ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลบ้านใหม่ ศูนย์ดีเด่นพะเยา 3 ปีซ้อน

ตำบลบ้านใหม่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร มีครัวเรือนเกษตรจำนวน 989 ครัวเรือน พืชเศรษฐกิจสำคัญคือ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา เกษตรกรประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำ มีต้นทุนสูงจากใช้ปุ๋ยเคมี ในปี 2562 ทางนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรของสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ได้มาให้คำแนะนำเรื่องการตรวจวิเคราะห์ดิน และได้รวบรวมตัวอย่างดินของเกษตรกรส่งตรวจวิเคราะห์กับสถานีพัฒนาที่ดินพะเยา ปรากฏว่าดินของเกษตรกรทุกรายมีค่าเป็นกรดสูง เนื่องจากมีการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นระยะเวลายาวนาน และพื้นที่เป็นชุดดินเรณู ที่มีความเป็นกรดสูง

ที่ตั้งศูนย์

ทางนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรของสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา จึงได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ต่อมา คุณประสาน เชื้อดี และเกษตรกรแกนนำบ้านใหม่ บ้านร่องไฮ จำนวน 10 ราย ได้มาขอคำปรึกษาเพิ่มเกี่ยวกับการปรับปรุงบำรุงดิน และต้องการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ที่สูงเพิ่มขึ้นทุกปี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรของสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองพะเยา ร่วมกับกลุ่มแกนนำจึงได้ประชาสัมพันธ์ ชักชวนผู้สนใจรวมตัวจัดตั้งเป็น ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน เพื่อที่จะได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้ การปรับปรุงบำรุงดิน การตรวจวิเคราะห์ดิน และการใช้ปุ๋ยสั่งตัด หรือการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ และพืชที่เกษตรกรเพาะปลูก จากการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้น นอกจากจะลดต้นทุนการผลิตแล้ว ที่สำคัญที่เห็นได้ชัดเจนคือ ดินมีความร่วนซุยเพิ่มมากขึ้น ข้าวในนาเขียว ให้ผลผลิตสูงขึ้น มีเกษตรกรเครือข่ายเพิ่มขึ้น และที่สำคัญสมาชิกกลุ่มยังมีรายได้จากการจำหน่ายปุ๋ย การบริการผสมปุ๋ย และจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ที่ทางสมาชิกกลุ่มร่วมกันผลิต

สมาชิกศูนย์

ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลบ้านใหม่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ก่อตั้งเมื่อปี 2562 ปัจจุบันมีสมาชิก 31 ราย สมาชิกเครือข่าย 272 คน ปี 2564 ได้เข้าร่วมโครงการบริการธุรกิจดินปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ได้รับการสนับสนุนแม่ปุ๋ย และเครื่องผสมปุ๋ย

ปี 2566 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองพะเยาสนับสนุน กิจกรรมการพัฒนาศูนย์เครือข่าย (ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน) พัฒนาศูนย์เครือข่ายและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการจัดการดินและปุ๋ย สนับสนุนการดำเนิน กิจกรรมของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนเครือข่าย 8,000 บาท กิจกรรมการพัฒนาศูนย์เครือข่าย (ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน) ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการจัดการดินและปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต จัดกระบวนการเรียนรู้ด้านการจัดการดินและปุ๋ยแก่สมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน กิจกรรมการพัฒนาศูนย์เครือข่าย (ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน) พัฒนาศูนย์เครือข่ายและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการจัดการดินและปุ๋ย จัดทำแปลงเรียนรู้ด้านการจัดการดินและปุ๋ย

แปลงทดสอบ 

การบริการของ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.)

มีการให้ความรู้เรื่องดินและปุ๋ย ส่งเสริมการงดการเผา ตรวจวิเคราะห์ดิน พร้อมให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน จัดหา บริการปุ๋ยคุณภาพดี และบริการผสมปุ๋ย ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ ผลิตและขยายผลแหนแดงสู่เกษตรกรศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลบ้านใหม่ ได้รับรางวัลประกวดศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนระดับจังหวัดในปี 2564, 2565, 2566 และได้รับรางวัลประกวด โครงการบริการธุรกิจดินปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ดีเด่นระดับจังหวัด ในปี 2564

รับการติดตามการดำเนินงาน

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทางศูนย์จัดการปุ๋ยชุมชนบ้านใหม่ ใช้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง สูตร “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” โดยมีวิธีการทำดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 นำเศษข้าวโพดหรือฟางข้าว 4 ส่วน กับมูลสัตว์ 1 ส่วนโดยปริมาตร วางสลับกันเป็นชั้นบางๆ สูงไม่เกินชั้นละ 10 เซนติเมตร จำนวน 15-17 ชั้น รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้น ขึ้นกองเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีความสูงไม่ต่ำกว่า 1.50 เมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร ส่วนความยาวของกองจะยาวเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเศษพืชและมูลสัตว์ที่มีความสำคัญของการที่ต้องทำเป็นชั้นบางๆ 15-17 ชั้น ก็เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในมูลสัตว์ได้ใช้ทั้งธาตุคาร์บอน (มีอยู่ในเศษพืช) และธาตุไนโตรเจน (มีในมูลสัตว์) ในการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ของจุลินทรีย์ ซึ่งจะทำให้การย่อยสลายวัตถุดิบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

ผลิตภัณฑ์ของศูนย์

ขั้นตอนที่ 2 รักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลา โดยมีการดำเนินการดังนี้ รดน้ำภายนอกกองปุ๋ยทุกเช้า (ถ้าฝนตกก็ให้งดขั้นตอนนี้) ใช้ไม้แทงกองปุ๋ยให้เป็นรูลึกถึงข้างล่างแล้วกรอกน้ำลงไป ระยะห่างของรูประมาณ 40 เซนติเมตร ทำขั้นตอนนี้ 5 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 10 วัน เมื่อเติมน้ำเสร็จแล้วให้ปิดรูเพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อนภายในกองปุ๋ย ขั้นตอนนี้แม้ว่าอยู่ในช่วงของฤดูฝนก็ยังต้องทำ เพราะน้ำฝนจะไม่สามารถไหลซึมเข้าไปในกองปุ๋ยได้ การที่ฝนไม่สามารถชะล้างเข้าไปในกองปุ๋ยได้เกษตรกรจึงสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ในฤดูฝนได้ด้วย ภายในเวลา 5 วันแรก กองปุ๋ยจะมีค่าอุณหภูมิสูงขึ้นมาก บางครั้งสูงถึง 70 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับกองปุ๋ยที่ทำได้ถูกวิธี อันเกิดจากกิจกรรมการย่อยสลายของจุลินทรีย์ และความร้อนสูงนี้ยังเป็นสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงานของจุลินทรีย์ในกองปุ๋ยอีกด้วย หลังจากนั้นอุณหภูมิจะค่อยๆ ลดลงจนมีค่าอุณหภูมิปกติที่อายุ 60 วัน

แปลงข้าวที่ใช้ปุ๋ยของศูนย์

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อกองปุ๋ยมีอายุครบ 60 วัน ก็หยุดให้ความชื้น กองปุ๋ยจะมีความสูงเหลือเพียง 1 เมตร แล้วทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งเพื่อให้จุลินทรีย์สงบตัวและไม่ให้เป็นอันตรายต่อรากพืช วิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งอาจทำโดยทิ้งไว้ในกองเฉยๆ ประมาณ 1 เดือน หรืออาจแผ่กระจายในที่ร่มอากาศถ่ายเทให้มีความหนาประมาณ 20-30 เซนติเมตร แล้วเกลี่ยไปมา ซึ่งจะแห้งภายในเวลา 3-4 วัน ก็สามารถนำไปใช้บำรุงพืช และปรับปรุงดินในพื้นที่ของเกษตรกรได้ทันที หรือจะนำมาป่นละเอียดเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้

ข้อห้าม ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ยให้แน่น หรือเอาผ้าคลุมกองปุ๋ย ห้ามละเลยการดูแลความชื้นทั้ง 2 ขั้นตอน เพราะถ้ากองปุ๋ยแห้งเกินไปจะทำให้ต้องใช้ระยะเวลาหมักนานขึ้น และปุ๋ยมีคุณภาพต่ำ ห้ามวางเศษพืชหนาเกินไป เพราะจะทำให้จุลินทรีย์ที่มีในมูลสัตว์ไม่สามารถเข้าไปย่อยสลายได้ ห้ามทำกองปุ๋ยใต้ต้นไม้ เพราะความร้อนของกองปุ๋ยจะทำให้ต้นไม้ตายได้ ห้ามระบายความร้อนจากกองปุ๋ย เพราะความร้อนจะช่วยให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีมากขึ้น

การผลิตปุ๋ยของสมาชิกศูนย์

การใช้ ในนาข้าว ใช้ 300-3,000 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ไม้ผล ใช้ 50 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี พืชผัก ใช้ 2 กิโลกรัมต่อตารางเมตร อ้อย ใช้ 600-1,200 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี

หมายเหตุ : ทั้งนี้ ขึ้นกับคุณภาพของดิน การทำกองปุ๋ยความยาว 4 เมตร สูง 1.5 เมตร ได้ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 1 ตัน

นอกจากนี้ ทางศูนย์จัดการดินปุ๋ยบ้านใหม่ ยังได้เพาะเลี้ยงแหนแดงเพื่อใช้เป็นปุ๋ยและทำเป็นอาหารสัตว์ ช่วยลดต้นทุนการผลิต

การเพาะเลี้ยงแหนแดง แหนแดงเป็นพรรณไม้น้ำชนิดลอยบนผิวน้ำ ลักษณะทั่วไปประกอบด้วยลำต้น ราก และใบแหนแดงมีลักษณะพิเศษคือ ใบบนเป็นใบที่มีโพรงใบ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Anabaena azollae) ในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่อาศัยในโพรงใบของแหนแดงสามารถตรึงไนโตรเจนได้ แล้วทำการเปลี่ยนไนโตรเจนให้เป็นแอมโมเนียม ซึ่งแหนแดงสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการเติบโตได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนแหนแดงได้ถึง 2 เท่า ภายใน 3-5 วัน

การเลี้ยงแหนแดง

แหนแดงสำหรับปุ๋ยในนาข้าว ใบแหนแดงมีโพรงขนาดเล็กที่เป็นที่อาศัยของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน Anabana azollae ที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ด้วยภายในเซลล์จะมีเอนไซม์ Nitrogenase ซึ่งใช้เหล็กและโมลิบดินัมสำหรับเป็นโคแฟกเตอร์ในปฏิกิริยา พร้อมกับรีดิวซ์ก๊าซไนโตรเจนให้เป็นแอมโมเนีย และเก็บไว้ในเซลล์ และไนโตรเจนที่ตรึงได้นี้กลายเป็นธาตุอาหารสำคัญในการเติบโตของแหนแดง ทำให้แหนแดงมีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยพืชสดได้เหมือนกับพืชตระกูลถั่วอื่นๆ แหนแดงที่อยู่ในสภาพที่เหมาะสม แหล่งอาศัยมีธาตุอาหารสูงจะสามารถเพิ่มจำนวนต้นได้รวดเร็ว โดยในเวลา 30 วัน แหนแดงสามารถเพิ่มจำนวน และเติบโตจนได้ต้นสดได้มากถึง 3 ตันต่อไร่ ซึ่งจะตรึงไนโตรเจนได้ประมาณ 5-10 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับนาดำ การใช้แหนแดงจะทำการหว่านแหนแดงก่อนการไถปักดำ ประมาณ 1 เดือน อัตราการหว่านที่ 50 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งระยะนี้จำเป็นต้องมีน้ำขังในแปลงนาตลอด หลังจากนั้น แหนแดงจะเติบโตและขยายจำนวนจนเต็มแปลงนา ก่อนทำการไถเพื่อปักดำต้นข้าว โดยสามารถให้ผลผลิตกว่า 1-3 ตันต่อไร่ หลังจากนั้น เมื่อต้นข้าวเติบโตจึงหว่านแหนแดงอีกรอบ ประมาณ 100 กิโลกรัมต่อไร่

วิธีการเพาะเลี้ยงแหนแดง เตรียมกะละมังหรือบ่อปูนซีเมนต์สำหรับเพาะเลี้ยงแหนแดง นำขี้วัวมาแช่น้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดแล้วตักน้ำทิ้งแล้วเติมน้ำลงไปใหม่ ใส่ดินลงไปผสมกับขี้วัวอัตราส่วน 1 : 1 เติมน้ำสะอาดลงไปให้เหนือจากผิวดินประมาณ 10-15 เซนติเมตร ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 1-2 วัน จึงปล่อยแหนแดงลงไปในบ่อหรือกะละมังเพื่อทำการเพาะเลี้ยง

สมาชิกการวิเคราะห์ดินเบื้องต้น

ข้อดี ใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวทดแทนปุ๋ยเคมีไนโตรเจน โดยที่ในโพรงใบแหนแดง สามารถดึงเอาไนโตรเจนจากอากาศมาใช้สำหรับการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ แหนแดงมีอัตราส่วนระหว่างคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C : N) อยู่ระหว่าง 8-13 หลังถูกไถกลบ จะย่อยสลายและปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาในระยะเวลาที่สั้นประมาณ 8 สัปดาห์ ทำให้พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น ลดปริมาณวัชพืชในนาข้าว แหนแดงจะคลุมผิวน้ำป้องกันไม่ให้แสงแดดส่องลงไปในน้ำ ทำให้วัชพืชในน้ำเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่หากมีปริมาณมาก ให้เก็บมากองรวมกันสำหรับทำปุ๋ยหมักใช้ในแปลงพืชผักหรือสวนผลไม้ เป็นพรรณไม้น้ำประเภทลอยน้ำที่บางครั้งถูกนำมาปล่อยในระบบบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะระบบบำบัดแบบบึงประดิษฐ์หรือบ่อบำบัดแบบเติมอากาศในบ่อสุดท้ายก่อนปล่อยลงสู่ลำน้ำสาธารณะทั้งนี้ แหนแดงที่ใช้บำบัดน้ำเสียจะช่วยลดความสกปรกของน้ำ และไนโตรเจนเป็นหลัก รวมถึงช่วยบำบัดโลหะหนักบางชนิดได้

สนใจศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน ติดต่อศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนบ้านใหม่ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ประธาน คุณประสาน เชื้อดี โทร. 087-173-9241