอามาทำไบโอชาร์ ไบโอคาร์บอน แล้วกลับมาเป็นนวัตกรรมเป็นสารจากธรรมชาติที่ปรับปรุงบำรุงดินได้ คืนกลับสู่ธรรมชาติ
ผลผลิตคุณภาพสูง ไม่ขาดคอ

ซึ่งตามสถิติที่ทางสวนได้จดบันทึกไว้สามารถผลิตมะพร้าวได้ประมาณ 60,000 ลูกต่อต้นต่อ 10 ไร่ มีตลาดส่งผลผลิตชัดเจน โดยลูกค้าของ Aromatic Farm คือ โมเดิร์นเทรด ซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม ร้านอาหาร และงานจัดเลี้ยง

“ตอนที่พี่เริ่มต้นหาตลาด พี่เอาตัวเองไปอยู่ตามงานต่างๆ เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จัก ถ้ามาอยู่แค่ในสวน แล้วบอกว่าสินค้าเราดีไม่มีใครรู้จักนะ เปรียบเทียบง่ายๆ ถ้าเราอยากจะเป็นนางเอกหนัง เราอยากจะเป็นนางแบบ เราต้องเอาตัวเองไปที่สยามสแควร์ ก็เหมือนกัน ถ้าเราอยากขายมะพร้าวได้ เราก็เอามะพร้าวไปอยู่ตรงนั้น งานแรกของพี่คือไทยเฟค คืองานเครื่องดื่มและอาหารระดับเอเชีย เอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น เพื่อที่จะเปิดตัวว่าเราคือแบรนด์ Aromatic Farm เราขายมะพร้าวแบบนี้ หน้าตาเราเป็นแบบไหน เราก็เริ่มได้ลูกค้าเป็นรายที่หนึ่ง รายที่สอง รายที่สาม แล้วก็พูดต่อกันมาเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ได้ทำการตลาดเลย แสดงว่ามันอยู่ที่คุณภาพ มะพร้าวสวนเราน่าสนใจ ซื้อมาไม่เคยเสียเลย ถ้าเสียก็เคลมได้ บริการดีมาก ตรงต่อเวลา ขนส่งจากสวนไปถึงกรุงเทพฯ ด้วยรถห้องเย็น เป็นการพูดต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่เรายังคงรักษาคุณภาพได้ มันก็จะดี”

แหนแดง ปุ๋ยพืชสดชั้นดี ลดต้นทุนการผลิต

นับ 1 ให้ถึง 10 ทำการเกษตรมั่นคง

สำหรับคำว่า นับ 1 ให้ถึง 10 ทำเกษตรได้มั่นคง เป็นคำพูดของพี่ออนที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจมากเป็นพิเศษ เพราะฟังดูแล้วทำให้ผู้เขียนได้คิดตามและอยากหาคำตอบว่าการนับเลขมีอะไรเกี่ยวข้องกับการทำเกษตร ซึ่งพี่ออนก็อธิบายไว้ว่า การทำเกษตรให้มั่นคง ยั่งยืนคือการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาสิ่งที่มีมาเป็นต้นกำเนิด อย่าไปทำลาย ลดการใช้ปุ๋ยเคมีให้น้อยลง แล้วเสริมอินทรียวัตถุให้มากขึ้น นี่คือพื้นฐานง่ายๆ สำหรับคนที่เป็นชาวสวน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าชาวสวนคนไหนยกตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการให้ยึดคติง่ายๆ ว่า ต้องนับ 1 ให้ถึง 10 ให้ได้ เพราะถ้านับ 1 นับ 2 แล้วไปไม่รอดเราต้องนับ 3 นับ 4 ต่อยอดไปเรื่อยๆ ซึ่งการนับไปแต่ละเลขก็คือการพัฒนาตัวเองไปด้วย

“การนับ 1 ให้ถึง 10 ของพี่เปรียบเทียบให้มองเห็นภาพชัดๆ คือ พี่ทำสวนมะพร้าว ประการแรกคือปลูกมะพร้าว ต่อมาคือปอกมะพร้าว ควั่นมะพร้าว ทำน้ำ ทำเนื้อ แล้วคิดต่อยอดทำไปเรื่อยๆ คือทำให้ครบวงจรมากที่สุดถึงจะยั่งยืน นี่คือในมุมของผู้ประกอบการ แล้วก็อย่าลืมเรื่องของของเสียระหว่างทาง ทำยังไงไม่ให้เป็นซีโร่ แต่ทำให้เป็นแวลู่ได้ อย่าใช้คำว่าซีโร่เวส แต่ให้ใช้คำว่าแวลู่เวส คือเอาเวสให้เป็นแวลู่ ไม่ใช่เอาเวสให้เป็นศูนย์” พี่ออน กล่าวทิ้งท้าย

สามารถสอบได้รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 061-123-9815 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : Aromatic Farm

มะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ “Aromatic Farm”
Aromatic Farm Learning Center