ทุเรียนแห่งเคียนซา-ลูกบ้าสายพันธุ์ใหม่

“ปลูกเอง ดูแลเอง ขายเอง นักเลงพอ”

เป็นประโยคสั้นๆ แต่กระตุ้นให้ผมต้องเดินทางมาที่สวนทุเรียนแห่งนี้ อยากเจอนักเลงผู้องอาจคนนี้ยิ่งนัก มีคำถามมากมายที่จะต้องพูดคุยกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องมีทุเรียนมาชิมแกล้มการสนทนาด้วยนะ

พ่ออุดม แม่กัญญา ลูกศราวุธ โพธิ์เพชร

คุณศราวุฒิ โพธิ์เพชร แห่งสวน “หมอนทองอุดม ไร่แม่กัญญา” หมู่ที่ 3 ตำบลเขาตอก อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชายหนุ่มอารมณ์ดีเปิดยิ้มพร้อมเล่าให้ฟังว่า

“ผมเป็นรุ่นลูกที่มาดูแลต่อจากพ่อแม่ครับ ตั้งใจว่าจะดูแลสวนให้ดีเหมือนกับที่พ่อแม่ได้ทำมาก่อนหน้านี้”

“พื้นที่กี่ไร่ครับ เดินเสียเหนื่อยเลย”

“13 ไร่ครับ ปลูกทุเรียนทั้งหมด เน้นหมอนทอง ที่สวนเรามีจำนวน 220 ต้น ก้านยาว 20 ต้นและชะนีไข่ 10 ต้น”

“ปลูกมานานหรือยังครับ”

“17 ปีครับ กำลังเป็นสาวเต็มที่เลย ต้นสมบูรณ์ ผลก็สวยงามมาก”

“เห็นมีแปลงต้นเล็กๆ ด้วย”

“ครับ แปลงใหม่ปลูกได้ 2 ปีกับอีก 5 เดือนแล้ว แปลงนี้ผมจะรวบรวมสายพันธุ์ทุเรียนโบราณของไทยมาปลูกเพื่ออนุรักษ์ให้มากที่สุดครับ”

“โห! เยี่ยมเลย ยกตัวอย่างสักสองสามชื่อหน่อยครับ”

“พานพระศรี ก้านยาวนนท์ สาลิกา พวงมณี ทองตำตัว”

“แล้วจะจำหน่ายหรือให้ชิมครับ”

“ตั้งใจว่าจะให้สมาชิกมาชิมถึงสวนเลยครับ อยากชิมพันธุ์ไหน หากมาตรงช่วงสุกก็จัดการได้เลย”

“อีกนานไหมครับ”

“ขออีก 4-5 ปีครับพี่ รับรองว่าถูกใจคอทุเรียนแน่นอน”

“สนใจตั้งแต่ชื่อสวน มีที่มาที่ไปอย่างไรครับ”

“มาจากชื่อของพ่อและแม่ผมเองครับ พ่อผมชื่ออุดม แม่ชื่อกัญญา โพธิ์เพชร ก็เลยเป็นชื่อสวนที่รวมชื่อพ่อและแม่มาอยู่ด้วยกัน จึงเป็นที่มาของชื่อ หมอนทองอุดม ไร่แม่กัญญา”

มีคุณภาพ

ในสวนจะเห็นต้นทุเรียนยืนเรียงรายเป็นระเบียบ ความร่มครึ้มเนื่องจากต้นเริ่มโตเต็มที่ กิ่งก้านสาขาแตกออกทั่วต้น ทำให้แดดส่องลงมาถึงพื้นไม่มากนัก ส่งผลดีคือหญ้ามีไม่มาก ซึ่งคุณศราวุฒิบอกว่าจะไม่ตัด ปล่อยให้เขาได้อยู่ร่วมด้วยกันในสวน หากยาวเกินจึงจะตัดเอามาทำปุ๋ยหมักให้ทุเรียนต่อไป เชือกที่ผูกโยงผลระโยงระยาง นับคร่าวๆ แต่ละต้นมีไม่น้อยกว่า 100 ผล ทรงสวยๆ ทั้งนั้น

“เห็นมีป้ายผ้าแดงๆ เขียนบรรยายเอาไว้ อยากให้เล่าให้ฟังครับ”

ติดผลดก

“อ๋อ ผมตั้งใจบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ครับ ว่าสวนของเรามีที่มาอย่างไร ผืนดินอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาตอก อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำเกษตรกรรมหลากหลาย โดยการนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตร บนเนื้อที่ 13 ไร่ หมอนทอง 220 ต้น ก้านยาว 20 ตัน ชะนีไข่ 10 ต้น เฝ้าสังเกตพฤติกรรม เอาใจใส่ในทุกช่วงจังหวะพืช ทุ่มเทแรงกายและหัวใจคนเกษตร เพื่อให้ได้มาซึ่งหมอนทองอุดม ที่สมบูรณ์ด้วยรูปทรง รสชาติ คุณภาพของเนื้อ ตลอดจนมุ่งเน้นถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ”

“เรียกว่าเป็นคำประกาศให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพผลผลิตจากสวนของเราว่างั้น”

“ครับ ที่สวนเราได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช หรือ GAP เมื่อปี 2558 เรียบร้อยแล้วครับพี่”

“เยี่ยมเลย ถามอีกหน่อย ที่สวนดูแลอย่างไร ให้ปุ๋ยอย่างไรครับ”

ผลสวยๆ ของหมอนทอง

“ที่สวนเราเคยผ่านวิกฤติมาไม่น้อย กว่าจะยืนได้เช่นทุกวันนี้ครับ และต้องขอบคุณวิกฤติที่ทำให้เรามีโอกาส ที่สวนให้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก จะมีเคมีเสริมอยู่บ้างเพียงเล็กน้อย เช่น ช่วงสะสมตาดอก ช่วงออกดอก แต่หลักๆ ของสวนเราก็คืออินทรีย์ครับ”

“ยากไหม”

“โอย ยากมากครับพี่ ความเสี่ยงชัดๆ ที่เราเจอมาอยู่ 3 ประการคือ 1. การทำให้ออกดอกช่วงนอกฤดูกาลปกติ ซึ่งทำยากและใช้ทุนสูง 2. ทำให้ติดดอกออกผลสมบูรณ์และจำนวนมาก สภาพอากาศต้องเหมาะ หากสภาพอากาศไม่เป็นใจก็เรียบร้อย 3. ราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งพยายามกดเกษตรกรอยู่เสมอ ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้เป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมได้ยากมาก”

“แล้วเราทำอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้”

“ผมเดินตามรอยพ่อแม่ แต่หันมาใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เปิดช่องทางการรับรู้และสื่อออกไปสู่ภายนอกให้มากขึ้น ที่สวนแห่งนี้แม่ผมซึ่งคนที่นี่จะเรียกป้าเตี้ยนให้ที่ดินมา พ่อผมที่คนจะเรียกลุงดมเป็นคนปลูกทุเรียนให้ ดังนั้นผมจึงต้องดูแลให้ดีที่สุด เพื่อทำในสิ่งที่ผมรักมากที่สุด ใช้เวลา 4 ปีในการสร้างตลาดขายตรงของตัวเอง จนวันนี้เริ่มพูดได้ว่า เรามีลูกค้าที่สั่งจองล่วงหน้ากันแล้ว”

“ลูกค้าจากไหนบ้างครับ”

“ผมมีช่องทางจำหน่ายหลักๆ อยู่ 3 จุดครับ จุดแรกเปิดเต๊นท์ในตลาดที่ตัวเมืองสุราษฎร์ธานี จุดที่สองมีตัวแทนจำหน่ายที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่เป็นลูกค้าหลักก็คือสั่งจองและซื้อผ่านเฟซบุ๊กครับ”

“จุดไหนขายดีกว่ากันครับ”

“พอๆ กันครับพี่ ผมมีกลุ่มลูกค้าที่ติดตามตั้งแต่ช่วงทุเรียนเริ่มออกดอก ติดผล เพราะผมจะโพสต์ให้เห็นพัฒนาการให้ลูกค้าได้ชมอยู่เสมอ จุดนี้ทำให้เราเหมือนเป็นเพื่อนกันมากกว่าคนขายกับคนซื้อครับ”

“ติดต่อได้ยังไงครับ”

“เฟซบุ๊กผมใช้ชื่อ หมอนทองอุดม ไร่แม่กัญญา ครับ ส่วนเบอร์ติดต่อก็ โทร. (099) 323-8295 ยินดีรับทุกสายครับ จะโทร.มาสั่งจอง จะโทร.มาสอบถามเรื่องการปลูก การดูแล ก็ยินดีครับ”

“ถามต่อ หนึ่งฤดูกาล ใช้เวลาขายนานไหมครับกว่าจะหมดสวน”

“นับจากมีดแรกก็ไม่เกิน 3 สัปดาห์ก็หมดสวนครับ เราจะคัดลูกที่แก่จัดมาจำหน่ายให้ลูกค้า พอถึงมือก็สุกกำลังกินพอดี”

สภาพสวน

“แล้วปีนี้จะเริ่มมีดแรกวันไหนหนอ”

“20 กรกฎาคม ก็เริ่มทยอยตัดได้แล้วครับ”

“แสดงว่าตอนนี้ก็ยังไม่สุกสิเนอะ”

“ครับพี่ รอบนี้พาพี่มาถ่ายภาพและนั่งคุยกันเท่านั้น”

“เอางั้นเหรอ กะจะมาชิมนะเนี่ย”

“ชมไปก่อนพี่ รอชิมทีหลัง อิอิอิ”

ผมเดินทางกลับแบบยังกรุ่นในใจ ด้วยว่าตั้งใจอยากมาพิสูจน์ความอร่อยของทุเรียนสวนนี้สักพู กลับเป็นว่ามาเร็วไปหน่อยเสียได้ เอาเถิด หมายใจไว้แล้ว ปีนี้จะต้องชิมให้ได้สักพู เชอะ!