8 นวัตกรรมเด่น จาก มทร. ธัญบุรี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี วางวิสัยทัศน์ (Vision) เป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างนักปฏิบัติมืออาชีพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับประเทศและระดับสากล” ผลการดำเนินงานของ มทร. ธัญบุรี ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม คว้ารางวัลจากเวทีประกวดผลงานในระดับนานาชาติได้อย่างมากมาย ยกตัวอย่าง เช่น  

  1. หัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน เพื่ออาหารปลอดภัยและการเกษตรแบบยั่งยืน

ผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุกาญจน์ รัตนเลิศนุสรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้รับรางวัล Special Prize จากองค์กรด้านนวัตกรรมของประเทศไต้หวัน นวัตกรรมชิ้นนี้ผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อการพัฒนาการปลูกและผลิตอาหารปลอดภัยแบบยั่งยืน เนื่องจากหัวเชื้อจุลินทรีย์นาโนมีคุณสมบัติเด่นที่แตกต่างจากตลาด คือช่วยเร่งการออกผลผลิตนอกฤดูกาลได้ตลอดทั้งปี ควบคุมโรคทางราก ลำต้น เพิ่มภูมิคุ้มกันโรค ทำให้พืชสามารถเติบโตได้ดีแม้มีสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย เพิ่มผลผลิต ลดการใช้สารเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูแมลง ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ลดต้นทุน สามารถใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีได้ ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณวิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าปกติ รสชาติหวาน เนื้อแน่น ได้น้ำหนัก

 

  1. ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างสีเขียว จากผลพลอยได้ของโรงงานไฟฟ้าชีวมวล

ผลงานของ นายประชุม คำพุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่ได้จากการนำผลพลอยได้จากโรงงานไฟฟ้าชีวมวล เช่น เถ้าชีวมวลประเภทต่างๆ เส้นใยธรรมชาติหรือวัสดุที่ให้ค่าพลังงานความร้อนต่ำ ที่ถูกคัดแยกไม่นำไปเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิง มาเป็นส่วนผสมสำคัญในการผลิตวัสดุก่อสร้างต้นทุนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยวัสดุก่อสร้างทุกประเภทที่ผลิตมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มีความสวยงาม สามารถใช้เป็นวัสดุก่อสร้างสำหรับอาคารเขียวได้

 

 

  1. ผนังฉนวนความร้อนสำเร็จรูปจากไม้โตเร็วและพืชพลังงาน

ผลงานของ นายประชุม คำพุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้มีลักษณะเป็นระบบผนังสำเร็จรูป 3 ชั้น ขนาดแผ่นละ 30×60 ตารางเซนติเมตร โดยที่ด้านนอกทั้ง 2 ด้าน เป็นแผ่นอัดที่ทำจากไม้โตเร็ว ติดกับแกนกลางที่ทำจากพืชพลังงานมาอัดเป็นแผ่นความหนาแน่นต่ำ ได้เป็นผลิตภัณฑ์ระบบผนังฉนวนความร้อนสำเร็จรูปที่มีน้ำหนักเบา คงทน ใช้เวลาในการติดตั้งรวดเร็ว สะดวก โดยการใช้เดือย สลัก และอุปกรณ์ยึด ซึ่งไม่ก่อให้เกิดฝุ่นและเศษสิ่งสกปรกขณะติดตั้งเป็นผนังก่อสร้างอาคารสำหรับประหยัดพลังงาน

 

  1. ระบบควบคุมสำหรับโรงเพาะเห็ดถั่งเช่าอัตโนมัติ

ผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรี ศรีนนท์ฉัตร และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้รับรางวัล Special Prize จากประเทศโรมาเนีย เป็นระบบที่ออกแบบเพื่อใช้ควบคุมสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเติบโตของเห็ดถั่งเช่าแบบอัตโนมัติ เช่น อุณหภูมิต่างๆ ความชื้นและออกแบบระบบฆ่าเชื้อ ระบบดูดคาร์บอน รวมถึงการเก็บข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบ online data logger ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะช่วยให้เห็ดถั่งเช่าสามารถสร้างสารคอร์ไดซิปิน หรือคอร์ไดซิปิน แอซิด ได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ระบบควบคุมสำหรับโรงเพาะเห็ดถั่งเช่าแบบอัตโนมัติช่วยให้เกษตรกรสร้างผลผลิตเห็ดถั่งเช่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

  1. รถแทรกเตอร์อัตโนมัติไร้คนขับ นำทางด้วยระบบ GPS สำหรับเกษตรกรสมัยใหม่

ผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรี ศรีนนท์ฉัตร และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้รับรางวัล Special Prize จากประเทศบัลแกเรีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน รถแทรกเตอร์อัตโนมัติไร้คนขับ นำทางด้วยระบบ GPS สำหรับเกษตรกรสมัยใหม่นี้ เป็นรถขับเคลื่อนด้วยสองล้อหลัง ใช้ต้นกำลังเป็นเครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 15 HP เพื่อขับปั๊มน้ำมันไฮดรอลิกส์ การขับเคลื่อนของรถแทรกเตอร์ใช้กำลังจากแรงดันและอัตราการไหลของน้ำมันไฮดรอลิกส์ แบบ Hydro-static ทั้งระบบ สามารถทำงานได้ทั้ง 2 ระบบ คือการทำงานแบบอัตโนมัติ และการบังคับด้วยรีโมทควบคุมระยะไกล การนำไปใช้ประโยชน์ จะใช้เป็นระบบต้นกำลังทั้งในส่วนของการเตรียมแปลง การปลูก การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยว สำหรับเกษตรกรรมสมัยใหม่

 

  1. “ซอสหอยขม”

ผลงานของ คุณณัฐชรัฐ แพกุล และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้รับรางวัล Special Prize จากองค์กรด้านนวัตกรรมของประเทศแคนาดา ผลิตภัณฑ์ซอสหอยขม ผลิตโดยใช้เนื้อหอยขม นำมาเคี่ยวกับส่วนผสมต่างๆ และนำมาสกัดเพื่อให้ได้ซอสหอยขมชนิดเข้มข้น มีความใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ซอสหอยที่จำหน่ายตามท้องตลาด สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายประเภท เช่น นำไปผัดกับอาหาร ผัดกับผักชนิดต่างๆ ใช้เป็นเครื่องปรุงรสต่างๆ ในการประกอบอาหารได้ โดยสามารถใช้แทนซอสหอยนางรมได้ 100% อีกทั้งยังมีปริมาณคอเลสเตอรอลที่ต่ำกว่ามาก และมีราคาต้นทุนการผลิตต่ำกว่าอีกด้วย

 

 

  1. “เซรั่มบำรุงผิวหน้า จากสารสกัดเงาะพันธุ์สีชมพู ขนาดนาโนที่ใช้เทคโนโลยีนีโอโซม ซึ่งพัฒนาจากกะทิ”

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้รับรางวัล Special Prize จากองค์กรด้านนวัตกรรมของประเทศแคนาดา ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวหน้า ได้พัฒนาจากสารสกัดเงาะพันธุ์สีชมพู ซึ่งเป็นพืชที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย ซึ่งจะช่วยในการลดริ้วรอย มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นที่สูง มีฤทธิ์ในการลดจุดด่างดำ และทำให้ผิวหน้าชุ่มชื้น นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีนีโอโซม ซึ่งได้มีการเติมกะทิลงไปในอัตราส่วนที่เหมาะสมในการพัฒนาประสิทธิภาพการกักเก็บสารสกัดเงาะพันธุ์สีชมพู และมีประสิทธิภาพซึมผ่านผิวได้มากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำผลผลิตทางการเกษตรมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้

 

 

  1. “เครื่องผสมปุ๋ยชีวภาพ”

“เครื่องผสมปุ๋ยชีวภาพ” ผลงานนวัตกรรมจาก โครงการ “Learning Express” โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี (RMUTT) และ Singapore Polytechnic (SP) ประเทศสิงคโปร์ อีกหนึ่งโครงการของกองยุทธศาสตร์ต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ภายใต้การดูแลของ รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐา คุปตัษเฐียร ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ที่สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักศึกษาและคณาจารย์ด้วยการสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนด้วยความถนัดตามสาขาวิชาเอกของตนเอง

รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐา คุปตัษเฐียร

รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐา คุปตัษเฐียร ผู้ช่วยอธิการบดี เปิดเผยว่า โครงการ Learning Express : RMUTT-SP ดำเนินการมาแล้ว 5 รุ่น เป็นโครงการที่ร่วมพัฒนากระบวนการคิด สร้างประสบการณ์การเรียนรู้โดยตรงผ่านการลงมือทำให้กับนักศึกษาไทยและนักศึกษาสิงคโปร์อย่างเต็มที่ ดำเนินกิจกรรมเป็นทีมสหวิชาการ (Multi-disciplinary) ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชน (Social Innovation) ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เป็นทักษะในการคิดเพื่อฝึกให้นักศึกษาช่วยแก้ปัญหาในชุมชนต่างๆ ผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์ของผู้อยู่ในชุมชน การระดมสมอง การคิดร่วมกับชุมชน ภายใต้การดูแลและแนะนำของ Facilitator ประจำแต่ละกลุ่ม

โดย “เครื่องผสมปุ๋ยชีวภาพ” เกิดจากการลงพื้นที่ Learning Express 2 ที่นำนักศึกษาของทั้งสองสถาบัน เข้าศึกษาเรียนรู้กระบวนการทำงานและวิถีชีวิตของเกษตรกร ณ โรงเรียนพันท้ายนรสิงห์วิทยา ชุมชนโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้การดูแลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สานิตย์ดา เตียวต๋อย และ อาจารย์เดชรัชต์ ใจถวิล เพื่อให้นักศึกษาทั้งสองสถาบันสำรวจความต้องการของชาวบ้านในชุมชนโคกขาม ร่วมกันศึกษาหาแนวทางและวิธีแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้าน พบว่า ชาวบ้านในชุมชนโคกขามต้องการกระบวนการทำปุ๋ยชีวภาพจากขี้แดดนาเกลือให้สะดวกรวดเร็วและได้ปริมาณมาก เนื่องจากที่ผ่านมานั้นชาวบ้านใช้วิธีการผสมด้วยมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร ทำให้ใช้แรงงานและเวลาในการทำปุ๋ยเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีการผลิตน้อย จากปัญหาดังกล่าว ที่นักศึกษาจากโครงการได้ร่วมกันแก้ปัญหา คิดค้น และออกแบบเครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพตัวต้นแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านชุมชนโคกขามแล้ว กลุ่มนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ นายธิติภัทร หาพรต นายพิษณุ มีมุข และ นายบดินทร์ สว่างศรี จึงได้ต่อยอดการออกแบบและสร้างเครื่องผสมปุ๋ยชีวภาพดังกล่าวให้เป็นเครื่องผลิตปุ๋ยจริงขึ้นมา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐา คุปตัษเฐียร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริชัย ต่อสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นที่ปรึกษา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริชัย ต่อสกุล กับเครื่องผสมปุ๋ยชีวภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริชัย ต่อสกุล เล่าว่า เครื่องผลิตปุ๋ยชีวภาพเครื่องนี้ สามารถผสมปุ๋ยจากขี้แดดนาเกลือได้ในปริมาณมาก อีกทั้งยังทำให้ส่วนผสมต่างๆ เข้ากันได้เป็นอย่างดี ช่วยลดระยะเวลาและเป็นเครื่องทุ่นแรงให้แก่เกษตรกร การทำงานของเครื่องผลิตปุ๋ยนี้ใช้มอเตอร์ ขนาด 3 แรงม้า เป็นเครื่องต้นกำลังเพื่อไปขับชุดเกียร์ทดเพื่อส่งกำลังไปยังใบกวน ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องสามารถผสมปุ๋ยจากขี้แดดนาเกลือได้ ครั้งละ 50 กิโลกรัม ซึ่งมีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 500 กิโลกรัม ต่อวัน สามารถลดคนงานในการผสมปุ๋ยชีวภาพได้ถึง 2 คน และเพิ่มปริมาณการผสมปุ๋ยชีวภาพให้กับชาวบ้านได้ 130 กิโลกรัม ต่อวัน

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Learning Express ตอบโจทย์ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นักศึกษาของทั้งสองสถาบันการพัฒนาตนเองในการสื่อสารจนเกิดความเข้าใจ ประสบการณ์ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชนพัฒนาทักษะการคิด การทำงานเป็นทีม สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนด้วยวิชาชีพของตนเอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โทร. (02) 549-4994