เส้นทางสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดพะเยา สู่การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์พะเยา

หลายปีผ่านมา บนผืนดินจังหวัดพะเยา ประเทศไทย เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิถีเกษตรกรรม เราสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้เมื่ออยู่บนท้องฟ้าแล้วมองลงมายังผืนดิน พิกัด (latitude longitude) แสดงตำแหน่งแปลงเกษตรอินทรีย์ (location) เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากแปลงเกษตรอินทรีย์เป็นผัก ผลไม้ 2 แปลง บัดนี้เพิ่มขึ้นเป็น 100 แปลง และหากลองชมสินค้าบนพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าทั่วไปหรือห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เราจะมองเห็นสินค้าพืชผักผลไม้ปลอดสารพิษวางจำหน่ายจำนวนมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีสินค้าเกษตรอินทรีย์วางจำหน่าย ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ หรือ Asst.Prof. Somchat Tana ผู้อำนวยการโครงการวิจัยการพัฒนาเครือข่ายสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดพะเยา เล่าว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเปลี่ยนแปลงในระบบเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมสู่ระบบเกษตรอินทรีย์สมัยใหม่ เกษตรกรเริ่มต้นจากการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์แปลงเล็ก สู่การเป็นสมาชิกสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา SDGsPGS ต่อยอดทำการตลาดกับ บริษัท ออร์แกนิคพะเยาวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เพื่อเข้าสู่ระบบการแข่งขันทางการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของโลก

ผศ.นสพ.สมชาติ ธนะ ประธานสมาพันธ์เกษตรยั่งยืนจังหวัดพะเยา ขณะลงพื้นที่เยี่ยมแปลงเกษตรอินทรีย์

จัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อทำการตลาดแบบ CSR บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม แบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรกเป็นบริษัทที่แบ่งผลกำไรให้กับสมาชิกร้อยละ 30 ของกำไรที่ได้รับ รูปแบบที่สอง เป็นรูปแบบที่ไม่แบ่งผลกำไร แต่นำผลกำไรที่ได้มาทำกิจกรรมให้ความรู้ เช่น จัดการอบรม สร้างเครือข่าย หรือช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับเดือดร้อนความเสียหายเกี่ยวกับผลผลิตการเกษตร บริษัทอื่นสามารถบริจาคเงินหรือสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR โดยสามารถนำยอดบริจาคนำมาหักลดหย่อนภาษี บริษัท ออร์แกนิคพะเยา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นการต่อยอดเพื่อช่วยเหลือเกษตรซึ่งเป็นสมาชิกของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยาเพื่อทำการตลาด โดยให้สมาชิกทุกคนเป็นผู้ถือหุ้น สร้างการมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ

ความเชื่อมโยงของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา SDGsPGS กับบริษัท ออร์แกนิคพะเยา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด คือ เบื้องต้นสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์สอนให้สมาชิกทำการตลาดเอง จำหน่ายสินค้าเอง หากสินค้ามีศักยภาพเพียงพอสมาพันธ์ก็จะส่งเสริมด้านการตลาด เกษตรกรบางรายขาดศักยภาพและความน่าเชื่อถือ เช่น การติดต่อทำสัญญาซื้อขาย หรือเกษตรกรเข้าไม่ถึงโอกาสทางการตลาด บริษัทออร์แกนิคพะเยาจะเป็นตัวเชื่อม รวบรวมสินค้าของสมาชิกเพื่อจัดจำหน่าย เป็นตัวกลางเชื่อมตลาดเชิงพาณิชย์ เป้าหมายการก่อตั้งบริษัท ออร์แกนิคพะเยา คือการสร้างความน่าเชื่อถือในศักยภาพของเกษตรกร หากเราเป็นผู้ซื้อเราจะเชื่อได้อย่างไรว่า เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าได้คุณภาพและมาตรฐาน สามารถผลิตสินค้าได้ตามจำนวนและระยะเวลาที่กำหนด

นำคณะเยี่ยมแปลงบริษัทสุขทุกคำ

อาจารย์สมชาติ กล่าวว่า สำหรับผมการก่อตั้งบริษัทถือเป็นการยกระดับตลาด ในอนาคตสินค้าของเราอาจสามารถส่งออกสู่ต่างประเทศก็เป็นไปได้

การเติบโตของเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดพะเยา อาจารย์สมชาติ กล่าวต่อว่า เราสร้างกลไกเครือข่ายระดับอำเภอ ในอนาคตหากเครือข่ายเติบโตมากขึ้น เราจะทำเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ให้เล็กลงสู่ระดับตำบล ปัจจุบันเรามีเครือข่ายระดับอำเภอ ประสานงานระดับอำเภอ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ มีการพัฒนาเกษตรกร มีการตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ เราตรวจแปลงแบบไขว้โดยให้ผู้ตรวจแปลงจากอำเภออื่นมาตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ของอีกอำเภอ สำหรับปัญหาด้านงบประมาณสนับสนุน เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ยังขาดงบประมาณและจะคาดหวังงบประมาณจากองค์กรภาครัฐไม่ได้ เพราะเราไม่รู้อนาคตว่าจะมีงบประมาณสนับสนุนหรือไม่

ผศ.นสพ.สมชาติ ธนธนะ และผศ.วาสนา พิทักษ์พล เยี่ยมแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมของเกษตรกรในอำเภอเชียงม่วน

หากมองเรื่องการเติบโต หลายปีก่อนจังหวัดพะเยามีแปลงเกษตรอินทรีย์เป็นผัก ผลไม้ 2 แปลง หลังจากเราก่อตั้งสมาคมเกษตรอินทรีย์ เราสามารถเพิ่มจำนวนแปลงผักเกษตรอินทรีย์ เพิ่มจำนวนแปลงผลไม้อินทรีย์ ทั้ง มะม่วง ลิ้นจี่ สำหรับสินค้าประเภทข้าวอินทรีย์ของจังหวัดพะเยา สินค้าของเราบางส่วนมีมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์อยู่แล้ว การที่เกษตรกรสมัครเข้าเป็นสมาชิกเพราะต้องการช่องทางการตลาด เพราะลูกค้าแต่ละกลุ่มต้องการสินค้าที่มาตรฐานแตกต่างกัน ตอนนี้เรามีแปลงเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดพะเยากว่า 100 แปลง มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นทุกปี

บทสรุปงานวิจัยเราพบว่า การสนับสนุนของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา SDGsPGS ส่งผลให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายสินค้าได้ในราคาสูงขึ้นร้อยละ 16 มียอดขายสินค้าเพิ่มขึ้น มีผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยรองรับ ถือเป็นการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์

ลงพื้นที่แปลงผู้จัดการบริษัทออร์แกนิคพะเยา วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม จำกัด ที่อำเภอแม่ใจ

จุดเริ่มต้นการทำเกษตรอินทรีย์อย่างมีมาตรฐาน หากมองภาพรวมเกษตรอินทรีย์โลก ประเทศไทยกำลังพัฒนา เทียบไม่ได้กับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น แต่ละประเทศมีมาตรฐานการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ไม่เหมือนกัน มูลค่าการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่างประเทศสูงมาก ส่วนประเทศไทยมีมูลค่าทางการตลาดน้อยแต่มีอัตราการเติบโตสูงมาก เกษตรอินทรีย์ประเทศไทยถือเป็นเกษตรอินทรีย์ขั้นพื้นฐาน เกษตรกรไทยมองเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องไกลตัว มองเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องยาก หากต้องการตรารับรองคุณภาพ ต้องใช้เงิน ใช้เวลา เมื่อได้รับตรารับรองมาแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะมีผลอย่างไร ทุกอย่างเรื่องเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยล้วนแต่เป็นคำถาม

นำคณะอาจารย์และคณะทำงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์จากมหาวิทยาลัยพะเยา เข้าแนะนำผลผลิตกับผู้บริหารสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา

เงื่อนไขการรับรองเกษตรอินทรีย์ระดับสากลมีความยุ่งยาก เริ่มตั้งแต่เรื่องเอกสารสิทธิที่ดินสำหรับเพาะปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิไม่สามารถออกใบรับรองให้ได้ สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ หรือปลดล็อกเงื่อนไขเหล่านี้ มาตรฐาน SDGsPGS คือมาตรฐานสอดคล้องกับของ IFOAM โดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements-IFOAM) เราคาดหวังว่า การเป็นสมาชิกสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา SDGsPGS เกษตรกรจะได้รับความรู้ มีพื้นฐานด้านการเกษตรสู่การรับรองการเกษตรอินทรีย์ระดับสากล เพราะกระบวนการเงื่อนไขการตรวจแปลงเกษตรเหมือนกัน เกษตรกรสามารถเติบโตสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่สูงขึ้น แต่เกษตรกรทุกคนต้องเริ่มต้นจากจุดนี้

ประชุมคณะกรรมการตรวจรับรองแปลงเพื่อออกใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม

ทิศทางการทำการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ประกอบด้วย ร้านค้าชุมชน โรงเรียน ร้านอาหาร โรงพยาบาล โรงแรม เริ่มจากร้านค้าชุมชน เมื่อวางจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ก็สามารถเติบโตสู่ชุมชนอื่น โรงพยาบาลก็ถือเป็นจุดเปราะบางเพราะเมื่อคนไข้สัมผัสเคมีก็จะแสดงอาการ โรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ก็สั่งผักจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพื่อทำอาหารให้กับคนไข้ เมนูอาหารของโรงพยาบาลก็จะปรับตามผลผลิตของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรสามารถขายผักผลไม้ได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับโรงแรมก็มีการส่งผักอินทรีย์จากสมาชิกของสมาพันธ์ให้กับโรงแรมหลายแห่ง เช่น โรงแรมภูกลอง

อาจารย์สมชาติเป็นประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา SDGsPGS อาจารย์มองเห็นคนพะเยาตื่นตัวเรื่องเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ทั้งเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค มีเกษตรกรสมัครเป็นสมาชิกมากขึ้น มีผู้สนับสนุนจำนวนมากขึ้น เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับสมาชิกที่ได้รับตรารับรองของสมาพันธ์ ปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรประเทศไทยตกต่ำมาก เกษตรกรต้องรอเงินสนับสนุนจากทางภาครัฐ หนี้ของเกษตรกรก็เพิ่มขึ้น นับเป็นปัญหาในระบบการผลิตสินค้าเกษตรแบบใช้สารเคมี

พื้นที่ตรวจแปลง

เกษตรอินทรีย์เป็นการทำงานอย่างประณีต เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ แบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามปรัชญาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำเกษตรอินทรีย์แปลงเล็กแล้วเริ่มขยาย เรียนรู้เรื่องการเตรียมดิน การใช้จุลินทรีย์ หากเกษตรกรเรียนรู้จนสามารถทำปุ๋ยหมักได้ เรียนรู้วิธีกำจัดและควบคุมศัตรูพืช เกษตรกรก็สามารถลดต้นทุนการผลิต มันคือการใช้หัวใจเข้าไปดูแล ทำการเกษตรอินทรีย์อย่างละเอียดประณีต ทำให้มีผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ดี มีคุณภาพ

คณะกรรมการที่หน้าคณะเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา

คนรุ่นใหม่กับการทำงานด้านการเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ทำในรูปแบบของสวนออร์แกนิก เกษตรกรรุ่นใหม่หลายคนเปิดร้านอาหารและทำสวนออร์แกนิก อาจารย์เล่าว่า ไปตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ที่อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ทางไกลถนนคดเคี้ยว แต่เมื่อไปถึงก็พบร้านอาหารที่มีลูกค้าจำนวนมาก คนรุ่นใหม่มีประสบการณ์ทำร้านอาหารในเมืองมาก่อน มีต้นทุนเป็นที่ดินของพ่อแม่ ไม่ต้องมีอาคารพาณิชย์ ไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่ต้องสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคผ่านสื่อโซเชียล นับเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ พวกเขาสามารถอธิบายถึงแนวคิด กระบวนการ คุณสมบัติของสินค้าและบริการ นั่นทำให้เราสามารถผลักดันพวกเขาสู่ระบบเชิงธุรกิจได้มากขึ้น

เกษตรกรบางส่วนที่ผ่านการตรวจรับรองแปลง

การทำงานภาคประชาสังคมทำให้เห็นว่า นักวิชาการสามารถเข้าสู่ชุมชนได้มากขึ้น เข้าใจบริบทและการพัฒนาชุมชน สามารถสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือ หากมองความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนในลักษณะรูปแบบการทำงาน มหาวิทยาลัยพะเยา กำหนดตนเองหรือ positioning ว่าเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ยกระดับเรื่องเศรษฐกิจ ชีวิต สุขภาพ ด้านการแพทย์ สิ่งแวดล้อม การทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ต้องมีการปรับแนวความคิด ปรับตัวหากัน ทำงานเริ่มจากศูนย์ เราคุยกันเพื่อเสนอความคิด แลกเปลี่ยน เรียนรู้แล้วทำงาน เราไม่มีงบประมาณ แต่แหล่งเงินทุนก็มองเห็นศักยภาพในการทำงานของเรา เราได้รับงบประมาณศึกษาวิจัยและขับเคลื่อนกิจกรรม หน่วยงานรัฐมองเห็นการทำงานก็สนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการ เป็นการทำงานเชื่อมโยงกัน ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในเรื่องมาตรฐานในการผลิต การตลาด ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดพะเยา อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องขององค์ความรู้ ในงานวิชาการการศึกษาวิจัยเชิงการเกษตร เราใช้กลไกการวางแผนทดลอง วิเคราะห์ผลองค์ความรู้ คำนวณผล นำเสนอเชิงสถิติ เมื่อมีความรู้เราก็สามารถถ่ายทอดให้กับเกษตรอินทรีย์รุ่นต่อไป ทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่เข้าใจว่า การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่ต้องดูแลใส่ใจ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ ผศ.นสพ.สมชาติ ธนะ คณะเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา