เผยแพร่ |
---|
โดยทั่วไปการผลิตปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์ต้องพลิกกลับกอง เพื่อนำออกซิเจนให้กับจุลินทรีย์ใช้ย่อยสลายทางชีวภาพ ซึ่งการพลิกกลับกองต้องใช้แรงงานและสิ้นเปลืองเวลา คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้พัฒนานวัตกรรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง ที่เรียกว่าวิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” โดยใช้เวลาผลิตปุ๋ยเพียง 60 วัน สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงและมีค่าตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2551 ที่ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม คือไม่ก่อให้เกิดกลิ่น น้ำเสีย และแมลงวัน ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้จะเบา นุ่ม และไม่มีกลิ่น มีคุณภาพเหมือนกับที่ผลิตด้วยระบบกองเติมอากาศทุกประการ
หัวใจสำคัญของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ คือ ต้องรักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลาทั้งภายในและภายนอกกองปุ๋ยด้วยวิธีการ 2 ขั้นตอนข้างต้น บริเวณใดที่แห้งเกินไปหรือแฉะเกินไปจุลินทรีย์จะไม่สามารถย่อยสลายได้ ทำให้วัสดุไม่ย่อยสลาย กระบวนการอาจใช้เวลานานถึง 6 เดือนถึง 1 ปีก็ได้
ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ “วิศวกรรมแม่โจ้ 1”
1. นําฟางข้าวหรือเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4 ส่วน วางเป็นชั้นบางๆ สูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร โดยไม่ต้องเหยียบ โปรยทับด้วย มูลสัตว์ 1 ส่วน แล้วรดน้ำ (ตัวอย่างเช่น วางฟาง 16 เข่ง หนา 10 เซนติเมตร โรยทับด้วยมูลสัตว์ 4 เข่ง เป็นต้น) ทําเช่นนี้ 15-17 ชั้น รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้น ขึ้นกองเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีความสูง 1.50 เมตร กองปุ๋ยจะมีความยาวเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเศษพืชและมูลสัตว์
2. รักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลา (มีค่าประมาณร้อยละ 60-70) คือ รดน้ำภายนอกกองปุ๋ยวันละครั้ง โดยไม่ให้มีน้ำไหลนองออกมาจากกองปุ๋ยมากเกินไป และเมื่อครบวันที่ 10 ใช้ไม้แทงกองปุ๋ยให้เป็นรูลึกถึงข้างล่างแล้วกรอกน้ำลงไประยะห่างของรูประมาณ 40 เซนติเมตร
3. เมื่อกองปุ๋ยมีอายุครบ 60 วัน ก็หยุดให้ความชื้น กองปุ๋ยจะมีความสูงเหลือเพียง 1 เมตร แล้วทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งเพื่อให้จุลินทรีย์สงบตัว และไม่ให้เป็นอันตรายต่อรากพืช วิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งอาจทำโดยทิ้งไว้ในกองเฉยๆ ประมาณ 1 เดือน หรืออาจแผ่กระจายให้มีความหนาประมาณ 20-30 เซนติเมตร ซึ่งจะแห้งภายในเวลา 3-4 วัน
ข้อห้ามในการผลิตปุ๋ย สูตร “วิศวกรรมแม่โจ้ 1”
1. ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ยให้แน่น หรือเอาผ้าคลุมกองปุ๋ย หรือเอาดินปกคลุมด้านบนกองปุ๋ย เพราะจะทําให้อากาศไม่สามารถไหลถ่ายเทได้
2. ห้ามละเลยการดูแลความชื้นทั้ง 2 ขั้นตอน เพราะถ้ากองปุ๋ยแห้งเกินไปจะทําให้ระยะเวลาแล้วเสร็จนานและปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพต่ำ
3. ห้ามวางเศษพืชเป็นชั้นหนาเกินไป การวางเศษพืชเป็นชั้นหนาเกินไปจะทําให้จุลินทรีย์ที่มีในมูลสัตว์ไม่สามารถเข้าไปย่อยสลายเศษพืชได้
4. ห้ามทํากองปุ๋ยใต้ต้นไม้ เพราะความร้อนของกองปุ๋ยอาจทําให้ต้นไม้ตายได้
5. ห้ามระบายความร้อนออกจากกองปุ๋ย เพราะความร้อนสูงในกองปุ๋ยจะช่วยให้จุลินทรีย์ทํางานได้ดีมากขึ้น และยังช่วยให้เกิดการไหลเวียนของอากาศผ่านกองปุ๋ยอีกด้วย
การนำไปใช้
– นาข้าว 300-3,000 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
– พืชผัก 2 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
– ไม้ผล 50 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี
– อ้อย 600-1,200 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
ทั้งนี้ขึ้นกับคุณภาพของดิน การทำกองปุ๋ยความยาว 4 เมตร สูง 1.5 เมตร ได้ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ตัน
ถ้าพื้นที่ในชุมชนไหนมีเศษใบไม้หล่นร่วง ไม่ต้องเผาทิ้ง สามารถนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองได้ เพียงแค่นำมากองรวมกันเป็นชั้นๆ สลับกับมูลสัตว์ สำหรับวิธีการทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง เป็นนวัตกรรมที่ไม่ซับซ้อน เพียงแค่นำเศษใบไม้ หรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาหมักรวมกับมูลสัตว์ เพียงแค่ดูแลความชื้นให้เหมาะสม ใช้เวลาหมักเพียง 2 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ในแปลงเกษตร หรือนำไปจำหน่ายได้
การทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง ช่วยลดต้นทุนการผลิต ช่วยลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมการทำเกษตรที่ปลอดภัย และสามารถต่อยอดจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้ ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาการเผาตั้งแต่ต้นทาง และเป็นการสร้างมูลค่าจากเศษวัสดุเหลือใช้ ตามโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อความยั่งยืนของประเทศ