จากวิศวกร สู่เกษตรกร

การสื่อสารด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันล้ำสมัยจนคาดไม่ถึง เมื่อ 40 ปีก่อนถ้าใครพูดว่าอีกหน่อยเราจะมีโทรศัพท์มือถือติดตัวกันทุกคน และเมื่อโทร.แล้วสามารถเห็นหน้ากันทั้งสองฝ่าย เหมือนคุยกันต่อหน้า คงจะมีคนหัวเราะเยาะ ในสมัยนั้นโทรศัพท์บ้านก็ไม่ใช่จะมีกันทุกบ้าน การได้โทรศัพท์บ้านเครื่องแรกของผมต้องซื้อเบอร์ราคาแพงจากคนอื่น ไม่ใช่จากองค์การโทรศัพท์ด้วยซ้ำ

ผักในโรงเรือน
ผักสลัดหลายชนิด

ในช่วงที่เริ่มมีโทรศัพท์กันก็ไม่มีใครนึกว่าจะมีสมาร์ทโฟนที่สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง และมีแอปพลิเคชั่น สามารถดูข่าวสารได้อย่างฉับไว ไม่ต้องง้อสำนักงาน พูดได้ว่าทุกคนที่มีมือถือมีสัญญาณโทรศัพท์ก็สามารถเสนอข่าวได้อย่างรวดเร็ว นั่นคือความสิ้นหวังของสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์หลายหัวเริ่มเลิกกิจการ ชีวิตตอนเช้าคนไม่ต้องนั่งอ่านหนังสือพิมพ์

โรงเรือนผัก
ออร์แกนิกฟาร์ม

การเรียนรู้ทางการเกษตรก็เช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องไปเรียนวิชาเกษตรในมหาวิทยาลัยอีกแล้ว เราสามารถดูได้ทางสื่อออนไลน์หลายรูปแบบ เพียงแต่ขอให้คิดวิเคราะห์ต่อเท่านั้น เพราะในสื่อออนไลน์มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง คุณต่าย หรือ คุณรัตติกาล สุวรรณธาดา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2551 หลังจากจบออกมาก็ได้ทำงานเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ของบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านไอทีแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ทำงานอยู่ 14 ปี ตำแหน่งสุดท้ายเป็นซีเนียร เอนจิเนียร์

ผักที่นำมาทำสลัด 

เริ่มต้นจากการชอบกินสลัด

จากที่เคยเขียนไว้ปริญญาตรีแรกไม่ใช่ของจริง แต่ปริญญาที่สองคือปริญญาชีวิต จากเริ่มแรกที่เป็นคนที่ชอบกินผักสลัด ชอบซื้อมากินบ่อยๆ จนกระทั่งทดลองทำกินเอง รู้สึกตัวว่ากินอร่อย และมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม มีเพื่อนๆ เห็นก็อยากกินด้วย เมื่อได้ทดลองกินหลายคนก็ติดใจ จึงเริ่มซื้อผักสลัดมาทำขายเพื่อนๆ ในตอนแรกใช้ผักไฮโดรโปนิกเพราะความไม่รู้ แต่ต่อมาได้ใช้ผักสลัดที่ปลูกดินและเป็นเกษตรอินทรีย์อีกด้วย เพราะรสสัมผัสและความปลอดภัยแตกต่างกัน ในบางช่วงของปีเช่นในฤดูฝน ผักสลัดที่ปลูกจะเสียหายกว่าฤดูอื่น ทำให้ค่อนข้างหายากและมีราคาแพง ยิ่งในห้างสรรพสินค้า ราคาผักสลัดไฮโดรโปนิกกิโลกรัมละ 150-200 บาท ส่วนผักอินทรีย์ราคา 200-250 บาท ก็เลยคิดว่าน่าจะทดลองปลูกเอง

โรงเรือนข้างบ้าน 

ปลูกผัก 4 ครั้ง จึงประสบความสำเร็จ

ได้ใช้เวลาศึกษาในสื่อออนไลน์หลายแขนงเป็นระยะเวลาหนึ่ง ได้ลงมือทำเลยโดยหว่านเมล็ดลงแปลง รอให้ต้นมันขึ้นแล้วรดน้ำอย่างเดียว ปรากฏว่าผักไม่โต ส่วนที่พอโตบ้างพอนำมากินปรากฏว่าผักสลัดมีรสขมคาดว่าเกิดจากการรดน้ำไม่พอและผักมีอายุเกินกำหนด ครั้งที่สองก็ทำแบบเดิมอีกแต่คราวนี้ผักขึ้นได้ครึ่งเซ็นต์ หอยหมายเลขหนึ่งกินเกลี้ยงไม่เหลือเลย จึงทดลองปลูกครั้งที่ 3 โดยการยกแปลงโดยใช้อิฐบล็อกขึ้นเอาดินใหม่มาลงในแปลง มีการเพาะเมล็ดในถาดเล็ก แล้วย้ายมาใส่ถาดหลุมก่อน แล้วถึงจะย้ายลงแปลง อย่าพึ่งดีใจว่ารอบนี้จะสำเร็จ เพราะรอบนี้น้องหมาคุ้ยเสียหายเรียบ ก็ยังไม่ย่อท้อ ตอนนี้ยกเป็นโต๊ะปลูกเสียเลยขนาดโรงเรือน 3 เมตร คูณ 12 เมตร มีพลาสติกคลุม ใช้เนื้อที่บริเวณข้างบ้านซึ่งเป็นบ้านจัดสรรมาทำ ผลจากการปลูกครั้งที่ 4 ปรากฏว่าสามารถนำมากินและขายได้เลย ทำให้มีความภูมิใจมากที่สามารถทำได้ ในช่วงนี้ก็ไปเรียนการทำน้ำสลัดอย่างเป็นจริงเป็นจัง แล้วนำมาประยุกต์ให้อร่อยยิ่งขึ้น

คุณต่าย หรือ คุณรัตติกาล สุวรรณธาดา

อาหารที่ทำมี 3 อย่างคือ สลัดโรล แซนด์วิช และสลัดผัก โดยใช้วัตถุดิบที่ดีมาประกอบอาหาร แต่การขายของยังเป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น โดยขายให้กับพนักงานในออฟฟิศซึ่งติดต่อกันในเฟซบุ๊กส่วนตัว ส่งร้านกาแฟสดแถวๆ ที่ทำงาน แต่ผักที่ปลูกบนโต๊ะนั้นขายไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็หมดต้องใช้ผักที่ซื้อมาเหมือนเดิม แต่ทำให้เราเรียนรู้ในการปลูกผักได้แล้ว จนกระทั่งปี พ.ศ. 2561 จึงเกิดความคิดที่จะย้ายที่อยู่กลับไปบ้านเกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากมีตึกแถวให้เช่าอยู่ในอำเภอสตึก และมีบ้านอยู่อาศัยในละแวกเดียวกัน

หมักปุ๋ย
น้ำหมักผลไม้

เมื่อลาออกจากงานประจำก็ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ใช้พื้นที่ข้างบ้านสร้างโรงเรือน 3 โรง มีขนาด 1.2 เมตร คูณ 4 เมตร เพื่อปลูกผักสลัด แต่ก็ยังไม่สามารถผลิตเพียงพอสำหรับการทำอาหารแปรรูปที่ขายอยู่ จึงจำเป็นต้องซื้อบางส่วนแต่จะต้องเป็นผักอินทรีย์เท่านั้น การกลับมาจำหน่ายที่บุรีรัมย์สามารถหาลูกค้าทางออนไลน์ได้ไม่ยากเพราะคุณต่ายเป็นคนในอำเภอนี้อยู่แล้วและครอบครัวก็รู้จักคนเยอะ ช่วงเวลาไม่นานก็มีลูกค้าจำนวนมาก ตอนนี้จึงได้วางแผนจะผลิตผักสลัดอินทรีย์บนพื้นที่ห่างบ้านอยู่อาศัยไปประมาณ 3 กิโลเมตรอีกจำนวน 7 ไร่

สลัดโรล
สลัดผัก

ปุ๋ยที่คุณต่ายใช้จะเป็นปุ๋ยที่หมักเองโดยใช้อินทรียวัตถุ 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ใส่สลับกันลงในตะกร้าใบใหญ่ รักษาความชื้นให้สม่ำเสมอ ใน 1 สัปดาห์ก็จะใช้ท่อเสียบลงไปในกองและกรอกน้ำลงไปให้ความชื้น กองปุ๋ยนั้นจะตากแดดไว้ ใช้เวลาหมักปุ๋ยประมาณ 2 เดือน เมื่อปุ๋ยหมักได้ที่แล้ว เวลาใช้จะเอาไปร่อนเสียก่อนเพื่อให้ใช้ได้ง่าย แต่จะไม่ร่อนก็ได้ ส่วนน้ำหมักก็จะหมักผลไม้ต่างๆ ที่สุดงอมหลายๆ ชนิดจำนวน 3 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน จุลินทรีย์ 1 ส่วน หมักไว้ที่ร่มใช้เวลาประมาณ 20 วัน ก็สามารถนำมาใช้ได้ อัตราการใช้คือ น้ำหมักผลไม้ 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร ในช่วงอายุของผักสลัด 45 วัน จะรดประมาณ 3 ครั้ง และควรรดในช่วงเช้า

สลัดน่ากินมาก

ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากสวนผักสลัดอินทรีย์ของคุณต่าย เช่น แซนด์วิช ราคามี 59, 69, 79 แตกต่างกันตามวัตถุดิบ ราคา 59 เป็นแซนด์วิชธรรมดา ส่วน 69 จะใส่อกไก่ย่าง และ 79 เป็นแซนด์วิชสไตล์ญี่ปุ่นใส่กุ้งและสาหร่าย ส่วนสลัดโรลปูดอัดราคา 45 บาท ส่วนสลัดรสต้มยำราคา 79 บาท ราคาสลัดผักกล่องละ 69 บาท ถ้าเพิ่มอกไก่ย่างจะเป็นราคา 79 บาท ถ้าเป็นหมูย่างจะเป็นราคา 89 บาท มีรอบส่งสองรอบ คือ 7-9 โมงเช้าจะเป็นการส่งแซนด์วิช ส่วน 4-6 โมงเย็นจะเป็นสลัด และสลัดโรล โดยใช้รถอีโก้คาร์ส่งเฉพาะในละแวกนั้น ทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์และวันจันทร์ กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานสำนักงาน ข้าราชการ คุณครู และบุคลากรในโรงพยาบาล

แซนด์วิช
เนื้อแน่นๆ

การที่คุณต่ายลาออกจากงานประจำที่มั่นคง เพราะเห็นว่าการทำธุรกิจของตัวเองตามที่ฝันและมีโอกาสได้อยู่กับครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ และมองเห็นอนาคตที่ดีกว่าทำงานประจำ มีคำแนะนำสำหรับคนที่ต้องการปลูกผักกินเองแต่ไม่กล้า ว่าผักสลัดเป็นผักที่ปลูกง่าย ถึงเราจะปลูกแล้วไม่ได้ผลหลายครั้ง ก็อย่าเพิ่งท้อเพราะความเสียหายนี้ราคาไม่แพงแค่เมล็ดผักราคาไม่กี่บาท แต่เมื่อเราปลูกได้ เราจะมีความภาคภูมิใจ อาจจะต่อเนื่องไปถึงการปลูกผักเป็นอาชีพก็ได้

น่ากินมาก

หากสนใจสั่งผลิตภัณฑ์หรือสอบถามเรื่องการปลูกผัก สามารถติดต่อคุณต่ายได้ที่ เฟซบุ๊ก : Seoul Healthy Organic Farm & Café