เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ส่องวงการเกษตรไทย ชี้แนวทางรวย ปลูกผลไม้แทนข้าว

เป็นที่ทราบกันดีว่า นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี สนใจและมีความรู้เรื่องการเกษตรเป็นอย่างมาก

ล่าสุดในงาน “10 ปีหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์” และ “พิธีมอบกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินให้แก่ข้าราชการตำรวจ โครงการหมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์” ที่หมู่บ้านเกษตรสันติราษฎร์ ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ที่ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปเป็นประธานมอบโฉนดให้แก่ตำรวจที่ร่วมโครงการ 31 ครอบครัว เจ้าสัวผู้นี้ก็ได้สนทนากับผู้สื่อข่าวในเรื่องเกษตรหลากหลายประเด็น ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงเศรษฐกิจในบ้านเราและทั่วโลกด้วย

เกษตร...น้ำมันบนดิน

ผู้ที่เคยติดตามข่าวคราวของผู้ก่อตั้งซีพี ย่อมจะรู้จัก “น้ำมันบนดิน” เป็นอย่างดี

คราวนี้เจ้าสัวธนินท์ย้ำอีกครั้งว่า “ผมมองเกษตรที่งอกจากแผ่นดินไทย บนดิน ผมเรียกว่า น้ำมันบนดิน สินค้าเกษตรน่าจะมีความสำคัญยิ่งกว่าน้ำมัน เพราะสินค้าเกษตรเลี้ยงชีวิตมนุษย์ แต่น้ำมันเลี้ยงชีวิตเครื่องจักร แล้วใครสำคัญกว่ากัน นี่เป็นทรัพย์สมบัติของชาติ ยิ่งกว่าน้ำมัน

ประเทศที่มีน้ำมัน แล้วราคาน้ำมันตก ผมคิดว่าประเทศเหล่านี้จะเริ่มยากจนลง เขาก็หาทุกวิถีทาง โอเปกทำอย่างไรให้น้ำมันขึ้นราคา เขาต้องจับมือกันใหม่แน่นอน พอจับมือกันใหม่ขึ้นราคาน้ำมัน ถึงวันหนึ่งน้ำมันจะขาดตลาด”

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าราคาน้ำมันกับราคายางก็มีความสัมพันธ์กัน อย่างที่นายธนินท์แจกแจงว่า เมื่อราคาลงหนักๆ อย่างนี้ ก็ต้องขึ้นหนักขึ้นสูง ยางพาราจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่พื้นที่ที่ปลูกยางไม่เหมาะสม น่าจะปลูกอย่างอื่นแทน อย่างเช่น ปลูกทุเรียน หรือปลูกมะพร้าวก็ได้ รู้ไหมว่ามะพร้าว บ้านเราต้องไปสั่งจากต่างประเทศ

“นี่มันเหลือเชื่อ ความจริงประเทศไทยปลูกมะพร้าวได้ทุกแห่ง แต่ไม่ปลูกเพราะอะไร เพราะมันสูงตั้ง 4 ชั้น คนรุ่นหนุ่มสาวใครจะปีนขึ้นไปเก็บมะพร้าว 4 ชั้น ไม่มีแล้ว แม้กระทั่งคนงานคนไทยก็จะไม่ทำแล้ว ต้องไปเอาพม่า เขมร ลาว มาแทน ฉะนั้น ขึ้นไปที่สูงๆ แล้วเสี่ยง คนไทยไม่เอาแน่”

อย่างไรก็ตาม เจ้าสัวซีพี ฟันธงว่า “ผมยังมองเมืองไทยเต็มไปด้วยโอกาส เพียงแต่อยู่ที่นโยบาย วันนี้นโยบายเศรษฐกิจกับระดับโลกเราใช้ได้แล้ว กรุงเทพฯ คึกคัก แต่ต่างจังหวัดยัง เพราะสินค้าเกษตรตกต่ำ”

นายธนินท์ ระบุด้วยว่า บ้านเราคนจนที่สุดคือเกษตรกร วันนี้มีมากขึ้นอีก เพราะยางไม่มีราคา ปาล์มก็ไม่มีราคา เหลือข้าวโพดมีราคา เพราะโรงงานอาหารสัตว์ต้องซื้อแพง แล้วนอกนั้นข้าวก็ถูก ถูกทุกอย่าง เหลือทุเรียน มะพร้าวอ่อน กะทิมะพร้าว ขายคนจีน วันนี้ฝรั่งมาเที่ยวเมืองไทย หนักเข้าก็รู้จักแกงไก่ แกงอะไรต่ออะไร ใช้กะทิทั้งนั้น แล้วขนมไทยยังมีโอกาสขายไปทั่วโลก เรายังนอนหลับอยู่

ปลูกทุเรียนกำไรดีกว่ายาง

“ผมกำลังจะพัฒนาเรื่องนี้ มีอย่างที่ไหน ประเทศไทยต้องไปซื้อมะพร้าวจากอินเดีย จากอินโดนีเซีย ทั้งที่ดินฟ้าอากาศเราปลูกได้ดี ทุเรียนอร่อยมาก ทำไมไม่ส่งเสริมปลูกทุเรียน ปลูกมะพร้าว ถ้าผมมอง ตอนนี้เต็มไปด้วยโอกาส อย่างนนทบุรี ทุเรียนลูกละเป็นหมื่น ไม่ต้องเป็นหมื่นหรอก ลูกละพันกว่าบาท คนปลูกก็รวยแล้ว วันนี้กิโลละ 30 บาท 60 บาท แต่ถ้าอร่อย ขายไปจีนกิโลละ 1,000-2,000 สบายเลย เราต้องมาปลูกมะพร้าว ปลูกทุเรียน ปลูกกล้วยหอม กำไรดีกว่าปลูกข้าวทั้งนั้นเลย ทำไมต้องไปปลูกข้าว น้ำก็ใช้เยอะ ราคาก็ถูก”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่าเจ้าสัวธนินท์จะให้เลิกปลูกข้าวเสียทั้งหมด แต่แนะนำให้ปลูกข้าวหอมมะลิ ปลูกข้าวเหนียวขายไปทั่วโลกแทน เพราะข้าวหอมมะลิไม่มีใครสู้ประเทศไทยได้ ส่วนในพื้นที่ที่ปลูกข้าวถูกๆ ให้เปลี่ยนเป็นปลูกผลไม้ อย่างมะพร้าว และกล้วยหอม

“ผมมีความเชื่อมั่นว่า สินค้าเกษตรโดยเฉพาะประเทศไทย ดินฟ้าอากาศอย่างนี้ อะไรที่เมืองไทยปลูกได้ จะหอมอร่อยกว่าคนอื่นในอาเซียน”

นายธนินท์ยังพูดถึงการแก้ปัญหาราคาพืชผลทางเกษตรตกต่ำว่า สินค้าเกษตร อะไรที่เกินก็ปลูกน้อยลง ปลูกอย่างอื่น อะไรที่ขาดก็ปลูกอันนั้น อย่างมะพร้าวขาด ทุเรียนขาด พื้นที่ไหนปลูกยางพาราแล้วรายได้น้อย ปลูกทุเรียนดีกว่า กำไรดีกว่ายาง

ส่วนที่ปลูกยาง อย่างเช่นทางภาคอีสาน ที่ยังมีกำไรผ่อนส่งรถปิกอัพได้ เพราะคนปลูกกรีดเอง ไม่ได้จ้างคนมากรีด

“ที่ผ่านมาทางซีพีไปสอนเรื่องใส่ปุ๋ยให้ถูกต้อง แล้วก็ไม่ต้องผ่านคนกลาง แต่ซีพีจะถูกด่าอีก ใครด่ารู้ไหม คนกลางนั่นแหละด่าผม เพราะเขาจะหมดอาชีพ แต่ผมต้องช่วยเกษตรกรส่วนใหญ่ ไม่ใช่ไปช่วยคนกลาง ขายตรงกับผมเลย แล้วผมจะสร้างโรงงานยางแท่ง พวกคุณเคยไปดูหรือยังที่ภูเรือ จังหวัดเลย ผมมีผู้เชี่ยวชาญไปสอนกรีดยางยังไง รักษายางยังไง แล้วก็เป็นที่ดินของเกษตรกร ครอบครัวกรีดยางเอง วันนี้ยังอยู่ได้ 1. ไม่ต้องขนส่งไกล 2. ไม่ได้ผ่านคนกลาง 3. สอนเขากรีดยางให้ถูกต้อง สอนเขาใส่ปุ๋ยให้ถูกต้อง ผมจะพาพวกคุณไปดูว่าที่ผมพูด ถ้าทำอย่างนี้ได้ ปลูกยางวันนี้ก็ยังมีกำไร”

นายธนินท์ ยังย้ำอีกว่า พื้นที่บางแห่งฝนตกชุกไป ไม่มีแรงงานกรีด พอฝนตกชุก น้ำยางจะน้อย เวลาฝนตกก็ไปกรีดไม่ได้ ก็ปลูกอย่างอื่นเลย อย่างมะพร้าวปลูกได้ทุกแห่ง

ดังที่ได้เกริ่นไปแต่แรกว่าเจ้าสัวผู้นี้สนใจเรื่องเกษตร และชอบศึกษาหาความรู้ ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ทางซีพีมีสวนทุเรียนอยู่ที่ปากช่อง โดยระดมผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันค้นคว้าเพื่อให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ด้วยเหตุนี้นายธนินท์จึงรู้เรื่องทุเรียนดี อย่างที่เจ้าตัวแจกแจง

“เชื่อไหมอีสานปลูกทุเรียนได้ อย่างที่ปากช่อง ปลูกทุเรียนอร่อย ไม่แพ้จังหวัดจันทบุรีกับตราด แต่พูดตรงๆ ว่าเรายังไม่เก่ง ผมกำลังเรียนรู้จากคนเก่ง ปลูกทุเรียนไม่ใช่ง่ายๆ ไม่เหมือนเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ต้องจับจุดให้ได้ มันมีวิชาทั้งนั้น แต่ต้องเริ่มด้วย 1. พันธุ์อร่อยและดก 2. คือการจัดการ มีเทคโนโลยีในการจัดการ และ 3. เรื่องการตลาด”

 

สหรัฐปกป้องสินค้าเกษตร

ในฐานะที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเกษตรมานาน รวมทั้งทำธุรกิจส่งออก ประธานธนินท์ให้ข้อมูลว่า ในโลกนี้ ประเทศที่ร่ำรวยแล้ว ยิ่งร่ำรวยยิ่งปกป้องราคาสินค้าเกษตร อย่างซีพีไปขายกุ้งถูกที่อเมริกา น่าจะชมเชยว่าทำให้คนอเมริกากินกุ้งถูก แต่กลับไม่ชมเชย จัดการขึ้นภาษีเลย และถ้ายังขายถูกอีก ก็ห้ามเข้าด้วย ถามว่าเพราะอะไร เพราะมาทำลายชาวประมง มาขายถูก สหรัฐไม่ได้ห่วงว่าประชาชนซื้อแพง กลับห่วงว่าคนเลี้ยงกุ้งกับชาวประมงจะขาดทุนอยู่ไม่ได้

ขณะเดียวกัน ประเทศที่กำลังพัฒนาห่วงอย่างเดียว กลัวคนยากจน ซื้อของแพง ต้องกดราคาให้ต่ำ จึงทำให้ทรัพย์สมบัติของชาติต่ำลง หมดตัว ดังนั้น สินค้าเกษตรบนดินใช้ไม่หมด แล้วก็เลี้ยงชีวิตมนุษย์

“อย่าเชื่อผม แต่ลองไปศึกษา คนที่เขาจนที่สุด เขายังปกป้องราคาสินค้าเกษตรให้สูง แต่อย่าเข้าใจผิด ถ้าสินค้าเกษตรสูง ผมเสียเปรียบ คนนึกว่าผมพูดเห็นแก่ผม ไม่ใช่ ผมเห็นแก่ส่วนรวม ถ้าส่วนรวมอยู่ไม่ได้ ถ้าส่วนรวมยากจน สินค้าผมจะขายให้ใคร ถ้าคนยากจน ผมผลิตไก่ยังไงก็ไม่มีใครซื้อ เพราะไม่มีเงินซื้อ พวกคุณอาจจะไม่ค่อยเชื่อก็ได้ นึกว่าผมพูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง แต่ถ้าส่วนรวมดี ผมดีไปด้วย”

“ผมซื้อของแพงมาผลิต แต่ผลิตแล้ว ผมขายแพงได้ เพราะคนมีเงิน เกษตรกรมีเงิน ร่ำรวยขึ้น เพราะเกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเรา ถ้าคนส่วนใหญ่ยากจนไม่มีกำลังซื้อ แล้วผมจะไปขายของให้ใคร ขายให้คนร่ำรวยก็มีไม่มาก ฉะนั้น ถ้าคนยากจนรวยขึ้น ผมดีขึ้นด้วย เพราะคนยากจนมีรายได้มากขึ้น มีกำลังซื้อมากขึ้น แต่ผมสะเทือน ผมต้องซื้อของแพง แต่ก็ไม่กลัว ดีกว่าผมซื้อของถูกแล้วผมขายไม่ได้เลย ผมซื้อของแพง ผมขายได้ กำไรน้อยหน่อย แต่ขายได้ ดีกว่าผมขายไม่ได้เลย”

มุมมองและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากเจ้าสัวธนินท์ คงทำให้เกษตรกรได้แง่คิดดีๆ และทำให้ได้รู้ว่าคนรวยติดอันดับโลกผู้นี้ห่วงใยเกษตรกร และอยากให้คนกลุ่มนี้มีรายได้มากขึ้น เพราะจะส่งผลดีถึงธุรกิจของซีพีด้วย