ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
เผยแพร่ |
มะม่วงลูกเล็กๆ ขนาดประมาณไข่ไก่ ที่เป็นช่อมัดรวมกันวางขายตามห้างหรือตลาดนัด รู้จักกันว่าเป็น “มะม่วงเบา” ผลไม้ที่ชื่นชอบของคนสายเปรี้ยว
ไม้ผลชนิดนี้มีมากทางภาคใต้ เหตุที่ชื่อว่ามะม่วงเบาเพราะผลผลิตให้ได้ตลอดปี มีจุดเด่นเรื่องรสเปรี้ยว กรอบ ไม่ฝาดหรือฉุน เหมาะทานดิบกับน้ำปลาหวาน กะปิหวานหรือแปรรูปแช่อิ่ม ดอง ตลอดจนนำไปปรุงคู่กับอาหารพื้นบ้าน บางครั้งใช้แทนมะนาวในช่วงราคาแพง
หลายปีที่ผ่านมามะม่วงเบาได้รับความนิยมขึ้นมาก ขายหลายแห่งหลายช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ทั้งแบบผลสด แช่อิ่ม และมะม่วงดอง ทำให้ราคามะม่วงเบาสูงขึ้น จำนวนผู้ขายเพิ่มขึ้นด้วย หนึ่งในเหตุผลสำคัญน่าจะมาจากกลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์ ส่งผลให้มะม่วงเบาของดีแดนใต้จึงกลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจสร้างเงินให้ชาวสวน
“มะม่วงเบาสงขลา” ไม้ผลที่อยู่คู่กับจังหวัดมากว่า 100 ปี ผลผลิตมีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ทั้งในแง่ของคุณภาพ และอัตลักษณ์ที่โดดเด่นด้วยมีรสชาติเปรี้ยว เนื้อสีขาวแน่น และกรอบ เนื่องจากปลูกในสภาพดินร่วนปนทรายที่มีการทับถมของซากเปลือกหอยส่งผลให้มะม่วงเบาสงขลามีรสชาติดีกว่าพื้นที่อื่น
ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนมะม่วงเบาสงขลาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้าจีไอ (GI) เพื่อรักษาคุณภาพ ชื่อเสียง รวมถึงคุณลักษณะเฉพาะถิ่น ช่วยสร้างมูลค่าให้กับมะม่วงเบาสงขลาที่ปลูกในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระจำนวน 4 อำเภอ คือ สิงหนคร, สทิงพระ, กระแสสินธุ์ และระโนด
คุณประทีป จันทโร บ้านเลขที่ 152 หมู่ที่ 5 ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นชาวสวนมะม่วงเบารายหนึ่งที่ยึดอาชีพหารายได้จากมะม่วงเบามายาวนาน ได้เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมชาวบ้านปลูกมะม่วงเบาอยู่ตามบ้าน ตามหัวไร่ปลายนา เป็นไม้ผลที่อยู่คู่กับชาวสงขลามานานกว่า 100 ปี ตอนนี้ต้นพันธุ์ดั้งเดิมอายุกว่า 150 ปี อยู่ที่อำเภอสทิงหม้อ สมัยก่อนเก็บผลผลิตมาทานหรือประกอบอาหารเท่านั้น มาถึงยุคนี้ขายมะม่วงเบาทำเงิน
มะม่วงเบาสงขลาปลูกในพื้นที่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ติดทะเลฝั่งทะเลสาบสงขลา ทำให้ดินมีแร่ธาตุสมบูรณ์ มะม่วงจึงมีรสชาติดี คือมีกลิ่นหอมอ่อน รสเปรี้ยวปานกลาง เนื้อกรอบ เปลือกบาง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดมีความแตกต่างมะม่วงที่ได้จากการนำไปปลูกในพื้นที่อื่น
คุณประทีปปลูกมะม่วงเบาอยู่ 50 ต้น เป็นต้นเก่าอายุ 100 กว่าปีที่ปลูกมาตั้งแต่บรรพบุรุษโดยไม่ได้ปลูกเพิ่ม ปุ๋ยที่ใช้มีทั้งปุ๋ยขี้ไก่กับปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ปุ๋ยขี้ไก่ใส่หลังเก็บผลผลิตแล้วตัดแต่งทรงต้น ปุ๋ยสูตรใส่ช่วงที่ก่อนเริ่มมีดอก ปุ๋ยสูตรใส่ต้นละ 2-3 กิโลกรัม ปุ๋ยขี้ไก่ใส่ต้นละ 4-5 กิโลกรัม ปุ๋ยขี้ไก่ที่คุณประทีปใช้ซื้อมาจากฟาร์มเป็นขี้ไก่หมัก เหตุผลที่ใส่เพื่อป้องกันโรครากเน่า ใส่ประมาณ 3-4 กิโลกรัมต่อต้น ใส่หลังตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งนอกจากเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับผลผลิตครั้งต่อไปแล้ว ข้อดีของการตัดแต่งกิ่งยังทำให้ได้สำรวจความสมบูรณ์ของต้น ใบ กิ่ง ก้าน ว่าเจอโรคหรือแมลงศัตรูหรือไม่เพื่อจะได้หาทางป้องกันแก้ไขไม่ให้ลุกลามบานปลายจนกระทบกับความสมบูรณ์และคุณภาพผลผลิต
ผลผลิตจะเก็บช่วง 65-70 วันหลังแทงช่อดอก หลังมีดอกแล้วควรเสริมด้วยแคลเซียมโบรอนเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับขั้วดอกป้องกันผลร่วง ทั้งยังช่วยให้ผลสวยเขียว โตเร็ว คุณประทีป ชี้ว่า แนวทางนี้บางสวนอาจมีสูตรเฉพาะเพื่อเร่งให้ผลมีขนาดใหญ่โตเร็วขึ้น
โรค/ศัตรูพืชที่พบ ได้แก่ ราน้ำค้าง, เพลี้ยจั๊กจั่น, หนอนเจาะต้น, หนอนเจาะผล คุณประทีป ชี้ว่า ถึงแม้จะมีโรคและศัตรูพืชเหล่านั้น แต่หลายสวนมีการบริหารจัดการอย่างดี ทั้งการปลูก ความสะอาดในสวน รวมถึงการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้อากาศและแสงแดดถ่ายเทได้สะดวก
ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงพบปัญหาดังกล่าวน้อยมาก หลายแปลงมีแนวทางการปลูกที่ได้มาตรฐาน GAP เพราะได้วางแผนเพื่อเป็นแปลงใหญ่ในเร็วนี้ แต่หากมีการระบาดเกิดขึ้นทางเจ้าหน้าที่เกษตรเข้ามาดูแลเอาใจใส่ ให้ความรู้ ตลอดจนหาทางป้องกันแก้ไข
“ตัดแต่งทรงพุ่มเพื่อไม่ให้ต้นสูง มีความโปร่งแสง และลมผ่านสะดวก เป็นการป้องกันปัญหาอย่างหนอนเจาะต้น ขณะที่ลำต้นไม่สูงใหญ่จะช่วยให้การทำงานทั้งการฉีดพ่นปุ๋ยยา การเก็บผลผลิต เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ดังนั้น แนวทางนี้จะช่วยให้การปลูกมะม่วงไม่ยุ่งยาก แล้วใช้ต้นทุนน้อยด้วย”
สวนมะม่วงเบาของคุณประทีปได้ผลผลิตประมาณ 150-200 กิโลกรัมต่อต้น เนื่องจากต้นอายุมาก เจ้าของสวนบอกว่าถ้าต้นอายุน้อยอาจได้ผลผลิตถึง 200-300 กิโลกรัมต่อต้น แล้วหากบำรุงอย่างดี อาจสูงขึ้นไปอีกมาก
เรื่องน้ำแทบไม่ต้องให้เลย ใช้น้ำฝนอย่างเดียวก็เพียงพอ ฝนตกบ่อย ไม่จำเป็นต้องวางระบบน้ำ ฝนตกชุกตามฤดูคือราวเดือน 5 และเดือน 10 ชาวบ้านรู้ว่าควรต้องบริหารจัดการสวนมะม่วงอย่างไรเพื่อให้มีความเหมาะสม
“มะม่วงเบาทางภาคใต้ปลูกเหมือนกับมะม่วงทั่วไป เพียงแต่ทางภาคใต้ได้เปรียบเรื่องปริมาณน้ำที่มีมากกว่าภาคอื่นจึงทำให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปี แต่ฤดูผลผลิตจริงมี 2 ช่วง คือ ราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน และเมษายน-พฤษภาคม นอกจากนั้น ยังให้ผลผลิตได้อีกมากบ้าง น้อยบ้าง”
การขายมะม่วงจะมีพ่อค้ามารับซื้อที่สวน ภายหลังตกลงราคาซื้อ-ขายแล้ว ทางผู้ซื้อจัดการเก็บเองแล้วนำมาชั่งน้ำหนัก แต่ถ้านอกฤดูมะม่วงทางสวนจะเก็บขายเองเพราะปริมาณมะม่วงไม่มีมาก ค่อยๆ เก็บขายได้ โดยมะม่วงเบาที่ขายในตลาดมีทั้งแบบผลสด แปรรูปเป็นแช่อิ่มหรือดองเกลือ ถ้านำไปแช่อิ่มใช้มะม่วงที่มีผลใหญ่ประมาณ 18 ผลต่อกิโลกรัม ถ้าดองเกลือใช้ขนาดผลปานกลางประมาณ 24-25 ผลต่อกิโลกรัม
ปัจจุบันสวนมะม่วงเบาสงขลาหลายแห่งที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP เข้าโครงการแปลงใหญ่มะม่วงเบาสงขลา ขณะเดียวกัน กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนมะม่วงเบาสงขลาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้าจีไอ (GI) เพื่อรักษาคุณภาพ ชื่อเสียง รวมถึงคุณลักษณะเฉพาะถิ่น ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มะม่วงจนชาวบ้านหันมาเอาใจใส่เรื่องปลูกและแปรรูปอย่างเป็นระบบมากขึ้น
คุณประทีป บอกว่า มะม่วงเบาสงขลาเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพราะคนบันเทิงทำคอนเทนต์ลงในยูทูบจนเกิดการแพร่หลายเป็นที่รู้จักกันไปทั่วประเทศทำให้ราคาดีขึ้นเป็นลำดับและขยับขึ้นทุกปี โดยเฉพาะช่วง ปี 2565-2566 ราคาสูงกิโลกรัมละ 70 – 100 บาทอีกด้วย ผลตอบรับอย่างดีเช่นนี้จึงทำให้มะม่วงเบา แต่ราคาไม่เบา อีกทั้งการได้รับ GI มีผลดีด้านการตลาดเพราะลูกค้ามีความเชื่อมั่นเรื่องคุณภาพและการตรวจสอบ”
คุณประทีป ชี้ว่า ลูกค้าประจำจะแยกออกว่ามะม่วงเบาแบบใดมาจากสงขลาเพราะมีลักษณะเฉพาะที่ชัดเจน ได้แก่ ขนาดผลพอดี, เปลือกผลสีเขียวนวลสวย, มีติ่งเล็กที่ปลายผลคล้ายมะม่วงแรดที่เป็นจุดสังเกตต่างจากที่อื่น, ลักษณะรูปผลทรงกลมเมื่อผ่าออกครึ่งซีกจะคล้ายรูปหัวใจ, เมล็ดเล็ก, กรอบและผลมีกลิ่นหอม, เปลือกบาง, รสเปรี้ยวแต่ไม่จี๊ดจ๊าดจนเข็ดฟัน
ถึงตอนนี้หากคุณรู้สึกเปรี้ยวปากอยากลิ้มลองมะม่วงเบาสงขลาคงต้องพิจารณาสังเกตของแท้จากข้อมูลที่ให้เสียก่อน มิเช่นนั้นอาจผิดหวังแน่
………..
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2566