เงาะพอดีคำ เนื้อหวานกรอบ ล่อน อร่อย ที่เมืองลอง

ที่มาของ คำว่า เงาะพอดีคำ เป็นการขนานนามของผลเงาะที่ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอลอง โดยอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ท่านได้ไปเยี่ยมชมสวนเงาะของเกษตรกรและได้ลิ้มชิมรสเงาะ 1 ผล แกะกินแล้วมีขนาดพอดีหนึ่งคำ ท่านก็เลยตั้งชื่อให้ดังกล่าว อันเป็นการสื่อความหมายว่า เงาะที่เมืองลอง มีขนาดผลไม่ใหญ่มากนัก แต่มีลักษณะเด่นอยู่หลายประการ โดยเฉพาะเรื่องรสชาติ

ที่สวนเงาะของผู้เขียนอยู่ที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ก็เป็นสวนหนึ่งในหลายๆ สวนของเกษตรกรผู้ปลูกเงาะ ขอนำเสนอชุดประสบการณ์ของผู้เขียนเองมาเผยแพร่ยังท่านผู้อ่าน

 

แรกเริ่มเดิมทีของการปลูกเงาะ

ด้วยการซื้อกิ่งพันธุ์เงาะโรงเรียนมาปลูก เมื่อปลายปี 2552 จำนวน 80 ต้น ปลูกในพื้นที่ 10 ไร่ กิ่งพันธุ์นั้นได้มาจาก 3 แหล่ง จากจังหวัดจันทบุรี อุตรดิตถ์ และงานวันเกษตรจังหวัดแพร่

ปีที่ 1 ปีที่ 2 เงาะไม่เจริญเติบโต พื้นที่ปลูกเงาะเจ้าของเดิมปลูกส้มเขียวหวาน แต่ได้เลิกกิจการไป จึงได้นำดินไปตรวจวิเคราะห์ ผลปรากฏว่า ดินมีค่า pH 5.5 องค์ประกอบของดินมีอินทรียวัตถุน้อยมาก ไม่ถึง 1% (ต้องมีไม่น้อยกว่า 5%) ธาตุอาหารไนโตรเจน (N) และฟอสฟอรัส (P) อยู่ในระดับน้อยมาก โพแทสเซียมอยู่ในระดับปานกลาง

ปี 2554 เกิดอุทกภัย น้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ สวนเงาะของผู้เขียนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำยมตายไปหลายต้น ปัจจุบันจึงเหลือเงาะ 70 ต้น

ผลผลิตเงาะพอดีคำ

หลังจากนั้น ได้ปรับสภาพดินเพิ่มอินทรียวัตถุด้วยการใส่ปุ๋ยหมัก (เน้นใช้วัตถุดิบใบก้ามปูและใบไผ่แห้ง) และฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ปีที่ 4 เงาะให้ผลผลิตปีแรกแต่ได้ผลผลิตไม่มากนัก นำไปแบ่งปันแจกเพื่อนๆ เกษตรกร ต่างสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่าเงาะที่สวนของผู้เขียนเป็นเงาะอนุบาล ไม่ใช่เงาะโรงเรียน เพราะผลเงาะมีขนาดเล็ก

ปีที่ 5 พัฒนาคุณภาพใหม่ ศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากสื่อ สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนเกษตรกรที่ปลูกเงาะมาก่อน แล้วก็ลองนำมาปฏิบัติดู ผลปรากฏว่าเงาะติดดอกมาก แต่ต่อมาดอกร่วง ส่วนที่ติดผลก็มีมากอยู่ ตลอดฤดูกาลผลที่ติดก็ร่วง ที่มีอยู่บนต้นก็เป็นเงาะยิ้มคือ ผลแตก ได้ผลผลิตแค่พอกิน ก็คิดเอาเองว่าคงจะเป็นเพราะโน่น นั่นนี่ ไม่ได้โทษตัวเอง

ปีที่ 6 พัฒนาใหม่อีกสักปี ไม่ท้อถอย อ่านหนังสือคู่มือการปลูกเงาะ เดินทางไปศึกษาวิธีการดูแลเงาะกับเกษตรกรผู้ปลูกเงาะรายเดิม ได้ข้อคิดว่าเงาะเป็นผลไม้ปราบเซียน เพราะมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยเฉพาะลมฟ้าอากาศ กับเทคนิคการงดให้น้ำและเทคนิคการให้น้ำ และเข้าใจธรรมชาติของเงาะ อากาศร้อนแล้วฝนตกก็ร่วง ขาดน้ำก็ร่วง ให้น้ำมากก็ร่วง จึงคิดวางแผนดำเนินการใหม่

ปีที่ 7 พ.ศ. 2559 ต่อเนื่อง พ.ศ. 2560 เป็นปีแรกที่เงาะติดดอกดี ติดผล ผลใหญ่ แม้จะมีผลหลุดร่วงไปบ้าง เนื่องจากสภาพอากาศและมีแมลงรบกวน

ตั้งแต่เริ่มปลูกเงาะผู้เขียนจัดทำทะเบียนประวัติเงาะและแผนผังสวนเงาะ ว่าเงาะแต่ละต้นลงดินปลูกเมื่อไร กิ่งพันธุ์มาจากแหล่งใด แต่ละปีจัดทำปฏิทินงานดูแลเงาะเป็นรายเดือน บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่เตรียมต้นเงาะ หลังการเก็บผลหมดแล้ว การเตรียมความสมบูรณ์ของต้นเงาะ ระยะออกดอก ดอกบาน ดอกโรย และผลอ่อน ระยะขยายผลเข้าเนื้อจนถึงเก็บผล

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลูกเงาะปีแรกจนถึง ปีที่ 4 ได้ลองผิดลองถูกมาตลอด จนปัจจุบันได้พัฒนาคุณภาพดีขึ้น มีชุดประสบการณ์ของตนเองที่ได้จากการบันทึกแต่ละปี

ผลอ่อน

ทุกปี เงาะทางภาคเหนือจะเริ่มแตกตาดอกในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม และเก็บผลผลิตในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

ผู้เขียนขอนำเสนอชุดประสบการณ์ การปฏิบัติต่อเงาะ เริ่มจากการเตรียมต้นเงาะหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตนะครับ

– ตัดแต่งกิ่งทันทีหลังเก็บผลผลิตให้รอบทรงพุ่ม ดูโล่ง โปร่ง แสงแดดส่องเข้าถึงโคนต้น ตัดกิ่งแห้ง กิ่งหัก กิ่งกระโดง  กิ่งทับซ้อน ตัดแต่งกิ่งปลายพุ่ม เพื่อให้แตกยอดใหม่สมบูรณ์ ยอดใหญ่ ส่งผลถึงช่อดอกต่อไป

– ปรับสภาพดินด้วยปูนโดโลไมท์ ต้นละ 1 กิโลกรัม โรยรอบๆ ทรงพุ่ม ปูนโดโลไมท์จะมีธาตุแคลเซียม (Ca) และแมกนีเซียม (Mg)

– ใส่ปุ๋ยหมัก อัตรา 1 ปีบ ต่อต้น เพื่อทำให้ดินร่วนซุย ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธปุ๋ยเคมีแต่ใช้น้อย เพียงนำปุ๋ยเคมีมาเป็นตัวช่วยในการเร่งปฏิกิริยาให้แก่จุลินทรีย์ระหว่างทำกิจกรรมของปุ๋ยหมัก ใช้สูตร 15-15-15 เพียง 5 กิโลกรัม ต่อน้ำหนักวัสดุผลิตปุ๋ยหมัก 1 ตัน

ระยะการเตรียมต้นเงาะจะฉีดพ่นสารอยู่ 2 ชนิด

  1. ฉีดพ่นน้ำหมักมูลสุกร ใช้มูลสุกรแห้ง 20 กิโลกรัม แช่น้ำเปล่า 200 ลิตร นาน 2 วัน กรองเอาน้ำหมักมาผสมกับน้ำเปล่าอีก 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วใบและพื้นดินรอบทรงพุ่ม โดยฉีดพ่นหลังใส่ปุ๋ยหมัก เพื่อให้ธาตุอาหารรอง
  2. ซื้อสาหร่ายทะเลสกัดมาฉีดพ่นช่วงเช้า อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม เพื่อเร่งการแตกใบอ่อน

 

เตรียมความสมบูรณ์ของต้นเงาะ

– กำจัดวัชพืชรอบๆ โคนต้นเงาะ ใช้วิธีการตัดหญ้า กวาดโคนต้นเงาะให้โล่งเตียน ทิ้งระยะไว้ประมาณ 20 วัน เพื่อสร้างความเครียดให้แก่ต้นเงาะ

– สร้างสภาวะความเครียดจากการขาดน้ำ งดให้น้ำต้นเงาะอย่างต่อเนื่อง 21 วัน เพื่อกระตุ้นให้ต้นเงาะสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างตาดอกให้มากขึ้น

– สังเกตใบเงาะ มีสีเขียวสดใสใบเป็นมัน เป็นใบแก่ทั้งต้น โดยให้ดูใบ ชุดที่ 2 ใบไม่มีการถูกทำลายจากโรคและแมลง

– ตรวจดูหนอนหัวแข็งเจาะลำต้น ถ้าพบจะเร่งกำจัดด้วยการฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้เข้มข้นเข้าไปในรูตำแหน่งที่หนอนเจาะแล้วใช้ดินน้ำมันอุดรูไว้ และจากสถิติหนอนมักจะเข้าเจาะลำต้นช่วงเงาะออกดอก

– เตรียมให้ต้นเงาะออกดอก

– หลังการแตกใบอ่อน ชุดที่ 2 และใบเงาะเป็นใบเพสลาด ใส่ปุ๋ยหมัก ต้นละ 1 ปีบ เพื่อให้เงาะมีการสะสมอาหาร พร้อมที่จะออกดอก

– ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพไข่ หรืออาจเรียกว่าฮอร์โมนไข่ อัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน (เป็นความเชื่อของผู้เขียนว่า สูตรดังกล่าวจะช่วยในการเร่งการแตกตาดอก บำรุงดอกและผล แต่ยังไม่มีงานวิจัยมายืนยัน)

น้ำหมักชีวภาพไข่ ผลิตจากวัตถุดิบ

  1. ไข่ไก่ 5 ฟอง
  2. ยาคูลท์ 3 ขวด
  3. แป้งข้าวหมาก 2 ลูก
  4. น้ำผึ้งครึ่งแก้ว
  5. นมสด 2 ขวดเล็ก
  6. น้ำซาวข้าว 5 ลิตร
  7. น้ำมะพร้าวแก่ครึ่งลิตร
  8. กากน้ำตาล 1 ลิตร
  9. น้ำส้มควันไม้ 1/4 ลิตร
  10. พด.2 1 ซอง

นำวัตถุดิบมาหมักนาน 21 วัน เก็บไว้ใช้ได้นาน 4 เดือน

– สังเกตต้นเงาะมีอาการใบเหลือง ใบลู่ลง ปลายยอดก้านตั้ง แห้งแข็ง ใบล่างของกิ่งร่วง จึงให้น้ำทั่วทรงพุ่ม ด้วยระบบสปริงเกลอร์ ต้นละ 2 หัว ให้น้ำนาน 1 ชั่วโมง

– หลังให้น้ำ ประมาณ 5 วัน สังเกตที่ยอดเงาะมีการพัฒนาเป็นตาดอกหรือไม่ ถ้าเป็นจะมีลักษณะเป็นไข่ กลมขาวต้องให้น้ำสม่ำเสมอ

คำว่า ให้น้ำสม่ำเสมอนี่แหละ ที่ทำให้ผู้เขียนลองผิดลองถูกอยู่ 2-3 ปี สรุปว่า ควรให้น้ำวันเว้นวัน หรือ 2 วัน เว้น 1 วัน แต่ต้องติดตามการพยากรณ์อากาศ ฟ้าฝนจะตกหรือไม่ในช่วงดังกล่าว

– ระยะที่ต้นเงาะออกดอก ดอกบาน จนถึงดอกโรย

– ขอย้ำว่าเมื่อเห็นตาดอก เริ่มให้น้ำสม่ำเสมอให้วันเว้นวัน เพราะสภาพพื้นที่อำเภอลองถ้าร้อนก็ร้อนน่าดู แต่ให้น้ำไม่มากนัก ผู้เขียนจะเปิดสปริงเกลอร์นาน 15 นาที

– ระยะดอกบานจนถึงดอกโรย ผู้เขียนจะเปิดน้ำให้ 2 วัน ต่อครั้ง โดยดูสภาพอากาศ พื้นดินชื้นขนาดไหน ไม่ให้พื้นดินแห้งเป็นอันขาด ให้น้ำจนกว่าเงาะจะติดผลขนาดเล็ก จึงเปลี่ยนระยะเวลาเป็น 3 วันครั้ง แต่เพิ่มการให้น้ำเป็น 45 นาที และพื้นดินต้องไม่แห้ง

– ที่สวนจะใช้วิธีนำไส้ปลามาแขวนไว้ตามต้นเงาะเพื่อล่อให้แมลงวัน เเมลงอื่นๆ มาตอมและเป็นตัวช่วยในการผสมเกสร หรือบางสวนอาจปลูกเงาะตัวผู้หรือเลี้ยงผึ้งก็ได้

– ระยะที่ดอกบานถึงดอกโรย จะฉีดพ่นสารอยู่ 3 ชนิด

  1. ระยะดอกเริ่มบานพ่นน้ำหมักจากผักบุ้ง (หรือจะซื้อฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน มาพ่นก็ได้) ผลิตจากการหมักยอดผักบุ้งและยอดตำลึง 1 กิโลกรัม น้ำสะอาด 1 ลิตร กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม พด.2 1 ซอง หมักนาน 21 วัน นำน้ำหมัก 40 ซีซี ผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร พ่นที่ช่อดอก จำนวน 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 พ่นเมื่อดอกบาน 50% ครั้งที่ 3 พ่นเมื่อดอกบานทั้งช่อฉีดพ่นเพื่อยืดช่อดอก
  2. ซื้อแคลเซียม-โบรอน มาฉีดพ่น เพื่อให้ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม อัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

แคลเซียม (Ca) ช่วยสร้างผลและเมล็ด ป้องกันผลแตก

โบรอน (B) ช่วยเพิ่มคุณภาพและน้ำหนักของผล ป้องกันดอกมีรูปร่างผิดปกติ ผลเล็ก

ฉีดพ่น 2 ครั้ง ครั้งแรกระยะดอกบาน ครั้งที่สองเมื่อเงาะติดผลอ่อน

  1. ฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ อัตรา 200 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อช่อดอกยาวเป็นช่อสะเดา ครั้งที่ 2 ฉีดพ่นเมื่อเงาะติดผลอ่อน โดยฉีดพ่นในช่วงเย็น

หากระยะนี้มีเพลี้ยแป้งมาทำลายช่อดอกหรือผล ผู้เขียนใช้วิธีเลี้ยงมดแดงไว้ตามต้นเงาะทุกต้น เพื่อให้มดแดงช่วยกำจัดเพลี้ยแป้ง ซึ่งได้ผลดีมาก โดยไม่ต้องใช้กำมะถันผงมาฉีดพ่นเลย

-เมื่อดอกเงาะร่วงโรยไปแล้วนาน 7 วัน จะฉีดพ่นสาหร่ายทะเลเป็นครั้งที่ 2 อัตรา 30 ซีซี ผสมกับปุ๋ยน้ำยูเรียที่ผลิตขึ้นมาเอง 40 ซีซี น้ำ 20 ลิตร เพื่อให้เงาะสะสมอาหารที่ใบ เงาะมีผลโตเร็ว

ปุ๋ยน้ำยูเรีย ผลิตจากเมล็ดถั่วเหลือง เนื้อสับปะรด อย่างละ 1 กิโลกรัม กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม น้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตร น้ำซาวข้าว 10 ลิตร หมักนาน 14 วัน

ช่วงนี้ระมัดระวัง หากมีฝนตกบ่อยๆ อาจทำให้ต้นเงาะแตกใบอ่อน นั่นส่งสัญญาณว่าทั้งดอกและผลอาจจะร่วงหล่นหรือผลแตก (เงาะยิ้ม) ต้องฉีดพ่นแคลเซียม-โบรอน ไว้ด้วย

– ระยะที่เงาะเข้าเนื้อ ขยายผลจนถึงวันที่เก็บผลเงาะ

– ระยะนี้ผลเงาะจะขยายผลเร็วมาก จะตัดแต่งช่อผล เอาผลเล็ก เงาะขี้ครอกออก แล้วให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพียงพอ เพื่อป้องกันเงาะผลเล็กและผลลีบ

– ก่อนเก็บผลเงาะ 2 สัปดาห์ งดให้น้ำ ไม่ฉีดพ่นสารใดๆ

– เก็บผลเงาะโดยเลือกเก็บเงาะที่มีผลสีแดงสด หากเงาะไม่แดงทั้งช่อ ให้เลือกเก็บเฉพาะผลสีแดง ขนยังสีเขียวอยู่เสียก่อน หรืออาจใช้วิธีคำนวณระยะเวลาก็ได้ คือตั้งแต่ดอกเงาะบานหมดจนถึงผลเงาะแก่ ใช้เวลา 5 เดือน

ให้ใช้วัสดุรองพื้น เพื่อป้องกันการกระแทกของผลเงาะ

นำผลเงาะไปล้างน้ำสะอาด 2 ครั้ง แล้วคัดแยกขนาด คุณภาพ

ตรวจสอบน้ำหนักผล เงาะที่สวนของผู้เขียนก็จัดอยู่ในเงาะพอดีคำ ชั่งน้ำหนักเงาะ 42 ผล จึงจะได้ 1 กิโลกรัม

ที่นำเสนอไปเป็นการปฏิบัติดูแลเงาะให้ได้ผลผลิต เพราะ 1 ปี เงาะให้ผลผลิตเพียงครั้งเดียว หากปีนี้ผลิตเงาะไม่ได้ผล เสียทั้งเวลา เงินทุน แรงกาย ต้องรอแก้ตัวใหม่ปีหน้าเลยทีเดียว ต้องใช้ความพยายาม ความเพียร ความอดทน ดูแลเอาใจใส่ แต่ถ้าเงาะให้ผลผลิตที่ดีก็เป็นความภาคภูมิใจ มีกำลังใจ พร้อมที่จะผลิตเงาะในปีต่อๆ ไป

ปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวยส่งผลให้เงาะที่สวนของผู้เขียนติดผลมาก ตามบันทึกข้อมูลตั้งแต่เงาะติดผล จนเข้าเนื้อ เปลี่ยนสีผิว มีฝนตกเป็นระยะ 1 วัน เว้นไป 2-3 วัน ตกอีก ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ลักษณะเด่นของเงาะที่สวนคือ ผลเงาะจะกลม สีผิวแดง แต่ขนเงาะมีสีเขียว เมื่อแกะผลเนื้อจะแห้ง ไม่มีน้ำภายในผล เนื้อหนา เมล็ดเล็ก กินแล้วรู้สึกกรอบ หวาน เนื้อล่อน อร่อย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้ซื้อ มีผู้ซื้อจำนวนไม่น้อยที่ซื้อเงาะครั้งละหลายกิโลกรัม แล้วกลับมาซื้ออีกเป็นครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3

การตลาดเงาะ

ผลผลิตเงาะที่สวนของผู้เขียนจะมีในเดือนกรกฎาคม ไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด เพราะขายเงาะภายในท้องถิ่น ใช้สถานที่หน้าบ้านอยู่ในเขตเทศบาลห้วยอ้อ ขายทุกวันช่วงที่มีผลผลิตเงาะ ราคาขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 25 บาท

เมื่อสรุปรายได้-ค่าใช้จ่าย จากที่ทำบัญชีฟาร์ม ยังมีส่วนต่างเหลือพอที่จะนำไปผลิตเงาะในปีหน้า

ผู้เขียนยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็นประสบการณ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนา ติดต่อที่อยู่ บ้านเลขที่ 55 หมู่ที่ 8 ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ 54150 โทรศัพท์ (084) 739-9239