ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ผ่านช่วงเวลาเฉลิมฉลองปีใหม่กันไปแล้ว หลังจากนี้คือการมุ่งมั่นทำงานหาเงินเลี้ยงชีพกันต่อ ซึ่งในส่วนของภาคการเกษตรปีนี้ เทคโนโลยีชาวบ้าน ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ คุณอภิวัฒน์ สุขพันธ์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารพื้นที่ ตลาดสี่มุมเมือง เพื่อนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาเผยแพร่สู่กันฟัง โดยมุ่งประเด็นไปที่เทรนด์สินค้าเกษตรในปี 2024 มาเป็นของขวัญให้พี่น้องเกษตรกรทุกท่านได้มีแนวทางในการปรับตัว ตั้งรับ และมองเห็นช่องทางในการสร้างรายได้มากยิ่งขึ้น
หากถามถึงเรื่องของเทรนด์สินค้าเกษตรปีนี้ว่า สินค้าเกษตรแบบไหน ที่กำลังเป็นกระแส เชื่อว่าหลายคนคงพุ่งเป้าไปที่สินค้าประเภท ผัก ผลไม้ หรือของสดกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหลายคนคาดการณ์ผิด โดยคุณอภิวัฒน์ สุขพันธ์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารพื้นที่ ตลาดสี่มุมเมือง ได้ให้ข้อมูลในแง่ของเทรนด์สินค้าเกษตรมาแรงในปี 2024 ว่า ถ้าถามถึงเทรนด์ของสินค้าเกษตรในปีนี้ และปีต่อๆ ไปก็ต้องมองในเรื่องของผู้บริโภคเป็นสำคัญ คือ ณ ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยในอาหารมากขึ้น และมาประกอบกับช่วงที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งส่งผลให้กระแสรักสุขภาพรับประทานอาหารปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ
โดยอ้างอิงจากข้อมูลของตลาดที่ได้มีการจัดเซกเมนต์ของลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ตลาดบน 2. ตลาดกลาง และ 3. ตลาดล่าง ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องของอาหารปลอดภัยจะอยู่เฉพาะตลาดบน แต่ในปัจจุบันกลุ่มตลาดล่างตอนนี้เริ่มให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น เพราะฉะนั้นฟันธงได้ว่าอาหารปลอดภัยเป็นเทรนด์สินค้าเกษตรปี 2024 อย่างแน่นอน
“อย่างที่บอกเมื่อเรามาวิเคราะห์ Customer Segment คือ แผนภาพการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า คือ กลุ่มบน กลุ่มกลาง กลุ่มล่าง ถ้าเป็นในเรื่องของสุขภาพ กลุ่มกลางที่เป็นกลุ่มใหญ่ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมายังไม่สนใจอาหารปลอดภัยมากนัก ส่วนคนที่สนใจมากๆ จะเป็นกลุ่มบนมีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าทั้งหมด ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ 2 ปีหลังที่ผ่านมากลุ่มที่เป็นกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มกลาง เริ่มให้ความสำคัญของความปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงกลุ่มล่างที่แต่ก่อนเน้นของราคาถูก แบบไหนก็ได้ แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีความต้องการอยากบริโภคอาหารปลอดภัยมากขึ้น และคิดว่าจะเติบโตไปเรื่อยๆ ในเรื่องของเทรนด์ตัวนี้ จึงอยากให้เกษตรกรที่เป็นต้นน้ำตระหนักถึงข้อนี้ และปรับตัวผลิตสินค้าให้ตรงต่อความต้องการของตลาด เพราะสินค้าเกษตรขึ้นอยู่กับปลายทาง ถ้าคนซื้อต้องการแบบไหน คนผลิตก็จะผลิตตาม คือใช้ตลาดนำการผลิต ถ้าวันนี้กลุ่มตลาดบอกว่าเขาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น เขาต้องการสินค้าแบบนี้มากขึ้น คนผลิตก็ต้องพยายามผลิตสินค้าเพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้”
แนะนำเกษตรกร ลด ละ เลิก ใช้สารเคมี
ผลิตสินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภค ยอดขายปัง
คุณอภิวัฒน์ อธิบายว่า การใช้สารเคมีในด้านการเกษตรไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแค่ต้องมีการใช้ให้เหมาะสม ทั้งเรื่องของระยะเวลาการใช้ ปริมาณการใช้ หรือช่วงก่อนวันเก็บเกี่ยวกี่วันต้องงดใช้สารเคมีเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ประกอบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรค่อนข้างสูงโดยเฉพาะเรื่องของสารเคมี ปุ๋ยมีราคาแพงขึ้น ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งหันมาพัฒนาการผลิตของตัวเองมากขึ้นไปโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นเกษตรกรกลุ่มหนึ่งจะหันมาใช้สารเคมีน้อยลง ใช้อินทรีย์มากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เริ่มเห็นในตลาดมากขึ้นพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ได้ใบรับรองมาตรฐานการผลิต GAP ก็จะมีมากขึ้นในตลาด ส่วนเกษตรกรท่านใดที่ยังไม่ปรับตัว ก็อยากแนะนำว่าให้ปรับลดการใช้สารเคมีให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัย เพราะผลดีที่ตามมาก็จะได้กับทั้งตัวของเกษตรกรเองในแง่ของสุขภาพที่ไม่ต้องสูดดมสารเคมีในปริมาณมากทุกวัน และเป็นผลดีในด้านการตลาดเพราะในอนาคตความต้องการของตลาดจะหันมาบริโภคอาหารปลอดภัยกันหมด
“ทำไมเราถึงรู้ว่าผู้บริโภคหันมาใส่ใจอาหารปลอดภัยมากขึ้น เพราะจริงๆ ตัวเลขของ GAP เป็นตัวเลขนอกตลาด คำตอบคือ 1. เกิดจากการสังเกตและการเก็บรวบรวมข้อมูลทำให้รู้ว่ากลุ่มสินค้าอาหารปลอดภัยมียอดการขายที่เติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และพอเรารู้ว่ากลุ่มสินค้าประเภทไหนที่ผู้บริโภคต้องการ GAP เราก็จะแท็กจากสินค้าหน้าร้านว่าร้านไหนมี GAP 2. ตลาดสี่มุมเมืองเรามีห้องแล็บเป็นของตัวเองเพื่อทดสอบสารพิษตกค้าง ตอนนี้เรามีการสุ่มตรวจทุกวัน เพื่อทดสอบว่าสินค้าที่เข้ามาในตลาดไม่มีสารตกค้าง และสิ่งที่เป็นตัวตอกย้ำว่าทำไมต้องผลิตสินค้าปลอดภัย เพราะตอนนี้มีเกษตรกรที่ทางเราไม่ได้สุ่มตรวจ แต่เขาอยากให้เราตรวจ มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โตขึ้นประมาณ 2 เท่า จากในปีแรกอาจจะมีการสุ่มตรวจ 100 เคสต่อวัน ปีหลังโตเป็น 150-200 เคสต่อวัน ที่ส่งให้เราตรวจ ซึ่งเราไม่ได้บังคับ แต่เขาอยากตรวจ นั่นก็แปลว่าคนซื้อไปขายหรือผู้บริโภคต้องการผักปลอดภัยมากขึ้น ผู้ผลิตจึงต้องตื่นตัว ปรับตัว ให้ตรงต่อความต้องการของตลาดนั่นเอง”
ความต้องการของตลาดเปลี่ยน
นวัตกรรมตัวช่วยสำคัญของเกษตรกร
อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันสภาพดิน ฟ้า อากาศแปรปรวน ส่งผลกระทบต่อพืชสวน ไร่นาของเกษตรกรเป็นอย่างมาก คุณอภิวัฒน์ บอกว่า ด้วยเหตุนี้นวัตกรรมจึงเป็นตัวช่วยสำคัญของเกษตรกร โดยจะขอแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. นวัตกรรมด้านการผลิต 2. นวัตกรรมเรื่องของการซื้อขาย โดยในเรื่องของการผลิตแน่นอนว่าเกษตรกรยุคใหม่ได้นำนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ หรือบางคนไปถึงขั้นมีการตรวจสอบสภาพดินก่อนปลูก รวมไปถึงการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งให้ทันสมัยมากขึ้น
และถัดมาในส่วนของนวัตกรรมด้านการขาย ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผู้ผลิตหรือว่าคนขายก็จะพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น เดิมเคยมีช่องทางการขายแค่หน้าร้าน ตอนหลังก็จะเป็นการขยายสาขา จนมาถึงปัจจุบันขยายการขายผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป คือรักความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งช่องทางออนไลน์ตรงนี้ก็ตอบโจทย์ในแง่ของการลดระยะทาง ลดระยะเวลาระหว่างคนซื้อกับคนขายมากขึ้น แต่สิ่งที่เกษตรกรควรตระหนักและทำให้ได้เลยคือเรื่องของมาตรฐานสินค้า
“เนื่องจากในอดีตที่ยังไม่มีตลาดออนไลน์ มีแต่ตลาดออฟไลน์ คนซื้อสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตร เขาต้องได้เห็นได้จับสินค้า อย่างเช่น เขามาซื้อส้มต้องเห็นเป็นส้มยังไง หรือว่าไปซื้อผักต้องได้เลือก ต่างกับตลาดออนไลน์ที่จะตัดขั้นตอนเหล่านี้ออกไปจะเห็นแค่เพียงรูปถ่าย เพราะฉะนั้นของที่ส่งให้ลูกค้าต้องตรงปก ถ้าไม่ตรงปกกับภาพที่แสดงในหน้าออนไลน์ ตรงนี้ก็เหมือนเป็นดาบสองคมได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกษตรกรหรือผู้ผลิตควรตระหนักคือ ต้องผลิตของให้ดีมีคุณภาพ และจริงใจต่อลูกค้า”
สี่มุมเมือง ตลาดกลางผักผลไม้ชั้นนำ
หาตลาดไม่ได้ แนะนำเข้ามาขายที่นี่
คุณอภิวัฒน์ เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันปริมาณสินค้าเกษตรที่ผลิตในไทยมีประมาณ 6 หมื่นตันต่อวัน โดยในแต่ละวันจะผ่านผู้ผลิตทั่วประเทศเข้ามาสู่ระบบตลาดกลาง ส่วนหนึ่งส่งตลาดออนไลน์ ซึ่งในส่วนของตลาดสี่มุมเมืองจะมีสินค้าเข้าตลาดวันละ 8 พันตัน แล้วสี่มุมเมืองคือตัวกลางกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค ไปตลาด ร้านอาหาร ภัตตาคาร รถเร่ และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นจำนวนผลผลิตกว่า 8 พันตันที่เข้ามาในตลาดของเราขายหมดทุกวัน และมีของเข้าใหม่ทุกวัน จึงเป็นคำตอบว่าถ้าเกษตรกรผลิตสินค้าออกมาแล้วยังหาตลาดไม่เจอ หรือว่าหาซื้อยาก เราอยากแนะนำให้คุณเข้ามาสอบถามข้อมูล แล้วเข้ามาขายในสี่มุมเมือง ที่นี่มีผู้ซื้อกว่า 2 หมื่นคัน ทุกๆ วันที่เข้ามาซื้อ สามารถการันตีได้ว่าเมื่อเกษตรกรนำของเข้ามาขายหมดแน่นอน
“ในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาปัญหาของสินค้าเกษตร คือผลผลิตล้นตลาด ขายไม่หมด ราคาตก เช่น เคยขายสินค้าได้ราคา 20 บาท แต่พอในวันที่ผลิตออกมาเยอะขายได้ 5-10 บาท ตลาดกลางจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวบรวมสินค้า ที่เอาผู้ซื้อมาเจอกับผู้ขาย ผมอาจจะบอกได้ว่าถ้าสินค้าที่ไหนขายยาก ที่ไหนขายไม่หมด สี่มุมเมืองเรามีผู้ซื้อเยอะมาก ที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค เพราะฉะนั้นถ้าคุณขายไม่หมด เราอยากเชิญชวนให้เข้ามาขายที่สี่มุมเมือง ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ หรือสินค้าเกษตรชนิดใดก็แล้วแต่ โดยที่นี่มีรูปแบบการขายแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. รูปแบบของแผงค้า เราสามารถส่งของเข้าแผงค้าได้ 2. รูปแบบการขายผักท้ายรถ ซึ่งเป็นวิธีการขายที่ง่ายมากๆ ไม่ต้องมีแผงผักแต่สามารถขนของผักใส่ท้ายรถแล้วขับมาขายได้เลยตลอด 24 ชั่วโมง เรามีผู้ซื้อพร้อมจะซื้อคุณอยู่แล้ว หรือถ้าสินค้าประเภทไหนมีแนวโน้มขายยาก ของล้นตลาด ขายได้ราคาน้อย ที่นี่ก็มีการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการซื้อในช่วงนั้นให้ด้วย” คุณอภิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย