ศูนย์เกษตรวิถีเมือง วช. โชว์นวัตกรรมปลูกผัก

หากใครอยากเรียนรู้นวัตกรรมการเพาะปลูกพืช ที่ต่อยอดแนวคิดสู่ธุรกิจเกษตรยุคใหม่ สามารถแวะชมได้ที่ ศูนย์เกษตรวิถีเมือง ของ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ การเดินทางสะดวกสบาย มีรถประจำทางผ่านหลายสาย ทั้งรถเมล์ รถตู้ หรือขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียว มาลงที่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้ทางออกที่ 3 เดินตามถนนประมาณ 5 นาที ก็ถึงสำนักงานวิจัยแห่งชาติ 

ศูนย์เกษตรวิถีเมือง วช.

ศูนย์เกษตรวิถีเมือง วช.

ปี 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เกิดประโยชน์ ด้วยแนวคิด Adaptive Reuse โดยใช้อุปกรณ์การเพาะปลูกที่ไม่ซับซ้อน สามารถหาซื้อหรือดัดแปลงได้โดยง่าย โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนวัสดุก่อสร้างบางส่วนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยคัดสรรวัสดุที่เกิดจากแนวคิดการนำกลับมาใช้ และการเพิ่มมูลค่าจากขยะอุตสาหกรรม Recycle Upcycle อาทิ อิฐบล็อก จากขยะโรงไฟฟ้าฯ ยางมะตอยพื้นถนนจากพลาสติกเหลือใช้ รวมถึงนวัตกรรมทางด้านการประหยัดพลังงานด้วยการใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นตัวอย่างในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานด้วยนวัตกรรมพลังงานสะอาด ตลอดจนการศึกษาและคัดสรรพันธุ์พืชอาหารที่เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพอากาศในเมือง

ภายในศูนย์เกษตรวิถีเมืองแห่งนี้ ได้นำเสนอ 30 นวัตกรรมการปลูกผักในเมือง สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งแต่ละเทคโนโลยีสามารถทำได้อย่างง่ายและมีต้นทุนต่ำ เหมาะสมกับทุกข้อจำกัดของพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น สวนครัวพืชใบกลิ่นหอม เช่น กะเพราขาว กะเพราแดง โหระพา ฯลฯ สวนครัวผักกินใบ เช่น ผักชี ผักชีฝรั่ง สะระแหน่ ต้นหอม ฯลฯ สวนครัวพืชแบบเหง้าและกอ เช่น ขิง ข่า ขมิ้น ฯลฯ มีใบและดอกประดับได้ด้วย และพืชแบบกออย่างตะไคร้ที่มีกลิ่นหอม เป็นพื้นที่สีเขียวที่กินได้

สวนครัวแบบเหง้าและกอ

กลุ่มพืชสวนครัวพื้นบ้านเหล่านี้ เหมาะกับสภาพแวดล้อม สภาพอากาศของไทย ทำให้ปลูกและดูแลง่าย มีความหลากหลาย เหมาะสำหรับการปลูกพืชในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด และลักษณะของพื้นที่ดาดแข็ง โดยการปลูกด้วยดินที่เป็นวัสดุปลูกที่สามารถหมุนเวียนมาใช้ซ้ำได้ ปลูกในกระถางคอนกรีต จัดวางให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย มีการติดตั้งระบบให้น้ำอัตโนมัติ เพื่อลดแรงงานและประหยัดน้ำ ปลูกในพื้นที่กลางแจ้ง ใช้แสงธรรมชาติ

ปลูกเห็ดในพื้นที่จำกัด

หากใครสนใจปลูกเห็ด ศูนย์เกษตรวิถีเมืองแนะนำให้ปลูกเห็ดนางฟ้า เป็นเห็ดที่เพาะง่าย ต้องการความชื้นอยู่ที่ 70% โดยแสงธรรมชาติมีความจำเป็นต่อความสมบูรณ์ของเห็ด ลักษณะของก้อนเห็ดที่วางซ้อนกันในทางตั้ง ช่วยประหยัดพื้นที่ สามารถเก็บเกี่ยวได้หลายรอบในทุก 7-10 วัน และมีอายุของก้อนเฉลี่ย 4 เดือน การเพาะเห็ดจึงได้ผลผลิตที่สูงในพื้นที่จำกัด

การเพาะเห็ด ควรใช้พื้นที่ที่ยังมีแสงธรรมชาติส่องถึง สามารถเพาะได้ในพื้นที่จำกัด อย่างเช่น พื้นที่บริเวณซอกระหว่างอาคาร ระเบียงหรือพื้นที่ข้างบ้านที่สามารถรักษาความชื้นได้ดีและมีการถ่ายเทของอากาศได้ โดยวางโครงเพาะเห็ดให้มีความลาดเอียงเล็กน้อยหรือวางโครงแบบตัว A การวางระบบให้น้ำอัตโนมัติจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับก้อนเห็ดอย่างสม่ำเสมอ ยกพื้นบริเวณส่วนฐานเพื่อให้มีการระบายน้ำที่ดี

ปลูกเมล่อนในพื้นที่จำกัด

ปลูกไม้ผลในพื้นที่จำกัด

การปลูกเมล่อนในถุง คือตัวอย่างของการปลูกไม้ผลในพื้นที่จำกัด โดยธรรมชาติแล้ว เมล่อนเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตได้ดีที่อุณหภูมิอยู่ที่ 25-35 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 43 องศาเซลเซียส ไม่ชอบความชื้นสูง สามารถปลูกด้วยดินหรือวัสดุปลูกอื่นๆ ในถุงที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางและความลึกไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ให้ผลผลิต 1-2 ลูกต่อต้น เป็นการปลูกพืชที่ให้ผลในราคาสูง การปลูกเมล่อนในถุงต้องใช้โรงเรือนมีหลังคาคลุมและโปร่งแสงเพื่อให้แสงธรรมชาติสามารถผ่านได้ มีการควบคุมสภาพแวดล้อมทั้งอุณหภูมิและความชื้น ด้วยลักษณะที่เป็นไม้เลื้อย จึงได้มีการเตรียมพื้นที่สำหรับแขวนเพื่อให้สามารถเลื้อยได้

อาจารย์รัฐพล ฉัตรบรรยงค์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะนำ “ปลูกในเข่งหรือกระถาง” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการปลูกไม้ผลในพื้นที่จำกัด เนื่องจากเหมาะสำหรับชุมชนเมืองที่มักจะเป็นพื้นที่ดาดแข็ง พื้นปูนนอกหรือในอาคารทำให้การปลูกพืชในภาชนะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม สามารถจัดการและเคลื่อนย้ายได้ง่าย มีผลเก็บกินได้ และยังเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวได้อีกด้วย ขณะเดียวกัน การปลูกด้วยเข่งสามารถควบคุมขนาดของต้นให้มีขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่และมีการให้ธาตุอาหารมากเพียงพอ ทำให้ต้นสามารถให้ดอกและออกผลได้ เหมาะสำหรับการปลูกในพื้นที่ที่อยู่กลางแจ้ง มีแสงธรรมชาติ มีการติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติร่วมด้วย เพื่อให้สะดวกต่อการดูแล

ปลูกในเข่งและกระถาง

นวัตกรรมปลูกพืชด้วยดินในแก้ว

อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจคือ การปลูกพืชด้วยดินในแก้ว บนรางปลูกซ้อนชั้น เกิดจากแนวคิดที่จะลดปริมาณวัสดุปลูกและน้ำ ซึ่งจะช่วยในการลดต้นทุนโดยใช้ระบบปลูกพืชทางตั้งสำเร็จรูปที่ออกแบบไว้ การปลูกด้วยดินยังสามารถนำวัสดุปลูกมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 1 ครั้ง และสามารถนำแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวนำมาหมุนเวียนใช้ปลูกพืชได้

นวัตกรรมนี้ ใช้โครงชั้นเหล็กสำเร็จรูป 4 ชั้น ขนาด 0.82×1.00×2.65 เมตร และทางเดินกลางขนาด 0.60×1.00×1.00 เมตร ด้วยระบบ modular ที่ยืดหยุ่นสามารถประกอบเองได้ตามขนาดพื้นที่และกระบะปลูกพืชที่สามารถยกออกได้ รวมถึงมีการวางระบบการให้น้ำอัตโนมัติ การปลูกพืชลักษณะนี้ ปรับตัวอาคารจากหลังคาทึบเป็นหลังคาโปร่งแสง ได้รับแสงธรรมชาติที่เหมาะกับการปลูกพืช และติดตั้งลูกหมุนระบายอากาศผลิตไฟฟ้าช่วยในการดึงลมร้อนออกจากอาคาร

นวัตกรรมปลูกพืชด้วยดินในแก้ว (ซ้าย) ปลูกด้วยดินในกระบะแบบซ้อนชั้น (ขวา)

ปลูกต้นไม้ในกระถางแบบซ้อนชั้น ในช่องตาราง

เนื่องจากการปลูกพืชในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด ศูนย์เกษตรวิถีเมือง จึงนำเสนอแนวคิดในการปลูกพืชในแนวตั้ง ด้วยการปลูกแบบซ้อนชั้น ทำให้ได้ปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่มากขึ้น โดยออกแบบพื้นที่สำหรับปลูกพืชผักที่สามารถกินได้ในช่องตาราง มีการวางต้นไม้แบบสับหว่างเพื่อให้ได้รับแสงธรรมชาติ ลักษณะพื้นที่ปิดล้อมจะช่วยสร้างผนังสีเขียว สามารถใช้เป็นพื้นที่แสดงต้นไม้ เป็นพื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน เป็นพื้นที่กิจกรรมในโครงการ นวัตกรรมนี้ ใช้โครงเหล็กขนาด 50x50x50 เซนติเมตร เชื่อมต่อกัน ออกแบบในระบบ modular ที่มีความยืดหยุ่นตามขนาดพื้นที่ เป็นโครงสร้างชั้นตามตั้งสำหรับวางไม้กระถาง สามารถปรับเปลี่ยนการจัดวางและการใช้งานได้

ปลูกแบบซ้อนชั้นในช่องตาราง
ปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์แบบท่อแนวตั้ง

ปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์แบบท่อแนวตั้ง

การปลูกพืชระบบไฮโดรโปนิกส์แบบท่อแนวตั้ง ช่วยให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น เป็นการให้สารอาหารพืช โดยใช้การไหลเวียนและการขังสารละลายธาตุอาหารพืชในภาชนะเพื่อให้รากพืชดูดซึมธาตุอาหาร เป็นการปลูกพืชที่ใช้แสงธรรมชาติ มีทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบที่ประกอบเองได้ นวัตกรรมท่อพีวีซีประกอบเป็นชุดปลูกต้นไม้แนวตั้ง การวางต้นไม้แบบสับหว่างเพื่อให้ได้รับแสงธรรมชาติมากที่สุด เป็นระบบปลูกพืชใช้แสงธรรมชาติที่ใช้พื้นที่น้อยและได้ผลผลิตมาก มีการติดตั้งระบบปั๊มเพื่อการไหลเวียนของสารละลายอาหารพืช

ระบบควบคุมอัตโนมัติ IoT

Internet of Things (IoT) เป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยเชื่อมโยง รับส่งข้อมูล สั่งการเพื่อควบคุมอุปกรณ์ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยเก็บ รวบรวม และประมวลผลข้อมูลผ่านออนไลน์ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา เป็นการบริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ผล เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ลดต้นทุน และควบคุมความเสี่ยง นำไปสู่การเป็น Smart Farming

ระบบควบคุมอัตโนมัติ IoT

เทคโนโลยีการทำงานของ IoT คือ การนำเทคโนโลยี RFID Sensors (Radio Frequency Identification Sensors) มาใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์ทางการเกษตรต่างๆ อย่างเช่น เซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ เซ็นเซอร์ตรวจสอบคุณสมบัติของดิน เซ็นเซอร์วัดความชื้นและน้ำในดิน โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเรตาห์ติดตามสภาพอากาศและภาพถ่ายดาวเทียม และวิเคราะห์ คาดการณ์สภาพอากาศ เพื่อช่วยลดต้นทุนจากความเสียหายของผลผลิต

เนื่องจาก วช. มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกพืชมากกว่า 30 ผลงาน ดังนั้น จึงหมุนเวียนสลับเปลี่ยนนำผลงานต่างๆ ออกมานำเสนอภายในศูนย์เกษตรวิถีเมืองแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง หากใครสนใจนวัตกรรมการปลูกพืชดังกล่าว สามารถแวะมาเยี่ยมชมศูนย์เกษตรวิถีเมือง ในวันและเวลาราชการ วันจันทร์-ศุกร์ 08.30-16.30 น. ณ สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เลขที่ 196 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-579-1370 

……………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566