ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.ลำปาง มุ่งเป้าพัฒนาภาคการผลิตทั้งระบบอย่างยั่งยืน

เกษตรจังหวัดลำปาง เผยผลดำเนินงานแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิต และการตลาด ภายใต้การบริหารจัดการกลุ่มอย่างเข้มแข็งด้วยการเน้นการทำเกษตรอย่างยั่งยืน

นายสุรพล ทองเที่ยง เกษตรจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จังหวัดลำปางมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 197,276 ไร่ เกษตรกร จำนวน 14,725 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกมีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 53,864 ไร่ พื้นที่ปลูกไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 143,412 ไร่ โดยที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาผลผลิตและราคาตกต่ำและผลผลิตขาดคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ภาครัฐจึงได้มีการส่งเสริมการทำเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้มีการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ตั้งแต่ ปี 2559 พร้อมทั้งขับเคลื่อนส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 แปลง ในพื้นที่อำเภองาว มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 499 ราย พื้นที่ 1,922.25 ไร่

โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ด้วยการใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเกษตร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม สามารถช่วยแก้ปัญหาของชุมชนตอบสนองประเด็นการพัฒนาในพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร มีรูปแบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรแบบบูรณาการในพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการในลักษณะแปลงใหญ่ที่เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นผู้จัดการพื้นที่

สำหรับผลการดำเนินงานแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (หลังนา) ในพื้นที่แปลงใหญ่ ของอำเภองาว ทั้งสิ้น เกษตรกร 499 ราย ด้วยแนวทางการดำเนินงานและเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อพัฒนาแปลง 5 ด้าน ประกอบด้วย การลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตจากเดิม 4,532 บาท/ไร่ เป็น 3,618 บาท/ไร่ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี จาก 50 กก./ไร่ เป็น 30 กก./ไร่ โดยเตรียมดิน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และลดการใช้สารเคมี โดยใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทน ทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมลดลง 914 บาท/ไร่ (ลดลงร้อยละ 20.16)

การเพิ่มผลผลิต เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ดี มีการปรับปรุงบำรุงดินก่อนการเพาะปลูก ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และเก็บเกี่ยวในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 860 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 1,030 กิโลกรัม/ไร่ (ร้อยละ 19.77) การพัฒนาคุณภาพผลผลิต สามารถปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ให้มีความชื้นไม่เกิน 15% การบริหารจัดการกลุ่ม สมาชิกแปลงใหญ่ได้รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจแปลงใหญ่อำเภองาว และจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน เพื่อเป็นเงินออกในกลุ่ม ปัจจุบันมีเงินออกทั้งหมด 120,000 บาท โดยออมทุกวันที่ 15 ของเดือน การตลาด ได้เชื่อมโยงการตลาดที่รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยผ่านกลไกของสหกรณ์/สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.)/และบริษัทเอกชนในพื้นที่ ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดทั่วไป

Advertisement

“ทั้งนี้ในภาพรวมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถลดต้นทุนได้ 20% มีผลผลิตเพิ่มขึ้นต่อไร่ 20% และสินค้าได้ผ่านการประเมินรับรองมาตรฐานเบื้องต้นทุกแปลง อย่างไรก็ตามในปี 2560 ได้มีการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มอีก 1 แปลง ในพื้นที่อำเภอแม่ทะ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 50 ราย พื้นที่ 1,111.75 ไร่ และมีแผนจะขยายพื้นที่แปลงใหญ่ในปี 2561 อีก 5 แปลง ในพื้นที่อำเภอเมืองลำปาง เกษตรกร 55 ราย พื้นที่ 561.75 ไร่ อำเภอแม่เมาะ เกษตรกร 50 ราย พื้นที่ 658.25 ไร่ อำเภอเสริมงาม เกษตรกร 118 ราย พื้นที่ 1,002 ไร่ อำเภอเมืองปาน เกษตรกร 148 ราย พื้นที่ 956.25 ไร่ อำเภอวังเหนือ เกษตรกร 49 ราย พื้นที่ 512 ไร่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนในระบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่อไป”นายสุรพล กล่าว