จำปาดะ อาวุธลับผลไม้ไทย ต้นทุนต่ำ ทนแล้ง ทนโรค ตลาดส่งออกต้องการ

ถ้าพูดถึงผลไม้ที่มีเปลือกเป็นหนาม กลิ่นรุนแรง หลายคนคงนึกถึงทุเรียนและขนุน แต่ยังมีผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีเปลือกหนามและหากินได้ยาก ส่วนใหญ่จะมีขายให้พื้นที่ภาคใต้ เพราะเป็นผลไม้ที่นิยมปลูกกันมากในภาคใต้ เรียกได้ว่าเป็นผลไม้ประจำภาคใต้อีกชนิดหนึ่ง นั่นคือ จำปาดะ เป็นพืชที่ชอบความชื้นและฝนชุก ซึ่งภาคใต้ก็มีภูมิอากาศที่เหมาะสมกับพืชชนิดนี้เป็นอย่างดี

จำปาดะเป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับขนุน ถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินโดนีเซีย จำปาดะจะมีรูปร่างคล้ายขนุน ผิวมีสีเข้ม ผลยาว เมื่อสุกเมล็ดจะเป็นเหมือนขนุน แต่สีเข้มกว่า เนื้อนิ่มและเหนียวกว่า ไม่กรอบเหมือนขนุน จำปาดะมีกลิ่นที่แรงมาก ถ้าใครไม่ชอบกลิ่นอาจทำให้เป็นลมได้เลย แต่ถึงแม้ว่ากลิ่นมันจะแรงแต่รสชาติอร่อยมาก หวานจัด จะกินเป็นผลไม้หรือเป็นขนมหวานก็ได้ อย่างเช่น เมนูยอดฮิตคือ จำปาดะทอด

โดยนำจำปาดะมาฉีกเปลือกแล้วแกะใส่จานไว้ ไม่ต้องแกะเอาเมล็ดออก เพราะเราจะทอดทั้งเมล็ด นำแป้งข้าวเจ้า แป้งสาลี ปริมาณเท่าๆ กัน ใส่ถ้วยผสม และใส่เกลือไปเล็กน้อย คนให้เข้ากัน จากนั้นใส่มะพร้าวขูดลงไป คนให้เข้ากันอีกครั้ง ค่อยๆ เติมน้ำเปล่า อย่าให้ข้นเกินไป หรือเหลวเกินไป นำจำปาดะคลุกแป้งที่ผสมไว้ และพักทิ้งไว้ก่อน นำกระทะตั้งไฟใส่น้ำมันพอประมาณ กะให้ท้วมจำปาดะ เมื่อน้ำมันร้อนแล้วนำจำปาดะลงไปทอด เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีเหลืองทองน่ากินเลยทีเดียว

คุณสุริโย อินนุรักษ์ หรือ คุณตู้

คุณสุริโย อินนุรักษ์ หรือ คุณตู้ อาศัยอยู่หมู่บ้านเขาคราม ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกจำปาดะ 800 กว่าต้น คุณสุริโย เล่าว่า สวนจำปาดะแห่งนี้มีอายุ 170 ปี เป็นสวนมรดกตกทอดรุ่นสู่รุ่น ที่เดิมที่บรรพบุรุษปลูกสืบต่อกันมา จนกระทั่งถึงรุ่นของตนเอง

จำปาดะตาขุน
จำปาดะทองศรี

สายพันธุ์จำปาดะที่ปลูกภายในสวนมีหลายสายพันธุ์ อาทิ ทองโปรย ทองสุข ทองชมพู ทองมีโชค ทองศรี นวลงาช้าง ตาขุน และสายพันธุ์อันดับ 1 ของจังหวัดพัทลุง คือ พันธุ์ทองเลี้ยว จุดเด่นของพันธุ์ทองเลี้ยวที่ถูกยกให้เป็นอันดับ 1 ของจำปาดะจังหวัดพัทลุง สามารถตัดผลแก่ 70 เปอร์เซ็นต์ กินได้ ไม่ต้องตัดที่ 100 เปอร์เซ็นต์ ผลที่สุกมาแล้ว 8 วัน ก็ยังสามารถกินได้ เปลือกมีความหนาปานกลาง ขนส่งได้สะดวกไม่กระทบต่อผิวด้านใน

จำปาดะทองมีโชค
จำปาดะทองโปรย

การขยายพันธุ์และการปลูก

จำปาดะเป็นพืชที่ชื่นชอบ ดินร่วนปนทราย และยังสามารถปลูกได้ในดินลูกรัง ดินแดง ฤดูกาลปลูกจำปาดะจะเริ่มในช่วงฤดูฝน มิถุนายน-กรกฎาคม เมื่อเข้าฤดูร้อนต้นก็จะเติบโตเป็นต้นที่แข็งแรงแล้ว

โดยการขยายพันธุ์จะใช้ตอขนุนลงดินปลูก และใช้วิธีเสียบยอด หรือทาบกิ่ง กิ่งพันธุ์จำปาดะต้องมาจากต้นแม่ที่ดี ให้ลูกดก และต้นแข็งแรง ข้อดีของการใช้วิธีเสียบยอด ทาบกิ่งจากตอขนุน ทำให้ต้นโตไว แข็งแรงกว่าการปลูกด้วยต้นตอจำปาดะ และทนแล้งได้มากกว่า

ต้นจำปาดะ
ห่อผลจำปาดะ

ระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 7×7 เมตร เป็นระยะที่กำลังดี ไม่ให้กิ่งก้านแผ่ออกไปไกลมาก ดูแลได้ง่าย เพราะจำปาดะจะออกผลบริเวณลำต้นเป็นส่วนใหญ่ แต่หากกิ่งก้านถูกแผ่ออกไปมากก็ทำให้สามารถออกผลได้เช่นกัน ซึ่งจะดูแลค่อนข้างยาก และอาจสร้างความเสียหายแก่ต้นจำปาดะได้ ดังนั้น ระยะห่าง 7×7 เมตร จึงเป็นระยะห่างที่เหมาะสมที่สุด

ระบบน้ำและการใส่ปุ๋ย

จำปาดะเป็นพืชทนแล้ง จึงไม่จำเป็นต้องมีระบบน้ำ เนื่องจากปลูกในพื้นที่ภาคใต้ สภาพอากาศจึงมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่จำเป็นต้องลดน้ำ ต้นจำปาดะเมื่ออายุครบ 1 ปี เป็นต้นที่โตเต็มวัย แข็งแรง และทนแล้งได้ดี

ต้นจำปาดะกำลังติดผลอ่อน
ปลูกจำปาดะด้วยวิธีเสียบยอดจากตอขนุน

ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของต้นจำปาดะ ปุ๋ยจะเริ่มใส่เมื่อต้นจำปาดะอายุ 2 เดือน เป็นช่วงที่เริ่มแตกใบและยอดอ่อน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-5-20 (1 ครั้ง) และหลังจากนั้น 2-3 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 6-3-3 (1 ครั้ง) การใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งจะใส่น้อยๆ เพื่อให้พืชค่อยๆ ดูดกิน และการใส่ปุ๋ยจำเป็นต้องใส่หลังจากวันที่ฝนตกไปแล้วเท่านั้น เพื่อทำให้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพมากขึ้น พืชดูดกินสารอาหารได้ดียิ่งขึ้น และปุ๋ยอินทรีย์สามารถใส่ได้ทุก 2 เดือน (1 ครั้ง) การใส่ปุ๋ยจะวนไปแบบนี้เรื่อยๆ เพื่อเป็นการบำรุงต้นอย่างสม่ำเสมอ

ช่วงฤดูปลายฝน พฤษภาคม-มิถุนายน จำเป็นต้องฉีดพ่นน้ำหมักเพื่อป้องกันผีเสื้อกลางคืนกัดกินยอดอ่อน ในช่วงระยะเริ่มปลูกแรกๆ ต้องระวังผีเสื้อกลางคืนกัดกินยอดอ่อน หากยอดอ่อนที่ถูกผีเสื้อกลางคืนกัดกิน จะทำให้ยอดบริเวณนั้นตาย แต่ก็จะออกยอดขึ้นมาใหม่ และทำให้ต้นนั้นมีทรงที่ไม่สวย

ต้นกล้าจำปาดะ
ผลผลิตที่เก็บออกจากสวน

สูตรน้ำหมักฉีดพ่นป้องกันแมลง ผงพะโล้ ใบยาสูบ ต้มกับน้ำ 3 ลิตร ต้มจนให้น้ำเหลือ 1.5 ลิตร จากนั้นกรองน้ำต้มออกพักให้เย็น เมื่อน้ำต้มเย็นแล้วนำมาผสมกับเหล้าขาว 1 ขวด เพียงเท่านี้ก็พร้อมสำหรับนำไปฉีดพ่นเพื่อป้องกันแมลงแล้ว

ข้อควรระวัง

เนื่องจากจำปาดะเป็นพืชที่ทนทานต่อโรค จึงแทบจะไม่มีโรคพืชใดๆ มากวนใจจนเป็นปัญหา แต่อาจพบเจอโรคจากแมลงได้บ้าง เช่น หนอนเจาะลำต้น สามารถป้องกันได้เพียงแค่ทำความสะอาดโคนต้นให้ดี ไม่มีหญ้า ไม่รก

คุณสุริโย กล่าวว่า ต้นจำปาดะที่ขยายพันธุ์จากตอขนุน ด้วยการเสียบยอด ทาบกิ่ง จะติดผลในปีที่ 4 จำปาดะเป็นไม้ยืนต้นที่รากเดินได้ไกล หากินเก่ง หากนำไปปลูกในพื้นที่ดินทรุด สามารถช่วยแก้ปัญหาดินทรุดได้ เพราะจำปาดะจะใช้รากช่วยยึดติดหน้าดิน และรากมีความลึก ป้องกันดินทรุดได้ดี

วิธีการเก็บผลผลิต

จำปาดะจะออกผลผลิตให้เก็บเกี่ยวปีละ 1 ครั้ง โดยดอกจะออกช่วงปลายมีนาคม-เมษายน และผลผลิตจะออกให้เก็บเกี่ยวช่วงพฤษภาคม-กรกฎาคม บางปีอาจให้ผลผลิตได้ถึงสิงหาคม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น

จำปาดะทองเลี้ยว สายพันธุ์อันดับ 1 ของพัทลุง

การเก็บเกี่ยวผลผลิต สามารถดูได้จากใบเลี้ยงสีจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสามารถตัดผลผลิตได้ แต่ผู้ตัดจะต้องสังเกตดีๆ เพราะใบเหลืองสามารถเกิดจากโรคพืชได้ หรืออีกวิธีคือ การฟังเสียงจากการเคาะลูก หากเสียงที่เคาะมีความโปร่งๆ ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ หรือบางสายพันธุ์สามารถใช้วิธีการดมกลิ่นจากขั้วได้ หากมีกลิ่นหอมๆ จากขั้วก็สามารถเก็บผลผลิตได้เลย

ตลาด

ตลาดส่วนใหญ่ของทางสวนจะเป็นการค้าส่งให้แก่พ่อค้าแม่ค้าคนกลาง จากจังหวัดพัทลุง จังหวัดตรัง จังหวัดสงขลา มารับผลผลิตถึงหน้าสวน และตลาดค้าส่งต่างประเทศ โดยมีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางเข้ามารับหน้าสวน ส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย จีน สิงคโปร์ โดยราคาส่งจะอยู่ที่ 22 บาทต่อกิโลกรัม และราคาส่ง 30 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการคัดไซซ์น้ำหนักของแต่ละลูก

ได้รับรางวัลชนะเลิศประกวด จำปาดะเนื้อสายพันธุ์ดี

ตลาดค้าปลีกเป็นตลาดออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยราคาค้าปลีกจะแตกต่างกันที่สายพันธุ์ทองโปรย 250 บาทต่อกิโลกรัม ทองเลี้ยว 50 บาทต่อกิโลกรัม ตาขุน 100 บาทต่อกิโลกรัม ทองชมพู ทองศรี ทองมีโชค 150 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

“จำปาดะถือเป็นผลไม้ที่เป็นอาวุธลับของผลไม้ไทย ความต้องการของตลาดมีสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีต้นทุนต่ำ ทนทานต่อโรค และทนแล้งได้ดี ปลูกครั้งเดียวสามารถให้ผลผลิตได้ระยะยาว สร้างรายได้ต่อปีให้แก่เกษตรกรภาคใต้อย่างล้นหลาม”

จัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า

สำหรับท่านใดที่สนใจ จำปาดะ ต้นพันธุ์จำปาดะ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุริโย อินนุรักษ์ หมู่บ้านเขาคราม ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง โทรศัพท์ 091-716-5297 ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก : สวนบุญสุข ปันสุข