เกษตรหลังเกษียณ ประสบการณ์ 4 ปี กับ สับปะรด MD-2 ลองผิดลองถูก จนเชี่ยวชาญ

สับปะรด พืชเศรษฐกิจสำคัญอันดับต้นๆ ของโลก และของประเทศไทย คนทั่วโลกนิยมบริโภคสับปะรดกันมาก ซึ่งแต่เดิมนั้นมีสับปะรดอยู่หลายพันธุ์ ที่โดดเด่นทั้งแบบกินผลสดและแปรรูปเห็นจะเป็นกลุ่ม Smooth Cayenne หรือพันธุ์ปัตตาเวีย ที่บ้านเรารู้จักกันในชื่อสับปะรดศรีราชา หรือชื่ออื่นๆ จากการที่ใช้ประโยชน์กันมายาวนาน ผู้บริโภคเริ่มแสวงหาความแปลกใหม่ที่มีคุณลักษณะที่ต่างไปจากพันธุ์เดิมๆ โดยเฉพาะความหวาน กลิ่นหอม สีเนื้อ และคุณค่าทางโภชนาการที่สมบูรณ์มากขึ้น

ต่อมาเมื่อนักปรับปรุงพันธุ์พืชของสถาบันวิจัยสับปะรดแห่งฮาวาย (Pineapple Research Institute of Hawaii : PRI) ได้พัฒนาสับปะรดพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมา และหนึ่งในนั้นใช้ชื่อทางการค้าว่า MD-2 ที่สุดฮิตติดตลาดทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ภายในเวลาแค่ 10 ปีกว่าๆ ที่นำเข้าสู่ตลาด ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาด (market share) มากถึงร้อยละ 95 โดยมีแหล่งผลิตหลักที่อยู่ในเขตอเมริกากลาง โดยเฉพาะประเทศคอสตาริกา ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ และครองตลาดโลกด้านสับปะรดผลสดไปเรียบร้อย

สำหรับประเทศไทยมีการนำสับปะรด พันธุ์ MD-2 เข้ามาราวๆ สิบกว่าปีก่อน แต่ไม่ค่อยมีการแพร่ขยายพันธุ์ออกไป สาเหตุจากขาดข้อมูลข่าวสารของสับปะรดพันธุ์นี้ไม่ค่อยเปิดเผยสู่สาธารณะ และข้อกำหนดบางอย่างทางกฎหมายที่เข้มงวดในการนำเข้าหน่อพันธุ์ เพิ่งจะมาตื่นตัวกันในช่วง 4-5 ปีมานี้ จึงจัดว่าเป็นน้องใหม่ในวงการสับปะรดของไทย อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้ทดลองปลูกสับปะรด พันธุ์ MD-2 มาระยะหนึ่ง ประมาณ 4 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ ปี 2556 ถึงปัจจุบัน พบว่าสับปะรดพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นหลายอย่างที่ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกเป็นการค้าของไทย จึงเก็บมาเล่าสู่แฟนๆ เทคโนโลยีชาวบ้านเพื่อเป็นความรู้ เผื่อจะได้ประโยชน์จากประสบการณ์ที่นำมาเล่าสู่กันในโอกาสนี้

 

หลังเกษียณ ตั้งใจไว้ ต้องทำ ไร่สับปะรด

ขอเล่านิดหนึ่งว่า จุดเริ่มต้นที่มาปลูกสับปะรด เพราะมันมีที่มาที่ไป จากเดิมเป็นคนที่เกิดในเขตพื้นที่ที่มีการปลูกสับปะรดมาก ภูมิลำเนาที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่เคยปลูกสับปะรดเลยสักต้นนะครับ เพราะครอบครัวผมเตี่ยเป็นชาวประมง แต่ก็ได้คลุกคลีและสัมผัสกับพืชนี้มายาวนาน ทั้งกินผลสดและทำอาหารหวานคาว สิ่งที่สร้างแรงจูงใจให้รักชอบสับปะรด คือช่วงเรียนเกษตรต้นๆ มีประสบการณ์ได้เข้าไปทำงานกับฝ่ายไร่ของโรงงานสับปะรดแห่งหนึ่งที่หัวหิน ทำหน้าที่ปลูกและเก็บเกี่ยวผลสับปะรด (กรรมกรนั่นแหละครับ)

และครั้งที่สองได้กลับเข้าไปทำงานที่โรงงานแห่งนั้นอีกครั้ง ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาการเกษตร (Agricultural Development Division Manager) รับผิดชอบงานส่งเสริมสมาชิกชาวไร่ของโรงงาน ถึงตอนที่เรียนเกษตรระดับสูงขึ้นก็ทำปัญหาพิเศษ และวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับสับปะรด และตลอดช่วงที่รับราชการกับกรมส่งเสริมการเกษตร ก็รับผิดชอบงานส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสับปะรดจนถึงวันเกษียณ

ดูสิครับ เส้นทางชีวิตผมมันวนเวียนอยู่กับสับปะรดมาโดยตลอด แล้วอย่างนี้เมื่อเกษียณแล้ว จะให้ผมทิ้งสับปะรดไปได้อย่างไร

กับความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดกว่า 37 ปี มันจึงเข้ากับหลักการที่ว่า “ต้องทำในสิ่งที่ชอบ มีความรู้และประสบการณ์ กิจการจึงจะสำเร็จ” ดังนั้น หลังจากที่รีไทร์จากราชการ ผมปักธงไว้ว่า จะต้องทำไร่หรือสวนสับปะรดเป็นเมน (main) ส่วนพืชอื่นๆ ก็คงเป็นตัวประกอบ พอดีได้ที่ดินไว้ก่อนรีไทร์ จำนวน 4 ไร่ ไม่รอช้ารีบจัดหาสับปะรดพันธุ์ดี รวมทั้ง พันธุ์ MD-2 มาปลูกและขยายพันธุ์ทันที จาก ปี 2556 ถึงปีนี้ ก็ 4 ปีแล้ว ค่อยๆ มีพัฒนาการขึ้นมา แม้จำนวนต้นสับปะรดจะยังมีไม่มากมาย และสวนจะไม่ใหญ่โตอะไร แต่ใจก็เป็นสุขกับการเดินหน้าประสบการณ์ใหม่ ทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติในแปลง เอาเป็นว่าพอที่จะเก็บมาเล่าสู่กันได้พอสมควร

 

ความเป็นมาของ สับปะรด พันธุ์ MD-2

ในอดีตสับปะรดในกลุ่มสมูท เคยีน (smooth cayenne) เป็นกลุ่มพันธุ์หลักในด้านการผลิตเพื่อกินผลสดและการทำสับปะรดกระป๋อง นอกจากนี้ ก็มีพันธุ์ Champaka ที่นิยมกันอยู่ และแม้ว่าพันธุ์สับปะรดที่ทาง PRI คัดเลือก Clone ส่วนใหญ่จะได้จากสับปะรดกลุ่มสมูท เคยีน เพื่อพัฒนาเป็นสับปะรดผลสดเชิงการค้า แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เนื่องจากมีปริมาณของกรดค่อนข้างสูง รสชาติออกเปรี้ยว และเมื่อกินแล้วแสบปากแสบลิ้น จนกระทั่ง Dr. David D.F Williams นักปรับปรุงพันธุ์พืชของสถาบันวิจัยสับปะรดแห่งฮาวาย (Pineapple Research Institute of Hawaii : PRI) และคณะได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาสับปะรด พันธุ์ MD-2 ขึ้นมา จนเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วโลก มาดูความเป็นมากันครับ

ตาแดง

ค.ศ. 1961 (2504) ทาง PRI ได้กำหนดโปรแกรมการพัฒนาสับปะรดเพื่อกินผลสดขึ้น โดยมีกรอบความคิด ที่ยังคงยึดเอาคุณลักษณะต่างๆ ของสับปะรดกลุ่มสมูท เคยีน เป็นหลักไว้

ค.ศ. 1975 (2518) ทาง PRI ได้รับงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา จากกลุ่มบริษัทใหญ่ๆ เช่น บริษัท Maui และอื่นๆ เป้าหมายคือ พัฒนาพันธุ์สับปะรดลูกผสมใหม่ๆ ซึ่งในกลุ่มลูกผสมเหล่านั้นก็มี 2 สายพันธุ์ คือ 73-50 กับ 73-114 ที่แสดงลักษณะเด่นหลายด้าน

ค.ศ. 1973-1980 (2516-2523) ได้นำทั้ง 2 สายพันธุ์ ไปทดสอบที่ บริษัท Maui

ค.ศ. 1978-1980 (2521-2523) ได้นำทั้ง 2 สายพันธุ์ ไปทดสอบที่ บริษัท Del Monte เมือง Oahu

สุก

ค.ศ. 1980 (2523) ได้ส่งไปทดสอบที่ประเทศคอสตาริกา (Costa Rica) เพื่อประเมินคุณลักษณะที่ต้องการ ซึ่งพบว่า สายพันธุ์ 73-114 ปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมที่นั่น จึงมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น โดยทาง บริษัท Del Monte ได้นำหน่อพันธุ์จาก Hawaii ไปปลูกเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก เป้าหมายเพื่อการผลิตในปริมาณที่มากพอ เพื่อจะนำร่องเข้าสู่ตลาดผลสดในสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่อไป

ค.ศ. 1981 (2524) บริษัท Del Monte ได้ตั้งชื่อสายพันธุ์ 73-50 ใช้ชื่อว่า พันธุ์ MD-1 และตั้งชื่อสายพันธุ์ 73-114 ในชื่อใหม่ว่า พันธุ์ MD-2 แต่ต่อมา พันธุ์ MD-1 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้ง มาใช้ชื่อพันธุ์ว่า CO-2

ค.ศ. 1983-1884 (2525-2527) มีการส่งหน่อพันธุ์ MD-2 ไปปลูกทดสอบในพื้นที่เครือข่าย บริษัท Del Monte ในประเทศฟิลิปปินส์ และมีการทดสอบด้านตลาดในประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ค่อยมีการยอมรับจากผู้บริโภค เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่มีลักษณะแตกต่างไปจาก Smooth Cayenne ซึ่งคนญี่ปุ่นคุ้นเคย และครองตลาดญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว

ค.ศ. 1985 (2528) ทาง PRI ได้กระจายสับปะรดลูกผสมทั้ง 2 สายพันธุ์ ให้กับสมาชิกเครือข่ายของสถาบันนำไปปลูกทดสอบในวงกว้าง เพื่อศึกษาข้อมูลด้านลักษณะดีเด่นเพิ่มเติม

ค.ศ. 1993 (2536) ทาง PRI ได้มีการทบทวน ศึกษาข้อมูล ประวัติโครงการพัฒนาสับปะรดในฮาวาย สรุปว่า ในช่วง 58 ปี ที่ได้โครงการวิจัยมา พบว่าได้พัฒนาพันธุ์สับปะรดลูกผสมที่มีลักษณะต่างๆ ที่ดีเด่นกว่าพันธุ์สมูท เคยีน แต่ไม่มีสิ่งบ่งชี้ที่ระบุถึงการที่จะผลิตในเชิงการค้า และยกระดับสู่การค้าผลสดในระดับโลก ทำให้ไม่สามารถผลิตเพื่อทดแทนกลุ่มสมูท เคยีน ได้ จนพบว่า มี 2 สายพันธุ์ คือ 73-50 และ 73-114 ที่มีลักษณะดีเด่นกว่า ซึ่งเกิดจากคู่ผสมระหว่างพันธุ์ลูกผสม ของ PRI คือสายพันธุ์ 58-1184 กับ 59-443 ที่ได้มาจากการผสมของสับปะรดหลายสายพันธุ์ และแต่ละสายพันธุ์นั้น กว่าร้อยละ 50 ได้จากคู่ผสมจากกลุ่มสมูท เคยีน ทั้งสิ้น

การผลิตเชิงการค้าของสับปะรด พันธุ์ MD-2 เพื่อเข้าสู่ตลาดเริ่มเด่นชัดขึ้นในปี ค.ศ. 1996 (2539) เมื่อมีการประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลลักษณะเด่นของสับปะรดพันธุ์นี้ ซึ่งต่อมาก็ได้รับความนิยมและตอบรับอย่างมากจากผู้บริโภคในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ต่อมาทาง บริษัท Del Monte ได้พัฒนาผลผลิตสู่ระดับ Premium Grade และใช้ชื่อการค้าใหม่ว่า Del Monte Gold ซึ่งในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีกว่าๆ เท่านั้น หลังจากการเปิดตัว สับปะรด MD-2 ก็สามารถเข้าครองตลาดยุโรป อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาไว้ได้เกือบหมด โดยมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า ร้อยละ 90 เหลือพื้นที่ให้กับสับปะรดพันธุ์สมูท เคยีน และพันธุ์อื่นๆ เพียงส่วนน้อยเท่านั้น นับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในวงการสับปะรดผลสดของโลก

ในปี ค.ศ. 1996 (2539) บริษัท Del Monte สามารถทำยอดขายได้ถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 700 ล้านบาท) ต่อมา ปี ค.ศ. 2002 (2545) เพิ่มยอดการขายเป็น 440 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 15,400 ล้านบาท) ปัจจุบันบริษัทต่างๆ และเกษตรกรทั้งรายใหญ่รายย่อยได้เปลี่ยนมาปลูกสับปะรด พันธุ์ MD-2 แทน พันธุ์สมูท เคยีน และกลายเป็นพันธุ์ผลสดที่เข้าไปครองตลาดในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดหลักของโลกได้อย่างสมบูรณ์ สำหรับแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศเอกวาดอร์ ปานามา ฮอนดูรัส กานา กัวเตมาลา เม็กซิโก และคอสตาริกา ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่และส่งออกมากที่สุดของโลก

 

ระยะพัฒนาการของดอก และผลสับปะรด MD-2

ลักษณะเด่นของสับปะรด พันธุ์ MD-2

สับปะรด พันธุ์ MD-2 มีลักษณะที่โดดเด่นหลายด้าน เมื่อเทียบกับพันธุ์ Smooth Cayenne ที่เป็นพันธุ์หลักอยู่เดิม เช่น การเจริญเติบโตที่เร็วและตอบสนองต่อปุ๋ย ผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่า ผลผลิตเนื้อต่อตันสูง เมื่อแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง ปริมาณกรดต่ำในช่วงที่ผลแก่สุกในฤดูหนาวส่งผลให้มีรสชาติที่หวาน เปอร์เซ็นต์ของแข็งที่ละลายน้ำได้ (Total Soluble Solid : TSS) ค่อนข้างสูง ปริมาณวิตามินซีมีมากเป็น 4 เท่า และวิตามินเอที่สูงกว่า บังคับการออกดอกง่าย ทำให้สะดวกต่อแผนการเก็บเกี่ยว ให้รสชาติหวานและมีกลิ่นหอม เนื้อสีเหลืองเข้มตลอดผล ผิวเปลือกเมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองสวยงาม เปลือกแข็งทนทานต่อการขนส่ง ตาใหญ่และตาตื้นปอกง่าย ลักษณะผลเป็นทรงกระบอก ไหล่เต็ม อายุเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 130-135 วัน เก็บและวางจำหน่ายที่อุณหภูมิห้องได้นาน ไม่แสดงอาการไส้สีน้ำตาลเมื่อเก็บในห้องเย็น ต้านทานต่อเชื้อ Phytophthora rots, pineapple wilt, nematodes, และ pink disease

เหรียญบาท
ดอกแดง

สำหรับลักษณะและคุณสมบัติอื่นๆ ของสับปะรด พันธุ์ MD-2 ที่ดูจะเป็นจุดเด่นนั้น ยังพบว่า สับปะรดพันธุ์นี้มีการปรับตัวได้ดีกับสภาพพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกสับปะรดพันธุ์สมูท เคยีน จึงมีข้อแนะนำให้ปลูก จำนวน 70,000 ต้น ต่อเฮกแตร์ (10,000 ต้น/ไร่) อย่างไรก็ตาม ผลผลิตอาจจะลดลงบ้างในช่วงที่สภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่า 25 องศาเซลเซียส

ดอกกรวย
ดอกบาน

จุกและหน่อ การเกิดของรากที่โคนจุกและหน่อย่อย (slip) ค่อนข้างดี จำนวนรากมีมาก ให้หน่อจำนวนมาก แต่จำนวนหน่อจะน้อยลงในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม และต้นขนาดเล็กและขนาดกลางที่ออกดอกปีตามธรรมชาติหรือบังคับด้วยฮอร์ไมน จะให้หน่อและสลิปที่น้อยกว่าปกติ ทนทานต่อสภาพดินด่าง และดินที่มีธาตุแคลเซียมมากๆ ได้ดี

ขอบใบมีหนาม

ใบ ที่บริเวณปลายใบและใบย่อยที่จุกมีหนามเล็กๆ คล้ายกับพันธุ์สมูท เคยีน แต่ใบหนากว่า และมีชั้นเก็บน้ำที่หนากว่าด้วย ใบจะเปลี่ยนไปมีหนามได้บ้าง โดยเฉพาะกับต้นใหม่ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ลักษณะเด่นอีกอย่างคือ ใบไม่มีจุดหรือแถบ pigment สีแดง ใบเลี้ยงใต้ผลมีสีเขียวอ่อน ซึ่งต่างจากพันธุ์สมูท เคยีน และ พันธุ์ CO-2 จึงง่ายต่อการสังเกตและจำแนกความแตกต่างกับทั้งสองพันธุ์นั้น ก้านของผลค่อนข้างสั้น (ผลอยู่ในทรงพุ่ม)

 

ลักษณะผิดปกติกับ สับปะรด MD-2

ระยะเวลาจากการบังคับการออกดอก (ฉีดหรือหยอดฮอร์โมน) ถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ จะประมาณ 130-135 วัน และให้ผลผลิตที่สูงกว่าพันธุ์สมูท เคยีน โดยขนาดของผลมีน้ำหนักเฉลี่ย 1.8 กิโลกรัม ต่อผล และจากตำแหน่งของผลที่อยู่ในทรงพุ่มจึงไม่ค่อยมีปัญหาการหักล้ม ข้อสังเกตหากจุกถูกทำลายมักจะสร้างขึ้นใหม่ลักษณะ multiple crown ขึ้นมาทดแทนสับปะรด พันธุ์ MD-2 หากมีการปฏิบัติ ดูแลที่ดี จะได้ผลผลิตมีรูปทรงที่ดี ผลสวยงาม และขนาดมีความสม่ำเสมอในแต่ละรุ่น

ผลเน่าแห้ง

จุดอ่อนที่มากสุดของสับปะรด พันธุ์ MD-2 คือ ลักษณะทางสรีรวิทยาที่ต้นขนาดกลางและต้นใหญ่ ที่มักจะออกดอกเองตามธรรมชาติหากสภาพอากาศเย็นกว่าปกติ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการผลผลิตได้ เพราะอาจไม่เป็นไปตามตารางหรือแผนการผลิต และการตลาดที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งปัจจุบันได้มีความพยายามคิดค้นหรือพัฒนาสารที่จะนำมาควบคุมหรือยับยั้งการออกดอกในช่วงฤดูหนาวดังกล่าว

สร้างหน่อย่อย

ผล ลักษณะของผลเป็นทรงไหล่เต็ม (square shoulder) หรือทรงกระบอก (cylindrical shape) ผลอาจมีรูปทรงเรียว และทรงกลมบ้างในบางช่วงของฤดู แต่ผลนั้นมีขนาดใหญ่ การเรียงตัวของผลย่อยในแนวตั้งมี 8 ผลย่อย และแนวนอนมี 13 ผลย่อย แต่บางผลย่อยอาจดูไม่ชัดเจนหรือไม่พัฒนา เพราะอาจเกิดจากการผิดปกติช่วงการฟอร์มดอก-ดอกอ่อน เนื้อผลมีเส้นใยปานกลาง เนื้อแน่นและหนา สีเนื้อเหลืองเข้ม อาจมีลักษณะเป็นวุ้นใสๆ (jelly หรือ translucent) ซึ่งเป็นปัญหาพอสมควร โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ของปี เนื้อมีรสชาติที่ดีหวานนำเปรี้ยว มีกลิ่นหอม แต่จะหอมน้อยกว่าพันธุ์ CO-2

ความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรู ต้านทานต่ออาการไส้สีน้ำตาล (internal brown spot) ได้ดีกว่าพันธุ์สมูท เคยีน และพันธุ์ควีน ทั้งสภาพในแปลงและในห้องเย็น ผลมีอายุการเก็บรักษาไว้ได้นาน และใช้แปรรูปได้ดีพอๆ กับพันธุ์สมูท เคยีน

หนูกัดแทะ

ศัตรูและโรค สับปะรด พันธุ์ MD-2 ค่อนข้างจะอ่อนแอต่อโรครากและต้นเน่า สาเหตุจากเชื้อ Phytophthora sp. แต่ไม่ค่อยพบอาการถูกทำลายจากเพลี้ยแป้งโรคเหี่ยว ผลและต้นอ่อนแอต่อเชื้อแบคทีเรียโรคเน่า (bacteria rot) พวก Erwinia sp. ซึ่งยังไม่มีสารเคมีชนิดใดควบคุมและกำจัดได้

นอกจากนี้ ยังอ่อนแอต่ออาการเปลือกเน่าและตาย่อยเน่า สาเหตุจากเชื้อราบางชนิด

(อ่านต่อฉบับหน้า)