ผู้เขียน | นวลศรี โชตินันทน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เห็ดขอนขาวหรือเห็ดมะม่วง เป็นเห็ดพื้นเมืองหรือเห็ดท้องถิ่น ที่เจริญได้ดีในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เป็นเห็ดที่นิยมบริโภคกันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน มีรสชาติดี และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงทำให้เห็ดชนิดนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง มีราคาแพงกว่าเห็ดที่เพาะเลี้ยงหลายชนิด
คุณรัชฎาภรณ์ ทองเหม นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร บอกว่า เห็ดขอนขาวมีรูปร่างคล้ายเห็ดกระด้างหรือเห็ดบด สามารถเพาะในถุงพลาสติกได้เช่นเดียวกับเห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดบด เห็ดหูหนู ฯลฯ
เห็ดขอนขาวมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วยโพลีแซคคาไรด์ กรดอะมิโนกลูตามิก วิตามินบีรวม และเกลือแร่ต่างๆ นอกจากนี้ ยังพบซีลีเนียมซึ่งจะทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระและมีปริมาณโปรตีนสูง และยังมีรายงานจากสำนักส่งเสริมการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) พบว่า สารสกัดจากเห็ดขอนขาวและผลิตภัณฑ์จากเห็ดขอนขาวสามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการออกฤทธิ์ของยาไซเมทิดีน (Cimetiden) ซึ่งเป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร
คุณรัชฎาภรณ์ กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาเพาะเลี้ยงเห็ดขอนขาวเพื่อการค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป็นเห็ดที่เพาะยาก จึงขายได้ราคาดีเมื่อเทียบกับเห็ดชนิดอื่นๆ เห็ดสดมีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 80-120 บาท
ปัจจุบันนี้ แม้จะมีการพัฒนาการเพาะเห็ดขอนขาว และมีการเพาะเลี้ยงกันทั่วทุกภาคของประเทศแล้วก็ตาม แต่การผลิตเพื่อการค้ายังคงมีปัญหาในเรื่องของสายพันธุ์เนื่องจากเชื้อเห็ดขอนขาวมีอัตราการเจริญค่อนข้างสูงกว่าเชื้อเห็ดทั่วไป จึงทำให้มีโอกาสแปรปรวนทางพันธุกรรมขึ้นได้และค่อนข้างสูงกว่าเชื้อเห็ดทั่วไป ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่สม่ำเสมอ เป็นผลให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนจากการลงทุนค่อนข้างน้อย หรือบางครั้งไม่คุ้มกับการลงทุน เกษตรกรจึงต้องเปลี่ยนสายพันธุ์ใหม่ทุก 2-3 ปี
ปรับปรุงพันธุ์เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร
การปรับปรุงพันธุ์เห็ดขอนขาว จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ได้เห็ดขอนขาวสายพันธุ์ใหม่ ที่มีคุณภาพดีกว่าสายพันธุ์เดิม และเป็นการเพิ่มทางเลือกจากความหลากหลายของสายพันธุ์ เพื่อเป็นการสนับสนุนและให้บริการแก่เกษตรกรผู้เพาะเห็ดขอนขาว ผู้ประกอบการผลิตเชื้อเห็ด และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
รวบรวมสายพันธุ์เห็ดจากแหล่งต่างๆ มาพัฒนาพันธุ์
คุณรัชฎาภรณ์ บอกว่า ในเบื้องต้นจำเป็นต้องรวบรวมและคัดเลือกสายพันธุ์เห็ดขอนขาวที่มีลักษณะดีไว้เป็นฐานพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้สายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติดีกว่าที่มีอยู่ เนื่องจากเห็ดขอนขาวเป็นเห็ดพื้นเมืองของไทย มีความหลากหลายทางพันธุกรรม และพบอยู่ในธรรมชาติเป็นปริมาณมาก ซึ่งเอื้อต่อการนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์
ในปี 2560-2561 คุณรัชฎาภรณ์ และ คุณสุวลักษณ์ ชัยชูโชติ อดีตนักวิชาการโรคพืชชำนาญการพิเศษ ได้รวบรวมสายพันธุ์เห็ดขอนขาวจากแหล่งต่างๆ ได้จำนวน 35 สายพันธุ์ โดยให้รหัสการทดลองแต่ละสายพันธุ์ คือ L1 ถึง L35 แล้วนำมาคัดเลือกพันธุ์โดยการทดสอบความสามารถในการออกดอกและการให้ผลผลิตระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2560 โดยนำมาเปรียบเทียบกับเห็ดขอนขาวสายพันธุ์ L3 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรให้บริการแก่เกษตรกร เห็ดขอนขาวสายพันธุ์ L3 เป็นสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกพันธุ์จากงานวิจัยของกลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ดมาก่อนหน้านี้ และพบว่าเห็ดขอนขาวจำนวน 6 สายพันธุ์ ได้แก่ L9, L18, L19, L21, L25 และ L28 เป็นสายพันธุ์เห็ดที่มีลักษณะดี เส้นใยเจริญเร็ว ออกดอกเร็วและออกดอกพร้อมกัน ให้ผลผลิตสูง จึงได้นำเห็ดขอนขาวทั้ง 6 สายพันธุ์ดังกล่าวใช้เป็นฐานพันธุกรรมในการพัฒนาสายพันธุ์
จากนั้นทำการคัดแยกเส้นใยนิวเคลียสเดี่ยวจากเห็ดขอนขาวทั้ง 6 สายพันธุ์ได้ 181 เส้นใยนิวเคลียสเดี่ยว นำมาปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการผสมพันธุ์ข้ามระหว่างเส้นใยนิวเคลียสคู่ของเห็ดขอนขาวสายพันธุ์ L3 ซึ่งเป็นสายพันธุ์แม่ กับเส้นใยนิวเคลียสเดี่ยวของเห็ดขอนขาวทั้ง 6 สายพันธุ์ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อจำนวน 181 คู่ผสม ทำให้ได้เห็ดขอนขาวลูกผสม 20 สายพันธุ์
คุณรัชฎาภรณ์ บอกว่า เมื่อนำไปเพาะทดสอบการออกดอก และให้ผลผลิตในถุงอาหารเพาะขี้เลื่อย 800 กรัม ในโรงเรือนเพาะเห็ดของกลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ดของกรมวิชาการเกษตร ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2561-มกราคม 2562 พบว่ามีเห็ดขอนขาวลูกผสม 18 สายพันธุ์ สามารถออกดอกและให้ผลผลิต ผลการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาและการให้ผลผลิต พบว่าเห็ดขอนขาวลูกผสม 5 สายพันธุ์ ได้แก่
– เห็ดขอนขาวลูกผสม-1 (L3xSL28-14)
– เห็ดขอนขาวลูกผสม-2 (L3xSL21-13)
– เห็ดขอนขาวลูกผสม-3 (L3xSL25-31)
– เห็ดขอนขาวลูกผสม-4 (L3xSL18-8)
– เห็ดขอนขาวลูกผสม-5 (L3xSL28-16)
ทั้ง 5 สายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่มีศักยภาพดี เนื่องจากให้ผลผลิตสม่ำเสมอ ขนาดและสีของดอกเห็ด ตรงกับความต้องการของตลาด เส้นใยเจริญเร็ว
นำเห็ดขอนขาวลูกผสม 5 สายพันธุ์
ทดสอบในฟาร์มเกษตรกร
ในปี 2562-2563 คุณรัชฎาภรณ์และคณะวิจัย ได้นำไปทดสอบการให้ผลผลิตและคุณภาพของเห็ดขอนขาวลูกผสมทั้ง 5 สายพันธุ์ในฟาร์มของเกษตรกร 2 แห่ง ที่อำเภอเมืองและอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ และบอกว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจและยอมรับเห็ดขอนขาวสายพันธุ์ลูกผสม-1 (L3XSL28-14) มากที่สุด เนื่องจากมีลักษณะเด่น ดังนี้
- ให้ผลผลิต 124-169 กรัมต่อถุงต่อรอบการผลิต สูงกว่าสายพันธุ์เดิมเฉลี่ยร้อยละ 38.71 ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 7,400-8,200 บาทต่อรอบการผลิต
- ออกดอกเร็วและออกดอกพร้อมกัน
- ผลผลิตมีความสม่ำเสมอกว่าสายพันธุ์เดิม
- ดอกมีขนาดและสีตรงตามความต้องการของตลาด
- เส้นใยเจริญเร็ว แข่งขันกับจุลินทรีย์ชนิดอื่นได้ดี ช่วยลดระยะเวลาการบ่มเส้นใยในถุงอาหารเพาะ ทำให้เปิดดอกเก็บผลผลิตได้เร็วขึ้น
ในปี 2565 กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีเห็ดขอนขาวลูกผสม-1 ของกรมวิชาการเกษตร หลักสูตรการเพาะเห็ดเศรษฐกิจแบบครบวงจร โดยร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ในหัวข้อเรื่อง “การเพิ่มศักยภาพการผลิตเห็ดขอนขาวสายพันธุ์ลูกผสม-1 ของกรมวิชาการเกษตร” ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร จำนวน 3 รุ่น รวม 67 ราย และขยายผลการใช้ประโยชน์สายพันธุ์เห็ดขอนขาวลูกผสม-1 ให้แก่เกษตรกรต้นแบบในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร 5 ราย
คุณรัชฎาภรณ์ เล่าว่า เกษตรกรทุกรายยอมรับสายพันธุ์เห็ดขอนขาวลูกผสม-1 มีความพึงพอใจเนื่องจากให้ผลผลิตสูง เห็ดออกดอกพร้อมกัน สีดอกเข้ม มีเกล็ดบนหมวกดอกชัดเจน ซึ่งมีลักษณะเป็นไปตามความต้องการของตลาดและมีความทนต่อแมลงศัตรูเห็ด สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อโรงเรือนต่อรอบการผลิต เกษตรกรมีความสนใจที่จะนำสายพันธุ์ใหม่ไปใช้ คิดเป็นร้อยละ 96.67 ดังนั้น เห็ดขอนขาวลูกผสม-1 จึงเป็นสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาพันธุ์ขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเกษตรกร ซึ่งตรงกับความต้องการบริโภคของผู้ที่ชื่นชอบรับประทานเห็ด
ในปีงบประมาณ 2566 ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย ได้นำเชื้อเห็ดขอนขาวลูกผสม-1 ให้บริการแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการผลิตเชื้อเห็ดขยายไปทั่วประเทศ ในรูปแบบเชื้อพันธุ์เห็ดบริสุทธิ์ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการให้ความสนใจมากขึ้น
เมื่อนำมาวิเคราะห์มูลค่าทางเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่ของกระบวนการผลิตเห็ด จากการใช้เชื้อพันธุ์บริสุทธิ์ เห็ดขอนขาวลูกผสม-1 เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อขยาย ผลิตก้อนเชื้อเห็ดเพื่อเพาะดอกเห็ด และผลิตดอกเห็ดสดเพื่อจำหน่าย คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสิ้น 7.06 ล้านบาท คุณรัชฎาภรณ์ กล่าว
เกษตรกรและผู้ประกอบการที่สนใจประสงค์จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดขอนขาวลูกผสม-1 หรือผลิตก้อนเชื้อเห็ด สอบถามได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร โทร. 02-579-0147, 089-588-5343