สวนผลไม้ป้าต่อ อำเภอนาดี เกษตรผสมผสานริมเขื่อนปราจีนฯ

สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาให้เกษตรกรเกิดความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานในการพัฒนาให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี โดยขับเคลื่อน โครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงสู่พื้นที่เป้าหมาย

สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี มอบหมายให้ สำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 7 อำเภอ ตลอดจนเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนได้เรียนรู้ถึงวิธีการทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ลดรายจ่ายในครัวเรือน ส่งเสริมให้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพไว้ใช้เองในครัวเรือน และการนำวัสดุจากท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเข้าไปร่วมดำเนินการและให้ความรู้จากการฝึกอบรม

ป้าต่อกับทุเรียนปราจีน ที่เตรียมส่งขายตลาด

สวนป้าต่อ อำเภอนาดี

ต้นแบบเกษตรผสมผสาน

สำนักงานเกษตรอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ยกย่อง “สวนป้าต่อ” ของ ป้าต่อ หรือ นางอารีวรรณ คำเขียว ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในสวนเกษตรต้นแบบด้านเกษตรผสมผสาน สวนป้าต่ออยู่ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา สามารถต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชนได้อย่างยั่งยืน นอกจากสวนป้าต่อแล้ว ผู้สนใจยังสามารถเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน เช่น ร้านค้าประชารัฐคลองตาหมื่น  วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไผ่ตำบลทุ่งโพธิ์ วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารบ้านคลองตาหมื่น สวนทุเรียนยิ่งโอฬาร สวนทุเรียนนายแป๊ะ เป็นต้น

สืบทอดอาชีพทำสวนจากพ่อแม่

ป้าต่อ กล่าวว่า เกิดและเติบโตในครอบครัวชาวสวน พ่อแม่ปลูกทุเรียนอยู่ในพื้นที่ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมืองปราจีนบุรี ต่อมาแยกครอบครัวมาซื้อที่ดินทำกินในพื้นที่ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี เห็นว่าที่นี่ดินดี น้ำดี เหมาะกับการทำสวน จึงตัดสินใจทำสวนทุเรียนตามรอยพ่อแม่ ตั้งแต่ปี 2530 จนถึงทุกวันนี้ ต้นทุเรียนรุ่นแรกที่ปลูก มีอายุ 36 ปีแล้ว ลำต้นแข็งแรง สูงใหญ่ ให้ผลผลิตคุณภาพดีทุกปี

สวนป้าต่อปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน

เนื่องจากอำเภอนาดีเป็น 1 ใน 5 อำเภอที่เป็นทำเลทองของการปลูกทุเรียนของจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งโซนดังกล่าวมีสภาพดินเหมาะสมสำหรับเพาะปลูกทุเรียน สภาพดินชั้นบนเป็นดินร่วนปนทราย ดินชั้นล่างเป็นหินผุและศิลาแลง ทำให้การระบายน้ำสะดวก น้ำไม่ขังในเนื้อดิน การกระจายตัวของธาตุอาหารทั่วถึง ลักษณะภูมิอากาศและปริมาณน้ำฝน ประกอบกับความชื้นสัมพัทธ์เหมาะสมพอดีกัน ทำให้สวนทุเรียนป้าต่อมีโอกาสได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เช่นเดียวกับสวนทุเรียนอื่นๆ ที่อยู่ในโซนนี้

ลูกสาวป้าต่อกับส้มโอที่รอเก็บเกี่ยว

ใส่ใจปลูกดูแลทุกขั้นตอน

ป้าต่อ บอกว่า สวนแห่งนี้มีเนื้อที่ 20 ไร่ ปลูกทุเรียนหมอนทองเป็นหลัก มีทุเรียนพันธุ์ชะนี พันธุ์หลงลับแล พันธุ์ก้านยาว ปลูกแซมอยู่บ้างเล็กน้อย ป้าอาศัยพื้นฐานความรู้เรื่องการทำสวนทุเรียนที่พ่อสอน นำมาใช้ปลูกทุเรียนในระยะห่าง 4 วา หรือ 8 เมตร 1 ไร่ปลูกทุเรียนได้ 25 ต้น พ่อสอนให้ปลูกทุเรียนเป็นแถวเป็นแนว โดยปลูกสลับไม้ผลที่อยู่ร่วมกับต้นทุเรียนได้ เช่น มังคุด มะยงชิด ส้มโอ ลองกอง กล้วย ฯลฯ ต้นไหนปลูกแล้วตายไป ก็ปลูกแซมขึ้นมาใหม่ ปลูกผสมผสานลักษณะนี้ ทำให้มีผลผลิตหมุนเวียนออกขายได้ตลอดทั้งปี

ป้าต่อ หรือ นางอารีวรรณ คำเขียว กับทุเรียนหมอนทอง

โรครากเน่าโคนเน่า

โดยธรรมชาติแล้ว ต้นทุเรียนจะแตกใบอ่อนทุกๆ 45-60 วัน ซึ่งสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของดอกและผล เกษตรกรจำเป็นต้องใส่ใจดูแลควบคุมการเจริญของใบ ไม่ให้กระทบกับการเจริญของดอกและผล เพราะต้นทุเรียนจะเลือกใบมากกว่าดอกและผล เนื่องจากใบทำหน้าที่ในการสังเคราะห์แสง เพื่อสร้างอาหารไปใช้ในการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต จึงจำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลใบเป็นอย่างดี เน้นป้องกันกำจัดโรคแมลงที่ทำลายใบ รวมทั้งการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ให้ใบทุกใบได้รับแสง เพื่อทำหน้าที่ของใบอย่างสมบูรณ์

ปรากฏว่า ปีนี้ผลผลิตทุเรียนของสวนป้าต่อไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ เพราะจังหวะที่ต้นทุเรียนกำลังแตกใบอ่อน ในช่วงที่กำลังออกดอกและติดผลเล็ก เจอภาวะอาการแปรปรวน เดี๋ยวเจออากาศหนาว สลับกับภาวะอากาศร้อนและเจอฝนตกหนัก ทำให้เกิดปัญหาดอกและผลร่วงเป็นจำนวนมาก

ลองกอง
มังคุด รสชาติอร่อย

นอกจากนี้ ยังเจอปัญหาเชื้อราไฟทอปธอร่าซึ่งเป็นสาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน ที่มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน ที่มีสภาพอากาศและสภาพดินมีความชื้นสูง ป้าต่อหมั่นสำรวจแปลงทุเรียนและเฝ้าระวังการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่า หากพบอาการของโรคเพียงเล็กน้อยที่ลำต้นหรือกิ่งแขนงใหญ่ ใช้วิธีขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก และนำไปเผาทำลาย แล้วทาแผลด้วยปูนแดงหรือเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า

หากพบอาการของโรครุนแรงที่ราก ลำต้น หรือกิ่งแขนงใหญ่ ป้าต่อใช้วิธีขูดเปลือกลำต้นหรือกิ่งแขนงใหญ่บริเวณที่เป็นโรคออกและเผาทำลาย ใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อราฉีดพ่นหรือทาบริเวณบาดแผลโรคโคนเน่า ตามคำแนะนำของนักวิชาการเกษตร แต่บางครั้งก็ไม่ได้ผล ก็ต้องเผาทำลายต้นทุเรียนที่ตายเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราไฟทอปธอร่ากระจายออกไปในพื้นที่กว้างขวาง และลงมือปลูกทุเรียนต้นใหม่ขึ้นมาทดแทน

เงาะปราจีน เนื้อแห้ง ร่อน อร่อย

 ด้านตลาด

สวนป้าต่อปลูกดูแลสวนโดยใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก เน้นดูแลจัดการสวนในลักษณะเกษตรอินทรีย์ ไม่ค่อยใช้สารเคมี ดูแลจัดการสวนตามมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) เก็บเกี่ยวผลผลิตตามความสุกแก่ในแต่ละมีด ทำให้ได้ทุเรียนคุณภาพดี เนื้อทุเรียนมีสีเหลือง แห้ง หนา เส้นใยน้อย หวานมัน

เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ป้าต่อจะประชาสัมพันธ์วันเปิดสวนให้ลูกค้าได้รับรู้ผ่าน เฟซบุ๊ก : สวนป้าต่อ ผลไม้ปลีกส่ง ทำให้มีลูกค้าทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัดแวะเวียนเข้ามาซื้อผลผลิตเป็นประจำทุกปี เพราะสวนป้าต่อรับประกันคุณภาพทุเรียนที่นำมาขายทุกลูก ทำให้ลูกค้าติดใจ มีการโทร. สั่งจองล่วงหน้า

มะยงชิด

การทำสวนผลไม้แบบผสมผสาน เพื่อให้ธรรมชาติเกื้อกูลกัน ทำให้ผลไม้ทุกชนิดในสวนมีคุณภาพสมบูรณ์เต็มที่ ทั้งขนาด รสชาติ และทรงผล นอกจากนี้ ป้าต่อยังมีผลผลิตหมุนเวียนออกขายตลอดทั้งปี ประกอบกับสวนผลไม้ของป้าต่อได้รับอิทธิพลความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า แหล่งน้ำ และปลูกในดินภูเขาไฟของดงพญาเย็น ทำให้ผลไม้ของที่นี่มีรสชาติดีอีกต่างหาก หากใครสนใจเยี่ยมสวนผลไม้ป้าต่อ ติดต่อเยี่ยมชมสวนได้ล่วงหน้าที่เบอร์โทรศัพท์ 096-670-7285, 086-154-1194 และ ติดตามข่าวสารของสวนแห่งนี้ ได้ทางเฟซบุ๊ก : สวนป้าต่อ ผลไม้ปลีกส่ง