ผู้เขียน | องอาจ ตัณฑวณิช |
---|---|
เผยแพร่ |
เป็นที่น่าแปลกใจ ช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผมเขียนเรื่องราวของเกษตรกรลงในวารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เกษตรกรหลายร้อยคนพบว่า คนรุ่นใหม่ที่มีอายุไม่มากที่หันมาเอาดีทางอาชีพเกษตรจนประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง ร้อยละ 90 ไม่ได้จบเกษตร สาขาที่จบวิศวะจะมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาสาขาทั้งหมดประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด รองลงมาเป็นสาขาบัญชี ผมก็ตอบไม่ได้ว่าคนจบเกษตรไปไหนหมด
มีบางคนบอกว่าปริญญาแรกไม่ใช่ปริญญาที่แท้จริง เพราะปริญญาแรกเราเรียนเห่อๆ ไปตามเพื่อนบ้าง พ่อแม่บังคับให้เรียนบ้าง แล้วแต่จะเดินตามใคร พอเรียนจบมาทำงานในสายสาขาที่เรียนปรากฏว่าไม่ถูกจริตกัน จึงต้องคิดเรียนใหม่ ปริญญาที่สองถึงจะเป็นปริญญาที่แท้จริงของตัวตนเราเองหรือเปลี่ยนสาขาการทำงานให้ตรงกับความชอบซะให้รู้แล้วรู้รอดไป
มีเกษตรกรรุ่นใหม่คนหนึ่งชื่อ ภานุพงษ์ คำกวีปราชญ์ หรือ พี่ต้อม ตามชื่อเรียกในเฟซบุ๊ก จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยดังในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2553 ได้ทำงานในสาขาที่เรียนมาตลอดในบริษัทการสื่อสารด้านคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งตำแหน่งสุดท้ายที่ลาออกคือ โปรเจ็กต์เอนจิเนียร์
คุณต้อม บอกว่า แม้มีอาชีพเป็นวิศวกรแต่รายได้ก็ไม่พอ จำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม ก็เลยคิดทำการค้าขึ้นมา เช่น ขายเสื้อผ้า ขายอุปกรณ์มือถือตามตลาดนัด แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากมีคนขายมากหลายรายในตลาดนัดนั้นๆ จึงมาคิดเรื่องเกษตรเพราะเห็นเกษตรกรไม่เดือดร้อนในการหากับข้าวกิน บนพื้นที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี มีที่ดินประมาณ 200 ตารางวาของอาซึ่งไม่ได้ทำอะไร จึงเริ่มปลูกผักเล็กน้อยๆ เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน ทำความเข้าใจกับการทำเกษตรรู้สึกว่ามีความสุขกับมัน
ช่วงนั้นธุรกิจส่วนตัวของครอบครัวไม่สู้ดีนัก จึงต้องกลับไปช่วยพ่อแม่ที่นครสวรรค์บ้านเกิด และเริ่มทำสวนฝรั่ง ในตอนนั้นยังไม่ได้ออกจากงาน ตอนวันศุกร์เย็นก็นั่งรถไฟไปนครสวรรค์ช่วยงานปลูกฝรั่ง พอวันอาทิตย์ก็กลับมากรุงเทพฯ เพื่อทำงานตอนเช้า เป็นอย่างนี้อยู่หลายปีจนกระทั่งงานสวนฝรั่งซึ่งเพื่อนแนะนำมาให้ปลูกสามารถเดินไปได้ มีรายได้สำหรับใช้สอยได้พอควร ซึ่งสวนที่นครสวรรค์ปลูกฝรั่งกิมจูที่เป็นที่นิยมในขณะนั้น นอกจากขายผลผลิตแล้วยังมีการตอนกิ่งพันธุ์ขายอีกด้วย จากพื้นที่ปลูก 1 ไร่สามารถขยายได้จนครบ 6 ไร่
เมื่อมีวางระบบการปลูกและทำการตลาดให้พ่อแม่ที่นครสวรรค์เสร็จ ก็กลับมาซื้อที่ดินจำนวน 1 ไร่ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อทำสวนฝรั่ง แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำฝรั่งกิมจูเป็นหลักเหมือนที่นครสวรรค์แล้ว แต่จะรวบรวบพันธุ์ฝรั่งใหม่ๆ หรือฝรั่งพันธุ์หายาก เมื่อสวนฝรั่งไปได้ด้วยดี คุณต้อมก็ลาออกมาเมื่อปี 2554 เพื่อทำการเกษตรเต็มตัว
4 พันธุ์เด่นของสวน
พันธุ์หงเป่าสือ ลักษณะเด่นคือ ผลกลมมีเมล็ดน้อย เปลือกค่อนข้างบาง รสชาติหวานอมเปรี้ยว เนื้อสัมผัสกรอบฟู ถ้าผลแก่จัดจะเป็นเนื้อทราย มีกลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายสตอเบอร์รี่ แต่เป็นฝรั่งพันธุ์หนัก อายุต้นต้องได้ 1-2 ปี จึงจะให้ผลดกขึ้น พันธุ์เฟิ่นหงมี่ ลักษณะเด่นคือ ให้ผลดก ปลูกง่าย เป็นฝรั่งพันธุ์เบา แตกยอดเมื่อไหร่จะแทงดอกทันที เนื้อสัมผัส กรอบแน่นหวานไม่ค่อยติดเปรี้ยว ลักษณะเนื้อผลจะแน่นและละเอียดกว่าหงเป่าสือ พันธุ์หงจ้วนสือ ลักษณะเด่นคือ ปลูกง่าย ติดผลง่ายมาก รสชาติค่อนข้างนิ่ง ไม่ต้องบำรุงปุ๋ยเยอะมาก เป็นฝรั่งพันธุ์เบา รสชาติจัดมีหวานอมเปรี้ยว เนื้อสัมผัสกรอบแน่น ถ้าเก็บที่ความสุกที่ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปจะยิ่งกรอบฟู พันธุ์แตงโม ลักษณะเด่นคือ ปลูกง่าย ติดผลง่ายมาก ผลติดดกต้นจะไม่โทรม เป็นฝรั่งพันธุ์เบา รสชาติจัด มีหวานอมเปรี้ยว เนื้อแน่น เมล็ดจะเยอะกว่าอีก 3 สายพันธุ์ แต่ไม่ได้เยอะมาก
การทำรอบการผลิตผล
รอบของการทำผลฝรั่งสวนพี่ต้อมให้ข้อมูลไว้ว่า จะมีการตัดแต่งก่อนคือ จะเลือกตัดแต่กิ่งฝรั่งที่มีลักษณะดังนี้ออก 1. กิ่งที่เติบโตชี้เข้าภายในทรงพุ่มเพราะบังแสง 2. กิ่งแขนงที่มีขนาดเล็ก 3. กิ่งที่เจริญเติบโตชี้ลงพื้นดิน และ 4. กิ่งที่มีความยาวเกินไปเราจะตัดลงมาให้เหลือตามความต้องการ เมื่อเราตัดแต่งกิ่งประมาณ 15-20 วัน ต้นฝรั่งก็จะเริ่มแตกยอดใหม่ ใช้เวลาอีก 30-45 วันกิ่งที่มีจำนวน 8 คู่ใบก็จะมีดอกบาน ใช้เวลาประมาณ 45 วันผลจะมีขนาดโตกว่านิ้วมือก็จะห่อผล หลังจากนี้ใช้เวลาอีก 45-60 วันจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต และรออีก 10 วันหลังจากการเก็บเกี่ยวก็จะตัดแต่งกิ่งอีก ใน 1 รอบใช้เวลา 165 วัน 1 ปีสามารถทำได้ 2 รอบ ซึ่งจะต้องมีน้ำเพียงพอสำหรับจำนวนต้นฝรั่งด้วยโดยไม่คำนึงถึงฤดูกาล
การดูแลรักษาและใส่ปุ๋ยให้ฝรั่งในช่วงระยะบำรุงต้น จะฉีดน้ำหมักจากเนื้อสัตว์ที่มีกรดอะมิโนสูง เช่น น้ำหมักปลา แต่ถ้าทำระบบเคมีจะใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 เพื่อบำรุงต้น ในระยะสะสมอาหารเพื่อทำผลทำดอกในระบบเกษตรอินทรีย์จะฉีดน้ำหมักมูลค้างคาวหรือน้ำหมักผลไม้ก็ได้ ส่วนในระบบเกษตรเคมีจะต้องใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 เพื่อเร่งดอก หลังจากติดผลในระบบเกษตรอินทรีย์จะฉีดน้ำหมักที่ให้สารอาหาร กลุ่มโพแทสเซียม เช่น น้ำขี้เถ้า ร่วมกับน้ำมูลค้างคาวเพื่อขยายผลสะสมแป้งและทำความหวาน ส่วนในระบบเกษตรเคมีใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ในการให้ปุ๋ยทุกระยะสามารถใช้ปุ๋ยคอกที่หมักจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ลา สลับกับการฉีดพ่นทางใบได้ในระบบเกษตรอินทรีย์ ส่วนระบบเกษตรเคมีก็ควรมีอินทรียวัตถุใส่ลงไปด้วยเพื่อกันดินเสียและให้พืชสามารถดึงธาตุอาหารมาใช้ได้อย่างสะดวก
การตลาดของสวนพี่ต้อมเกษตรอินทรีย์เน้นการทำตลาดออนไลน์ ผลผลิตจะเป็นเกรดพรีเมียมเจาะลูกค้าที่รักสุขภาพเพราะเป็นฝรั่งที่ปลอดสารเคมี ส่วนต้นพันธุ์ก็จะมีหลากหลายพันธุ์ ราคาแตกต่างกัน ตั้งแต่ 30-300 บาทต่อกิ่งพันธุ์ ท่านที่ซื้อกิ่งพันธุ์ไปสามารถติดต่อสอบถามวิธีการปลูก การดูแลรักษาได้ตลอด ต้นพันธุ์ที่ซื้อสวนพี่ต้อมยังระบบประกันหลังปลูก 1 เดือนด้วย ถ้าตายหรือไม่โตก็จะเปลี่ยนต้นใหม่ให้
ปัจจุบันฝรั่งของสวนพี่ต้อมจาก 1 ไร่ ขยายไปอีก 6 ไร่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างพอเพียง ในเรื่องของผลสด เพราะที่แล้วมาเน้นเรื่องกิ่งพันธุ์ สวนพี่ต้อมได้เก็บฝรั่งพันธุ์ต่างๆ มาทดลองปลูกไว้เกือบ 30 สายพันธุ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้หลากหลายยิ่งขึ้น
สามารถติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้กับพี่ต้อมได้ที่ โทร. 064-220-9000 หรือ lined:p.tom ยูทูบ หรือติ๊กต็อก เฟซบุ๊กในชื่อ : พี่ต้อมเกษตรปลอดสารพิษ และถ้าหากท่านสนใจผลิตภัณฑ์หรือสนใจปรึกษาเรื่องการทำสวนฝรั่งปลอดสารพิษ