ทุเรียนภูซาง พะเยา ให้ผลดก อนาคตสดใส คุณภาพไม่เป็นรอง

หลายวันก่อนมีโอกาสไปเยี่ยม คุณลุงพนม วงศ์ใหญ่ เกษตรกรหัวก้าวหน้า อยู่บ้านเลขที่ 97 หมู่ที่ 10 ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ซึ่งยึดอาชีพทำการเกษตรมานาน ปัจจุบันหันมาทดลองปลูกทุเรียน คุณลุงเล่าว่าเมื่ออายุ 21 ปี ผ่านการเกณฑ์ทหาร (จับได้ใบดำ) แล้วก็มีครอบครัวจนมีลูกชาย 2 คน คนโตทำงานที่กรุงเทพฯ ส่วนคนสุดท้องบวช แล้วคงซึ้งในรสพระธรรม ไม่ยอมสึก

เดิมคุณลุงพนมมีอาชีพขับรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เคยไปขายแรงงานโดยการขับรถแถบประเทศทางตะวันออกกลาง เมื่อเกษียณจากการขับรถจึงหันมาจับอาชีพการเกษตรอย่างจริงจัง หลังปล่อยให้ภรรยาเป็นผู้ดูแลเป็นส่วนใหญ่ โดยเมื่อ 8 ปีที่แล้วลูกชายที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ ได้ไปซื้อต้นพันธุ์ทุเรียนจากระยองมาให้ปลูก ทั้งๆ ที่ไม่เคยปลูก

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทุเรียนที่ปลูกไว้ก็ให้ผล ลุงจึงแบ่งให้บรรดาญาติและเพื่อนบ้านชิม เมื่อชิมแล้วต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อยเนื้อกรอบแห้ง หอม หวาน คุณภาพสุดยอดไม่เป็นสองรองใคร แต่ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาเรื่องภัยแล้งผลผลิตไม่มาก แล้วยังประสบปัญหาหนอนเจาะผลอีก ทำให้ขายได้ในราคาหลักพันบาท โดยทุเรียนที่ปลูกไว้ จำนวน 35 ต้น ตอนนี้ติดผลแล้ว 17 ต้น คาดว่าปีนี้รับเงิน 6 หลัก อย่างแน่นอน

ข้อดีของที่นี่อีกอย่างคือ พื้นที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบน ซึ่งโดยธรรมชาติของผลไม้ จะสุกแก่จากทางใต้ขึ้นมา โดยทุเรียนปักษ์ใต้ และทางตะวันออกหรืออีสานออกหมดแล้ว ทุเรียนที่นี่จึงจะออกสู่ตลาด คือจะไม่เป็นคู่แข่งทางการตลาดกับพื้นที่ปลูกเดิมอย่างแน่นอน การปลูกทุเรียนก็ใช่ว่าจะปลูกได้อย่างง่ายดาย ต้องศึกษาหาความรู้เพื่อให้ทุเรียนงอกงามและติดผลดี เผอิญว่าลูกชายของคุณลุงสนใจเรื่องการเกษตร ค้นคว้าทางสื่อต่างๆ แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับคุณลุง ในสวนเริ่มลดละเลิกการใช้สารเคมีหันมาใช้สารชีวภัณฑ์ รวมทั้งผลิตใช้เอง ซึ่งดีต่อตัวเกษตรกรเอง และผู้บริโภคก็มั่นใจได้ด้วย

ทางด้าน คุณบุญส่ง เหมยคำสุข เกษตรอำเภอภูซาง ได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรทั่วไป ถึงหลักในการเลือกพื้นที่การปลูกทุเรียน ว่าสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ แหล่งนํ้า ต้องมีแหล่งนํ้าจืดให้ต้นทุเรียนได้เพียงพอตลอดปี สำหรับอุณหภูมิและความชื้น ทุเรียนชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วงประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศประมาณ 75-85% ถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศแห้งแล้ง มีอากาศร้อนจัด เย็นจัด และมีลมแรง จะพบปัญหาใบไหม้หรือใบร่วง ต้นทุเรียนไม่เจริญเติบโตหรือเติบโตช้าให้ผลผลิตช้าและน้อยไม่คุ้มต่อการลงทุน

คุณลุงพนม วงศ์ใหญ่

สภาพดิน ควรเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินเหนียวปนทราย ที่มีการระบายนํ้าดีและมีหน้าดินลึก เพราะทุเรียนเป็นพืชที่อ่อนแอต่อสภาพนํ้าขัง ความเป็นกรดด่างของดินอยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ถ้าจำเป็นต้องปลูกทุเรียนในสภาพดินทราย จำเป็นต้องนำหน้าดินจากแหล่งอื่นมาเสริม ต้องใส่ปุ๋ยคอกและต้องดูแลเรื่องการให้นํ้ามากเป็นพิเศษ แหล่งนํ้าต้องเพียงพอ

พันธุ์ทุเรียนที่นิยมปลูกกันคือ ชะนี หมอนทอง ก้านยาว ฤดูปลูก ถ้ามีการจัดระบบการให้นํ้าอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลให้นํ้ากับต้นทุเรียนได้สมํ่าเสมอช่วงหลังปลูก ควรปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน แต่ถ้าหากจัดระบบนํ้าไม่ทันหรือยังไม่อาจดูแลเรื่องนํ้าได้ ควรปลูกต้นฤดูฝนเตรียมพื้นที่การปลูกทุเรียน ไถ ขุดตอ ขุดรากไม้เก่า ออกจากแปลง พื้นที่ดอนไม่มีปัญหานํ้าท่วมขัง ไถกำจัดวัชพืชอย่างเดียว พื้นที่ดอน มีแอ่งที่ลุ่มนํ้าขัง ควรไถปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบ พื้นที่ลุ่มหรือตํ่ามีนํ้าท่วมขัง ให้ทำทางระบายนํ้าหรือยกร่อง

ไม่เป็นสองรองใคร

ระยะปลูก ระยะระหว่างต้นและระยะระหว่างแถวด้านละ 9 เมตร ปลูกได้ไร่ละ 20 ต้น การทำสวนขนาดใหญ่ควรขยายระยะระหว่างแถวให้กว้างขึ้น เพื่อสะดวกต่อการนำเครื่องจักรกลต่างๆ ไปทำงานในระหว่างแถว วางแนวและปักไม้ตามระยะปลูกที่กำหนดวางแนวกำหนดแถวปลูกโดยคำนึงว่า แนวปลูกขวางความลาดเทของพื้นที่หรืออาจกำหนดในแนวตั้งฉากกับถนน หรือกำหนดแถวปลูกไปในแนวทิศตะวันออก ตะวันตก และถ้ามีการจัดวางระบบนํ้า ต้องพิจารณาแนวทางจัดวางท่อในสวนด้วย จากนั้นจึงปักไม้ตามระยะที่กำหนดเพื่อขุดหลุมปลูกต่อไป

 

การปลูกทุเรียน ทำได้ 2 ลักษณะ

วิธีที่หนึ่ง วิธีการขุดหลุมปลูก เหมาะกับสวนที่ไม่มีการวางระบบนํ้า

วิธีที่สอง วิธีการปลูกแบบไม่ขุดหลุม เหมาะกับสวนที่จัดวางระบบนํ้า มีข้อดีคือ ประหยัดแรงงานค่าใช้จ่ายในการขุดหลุม ดินระบายนํ้าและอากาศดี รากเจริญเร็ว

การปลูกทุเรียนแบบขุดหลุมปลูก ให้ขุดหลุมมีขนาดกว้าง ยาว และลึก ด้านละ 50 เซนติเมตร จากนั้น ผสมปุ๋ยคอกเก่า ประมาณ 5 กิโลกรัม และปุ๋ยหินฟอสเฟตครึ่งกิโลกรัม คลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมา กลบกลับคืนไปในหลุมสูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม เตรียมต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ไม่มีแมลงทำลาย และมีใบยอดคู่สุดท้ายแก่ระบบรากแผ่กระจายดี ไม่ขดม้วนงออยู่ก้นถุง ใช้มีดกรีดก้นถุงออก ถ้าพบรากขดงออยู่ก้นถุงให้ตัดออก วางถุงต้นกล้าที่ตัดก้นถุงออกแล้ววางลงตรงกลางหลุม จัดให้ตรงแนวกับต้นอื่นๆ พร้อมทั้งปรับระดับสูงตํ่าของต้นทุเรียนให้รอยต่อระหว่างรากกับลำต้นหรือระดับดินปากถุงเดิมสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย

ใกล้เก็บผลผลิตได้แล้ว

จากนั้น ใช้มีดกรีดด้านข้างถุงจากล่างขึ้นบนทั้งสองด้าน ดึงถุงพลาสติกออก ระมัดระวังอย่าให้ดินในถุงแตก กลบดินที่เหลือลงไปในหลุม อย่ากลบดินสูงถึงรอยเสียบยอด หรือรอยทาบ ปักไม้หลักข้างต้นทุเรียนที่ปลูกแล้ว พร้อมทั้งผูกเชือกยึดไว้เพื่อป้องกันลมพัดโยก กดดินบริเวณโคนต้น หาวัสดุคลุมโคนต้นแล้วรดนํ้าตามให้โชก จัดทำร่มเงาให้ต้นทุเรียนที่เพิ่งปลูก โดยใช้ทางมะพร้าว ทางจาก แผงหญ้าคา ทางระกำ หรือตาข่ายพรางแสง เมื่อทุเรียนตั้งตัวดีแล้วควรปลดออก หรืออาจปลูกไม้เพื่อให้ร่มเงา เช่น กล้วยก็จะช่วยเป็นร่มเงาและเพิ่มความชื้นในสวนทุเรียนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่อากาศแห้งและมีแสงแดดจัด แกะผ้าพลาสติกที่พันรอยเสียบยอดหรือทาบออกเมื่อปลูกไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน

การปลูกทุเรียนแบบไม่ขุดหลุม โรยปุ๋ยหินฟอสเฟต 500 กรัม หรือประมาณ 1 กระป๋องนมครึ่ง ตรงตำแหน่งที่ต้องการปลูกกลบดินบางๆ นำต้นพันธุ์มาวาง แล้วถากดินข้างๆ ขึ้นมาพูนกลบ แต่ถ้าหากเป็นดินร่วนปนทราย ดินทราย ดินจะไม่เกาะตัวกัน ควรใช้วิธีขุดหลุมปลูก หรือจะใช้วิธีดัดแปลง วิธีดัดแปลงคือ นำหน้าดินจากแหล่งอื่นมากองตรงตำแหน่งที่จะปลูก กองดินควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1 เมตร สูง 15 เซนติเมตร แหวกกลางกองดินโรยปุ๋ยหินฟอสเฟตในช่องที่แหวกไว้ กลบดินบางๆ วางต้นพันธุ์ดีลงตรงช่องที่แหวกไว้กลบดินทับ

การแกะถุงออก ต้องระมัดระวังอย่าให้ดินแตก อาจทำได้โดยการกรีดถุงออกก่อน แล้วนำไปวางในตำแหน่งที่ปลูก กรีดถุงพลาสติกให้ขาดจากล่างขึ้นบน แล้วจึงค่อยๆ ดึงถุงพลาสติกออกเบาๆ ระมัดระวังอย่ากลบดินให้สูงถึงรอยเสียบยอดหรือรอยทาบ หาวัสดุคลุมโคน และจัดทำร่มเงาให้กับต้นทุเรียนเหมือนการปลูกโดยวิธีขุดหลุม

ให้ผลดก

การปฏิบัติดูแลทุเรียนในช่วงก่อนให้ผลผลิต เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุเรียนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และให้ผลผลิตได้เร็วขึ้น ในระหว่างรอทุเรียนให้ผลผลิต ในช่วงแรกควรปลูกพืชแซมเสริมรายได้ โดยเลือกพืชให้ตรงกับความต้องการของตลาด เมื่อตรวจพบทุเรียนตายหลังปลูกให้ปลูกซ่อม การให้นํ้า ช่วงเวลาหลังจากปลูกจะตรงกับฤดูฝน ถ้ามีฝนตกหนักควรทำทางระบายนํ้า และ ตรวจดูบริเวณหลุมปลูก ถ้าดินยุบตัวเป็นแอ่งมีนํ้าขังต้องพูนดินเพิ่ม ถ้าฝนทิ้งช่วง ควรรดนํ้าให้ดินมีความชื้นอยู่เสมอ ในปีต่อๆ ไป ควรดูแลรดนํ้าให้ต้นไม้ผลอย่างสมํ่าเสมอ และในช่วงฤดูแล้งควรใช้วัสดุคลุมดิน เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง

การตัดแต่งกิ่ง ปีที่ 1-2 ไม่ควรตัดแต่ง ปล่อยให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ปีต่อๆ ไป ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งแขนง กิ่งกระโดงในทรงพุ่ม กิ่งเป็นโรคออก เลี้ยงกิ่งแขนงที่สมบูรณ์ที่อยู่ในแนวขนานกับพื้น (กิ่งมุมกว้าง) ไว้ในปริมาณและทิศทางเหมาะสม โดยให้กิ่งล่างสุดอยู่สูงจากพื้นดิน ประมาณ 80-100 เซนติเมตร

 

การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

ช่วงแตกใบอ่อน : ควรป้องกันกำจัดโรคใบติด เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ ไรแดง

ช่วงฤดูฝน : ป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าและควบคุมวัชพืชโดยการปลูกพืชคลุมดินและอาจจะกำจัดโดยใช้แรงงานขุด ถาก ถอน ตัด พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เพราะต้นทุเรียนยังเล็กอยู่ละอองสารเคมีอาจจะไปทำลายต้นทุเรียน การทำร่มเงา ในช่วงฤดูแล้ง แสงแดดจัดมาก ทำให้ทุเรียนใบไหม้ได้ ควรทำร่มเงาให้

การใส่ปุ๋ย ควรทำดังนี้

ใส่ปุ๋ยหลังจากตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยพร้อมกับการทำโคน คือถากวัชพืชบริเวณใต้ทรงพุ่ม หว่านปุ๋ยและพรวนดินนอกชายพุ่มขึ้นมากลบใต้ทรงพุ่มให้มีลักษณะเป็นหลังเต่า และขยายขนาดของเนินดินให้กว้างขึ้นตามขนาดของทรงพุ่มหรือจะใส่ปุ๋ย โดยวิธีใช้ไม้ปลายแหลมแทงดินเป็นรูหยอดปุ๋ยใส่และปิดหลุมเป็นระยะ ให้ทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่ม วิธีหลังนี้แม้จะเปลืองแรงงานแต่ช่วยลดการสูญเสียปุ๋ยจากการระเหย หรือถูกนํ้าชะพา หว่านปุ๋ยคอกก่อนและตามด้วยปุ๋ยเคมี

ควรใส่ปุ๋ยในบริเวณใต้ทรงพุ่มโดยรอบ และให้ห่างจากโคนต้น ประมาณ 20-30 เซนติเมตร ขึ้นไป ขึ้นกับขนาดทรงพุ่มปริมาณและเวลาใส่ปุ๋ย

ปีที่ 1 : ใส่ปุ๋ยและทำโคน 4 ครั้ง (เดือนเว้นเดือน)

ครั้งที่ 1-3 ใส่ปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัม ต่อต้น (ประมาณ 1 ปีบ)

ครั้งที่ 4 ใส่ปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัม ต่อต้น (ประมาณ 1 ปีบ)

ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 150-200 กรัม ต่อต้น (ครึ่งกระป๋องนมข้น) ปีต่อๆ ไป (ระยะที่ทุเรียนยังไม่ให้ผลผลิต) ใส่ปุ๋ยและทำโคน 2 ครั้ง (ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน)

ครั้งที่ 1 (ต้นฝน) ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณครึ่งถึง 3 กิโลกรัม ต่อต้น

ครั้งที่ 2 (ปลายฝน) ใส่ปุ๋ยคอก 15-50 กิโลกรัม ต่อต้น (ประมาณ 3-10 ปีบ)

ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณครึ่งถึง 3 กิโลกรัม ต่อต้น ปริมาณปุ๋ยเคมีที่ใส่ในแต่ละครั้งขึ้นกับขนาดของทรงพุ่ม โดยยึดหลักว่า วัดจากโคนต้นมายังชายพุ่มเป็นเมตรได้เท่าไร คือจำนวนปุ๋ยเคมีที่ใส่เป็นกิโลกรัม เช่น

ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 1 เมตร ใส่ปุ๋ย 1 กิโลกรัม

ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 2 เมตร ใส่ปุ๋ย 2 กิโลกรัม

ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 2 เมตรครึ่ง ใส่ปุ๋ย 2 กิโลกรัมครึ่ง

การปฏิบัติดูแลทุเรียนในช่วงให้ผลแล้ว เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุเรียนออกดอกติดผลมาก และให้ผลผลิตคุณภาพดี การเตรียมต้นให้พร้อมที่จะออกดอก คือการเตรียมให้ต้นทุเรียนมีความสมบรูณ์ มีอาหารสะสมเพียงพอ เมื่อทุเรียนมีใบแก่ทั้งต้น และสภาพแวดล้อมเหมาะสม ฝนแล้ง ดินมีความชื้นตํ่า อากาศเย็นลงเล็กน้อยทุเรียนก็จะออกดอก ขั้นตอนต่างๆ จะต้องรีบดำเนินการภายหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนี้

 

การตัดแต่งกิ่ง

หลังเก็บเกี่ยวให้รีบตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรค กิ่งแขนง ด้านในทรงพุ่มออกโดยเร็ว ทารอยแผลที่ตัดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา หรือปูนแดงกินกับหมาก หลังตัดแต่งกิ่ง ให้กำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยทันที ปุ๋ยคอก 15-50 กิโลกรัม ต่อต้น (ประมาณ 3-10 ปีบ) ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ในอัตรา 3-5 กิโลกรัม ต่อต้น

ลำดับจากซ้ายไปขวา ผู้เขียน ภรรยาคุณลุงพนม คุณลุงพนม เกษตรอำเภอภูซาง

ทุเรียนต้นที่ขาดความสมบูรณ์ต้องการปุ๋ยมากกว่าทุเรียนต้นที่มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว ทุเรียนต้นที่ให้ผลผลิตไปมาก ต้องการปุ๋ยมากกว่าทุเรียนที่ให้ผลผลิตน้อย

ในช่วงฤดูฝน ถ้าฝนตกหนัก จัดการระบายนํ้าออกจากแปลงปลูก ถ้าฝนทิ้งช่วง ให้รดนํ้าแก่ต้นทุเรียน ควบคุมวัชพืช โดยการตัดและหรือใช้สารเคมี ป้องกันกำจัดโรคแมลง เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคใบติด โรคแอนแทรกโนส เพลี้ยไก่แจ้ ไรแดงและเพลี้ยไฟ ในช่วงปลายฤดูฝน เมื่อฝนทิ้งช่วง ให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24, 9-24-24 หรือ 12-24-12 จำนวน 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อช่วยในการออกดอก ให้กำจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่ม กวาดเศษหญ้าและใบทุเรียนออกจากโคนต้น เพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้น

งดการให้นํ้า 10-14 วัน เมื่อสังเกตเห็นใบทุเรียนเริ่มลดลงต้องเริ่มให้นํ้าทีละน้อย เพื่อกระตุ้นให้ตาดอกเจริญ อย่าปล่อยให้ขาดนํ้านานจนใบเหลืองใบตก เพราะตาดอกจะไม่เจริญ และระวังอย่าให้นํ้ามากเกินไป เพราะช่อดอกอาจเปลี่ยนเป็นใบได้ วิธีให้นํ้าที่เหมาะสมคือ ให้นํ้าแบบโชยๆ แล้วเว้นระยะ สังเกตอาการของใบและดอก เมื่อเห็นดอกระยะไข่ปลามากพอแล้ว ก็เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนสู่สภาวะปกติ

สวนของ คุณลุงพนม วงศ์ใหญ่ อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เข้าจากปากทางที่วัดพระธาตุภูซาง ไปประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นทางลูกรัง หากใครสนใจอยากจะศึกษาดูงาน หรือชิมรสชาติ ติดต่อกับ คุณลุงพนม ได้ที่เบอร์ (089) 552-3999 ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คุณลุงฝากทิ้งท้ายว่าการปลูกพืชต้องดูแลเอาใจใส่ ไม่ใส่ใจปลูกแล้วให้เทวดาดูแล ย่อมไม่ได้รับผลตอบแทน แต่ถ้าเอาใจใส่ดูแลแน่นอนว่าเขาก็จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า