สร้างชุมชนต้นแบบผลิตพืชปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ภาคอีสานตอนบน

การผลิตพืชผักของเกษตรกรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่วนมากจะผลิตได้ดีในฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ทำให้มีผลผลิตมากเกินความต้องการของตลาด แต่ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน เกษตรกรไม่สามารถผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดได้ เพราะในช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิสูง แดดจัด ขาดแคลนน้ำ ซ้ำยังประสบปัญหาแมลงศัตรูพืชหลายชนิดเข้าทำลาย

กลุ่มเกษตรกร จังหวัดกาฬสินธุ์ ดูงานโครงการของกลุ่มเกษตร อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น

ขณะที่ฤดูฝน อากาศมีความชื้นสูงมักประสบปัญหาการระบาดของโรคพืชหลายชนิด รสชาติของผักและคุณภาพของผลผลิตที่ได้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

คุณนฤทัย วรสถิตย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การผลิตพืชผักและผลไม้ของเกษตรกรเป็นการผลิตโดยใช้ปุ๋ยเคมีและใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อให้ผลผลิตมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม เป็นที่พอใจของผู้บริโภคและให้ผลผลิตสูง เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการปรับปรุงบำรุงดิน และยังขาดความรู้ในการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชที่ปลอดภัย

กลุ่มเกษตรกร อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ดูงานที่ กลุ่มเกษตรกร ตำบลน้ำก่ำ อำเภอน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม

จากผลการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักและผลไม้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนระหว่างปี 2554-2556 จำนวน 36 ชนิด 3,025 ตัวอย่าง คุณนฤทัย บอกว่า พบสารเคมีตกค้างร้อยละ 25.7 และเก็บค่า MRL (ปริมาณสารพิษตกค้าง) ร้อยละ 1.82 พืชที่พบสารพิษเกินค่า MRL ได้แก่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ขึ้นฉ่าย ถั่วฝักยาว ผักกาดขาวปลี ผักชี พริก มะเขือ มะม่วง ลำไย หอมแบ่ง แตงกวา ลิ้นจี่ ผักแพว มะนาว มันแกว และเห็ด

เกษตรกรเก็บผลผลิตผัก ตำบลน้ำก่ำ อำเภอน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม

เนื่องจากกรมวิชาการเกษตร มีผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชด้วยสารชีวภัณฑ์และการใช้ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี เมื่อเกษตรกรนำเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชด้วยชีวภัณฑ์และการจัดการศัตรูพืชที่เป็นนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตรไปใช้ ก็จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และยังสามารถลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้อีกด้วย

แปลงต้นแบบกลุ่มเกษตรกร อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คุณนฤทัย และ คุณนิยม ไข่มุกข์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม และทีมนักวิจัยของ สวพ.3 ศวพ.กาฬสินธุ์ จึงมีความคิดที่จะสร้างชุมชนต้นแบบนวัตกรรมการผลิตพืชปลอดภัยขึ้นในพื้นที่ตำบลหนองโก อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ตำบลฆ้องชัยพัฒนา จังหวัดกาฬสินธุ์ และตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนดังกล่าวได้ปฏิบัติและเรียนรู้ พัฒนาการผลิต และรู้จักใช้ปัจจัยการผลิต ได้แก่ ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช การใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยหมักคุณภาพสูง ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญใช้ทดแทนการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีในการผลิตพืชปลอดภัย ที่เรียกกันว่าพืชอินทรีย์ ซึ่งจะทำให้ชุมชนทั้งสามเป็นแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้บริโภคให้ความสนใจเกี่ยวกับการบริโภคอาหารพืชอินทรีย์เพื่อสุขภาพของตนเอง

แปลงต้นแบบแหนแดง กลุ่มเรียกร้อง อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์

ที่สำคัญคือเราจะได้ชุมชนที่ผลิตพืชปลอดภัยแบบครบวงจรเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นได้เรียนรู้ในการใช้ชีวภัณฑ์ แมลงศัตรูธรรมชาติ และเรียนรู้การใช้ปุ๋ยชีวภาพ ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในระบบเกษตรนิเวศ ไม่ก่อมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะปลอดภัยทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค

เกษตรกรกลุ่มโครงการ อำเภอกระนวน 

ชุมชนต้นแบบวิชาการเกษตร

คุณนฤทัย และคณะ ได้เลือกชุมชนต้นแบบไว้ 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

1. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรวิถีอินทรีย์กระนวน ตำบลหนองโก อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น 30 ราย

2. กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักบ้านเหล่าใหญ่ ตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ 30 ราย

3. กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัย ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม 40 ราย ได้ให้บริการปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรทั้งในและนอกโครงการนำไปใช้ ดังนี้

แปลงผักของกลุ่มเกษตรกร อำเภอกระนวน

ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยหมักเติมอากาศ 40 ตันต่อปี ปุ๋ยหมักแห้ง 20 ตันต่อปี

ปุ๋ยชีวภาพ 3 ชนิด ได้แก่ ปุ๋ย พีจีพีอาร์-วัน 600 กิโลกรัมต่อปี ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต 300 กิโลกรัมต่อปี แหนแดง 10 บ่อต่อปี

ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูพืช 18,000 ถุงต่อปี แมลงหางหนีบ 90,000 ตัวต่อปี ชีวภัณฑ์บีที 1 DOA 750 ลิตรต่อปี

ชีวภัณฑ์กำจัดโรคพืช 4 ชนิด ได้แก่ ชีวภัณฑ์บีเอส 19 W6 ควบคุมโรคแอนแทรกโนสพริก 100 ลิตรต่อปี บีเอส DOA-24 ควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย 540 กิโลกรัมต่อปี เชื้อราไตรโคเดอร์มา ควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา 150 กิโลกรัมต่อปี เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ควบคุมโรครากปม 1,200 ก้อนต่อปี

ผักของเกษตรกร อำเภอน้ำก่ำ 

แปลงต้นแบบผลผลิตพืชเพิ่มขึ้น

คุณนฤทัย บอกว่า แปลงต้นแบบทั้ง 3 แห่ง ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้นไปใช้แบบผสมผสาน ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และชีวภัณฑ์ ไปใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2566 สรุปได้ว่า

มะเขือเทศเชอร์รี่ แปลงเกษตรกร ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

จำนวนแปลงต้นแบบการผลิตผัก 30 แปลง ผลผลิตผักโดยรวมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20.1 เป็น 2,182 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิม 1,838 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการผลิตลดลงจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีร้อยละ 10.5 รายได้สุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 เป็น 54,604 บาทต่อไร่ จากเดิม 43,754 บาทต่อไร่ ต้นทุนต่อหน่วยผลผลิตลดลงร้อยละ 11.5 จาก 10.7 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 9.49 บาทต่อกิโลกรัม

โรงปุ๋ยหมักเติมอากาศของกลุ่มเกษตรกร อำเภอกระนวน

หอมแบ่ง ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.6 เป็น 1,531 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมเฉลี่ย 1,112 กิโลกรัมต่อไร่

ผักขึ้นฉ่าย ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 เป็น 1,584 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมเฉลี่ย 1,333 กิโลกรัมต่อไร่

ผักกวางตุ้ง ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.4 เป็น 2,500 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมเฉลี่ย 1,932 กิโลกรัมต่อไร่

ผักสลัด/ผักกาดหอม ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.54 เป็น 3,118 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมเฉลี่ย 2,873 กิโลกรัมต่อไร่

มะเขือเทศเชอร์รี่ ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 เป็น 2,400 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมเฉลี่ย 2,100 กิโลกรัมต่อไร่

ผักฮ่องเต้ ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.83 เป็น 1,750 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมเฉลี่ย 1,600 กิโลกรัมต่อไร่

ผักบุ้งจีน ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เป็น 2,545 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมเฉลี่ย 2,300 กิโลกรัมต่อไร่

ผักชี ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 เป็น 1,600 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมเฉลี่ย 1,400 กิโลกรัมต่อไร่

สะระแหน่ ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.1 เป็น 2,610 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิมเฉลี่ย 1,890 กิโลกรัมต่อไร่

คุณนิยม ไข่มุกข์ ผอ.ศวพ.นครพนม หัวหน้าโครงการชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กับข้าวโพดนมสดของเกษตรกร

คุณนฤทัย ยังบอกอีกด้วยว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรวิถีอินทรีย์กระนวน ตำบลหนองโก อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ยังร่วมกันสร้างโรงปุ๋ยหมักเติมอากาศ ขนาด 10 ตัน จำนวน 2 โรง เพื่อผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศใช้เอง หลังจากที่ได้ทดลองใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศในปี พ.ศ. 2464 นอกจากนั้น เกษตรกรยังผลิตขยายชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มา บีที บีเอส เห็ดเรืองแสง แมลงหางหนีบ และมวนพิฆาตไว้ใช้เองด้วย

จากการตรวจประเมินแหล่งผลิตโดยผู้ตรวจประเมินที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตพืชปลอดภัย (GAP) อินทรีย์ ปรากฏว่ากลุ่มเกษตรกรชุมชนน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาตรฐานการผลิตพืช สามารถปฏิบัติตามเทคโนโลยี ได้ผ่านการตรวจประเมินและผ่านการรับรองแปลง GAP พืช จำนวน 15 ราย จากเกษตรกรที่ร่วมโครงการทั้งหมด 40 ราย ซึ่งเกษตรกรรายอื่นๆ ที่ยังไม่ผ่านการรับรองก็จะพัฒนาระบบการผลิตของตัวเอง เพื่อให้ได้รับการรับรองแปลง GAP ในปีต่อไป

คุณนฤทัย บอกว่า กำลังหารือกันกับคณะดำเนินการวางแผนขยายผลการสร้างชุมชนต้นแบบออกไปในปี พ.ศ. 2567

เกษตรกรกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สนใจจะเข้าชมแปลงต้นแบบการปลูกผักปลอดภัยหรือเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม (ศวพ.นครพนม) โทรศัพท์ 042-582-586, 081-965-2954