“ม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม” เมืองอุบลฯ ปลูกเมล่อนอินทรีย์ แห่งแรกในถิ่นอีสานใต้

“เมล่อน” ถือเป็นราชินีแห่งพืชตระกูลแตง เมล่อนเป็นพืชอายุสั้น สามารถทำเงินได้เร็ว จึงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่มาแรงและเป็นที่สนใจของเกษตรกรมือใหม่จำนวนมาก แต่ใช่ว่าเกษตรกรจะประสบความสำเร็จในการปลูกเมล่อนกันทุกราย เพราะการปลูกเมล่อนให้ได้ผลผลิตที่ดีนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการปลูกและการดูแลรักษาเมล่อนอย่างถูกต้องและเหมาะสมเสียก่อน

หากใครอยากเรียนรู้เทคนิคการปลูกเมล่อนอินทรีย์แบบมืออาชีพ ขอแนะนำให้แวะเยี่ยมชม โครงการ “ม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม” จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่บนถนนม่วงสามสิบ-อำนาจเจริญ ฟาร์มแห่งนี้นับเป็นแหล่งผลิตเมล่อนอินทรีย์แห่งแรกและมีพื้นที่ปลูกใหญ่ที่สุดในถิ่นอีสานใต้ ทำให้ฟาร์มแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

 

วิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม

โครงการม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม เกิดจากความคิดริเริ่มของ ดร. จำลอง พรมสวัสดิ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2559 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ มุ่งสร้างวิสาหกิจชุมชนเพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม และเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดสารพิษให้กับทุกคน

ดร. จำลอง กล่าวว่า โครงการม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม เริ่มต้นจากการปลูกข้าวปลอดสารพิษ บนเนื้อที่ 40 ไร่ เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี แต่เจออุปสรรคในเรื่องคุณภาพดิน แหล่งน้ำ และแมลงศัตรูพืช จึงได้ผลผลิตข้าวน้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จึงแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหันมาศึกษาเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง

ดร. จำลอง พรมสวัสดิ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบออร์แกนิคฟาร์ม

ต่อมาทางฟาร์มได้หันมาทำนาข้าวอินทรีย์ควบคู่กับการเลี้ยงปลาในนาข้าว โดยอาศัยปลาช่วยพรวนดินและใช้มูลปลาเป็นปุ๋ยบำรุงต้นข้าวให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี ขณะเดียวกัน หนอนและตัวอ่อนแมลงที่ร่วงหล่นลงไปในแปลงนาข้าว กลายเป็นอาหารของปลาแล้ว วิธีนี้ได้ประโยชน์หลายต่อ เพราะได้ปลาช่วยกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูข้าวในแปลงนาแล้ว หลังฤดูทำนายังจับปลาออกขายสร้างรายได้อีกต่างหาก การสร้างระบบนิเวศใหม่ในแปลงนาช่วยให้มีผลผลิตข้าวหอมมะลิและข้าวไรซ์เบอร์รี่เพิ่มมากขึ้น โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่ได้ผลกำไรมากขึ้น

ในปี 2559 ดร. จำลอง ตัดสินใจปลูก “เมล่อน” เป็นพืชทางเลือกหลังฤดูกาลทำนา เพราะเมล่อนเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน ทางฟาร์มคัดเลือกเมล่อนพันธุ์ดีที่สุด จำนวน 5 สายพันธุ์ มาปลูก ได้แก่ เมล่อนสายพันธุ์กาเลีย จากประเทศอิสราเอล เมล่อนสายพันธุ์คิโมจิ จากประเทศญี่ปุ่น เมล่อนสายพันธุ์โกลเด้น จากประเทศฝรั่งเศส เมล่อนสายพันธุ์ TK-140 จากประเทศเกาหลี และเมล่อนสายพันธุ์ Rock จากประเทศฝรั่งเศส

ปัจจุบัน โครงการม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม มีโรงเรือนสำหรับปลูกเมล่อนและแตงโมไร้เมล็ด ประมาณ 30 โรงเรือน เป็นโรงเรือนแบบปิดที่สามารถควบคุมการผลิตได้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนต้น ความหนาแน่น การให้ปุ๋ย การให้น้ำ การป้องกันเชื้อโรคและแมลงศัตรูพืช โรงเรือนจะมุงด้วยพลาสติกและมีมุ้งรอบด้าน

แตงโมอินทรีย์ไร้เมล็ด

การปลูกแตงโมไร้เมล็ด พันธุ์แฮปปี้ไร้เมล็ด ในโรงเรือนแบบปิด ใช้วิธีปลูกแตงโมที่มีเมล็ดไว้ 1 แถว เพื่อนำเกสรตัวผู้ของพันธุ์ที่มีเมล็ดนี้ไปผสมกับเกสรตัวเมียของพันธุ์ไร้เมล็ด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เป็นแตงโมไร้เมล็ด เมื่อเจริญเติบโตขึ้นจะทำค้างให้เลื้อยขึ้น เมื่อออกลูกแล้วจะนำใส่ถุงหรือตาข่ายเพื่อช่วยพยุงลูกไว้ให้โตตามแนวดิ่ง

การปลูกเมล่อน และแตงโมไร้เมล็ด ในโรงเรือนระบบปิด ผ่านการปลูกด้วยกระบวนการที่ทันสมัย ปลอดภัยและได้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) งดการใช้สารเคมี สารกำจัดแมลง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค การปลูกเมล่อนในโรงเรือนแบบปิด มีเจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 4 อุบลราชธานี คอยชี้แนะให้คำแนะนำในทุกขั้นตอนการผลิตอย่างใกล้ชิด

 

การปลูกเมล่อนในโรงเรือนแบบปิด

โรงเรือนระบบปิด 1 แห่ง สามารถปลูกเมล่อนได้จำนวน 440 ต้น จะได้ผลผลิต จำนวน 400 ผล/รุ่น การปลูกเมล่อนแต่ละรุ่น จะใช้เวลาปลูกดูแลประมาณ 70-75 วัน จึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ ทางฟาร์มวางแผนทำตารางการปลูก 3 รุ่น/ปี เพื่อให้มีผลผลิตออกขายได้ตลอดทั้งปี หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ละครั้ง จะพักดินนาน 1 เดือน ก่อนจะเริ่มปลูกเมล่อนรุ่นต่อไป

โดยทั่วไป การปลูกเมล่อน สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านค้าที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ แต่มักมีการเคลือบสารกันเชื้อรามาแล้วแทบทั้งสิ้น ดังนั้น การแช่เมล็ดในน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น จะเป็นการกำจัดสารเคลือบเชื้อราและแบคทีเรีย ที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ ประมาณ 6-12 เซนติเมตร

เมล่อนพันธุ์โกลเด้น

เนื่องจาก เมล่อนพันธุ์โกลเด้น พันธุ์กาเลีย มีจุดอ่อนสำคัญคือ เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสได้ง่าย เช่นเดียวกับ แตงโมไร้เมล็ดก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส ซึ่งจะทำให้ยอดไม่งอก ดังนั้น ช่วงที่ต้นเมล่อนมีขนาดเล็ก งดห้ามเข้าโรงเรือนเด็ดขาด หากเจอแมลงศัตรูพืชรบกวนในแปลงปลูก มักฉีดพ่นสารสกัดชีวภาพกำจัดแมลงแทนการใช้สารเคมี

วิธีการเพาะกล้า

หลังเตรียมเมล็ดพันธุ์แล้ว จะนำวัสดุเพาะกล้ามาคลุกเคล้าให้เข้ากัน กรอกใส่ถาดเพาะกล้าแล้วหยอดเมล็ดลงในถาด หลุมละ 1 เมล็ด แล้วกลบด้วยวัสดุเพาะกล้ารดน้ำให้ชุ่ม นำไปวางไว้ในที่ร่มรำไร ไม่ให้โดนแสงแดดจัดโดยตรง รอจนกว่าเมล็ดเริ่มงอกและมีใบสีเขียว ประมาณ 10-13 วัน เมื่อต้นกล้าแข็งแรงแล้ว จึงย้ายกล้าไปปลูกในโรงเรือน 3-4 วันแรก หลังย้ายกล้าแล้ว ควรรดน้ำปริมาณมากๆ

 

การผสมเกสร

เนื่องจากทางฟาร์มปลูกเมล่อนในโรงเรือนระบบปิด จึงไม่มีแมลงมาช่วยผสมเกสร ต้องอาศัยแรงงานคนช่วยผสมเกสร ในช่วงที่ต้นเมล่อนมีอายุ 25 วัน โดยธรรมชาติแล้ว ดอกเพศเมียจะเริ่มผลิบานในตอนเช้า ขณะที่อากาศยังมีอุณหภูมิไม่สูงมาก หลังจากนั้น เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ดอกเพศเมียจะหุบไม่รับผสมเกสรอีกต่อไป

ดังนั้น ช่วงเวลาผสมเกสรเมล่อนที่ดีที่สุดคือ ช่วงตอนเช้า หรือสายๆ โดยนำเกสรตัวผู้ไปเขี่ยเกสรใส่ดอกตัวเมีย หากเจอหมอกหรือน้ำค้างเยอะมักทำให้การผสมเกสรได้ไม่ดี ทั้งนี้ เกสรตัวผู้ 1 ดอก สามารถผสมกับดอกเกสรตัวเมียได้ 3 ดอก ดังนั้น หากมีเกสรดอกตัวผู้เยอะ จะใช้วิธีผสมเกสรแบบหนึ่งต่อหนึ่ง เพื่อช่วยให้ต้นเมล่อนผสมเกสรได้ดีขึ้นและมั่นใจได้ว่า ได้ผลผลิตแน่นอน

 

การไว้ผล

เมื่อติดผลเป็นผลอ่อนขนาดเท่าไข่ไก่ ให้คัดเลือกผลที่สมบูรณ์ที่สุดไว้เพียงผลเดียว โดยดูจากผลที่มีรูปร่างสมบูรณ์ ไม่บิดเบี้ยว และมีขั้วของผลขนาดใหญ่ที่สุด

 

การให้น้ำ

ฟาร์มแห่งนี้ ให้น้ำแปลงปลูกเมล่อนในลักษณะ ระบบน้ำหยด ระยะแรก ให้น้ำวันละ 3 ครั้ง ในช่วงเวลาเช้า เที่ยงและ เย็น เมื่อต้นเมล่อนมีอายุได้ 14 วัน จึงลดปริมาณการให้น้ำลงเหลือแค่ วันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น

สรุปได้ว่า ระยะปลูก-ติดผล-แตกลาย จะให้น้ำต้นเมล่อนในปริมาณมาก จากนั้นค่อยๆ ลดปริมาณการให้น้ำและเวลาลง ช่วงที่ผลเมล่อนแตกลาย ประมาณ 7 วัน ควรลดปริมาณการให้น้ำลง เมื่อผลเมล่อนแตกลายเต็มที่ให้เพิ่มปริมาณการให้น้ำ ก่อนเก็บผลผลิต 7-10 วัน ให้ลดปริมาณการให้น้ำลงจนแปลงแห้ง ทั้งนี้ จะมีการกำหนดอัตราการให้น้ำในระหว่างที่ต้นเมล่อนเจริญเติบโต โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 300 ซีซี/ต้น/รุ่น

เมล่อนพันธุ์ Rock

การเก็บผลผลิต

เมล่อน หลังการผสมเกสร 45 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ รวมระยะเวลาตั้งแต่ปลูกถึงอายุเก็บเกี่ยวจะใช้เวลาดูแลแปลงปลูก ประมาณ 70-75 วัน เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี รสชาติอร่อย ต้องเก็บผลผลิตในระยะที่เหมาะสม โดยมีข้อสังเกต 4 วิธี ดังนี้ คือ

  1. รอยแยกของขั้ว สังเกตระหว่างขั้วกับผล ถ้ามีรอยร้าวสีน้ำตาลเกิดขึ้น แสดงว่าเก็บผลผลิตได้
  2. รอยนูนของร่างแห พันธุ์ที่มีตาข่าย เมื่อผลแก่ ตาข่ายที่คลุมผล แข็งนูน เห็นลายชัดเจน
  3. กลิ่น บางสายพันธุ์เมื่อสุก จะมีกลิ่นหอม สามารถเก็บผลผลิตได้
  4. วิธีนับอายุ โดยนับจากช่วงผสมเกสรตามอายุของพันธุ์นั้นๆ

 

ยินดีแบ่งปันความรู้

ทุกวันนี้ โครงการ “ม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม” กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกเมล่อนและแตงโมอินทรีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในถิ่นอีสานใต้ ยินดีแบ่งปันความรู้เรื่องการปลูกดูแลเมล่อนและแตงโมอินทรีย์ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจทุกท่าน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม เลขที่ 9 หมู่ที่ 12  ตำบลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี 34140 โทร. (045) 252-897, (094) 542-6960 หรือติดต่อทาง Facebook : ม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม หรือ ID LINE : Muang organicfarm