“หนองแซงโมเดล” หมู่บ้านต้นแบบอ้อยสดสะอาด ในวิถีเกษตรสมัยใหม่ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม”

“กลุ่มมิตรผล” ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืนติดต่อกัน 2 ปี จาก Bonsucro องค์กรระดับโลกที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยทั่วโลกอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นับว่า “กลุ่มมิตรผล” เป็นองค์กรแรกในประเทศไทยที่คว้ารางวัลนี้มาครอง และเป็นประเทศ อันดับ 5 ของในโลกที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว

“มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” พัฒนาไร่อ้อยแบบยั่งยืน

คุณบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของการทำไร่อ้อยก็คือ เกษตรกรต่างคนต่างทำ การขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อย ทำให้ต้นทุนสูง มิตรผลจึงเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ให้เกษตรกรไร่อ้อยหนองแซง พร้อมแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหา ช่วยประสานให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนกันในด้านทรัพยากรและแรงงาน

มิตรผลใช้หลักการจัดการตามแบบเกษตรสมัยใหม่ เรียกว่า “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน สร้างวิถีการทำไร่อ้อยแบบยั่งยืน เริ่มดำเนินการจากเปลี่ยนแนวคิดการทำไร่อ้อยของเกษตรกร ให้เกิดความถูกต้องทั้งด้านวิชาการ ทั้งจากแปลงสาธิต และศึกษาจากผู้ประสบความสำเร็จมาแล้ว การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างระบบฟาร์มอัจฉริยะเพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่ ระบบการบริหารจัดการน้ำในไร่เพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อย และเป็นการสร้างวิถีของการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน”

คุณบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มมิตรผล

ทั้งนี้ มิตรผลได้สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มดำเนินงานการเก็บเกี่ยวอ้อย ตามลักษณะกลุ่มงาน เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มรถตัดเป็นแกน ร่วมด้วยกลุ่มรถกล่อง, กลุ่มรถไถ, กลุ่มวีแนส และกลุ่มอ้อยมัด พร้อมจัดตั้ง Sugarcane Logistics Control Center ใช้สัญญาณดาวเทียม GPS ควบคุมและติดตามรถตัดและรถบรรทุกอ้อย แจ้งคิวรถตัดและออกใบสั่งตัดอ้อยแบบออนไลน์ พร้อมรายงานปริมาณอ้อยของรถบรรทุก และรายงานระยะการขนส่งอ้อยตัดสดจากแปลงเข้าสู่โรงงาน (Cut to Crush) อย่างสม่ำเสมอ ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวไร่อ้อยของเกษตรกรชาวไร่อ้อย กลายเป็น “หนองแซงโมเดล” สร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรจากการพัฒนาคุณภาพและปริมาณของผลผลิต รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

คุณพิมล สุุภาพเพชร เกษตรกรชาวไร่อ้อยหนองแซง

กว่าจะเป็น “หนองแซงโมเดล”

ทุกวันนี้ “หมู่บ้านหนองแซง” จังหวัดชัยภูมิ นับเป็นหนึ่งในต้นแบบหมู่บ้านอ้อยยั่งยืนแห่งแรกที่มีวิธีการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบเกษตรสมัยใหม่และนวัตกรรมการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ได้อ้อยสดสะอาด คุณภาพดี ปริมาณกว่า 100,000 ตัน ต่อปี นับเป็นการพัฒนาการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืนแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน จนผ่านการรับรองมาตรฐานโลกจาก Bonsucro ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจของกลุ่มมิตรผลและชุมชนบ้านหนองแซงที่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยให้เทียบเท่าระดับสากล

คุณพิมล สุภาพเพชร เกษตรกรชาวไร่อ้อยหนองแซง กลุ่มรถตัดอ้อย CH 28 เล่าว่า ในอดีตคนทำไร่อ้อยเจอกับสารพัดปัญหา ได้แก่ ปัญหาแรงงานหายาก ถูกโกงค่าแรง ถูกลักลอบเผาอ้อย พื้นที่ถือครองมีน้อย ตัดอ้อยไม่เสร็จตามกำหนดเวลา สภาวะความแห้งแล้ง ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง

เกษตรกรในชุมชนหนองแซงจึงร่วมมือกับกลุ่มมิตรผล เพื่อปฏิวัติแนวคิดจากต่างคนต่างทำ สู่การรวมกลุ่มกันทำ บนหลักการ รวมคน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับ “ร่วมอยู่…ร่วมเจริญ” โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ที่ใช้หลักการจัดการตามแบบเกษตรสมัยใหม่และมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เรื่องการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน รวมถึงการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว พร้อมด้วยแนวทางการทำไร่อ้อยแบบยั่งยืนตามมาตรฐานระดับโลก Bonsucro “ผนึกพลัง ประสานความต่าง เพื่อความยั่งยืน” จนพัฒนาเป็น “หนองแซงโมเดล”

“มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” สร้างวิถีการทำไร่อ้อยแบบยั่งยืน

หลักการดำเนินงาน

  1. เปลี่ยนแนวคิดการทำไร่อ้อย ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำไร่อย่างถูกต้องตรงกัน และจัดให้มีการประชุมกลุ่มชาวไร่ เดือนละ 2 ครั้ง เพื่ออบรมให้ความรู้ทางด้านวิชาการ จัดการศึกษาดูงานจากแปลงสาธิต และแลกเปลี่ยนความเห็นจากผู้ประสบความสำเร็จ
  2. คัดเลือกกลุ่มการดำเนินงาน เพื่อดำเนินการเรื่องการตัดอ้อยให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด ด้วยการแบ่งกลุ่มงานออกเป็นกลุ่มเจ้าของรถตัดที่เป็นแกนหลักของกลุ่ม ร่วมด้วย กลุ่มรถกล่อง, กลุ่มรถไถเตรียมดิน, กลุ่มรถวีแนส และ กลุ่มอ้อยมัด

ขั้นตอนการดำเนินงาน

กลุ่มเจ้าของรถตัด มีรถไถเตรียมดินปลูก พร้อมแปลงสาธิต เพื่อการเรียนรู้ คนขับรถตัด 2 คน และรถกล่อง 2 ตัน มีปริมาณอ้อยเพื่อการตัดมากกว่า 4,000 ตัน พร้อมทายาทในการสานต่อ

กลุ่มที่เข้าร่วมมี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มรถกล่อง กลุ่มรถไถเตรียมดิน กลุ่มรถวีแนส และกลุ่มอ้อยมัด

การจัดตั้ง Sugarcane Logistics Control Center เพื่อแจ้งคิวรถตัดและออกใบสั่งตัดอ้อยในรูปแบบออนไลน์ ที่มีการใช้สัญญาณ GPS เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการตัดอ้อยในการควบคุมและติดตามรถตัดและรถบรรทุกอ้อย ให้เกิดความแม่นยำ รวดเร็ว ประหยัดเวลาในการทำงาน เกิดความเข้าใจถูกต้องในการทำงานตรงกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และได้มาตรฐานการทำงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

รายงานปริมาณอ้อยของรถบรรทุกเพื่อให้ทราบว่าเจ้าของรถบรรทุกแต่ละคันสามารถขนปริมาณอ้อยสะสมทั้งฤดูกาลได้ทั้งหมดกี่ตัน ได้ปริมาณเฉลี่ยทั้งหมดกี่ตันต่อเที่ยว จำนวนเที่ยวที่บรรทุกทั้งหมดกี่เที่ยว จะได้ทราบผลงานโดยรวม และจุดที่จะต้องแก้ไขในการใช้งานรถบรรทุกอ้อยที่ยังไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่ทันที

รายงานระยะการขนส่งอ้อยตัดสดจากแปลงเข้าสู่โรงงาน (Cut to Crush) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือปรับปรุงเวลาในการตัดอ้อยเพื่อเข้าสู่โรงงานให้ดีขึ้น

ระบบ Sugarcane Logistics Control Center

ผลการดำเนินงาน

คุณพิมล กล่าวว่า ปัจจุบัน ชุมชนบ้านหนองแซง ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเก็บเกี่ยวอ้อยได้อย่างน่าภาคภูมิใจ โดยสามารถตัดอ้อยจากปริมาณพื้นที่เป้าหมายได้สูงถึง 98% (พื้นที่เป้าหมาย 16,660 ไร่ พื้นที่ที่ตัดได้ 16,330 ไร่) มีปริมาณอ้อยสด สะอาดกว่า 100,000 ตัน ต่อปี

ส่งผลทำให้ทางกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 42.3 ล้านบาท ประกอบด้วยรายได้จากกลุ่มรถตัด 20.9 ล้านบาท กลุ่มรถวีแนส 4.5 ล้านบาท กลุ่มรถไถ 5.3 ล้านบาท และกลุ่มรถกล่อง 11.6 ล้านบาท นอกจากนี้ ทำให้ชุมชนของเรามีพื้นที่ทำไร่อ้อยบนมาตรฐาน Bonsucro กว่า 5,000 ไร่ พร้อมตั้งเป้าขยายให้ครบพื้นที่ทั้งหมด 13,000 ไร่ หรือ 100% และมีการใช้รถตัด 100% ภายในปี 2562

เครื่องจักรกลการเกษตร ตามแนวทางเกษตรสมัยใหม่

“ความสำเร็จในวันนี้ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เกิดจากการปฏิวัติของชาวไร่อ้อยหนองแซงที่มารวมคน ร่วมกันคิด และร่วมกันทำ พร้อมการสนับสนุนจากโรงงานมิตรผลให้ใช้หลักเกษตรสมัยใหม่มาแก้วิกฤติการเก็บเกี่ยวไร่อ้อย จนสามารถจัดการทรัพยากรได้ดีขึ้น ผลผลิตดีขึ้น พร้อมการสนับสนุนด้านความรู้ การนำอุปกรณ์เครื่องจักร และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาการเก็บเกี่ยวไร่อ้อยอย่างเป็นระบบ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดการขาดทุน รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้ในกลุ่มกว่า 40 ล้านบาท ต่อปี มีปริมาณอ้อยสดสะอาดกว่า 100,000 ตัน ต่อปี” คุณพิมล กล่าว

ปัจจุบัน หนองแซงโมเดล กลายเป็นต้นแบบหมู่บ้านสดสะอาด มาตรฐานระดับโลก เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ที่จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษางานการทำไร่และเก็บเกี่ยวอ้อยที่มีประสิทธิภาพสำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ