ปลูกผักแนวตั้ง ประหยัดพื้นที่ ใช้น้ำน้อย ตอบโจทย์เกษตรคนเมือง

การทำเกษตรกรรมแนวตั้ง หรือเกษตรกรรมในอาคาร สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำเกษตรกรรม และสามารถลดข้อจำกัดต่างๆ ในการทำเกษตรกรรมแบบทั่วไปได้ ได้แก่ ข้อจำกัดด้านสภาพภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ โรคและแมลงศัตรูพืช ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ

การเกษตรแนวตั้ง หรือ Vertical Farm หมายถึง การปลูกพืชเป็นชั้นๆ มีการให้น้ำ อาหาร และแสงโดยการควบคุมจากมนุษย์ ปลูกในโรงเรือนที่มีหลังคา มีตาข่ายป้องกันแมลงเข้ามากัดกินผลผลิต ปลูกพืชได้โดยไม่จำกัดฤดูกาล และสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

“เกษตรแนวตั้ง” เป็นการเพาะปลูกพืชในอาคารหรือโรงเรือนในลักษณะเป็นชั้นแนวดิ่ง โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการเพาะปลูก ทั้งการควบคุมแสง ความชื้น ความเป็นกรด-ด่าง และอุณหภูมิของวัสดุปลูก ระบบการให้น้ำ การควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งการคัดเลือกพันธุ์พืช นอกจากนั้น บางแห่งยังมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และคอมพิวเตอร์ เข้ามาบริหารจัดการโรงเรือนอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้การทำเกษตรกรรมแนวตั้งสามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี ในพื้นที่ขนาดจำกัด และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณสูงกว่าการทำเกษตรกรรมทั่วไป

ไอเดียปลูกผักในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน ทั้งพื้นที่ และงบประมาณ เรียกได้ว่าช่วงนี้กระแส “ปลูกผักในเมือง” มีคนให้ความสนใจไม่น้อย พื้นที่น้อย มีเวลาน้อย ก็สามารถปลูกได้ วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจะมานำเสนอไอเดีย “การปลูกผักแนวตั้ง” สามารถปลูกได้หลากหลายแบบ เช่น เรียงกระถางในแนวตั้ง, กระบะแขวน, ชั้นวางไม้เพื่อปลูกผัก เป็นต้น สามารถเลือกปลูกได้ตามความเหมาะสม

ปลูกผักแนวตั้ง สามารถใช้กระถางต้นไม้ธรรมดา วางเรียงเป็นชั้นๆ ขึ้นไป หรือจะใช้เชือกผูก ตะขอแขวนก็ได้ แต่ถ้าหากต้องการปลูกผักแนวตั้งให้ได้เยอะๆ แนะนำให้ใช้ ท่อ PVC มาประกอบขึ้นไปแนวตั้ง แล้วเจาะรูตามแนวท่อ จะทำให้สามารถปลูกผักได้เยอะ ช่วยประหยัดเนื้อที่ ที่สำคัญยังใช้ต้นทุนต่ำกว่าซื้อชุดปลูกผักแนวตั้งแบบสำเร็จรูป ที่มีวางขายกันในท้องตลาดอีกด้วย

ข้อดี : การปลูกผักแนวตั้ง ช่วยประหยัดพื้นที่ เพิ่มผลผลิต ดูแลง่าย ปราศจากโรคและศัตรูแมลงต่างๆ ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดี ทนทานต่อสภาพแวดล้อมในการใช้งานกลางแจ้ง ช่วยลดความเสี่ยงจากการกินผักที่มีสารพิษตกค้าง

ข้อเสีย : การปลูกผักแนวตั้ง มีเรื่องการลงทุนและการติดตั้งค่อนข้างลำบาก สามารถปลูกในแค่กระถางหรือกระบะปลูก จะเป็นลักษณะราง เป็นแท่ง เป็นท่อ เป็นกรวย อาจจะต้องเลือกพืชที่ปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่ปลูก

การทำเกษตรกรรมบนอาคารสูงในเมืองยังลดการขนส่งผลผลิตจากชนบทมาสู่เมือง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรมและการขนส่ง และลดปัญหาการชะหน้าดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมได้อีกด้วย ยังมีการนำเทคโนโลยียุคใหม่มาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบที่กำลังเร่งพัฒนาสู่เป้าหมายการเป็น Smart Farmer ในอนาคตอันใกล้

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก : sgethai.com

#เทคโนโลยีชาวบ้าน #technologychaoban #ปลูกผัก #ปลูกผักแนวตั้ง #เคล็ดลับ