ทุเรียนต้นคู่ อีกหนึ่งทางเลือกของชาวสวนเมืองจันท์

ทุเรียน เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยและภาคตะวันออก ทุเรียน เป็นไม้ผลที่ให้ผลตอบแทนต่อไร่สูงกว่าไม้ผลอีกหลายชนิด จึงมีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ตลาดยังมีความต้องการอีกมาก

จากนโยบายฯ ได้กำหนดให้เพิ่มประสิทธิภาพหรือเพิ่มผลตอบแทนต่อพื้นที่ในขณะที่พื้นที่เท่าเดิมทดแทนการขยายพื้นที่ในพื้นที่ป่าไม้ ประกอบกับประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ทุเรียนปลูกต้นคู่ จึงเป็นการตอบโจทย์ได้อย่างดี ทั้งในด้านการใช้เทคโนโลยีและผลตอบแทนต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น

ให้ผลผลิตมา 2-3 ปีแล้ว

ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกมีการปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นทั้งจากการปลูกในพื้นที่ใหม่ หรือปลูกทดแทนในพื้นที่สวนยางพารา หรือสวนไม้ผลอื่นที่โค่นทิ้ง เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้เป็นแรงจูงใจหลัก ถึงแม้ว่าการจัดการสวนทุเรียนมีความละเอียดและค่อนข้างที่ต้องมีการปฏิบัติดูแลรักษาอย่างประณีตจึงจะให้ผลผลิตที่คุ้มค่า นอกจากภาคตะวันออกมีการปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังกระจายไปปลูกยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย

ซึ่งจะเห็นได้จากกิ่งพันธุ์ทุเรียน ซึ่งแหล่งผลิตกิ่งพันธุ์ที่สำคัญของประเทศไทยอยู่ที่ภาคตะวันออก กิ่งพันธุ์ทุเรียนบางช่วงขาดแคลนและราคาขยับตัวสูงขึ้นมาก แหล่งผลิตทุเรียนเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกอยู่ที่ จันทบุรี ตราด และระยอง นอกจากนี้ ยังกระจายไปปลูกจังหวัดข้างเคียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกเพื่อตลาดภายในจังหวัดเป็นหลัก ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และนครนายก

แนวทางการบริหารจัดการและพัฒนาทุเรียนภาคตะวันออก มุ่งเน้นที่ 3 ประการหลัก คือ

1. การเพิ่มคุณภาพทุเรียนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดส่งออก โดยการนำเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่จากเกษตรกรต้นแบบที่มีศักยภาพขยายผลสู่การปฏิบัติของเกษตรกร โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้จัดการหลักในพื้นที่ในการขยายผลทั้งองค์ความรู้และเทคโนโลยี

2. การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการเพิ่มปริมาณผลผลิตทุเรียนในการแปรรูปตามตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้น ได้แก่ ทุเรียนแกะเนื้อแช่แข็ง และการส่งเสริมการขายตรงผู้บริโภคให้มากขึ้น รวมถึงการทำทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม โดยจำหน่ายผ่านทางตลาดออนไลน์ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นต้น

3. การลดความเสียหายช่วงผลผลิตทุเรียนกระจุกตัว โดยสภาพปกติทุเรียนจะมีช่วงกระจุกตัว หรือช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณไม่เกิน 10-15 วัน ของแต่ละปี ที่ปริมาณทุเรียนออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าความต้องการของตลาด ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรจำหน่ายได้ลดลง

ดังนั้น แนวทางลดปริมาณผลผลิตกระจุกตัวคือ การส่งเสริมให้มีผลผลิตออกช่วงต้นฤดูให้มากขึ้น ซึ่งในช่วงต้นฤดูผลผลิตทุเรียนที่ออกสู่ตลาดยังมีความต้องการอีกมาก และราคาก็สูงมากด้วย

ในการบริหารจัดการเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือประสานกัน ระหว่างองค์ความรู้และเทคโนโลยี เจ้าหน้าที่ และเกษตรกรในการนำมาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนบริหารจัดการ และมีสำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมายและเกษตรกรได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป

ต้นคู่อยู่ด้วยกันได้

แนวคิดดีๆ จากการทำ “ทุเรียนต้นคู่”

คุณธีรภัทร อุ่นใจ เกษตรกรดีเด่น สาขาทำสวน ภาคตะวันออก ปี 2560 ซึ่งได้มีการปลูกทุเรียนต้นคู่ คือ ปลูก 2 ต้น ต่อหลุม โดยได้ปลูกทุเรียนต้นคู่และเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ประมาณ 2-3 ปี ในพื้นที่ประมาณ 22 ไร่

จากแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ที่ปลูกทุเรียนมีลมแรงและไม้กันลมไม่สามารถต้านทานแรงลมได้เพียงพอ อันเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง แรงลมมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผลที่ได้มานอกจากลดความเสียหายจากแรงลมแล้ว ปริมาณผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่า ร้อยละ 30 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตใกล้เคียงกับการปลูกแบบต้นเดียว ซึ่งต้นทุนจะสูงขึ้นจากค่าต้นพันธุ์ทุเรียนเป็นหลัก

คุณธีรภัทร อุ่นใจ

การปลูกทุเรียนต้นคู่

คุณธีรภัทร เกษตรกรจากตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การปลูกทุเรียนต้นคู่ คือการปลูกทุเรียน หลุมละ 2 ต้น โดยมีการปฏิบัติและการจัดการ ดังนี้

1. การเตรียมดินหรือหลุมปลูก เป็นการปลูกทุเรียนแบบยกโคก โดยการยกโคกหลุมปลูกให้สูงจากพื้นดินปกติ ประมาณ 1.20 เซนติเมตร ความกว้างของหลุมปลูก ประมาณ 4-6 เมตร ซึ่งสวนทุเรียนยุคใหม่จะต้องปลูกทุเรียนแบบยกโคกเพื่อลดปัญหาการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน และเอื้อต่อการจัดการออกดอกติดผลและดูแลรักษา

ปลูกคู่

2. การปลูก ใช้ระยะปลูก 10×12 เมตร ใน 1 หลุม ปลูก 2 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 1 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ต้นพันธุ์ทุเรียนประมาณ 24-30 ต้น การวางแนวปลูกให้วางแนวทิศตะวันออกและตะวันตก (ตามตะวัน)

3. การดูแลรักษา มีหลักการจัดการ ดังนี้
หลังเก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ให้แสงแดดส่องถึงใต้ต้นทุเรียน และตัดกิ่งที่ห้อยชี้ลงดินทิ้งในรอบฤดูกาลให้ทุเรียนแตกใบอ่อนอย่างน้อย 2-3 ชุด พร้อมให้อาหารทางใบเสริมเพื่อสะสมอาหาร

ใบอ่อนชุดที่ 3 ระยะเพสลาด ใช้สารแพคโคลบิวทราโซล 25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกระตุ้นการออกดอกให้สม่ำเสมอ อัตรา 1,000 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร

ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

การให้น้ำ เน้นให้ถูกต้องตามระยะการพัฒนาของทุเรียน ข้อควรระวังระยะแทงตาดอก ควรให้น้ำภายในทรงพุ่ม ถ้าให้รอบปลายทรงพุ่ม ดอกจะเปลี่ยนเป็นใบอ่อนแทน ระยะดอกบานควรให้น้ำน้อยลง เพื่อป้องกันการแตกใบอ่อน

สภาพแปลงปลูก

การบำรุงต้น/ดอก/ผล ใส่ปุ๋ย ประมาณเดือนครึ่ง/ครั้ง โดยใส่ควบคู่และสลับกันไป ระหว่างปุ๋ยทางดิน ทางใบ และธาตุอาหารเสริมให้เพียงพอ

การจัดการวัชพืชในสวนทุเรียน ทุเรียนอ่อนแอต่อสารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะมีระบบรากตื้น จึงเน้นปล่อยให้หญ้าคลุมแปลงทุเรียน โดยเน้นที่ : หน้าแล้งปล่อยให้หญ้ารก หน้าฝนให้หญ้าเตียน

4. ผลตอบแทนและรายได้ ต้นทุน เฉลี่ย 10-11 บาท ต่อกิโลกรัม หรือ 18,000-20,000 บาท ต่อไร่ (ไม่รวมค่ายกโคก และค่ากิ่งพันธุ์)
ผลผลิต เฉลี่ย 1,800-2,000 กิโลกรัม ต่อไร่
รายได้ ประมาณ 63,000-67,500 บาท ต่อไร่ (ราคาขาย เฉลี่ย 45 บาท ต่อกิโลกรัม)

มีคนมาเรียนรู้

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณธีรภัทร อุ่นใจ บ้านเลขที่ 3/6 หมู่ที่ 8 ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี โทร. (039) 468-422 หรือ (098) 068-1971 สำนักงานเกษตรอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี โทร. (039) 309-092 สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี โทร. (039) 322-158 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง โทร. (038) 611-578

…………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561