แนวทางการกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว และศัตรูอื่นๆ ให้ได้ผล

ความสำเร็จของการปลูกพืช ไม้ผลเพื่อให้ได้คุณภาพต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสม กระบวนการปลูกที่ถูกต้อง การดูแลใส่ปุ๋ย และสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของแมลงศัตรูและโรคพืช

มะพร้าวก็ไม่ต่างกันที่จะต้องให้ความสำคัญกับทุกปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของมะพร้าวในฐานะพืชเศรษฐกิจส่งออกที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ จึงยิ่งต้องใส่ใจกันให้มาก ทั้งนี้ ปัจจัยของมะพร้าวที่สร้างปัญหากับผลผลิตมากที่สุดในเวลานี้คือแมลงศัตรู ที่เข้าโจมตีผลผลิตมะพร้าวไปหลายพื้นที่ จนทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว รวมทั้งยังไม่ต้องการให้กระทบกับรายได้ของประเทศ

กรมวิชาการเกษตร ถือเป็นหน่วยงานหลักที่เป็นกำลังสำคัญกับการวางแผนต่อสู้กับศัตรูมะพร้าวในครั้งนี้ ถึงกับต้องบูรณาการทุกภาคส่วนของทุกพื้นที่เพื่อผนึกกำลังหาทางปราบศัตรูของมะพร้าวที่มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด

คุณสุเทพ สหายานักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร

ในงานสัมมนา “มะพร้าว…พืชเศรษฐกิจทำเงิน” ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องแมลงศัตรูพืช จึงได้เชิญ คุณสุเทพ สหายา นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร มาให้ความรู้ ตลอดถึงแนวทางการกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว และศัตรูอื่นๆ ให้ได้ผลมะพร้าวเพื่อให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธุ์ วิธีปลูก การบริหารจัดการที่ประกอบด้วยเรื่องดิน น้ำ และปุ๋ย แต่อีกปัจจัยที่สร้างปัญหาต่อการปลูกมะพร้าวจนทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามเป้า แล้วจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากแมลงศัตรูพืช

อาจสรุปให้ได้เห็นชัดถึงประเภทของแมลงศัตรูพืชว่ามีอะไรบ้าง โดยสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มได้ 2 กลุ่มหลัก คืออย่างแรกแมลงศัตรูประเภทปากดูด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย (ซึ่งบ้านเรายังโชคดีกว่าฟิลิปปินส์ที่โดนโจมตีอย่างรุนแรงจนต้นมะพร้าวยืนต้นตาย) และแมลงหวี่ขาว ที่มักพบได้ในพืชตระกูลมะพร้าวและปาล์ม

ส่วนอย่างที่สองเป็นแมลงศัตรูจำพวกใช้ปากกัด ซึ่งได้แก่หนอนชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนอนหัวดำ แมลงผีเสื้อ ด้วงแรด และด้วงงวง

อย่างผลมะพร้าวที่นำมาโชว์ในงานคราวนี้พบว่ามีเพลี้ยแป้งอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วหากเพลี้ยแป้งเหล่านี้หลุดเล็ดลอดออกไประบาดอยู่ในบริเวณนี้ ก็อาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่พืชชนิดอื่นได้เช่นกัน ฉะนั้น จึงเป็นความจริงอย่างหนึ่งว่าสาเหตุการระบาดของแมลงศัตรูที่กระจายไปในสถานที่ต่างๆ มาจากฝีมือของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

หนอนหัวดำมะพร้าว

ด้วยเหตุนี้การเคลื่อนย้ายพืชจึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวัง ถ้ามะพร้าวจากบ้านแพ้วไปยังหนองคายหรืออุดรธานีด้วยการขนส่งก็อาจนำจากศัตรูพืชจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่งโดยไม่ทันได้คิดหรือระวัง และตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดจากหนอนหัวดำ ที่ไม่ได้เป็นศัตรูในบ้านเรา แต่ติดมากับคนที่นำพืชเข้ามา จนทุกวันนี้ระบาดอย่างรุนแรง

แมลงศัตรูอีกชนิดหนึ่งคือด้วงแรด ทั้งนี้ ด้วงแรดมักชอบเจาะที่คอของต้นมะพร้าวขนาดเล็ก แล้วหากเกิดการระบาดของด้วงแรดเมื่อไรจะพบเห็นรอยแผลที่คอมะพร้าว ซึ่งอาจมีด้วงงวงมาคอยวางไข่ซ้ำแล้วจะนำไข่ไปวางไว้ที่รูซึ่งด้วงแรดเจาะไว้แล้ว หากเป็นเช่นนั้นแล้วทำให้มะพร้าวมียอดด้วนยืนต้นตาย ด้วยเหตุนี้การจัดการด้วงงวงให้สำเร็จจะต้องไปจัดการตัดวงจรด้วงแรดให้ได้เสียก่อน

ด้วงงวงที่เข้าทำลายต้นมะพร้าว

การจัดการด้วงแรดอาจใช้วิธีทำเป็นกองล่อ โดยแนะนำให้ทำกองล่อรวมกันทั้งชุมชนหรือตำบลได้ยิ่งดี เพราะหากพื้นที่ส่วนใดรกก็อาจเป็นแหล่งเพาะตัวของด้วงแรดได้อย่างง่าย แล้วขอย้ำว่าควรจะต้องจัดการกับด้วงแรดเสียก่อน แล้วด้วงงวงจะกำจัดได้ไม่ยาก

ด้วงแรดมะพร้าวที่เข้าทำลายมะพร้าว

อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นการระบาดของด้วงแรด ต้องรีบจัดการตัดใบทิ้งทันทีแล้วนำมาเผาทำลาย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเข้าไปทำลายส่วนต่างๆ ของมะพร้าว เพราะถ้าป้องกันไม่ทันโอกาสที่ต้นมะพร้าวจะเจริญเติบโตคงไม่มีแล้ว

“มีกรณีที่เคยพบทางภาคใต้ที่มักปลูกปาล์มน้ำมันแล้วมีการระบาดของด้วงแรด เมื่อได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่ามีการนำเศษขยะจำนวนมากไปกองสุมไว้ในสวนมะพร้าวก็ทำให้เป็นแหล่งวางไข่ของด้วงอย่างดี เมื่อไปขุดในกองขยะดังกล่าวพบหนอนนับพันตัว ซึ่งกองขยะที่พบเห็นมีเพียงขนาด 2 ตารางเมตรเท่านั้น ยังพบมากเท่านี้ แล้วถ้าจำนวนหลายกองหรือมีหลายแห่งในสวนอาจก่อให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็วจนกำจัดไม่ทัน”

ฉะนั้น ถ้าต้องการปลูกมะพร้าวอย่างมีคุณภาพสิ่งแรกที่ต้องทำคืออย่าให้สวนรก ขณะเดียวกัน ควรทำสวนให้มีความสะอาด มีระเบียบ แต่ไม่ใช่นานๆ ค่อยสะสาง ควรทำบ่อยๆ แล้วควรแยกกองขยะกับกองล่อออกจากกัน เนื่องจากมีความต่างในวิธีการ ทั้งนี้ ใครสนใจเรื่องกองล่อติดต่อสอบถามได้ที่ทางกรมวิชาการเกษตร

“หนอนหัวดำมะพร้าว” ซึ่งเป็นแมลงศัตรูต่างถิ่น ที่เข้ามาสร้างความเสียหายให้แก่สวนมะพร้าวในประเทศไทยเมื่อปี 2550 และขณะนี้ได้ระบาดทั่วประเทศในบริเวณกว้าง โดยมี 29 จังหวัดที่ได้รับความรุนแรง อีกทั้งยังมีการระบาดไปยังสวนปาล์มหลายแห่งด้วย

แมลงดำหนามมะพร้าว

ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือไม่ได้สร้างความเสียหายเฉพาะใบ แต่ได้ลุกลามไปกินผลด้วย ดังนั้น ใครที่ขนย้ายผลมะพร้าวเข้าไปในพื้นที่ก็อาจจะติดไปด้วย นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลพบว่าเจอในอินทผลัมด้วย หรือต้นตาลโตนดแถบอีสานที่อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา พบว่าเจอหนอนหัวดำในต้นตาลโตนดจำนวนมาก

“ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้นับว่าอันตรายมากถึงแม้จะแก้ไขด้วยการใช้แตนเบียนปราบแต่ก็ไม่เพียงพอกับจำนวนหนอนหัวดำที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้น ต้องขอความร่วมมือทุกท่านต้องช่วยกันดูแลในแปลงของท่านแล้วหากพบต้องรีบกำจัดทันที อยากบอกว่าควรมีการรวมกลุ่มกันในทุกชุมชนเพื่อเลี้ยงแตนเบียนให้มีจำนวนมากเพียงพอที่จะปราบหนอนหัวดำ”

การเทสารป้องกันในมะพร้าวน้ำหอมต้นเตี้ย

ขณะเดียวกัน ได้มีความพยายามวิจัยหาสารเคมีเพื่อใช้ปราบหนอนหัวดำ โดยมีการค้นหาสูตรที่มีคุณสมบัติกำจัดแมลงหนอนหัวดำได้ แล้วได้นำสารจำนวนกว่า 40 ชนิดมาทดสอบ จนพบว่าสาร “อีมาเมกตินเบนโซเอต” เป็นสารที่ไม่เกิดอันตรายต่อมนุษย์

โดยใช้วิธีฉีดเข้าไปที่ต้นมะพร้าว อีกทั้งจะต้องไม่มีการตกค้างอยู่ในส่วนใดของต้นมะพร้าว แต่ไม่แนะนำในต้นมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวน้ำตาล เพราะอ่อนไหวต่อตลาดผู้บริโภค ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วถ้ามองในแง่โครงสร้างมะพร้าวจะพบว่ามะพร้าวเป็นพืชที่ทนและแข็งแรงยากที่จะมีสิ่งแปลกปลอมผ่านเข้าไปได้ง่าย

สำหรับมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวสำหรับใช้ผลิตน้ำตาลที่มีต้นต่ำกว่า 12 เมตร อยากแนะนำให้พ่นทางใบแล้วฉีดพ่นด้วยสารชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในพืชผักทั่วไป เพราะไม่เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคอยู่แล้ว อีกทั้งยังไม่สามารถซึมเข้าไปที่ผลมะพร้าวได้ เนื่องจากมะพร้าวมีเปลือกหนามาก แล้วยังมีกะลาที่แข็งแกร่งอยู่ชั้นในด้วย

ส่วนแมลงดำหนามจะระบาดเฉพาะส่วนยอดของมะพร้าว และบริเวณผิวใบที่กำลังจะคลี่ออกมา จนทำให้ยอดแห้งที่เรียกกันว่ามะพร้าวหัวหงอก วิธีการป้องกันและกำจัดด้วยการใช้แตนเบียน ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะไม่แนะนำให้ใช้สารเคมี แต่จะใช้วิธีผสมผสานจากเบาไปหาหนัก ซึ่งถ้าระบาดไม่มากเพียงตัดใบและเผาทิ้ง พร้อมกับปล่อยแตนเบียนเท่านั้นก็สามารถควบคุมได้ แต่ถ้าระบาดหนักจึงต้องใช้สารเคมีโดยการควบคุมของเจ้าหน้าที่

หรืออาจใช้สารเคมีราดที่บริเวณยอดในมะพร้าวต้นเตี้ยซึ่งวิธีนี้ใช้ในกรณีที่หาแตนเบียนไม่ได้ หรืออาจนำสารเคมีที่ใช้สำหรับหว่านในนาข้าวมาใส่ในถุงผ้าแล้วนำไปเสียบไว้ที่ยอด โดยสารจะค่อยๆ ซึมลงไปที่ยอดมะพร้าว ก็เป็นแนวทางที่จะช่วยกัน ทั้งนี้ ที่ฟิลิปปินส์ก็ทำเช่นเดียวกับของไทยในแนวผสมผสาน

เพลี้ยแป้งที่ทำลายใบมะพร้าว
แมลงหวี่ขาว

อีกปัญหาที่เป็นศัตรูของพืชตัวล่าสุดคือไรศัตรูพืช ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มเข้ามาระบาดในบ้านเราแล้ว ซึ่งถ้าระบาดในมะพร้าวผลเล็กจะร่วงทันที ขณะนี้พบว่าเป็นประเภทไรสี่ขาและไรขาวพริก ดังนั้น จึงต้องเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด แล้วถ้าเห็นท่าไม่ดีต้องรับแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที

(ซ้ายสุด)คุณพานิชย์ ยศปัญญา บก.เทคโนกับคณะวิทยากรที่ร่วมบรรยายช่วงแรก

“สำหรับท่านที่ปลูกมะพร้าวอยู่แล้วหรือกำลังจะเริ่มปลูก หากได้เจอกับเรื่องราวแปลกๆ ที่คิดว่าไม่เคยรับรู้มาก่อน ก็สามารถส่งข้อมูล ถ่ายรูป เข้ามาสอบถามได้ที่ทางกรมวิชาการเกษตร เพราะจะได้ช่วยกันแก้ไข หรือให้ความรู้ ความเข้าใจได้ก่อนที่จะเกิดความเสียหายตามมา” คุณสุเทพ กล่าว

การสัมมนา “มะพร้าว…พืชเศรษฐกิจทำเงิน” ในช่วงแรกซึ่งกำหนดประเด็นในกรอบเรื่องของพันธุ์ การผลิต และการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว โดยวิทยากรได้ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ในสาระสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์มะพร้าวในไทยและต่างประเทศ, วิธีคัดพันธุ์มะพร้าว โดยใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอ, ปลูกมะพร้าวน้ำหอมให้ได้คุณภาพส่งออก, ปลูกมะพร้าวแกงอย่างมืออาชีพ และเรื่องสุดท้ายคือแนวทางการกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวและศัตรูอื่นให้ได้ผล นับเป็นสาระที่ครบถ้วน

คราวหน้าจะเป็นเรื่องของการแปรรูป และการตลาด ในรูปแบบต่างๆ ทั้งความสำคัญของมะพร้าวในครัวเรือน การสร้างนวัตกรรมจากมะพร้าวที่เป็นขนม เครื่องดื่ม ฯลฯ โดยมีท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากบริษัทธุรกิจชั้นนำมาร่วมบรรยาย พร้อมกับถ่ายทอดประสบการณ์จริง ฉะนั้น ไม่ควรพลาดที่จะติดตามอ่านให้ได้ในครั้งต่อไป