Young Smart Farmer เกษตรทฤษฎีใหม่ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวทุกฤดูกาล

คุณพงพันธ์ เทพไทย (พัน) Young Smart Farmer จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชายผู้มีความสุขในการทำเกษตร ซึ่งคุณพันได้เริ่มทำเกษตรมาตั้งแต่อายุ 20 ปี จนถึงปัจจุบันเขาก็ยังได้ส่งต่อแนวคิดดีๆ ในการทำเกษตรในรูปแบบ “เกษตรทฤษฎีใหม่ หรือ เกษตรผสมผสาน” ให้กับลูกๆ และเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเรียนรู้อีกด้วย

 

อันดับแรกมาทำความรู้จักเกี่ยวกับคำว่า “เกษตรทฤษฎีใหม่” กันก่อน

เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นทฤษฎีแนวทางในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบากให้ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ แบ่งพื้นที่จัดสรรในการทำสวนตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10

จุดเริ่มต้นของการทำเกษตรผสมผสาน

คุณพัน เล่าว่า จุดเริ่มต้นมันเกิดจาก “ความรักในการทำเกษตร” ซึ่งการจะเป็นเกษตรกรไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเกษตรเป็นเรื่องของการเอาใจใส่ และเวลาในการเพาะเลี้ยง แต่เมื่อมันออกผลผลิตให้เราแล้ว ผลผลิตเหล่านั้นจะทำให้เราอยู่ได้แถมสร้างรายได้ให้เราอีกด้วย และที่สำคัญคือ ‘เราเป็นนายตัวเอง’

ช่วงหนึ่งในการพูดคุยคุณพันได้เล่าถึงที่มาอีกเหตุผลที่ทำให้เริ่มทำเกษตรผสมผสาน “ส่วนตัวผม ผมไม่ชอบทำงานโรงงานนะครับ เพราะว่าไม่ชอบการไปเป็นลูกน้องใครนะครับ และรักที่ทำการเกษตรด้วยทำให้เลือกมาทำตรงจุดนี้”

 

จากการทำนาแบบปกติ เมื่อถึงรุ่นเราจึงถูกต่อยอดให้ดีขึ้น

เดิมพื้นที่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่ก็มักจะทำนากัน ในอดีตคุณปู่คุณย่าก็ทำนาเหมือนกัน แต่พอเวลามันผันเปลี่ยนมาถึงรุ่นเรา คุณพันจึงพัฒนาต่อยอดการทำเกษตรแบบเดียว มาเป็นแบบ ‘ผสมผสาน’ โดยดึงเอาเกษตรตัวนั้น ตัวนี้ มาอยู่ภายในสวน จนกลายเป็นสวนในทุกวันนี้

 

 

การทำเกษตรผสมผสานต้องมีอะไรบ้าง แบ่งพื้นที่อย่างไร

อันดับแรกที่เป็นหัวใจหลักคือ ‘บ่อปลา’ และจะมีไม้สวน พืชผัก โดยที่สวนของคุณพันจะปลูกพืชพรรณทุกชนิดเพื่อเอาไปใช้ในการทำอาหารในร้านอาหารของที่บ้าน ส่วนหนึ่งจะแบ่งขายในราคาย่อมเยา 

ซึ่งผักในสวนของคุณพันต้องบอกว่า 100% เป็นผักอินทรีย์ไม่มีสารพิษ เพราะคุณพันอยากให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูกค้าที่มารับประทานอาหาร รวมถึงลูกค้าที่ซื้อผักไปด้วย หากซื้อผักของคุณพันไปมั่นใจได้เลยว่าคุณได้รับผักที่สะอาด ปลอดภัย อย่างแน่นอน

เริ่มต้นไม่ยาก แถมต้นทุนศูนย์บาท

ใครว่าการทำเกษตรผสมผสานเป็นการลงทุนโดยใช้เงินจำนวนมาก จริง ๆ แล้วไม่ได้ใช้เงินลงทุนมากมายอะไรเลย สำหรับสวนนี้คุณพันพูดเองเลยว่าแทบที่จะไม่ต้องใช้เงินทุนอะไรเลย ต้นไม้บางต้นก็ได้จากการแลกต้นไม้กันของลุงๆ ป้าๆ ในพื้นที่

อย่างในสวนของคุณพันต้นไม้ที่ปลูกตามพื้นที่ เช่น “อุโมงค์ไผ่” ก่อไผ่ที่เอามาปลูกเขาก็ซื้อมาต้นละ 33 บาท 3 ต้น 100 บาท มีทั้งหมด 20 ต้น และเมื่อเราเลี้ยงไปสักระยะจนต้นโตแล้ว เราก็สามารถเก็บหน่อไม้ขาย หรือนำไปแปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง หน่อไม้ถุง เมื่อนำไปขายเราจะได้เงินคืนกลับมาเป็นต้นทุนของเรา

หรือผลไม้ในสวนอย่าง ‘มะละกอ’ คุณพันก็ไปซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกกับดินที่บ้าน และเมื่อออกผลก็เพาะเมล็ดของมันต่อไปเรื่อยๆ และนำผลผลิตไปขายคืนทุน เรียกได้ว่าข้อดีของการทำเกษตรผสมผสานคือ การมี “ผลผลิตไม่ซ้ำ มีขายได้ทุกฤดู”

รายที่ได้จากการทำเกษตรผสมผสาน

รายได้หลักของสวนคุณพันมาจากพริก, กะเพรา, ตะไคร้, โหระพา, ยี่หร่า และข่า ซึ่งเป็นพืชผักที่เป็นรายได้รายวันให้กับทางสวนอยู่แล้ว เพราะส่วนหนึ่งจะนำไปส่งที่ร้านอาหารของตัวเองเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร

สำหรับรายได้รายอาทิตย์จะมาจากมะละกอ ซึ่งวิธีการขายจะขายแบบรวบยอดเป็นอาทิตย์ โดยคุณพันมีการขายมะละกอทุกวัน แต่ที่สำคัญและเป็นจุดสร้างกำไรให้กับที่สวนจริงๆ คือ “เตาเผาถ่าน”

คุณพันได้เล่าว่า 1 เตาเผาถ่านสร้างรายได้ประมาณ 7,000-8,000 บาท โดยมีแนวคิดที่ว่าถ้าคนไทยยังบริโภคหมูกระทะอยู่ ยังบริโภคไก่ย่างกันอยู่ จะอย่างไรถ่านก็ยังจะขายได้ราคาเหมือนเดิม และสร้างรายได้ให้เราได้เช่นกัน

ส่วนวิธีการทำถ่านเราจะนำต้นไม้ที่ล้มแล้ว และชาวบ้านเขาจะมาเรียกให้คุณพันไปช่วยตัดต้นไม้ พร้อมกับให้ต้นไม้ไปเลย ซึ่งเขาจะนำต้นไม้ที่ตัดมาทำการเผาถ่าน ทำทีหนึ่งเราจะได้ทั้ง ‘ถ่าน’ และ ‘น้ำส้มควันไม้’ มาใช้ในสวน

ข้อดีของการจุดควันถ่านในระหว่างที่เราทำ ควันของการเผาถ่านจะลอยคลุ้งอยู่ในสวน ควันเหล่านั้นจะเข้าไปเกาะตามต้นไม้ ใบไม้ ภายในสวนช่วยไล่แมลงศัตรูพืชไม่ให้เข้ามาทำลายระบบภายใน สำหรับช่วงไหนที่ไม่ได้เผาถ่านจะใช้น้ำส้มควันไม้พ่นแทน

เทคนิคสู่เส้นทางเกษตรมือใหม่ หัวใจเกษตรผสมผสาน

แนวทางการทำสวนตามทฤษฎีใหม่คือการจัดสรรพื้นที่ที่เป็นหัวใจหลัก รองลงมาจะเป็นบ่อน้ำที่เป็นหัวใจรองในการทำเกษตร และเลี้ยงปลา แต่อีกเทคนิคทำสวนผสมผสานคือ การจัดวางแผนการปลูกพืชผัก 

เทคนิคที่คุณพันใช้คือ ‘การปลูกพืชรวมๆ กัน’ เคล็ดลับในการปลูกพืชรวมกันเพื่อให้แมลงสับสนงงงวย เพราะพอแมลงมันมีอาการงงมันจะไปกัดกินไม่ถูก พอกระโดดไปต้นนู้นปุ๊บ ‘อุ๊ย! ไม่ใช่ กินไม่ได้’

รวมถึงการพ่นน้ำส้มควันไม้ ที่ทำให้แมลงไม่กล้าเข้ามาใกล้ ไหนจะการบำรุงโดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ทำให้ผักผลไม้ในสวนของคุณพันจะมีผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

สุดท้ายคุณพันได้ฝากบอกเกษตรกรรุ่นใหม่ รวมถึงเกษตรกรหน้าใหม่ที่อยากเข้ามาทำการเกษตร และอยากเปลี่ยนพื้นที่บ้านเป็นสวนเล็กๆ สร้างรายได้เสริม อันดับแรกคุณพันอยากให้เราถามตัวเองก่อนว่า “มีใจรักในเกษตรหรือไม่” 

เพราะการทำสวนปลูกผัก ปลูกผลไม้ จริงๆ ต้องบอกว่าในการทำเกษตรทุกอย่างล้วนใช้เวลาในการทำ ความอดทน และการไม่หยุดพัฒนาในการทำเกษตร แต่จุดสำคัญที่คุณพันบอกคือ “เราต้องลงมือทำ”