ไม่ขายแล้วข้าวเป็นกิโล ขายยกแปลงไปเลย “เฮง โคตรอินดี้” จากตัวตึงเทศกาลดนตรี สู่ตัวตึงชาวนายุคใหม่

เชื่อว่าในหมู่นักฟังเพลงแนวเพลงทางเลือกใหม่คงไม่มีใครไม่รู้จักชายผู้นี้ เฮง-บุรินทร์ทร แซ่ล้อ CEO บริษัท เฮฟวี่ ออร์แกไนเซอร์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ CONCERT MARKETING รายใหญ่อันดับต้นๆ ของไทย หรือที่รู้จักกันในฉายา “เฮง โคตรอินดี้” หากถามในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจ CONCERT MARKETING สดใสมาตลอด จนมาถึงวันหนึ่งวันที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 และธุรกิจของเขาก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้แบบเต็มๆ จึงเป็นที่มาของการผันตัวมาเป็นชาวนา ปั้นแบรนด์ “แม่แต๋ว” ข้าวอินทรีย์รักษ์โลก กินแล้วสบายใจ เดินหน้าผลิตข้าว กข 43 ดัชนีน้ำตาลต่ำ ไม่อบยาฆ่ามอด ไม่ใช้สารเคมีในการปลูก ไม่เผาฟางข้าวให้ทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยจุดมุ่งหมายที่ “อยากเห็นคนไทยสุขภาพดี”

คุณเฮง เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น CEO บริษัท เฮฟวี่ ออร์แกไนเซอร์ จำกัด ควบคู่กับบทบาทวิถีชีวิตการเป็นชาวนาถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้มาจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะในตอนนั้นไม่สามารถจัดงานเทศกาลดนตรีได้ จึงต้องมองหาอาชีพอื่นเข้ามาทดแทน และเป็นช่วงระยะเวลาที่ยากลำบากพอสมควร แต่ผ่านมาได้เพราะอาชีพดั้งเดิมของที่บ้านคือการทำนาของแม่

“ตอนโควิดสายงานที่เราทำเหมือนโดนกระชากสายออกซิเจนออก เหมือนคนกำลังจะขาดอากาศหายใจ เทศกาลงานต่างๆ ที่เราเคยทำต้องหยุดชะงัก ในขณะที่ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป เลยเปลี่ยนจากคนที่กำลังหมดหวัง กลับมาฮึดสู้เอาพลังงานที่เหลืออยู่กลับมาบ้าน กลับมาทำนาที่เป็นอาชีพดั้งเดิมของพ่อแม่ให้ดีกว่าเดิม”

ซึ่งหลังจากที่พี่เฮงได้มารู้รสชาติของการทำนาอย่างแท้จริงแล้ว พี่เฮง ถึงกับต้องอุทานขึ้นมาว่า “โอ้วโหวแม่งคนละโลกเลยหว่ะ” เพราะจากชีวิตที่ต้องเป็นครีเอทีฟอยู่ตลอดเวลา ปีหนึ่งทำเปเปอร์เป็นพันหน้า แต่พอกลับมาทำนาก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย แต่ก็ยังคงไม่ลืมที่จะใช้จินตนาการในการทำงาน ว่าทุ่งนาก็เหมือนสถานที่จัดงาน ข้าว กข 43 ของผมก็เหมือนกับศิลปิน โดยการนำเอาจุดเด่นของข้าวเราที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการอยากปลูกข้าวอินทรีย์ให้แม่กิน

“ที่ผ่านมารุ่นพ่อรุ่นแม่เราปลูกข้าวพึ่งสารเคมีมาเยอะด้วยวิถีการทำนาแบบเดิมๆ เราจึงคิดว่าไหนๆ ก็มีโอกาสได้มาอยู่กับแม่ละ ก็ถือโอกาสปลูกข้าวให้แม่กิน โดยที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมีดูบ้าง แล้วก็เริ่มลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนได้ข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพ และนำไปสู่การพัฒนาข้าวและยกระดับการตลาดที่เร็วๆ นี้ ข้าวแม่แต๋วจะวางจำหน่ายในกูร์เมต์ และไม่ต้องสงสัยว่าทำไมข้าวแม่แต๋วถึงมีอัตลักษณ์ เพราะข้าวทุกเม็ดที่เราปลูกเราปลูกแบบใส่ใจ ไม่ใช้สารเคมี ก็เพื่ออยากให้ทุกคนที่ได้กินข้าวของเราสบายใจ และมีสุขภาพดีนั่นเอง”

 

จากปลูกข้าวเพราะรักแม่ ต่อยอดเป็นธุรกิจได้ยังไง

พี่เฮง บอกว่า นอกจากการที่ผันตัวมาปลูกข้าวเพราะเจอวิกฤตแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดคือการปลูกข้าวมันเริ่มจากความรัก จนทำให้ได้เห็นแสงสว่างอีกทางหนึ่ง ว่าจริงๆ แล้วการทำเกษตรแบบพอเพียงมันได้ผลนะ ในกรณีที่ไม่มีหนี้สิน แล้วมีพื้นที่สัก 1 ไร่ ประกอบกับต้องใช้เวลาสักครึ่งปีในการทำเพื่อให้เกิดรายได้

“จากเดิมที่พ่อกับแม่ทำนาใช้สารเคมีมาเกือบทั้งชีวิต แต่พอเราเข้ามาทำก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดการทำนาแบบใหม่ คือปลูกข้าวแบบอินทรีย์ บนพื้นที่ 10 ไร่ เลือกปลูกข้าว กข 43 อย่างเดียว และช่วงนั้นที่ผมมาเริ่มปลูกข้าวใหม่ๆ ปุ๋ยยูเรียราคาสูงมากนะ กระสอบละ 1,500 บาท ต้นทุนชาวบ้านทำนาก็ตกไร่ละ 6,000-7,000 บาท แล้วตอนนั้นข้าวราคาเกวียนละ 8,000 บาท จะไปอยู่ได้ไง ต่างจากของเราที่ทำนาแบบอินทรีย์ต้นทุนเราอยู่ที่ไร่ละ 3,500 บาทเราทำต้นทุนได้ถูกมาก โดยใช้มูลไส้เดือนอัดเม็ดแทนการใช้ปุ๋ยยูเรีย ผลผลิตของเราต่อไร่เคยได้สูงสุด 800 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งที่เราปลูกเฉพาะข้าว กข 43 ที่มีน้ำหนักเบา แต่เราสามารถผลิตข้าวได้ปริมาณขนาดนี้ก็ไม่ธรรมดาแล้ว”

ส่วนการตลาดตอนแรกจะทำยังไงยังไม่รู้ แต่วันนั้นพาแม่ไปที่ทุ่งนา เราก็พาแม่มาดูนาข้าวอินทรีย์ที่เราปลูก ก็ถามแม่ว่าเป็นไงเราปลูกข้าวโดยไม่ใช้เคมี แม่ก็บอกว่าดีเพราะเรากินแล้วเราก็สบายใจ จึงเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ “ข้าวแม่แต๋ว กินแล้วสบายใจ”

“คือเราไม่ได้ขายข้าว แต่เรากำลังขายสุขภาพ กินข้าวให้เป็นยา นี่คือจุดเริ่มต้นของข้าวแม่แต๋ว และภาพที่ผมวางไว้ตอนแรกคือผมต้องการเอาข้าวนี้ลงตลาดสด เพราะข้าวส่วนใหญ่มีการอบยาฆ่ามอดมาแล้ว แต่ถ้ามีบูธข้าวที่ไม่อบนาฆ่ามอด แล้วขายราคาเท่าๆ กัน อันนี้ก็จะช่วยให้ชาวบ้านสุขภาพดีขึ้นด้วย”

ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ การปลูกข้าวอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอุปสรรคหลักๆ ก็คือหญ้า แต่ที่นี่จะไม่ใช้ยาคลุมฆ่าหญ้า แต่จะใช้เป็นชีวภัณฑ์ที่ทำขึ้นมาเอง เรียกว่า “ควายธนู” ใส่ลงไปแล้วหมักทิ้งไว้ 15 วัน ให้ตอซัง ฟางข้าว ย่อยสลาย ซึ่งในตอซังและฟางข้าวจะมีธาตุ N P K อยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่จะมี N คือไนโตรเจนน้อย และมี P คือ ฟอสฟอรัส และ K คือ โพแทสเซียม ที่มากหน่อย ก็เท่ากับว่าเราได้ประโยชน์จากการลดการเผาตอซังและฟางข้าวไปด้วย เพราะฉะนั้นใครที่กำลังเผาตอซังและฟางข้าวตอนนี้ก็เท่ากับว่าคุณเผาเงินไปด้วย อันนี้คือพื้นฐานแรกของการปลูกข้าวอินทรีย์ คือการทำให้ดินสมบูรณ์ก่อน

จากนั้นเมื่อเตรียมดินเสร็จ ทำการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนหว่าน โดยใช้ไตรโคเดอร์มาผสมลงไปแล้วนำเมล็ดพันธุ์ข้าวลงแช่ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เมล็ดพันธุ์ข้าวงอกสม่ำเสมอ และมีวิธีการดูแลป้องกันโรคพืชด้วยการใช้คีโตเมี่ยม ที่เป็นชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคพืช เป็นเชื้อราดีที่ใช้ป้องกันและแก้ปัญหาของพืชที่ถูกเชื้อราทำลาย และใช้เชื้อราเมตาไรเซียม เป็นจุลินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืช ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลงศัตรูพืช

และเมื่อได้ข้าวอินทรีย์ที่ปลูกอย่างตั้งใจแล้ว และคุณภาพดีแล้ว การตลาดถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราใช้วิธีทำการตลาดด้วยการขายข้าวยกแปลง “ตอนนั้นขายในราคาแปลงละ 6,900 บาท โดยที่เรามีการการันตีคุณภาพและปริมาณให้ด้วย ซึ่งไอเดียของการขายข้าวยกแปลงเกิดขึ้นมาจากที่เราไม่อยากขายข้าวทีละกิโลขายได้ช้า ก็เลยเกิดไอเดียขายข้าวยกแปลงขึ้นมา แล้วโพสต์ขายลงเฟซบุ๊ก ใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ ก็ได้ลูกค้าจองมา 16 แปลง และต่อยอดทำตลาดจนมาถึงปัจจุบันเริ่มมีคนรู้จักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สู่การต่อยอดในอนาคตที่ข้าวแม่แต๋วกำลังจะมีวางจำหน่ายในกูร์เมต์ ซึ่งนอกเหนือจากความภูมิใจที่ได้ปลูกข้าวอินทรีย์ให้แม่ได้กินเองกับมือ ได้ส่งต่อข้าวปลอดภัยให้กับผู้บริโภค คือการได้ดูแลสุขภาพดิน ฟ้า อากาศ เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เพจบ้านแม่แต๋ว หรือโทร. 064-797-8941