พัฒนา“ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม” เป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม

ตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม นับเป็นแหล่งผลิตส้มโอ ที่มีชื่อเสียงของไทย สร้างรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นอย่างมหาศาลในแต่ละปี เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่ออาชีพการทำสวนส้มโอ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินหน้าพัฒนาให้ส้มโอขาวใหญ่เป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม และพัฒนาการผลิตส้มโอแบบครบวงจร

 

ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ส้มโอขาวใหญ่ ตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรในท้องถิ่นและผู้สนใจทั่วไปได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการปลูกดูแลส้มโออย่างถูกต้องเหมาะสม

การผลิตส้มโอของจังหวัดสมุทรสงคราม

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สำรวจการผลิตส้มโอของจังหวัดสมุทรสงคราม ในปี 2560 พบว่า มีพื้นที่ปลูกส้มโอ 12,995 ไร่ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกส้มโอ (S1) มีพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว จำนวน 12,495 ไร่ ปริมาณผลผลิต 19,367.25 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,033 ผล ต่อไร่ ต่อปี หรือ 1,550 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี (ขนาดผล น้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม ต่อผล)

โดยส้มโอที่นิยมปลูกมากที่สุดคือ พันธุ์ขาวใหญ่ ซึ่งเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพดิน ส่วนพันธุ์อื่นๆ ที่มีปลูกบ้างในพื้นที่ดังกล่าว มีปริมาณเล็กน้อย ได้แก่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ทองดี ปัจจุบัน “ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม” ได้รับอนุมัติให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical indication : GI) คลอบคุลมพื้นที่ 14,000 ไร่


อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิต ร้อยละ 10 จากเดิม 15,000 บาท ต่อไร่ ต่อปี เป็น 14,500 บาท ต่อไร่ ต่อปี โดยต้นทุนการผลิตที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดคือ ต้นทุนเรื่องการใช้ปุ๋ย และต้นทุนเรื่องการใช้สารเคมีกำจัดแมลง มีแนวโน้มลดลงทุกปี ตั้งแต่เริ่มเข้าโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิต ร้อยละ 20 โดยเพิ่มผลส้มโอเฉลี่ยจาก 1,500 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็น 1,800 กิโลกรัม ต่อไร่

หลังจากเข้าร่วมโครงการ ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีการผลิตมาใช้ในการเพิ่มปริมาณผลผลิต เช่น เทคนิคการตัดแต่งกิ่ง เทคนิคการลอกเลน การใส่ปุ๋ยตามช่วงอายุ และการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า GAP ให้ครบทุกแปลง และการพัฒนาเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม ผิวสีเขียว จำหน่ายลูกละ 145 บาท

ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนส้มโอส่วนใหญ่วางแผนบริหารจัดการ ให้ต้นส้มโอมีผลผลิตออกในช่วงที่ตลาดต้องการ เช่น ในช่วงเทศกาลตรุษจีนและช่วงเทศกาลสารทจีน การวางแผนการผลิตให้ส้มโอไม่ออกผลในช่วงเดือนธันวาคม-เดือนมกราคม เนื่องจากช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ส้มโอมีราคาตกต่ำเป็นประจำทุกปี และรสชาติของผลส้มไม่อร่อย จะเปรี้ยวกว่าในช่วงเวลาอื่นๆ

ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สนับสนุนให้เกษตรกรผลิตสินค้ารองเพื่อเสริมรายได้ เช่น ส้มแก้ว ม่าเหมี่ยว กล้วย ลิ้นจี่ มะพร้าว พัฒนาสมาชิกแปลงใหญ่ให้เป็น Smart Farmer ทุกราย การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ถุงบรรจุส้มโอ กล่องส้มโอบรรจุส้มโอเกรดพรีเมี่ยม และกล่องส้มโอบรรจุส้มโอสีทอง การรับรองมาตรฐานสินค้าโดยใช้สติ๊กเกอร์รับรองคุณภาพ และสติ๊กเกอร์วอยซ์รับรองคุณภาพ เพื่อใช้ในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (trace ability) การใช้ QR code ทำให้ทราบข้อมูลแหล่งผลิต และแหล่งที่มาของสินค้า และได้รับอนุมัติให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งเสริมการพัฒนาช่องทางการตลาดในการผลิตส้มโอเกรดพรีเมี่ยม สีเขียว และส้มโอสีทอง ส่งบริษัทเอกชนในพื้นที่ ซึ่งมีห้างโมเดิร์นเทรดในกรุงเทพฯ จำนวน 34 สาขา และการจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลาง

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางแผนพัฒนาแปลงใหญ่ส้มโอ ตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ให้เป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม ส้มโอสีเขียว ส้มโอสีทอง พัฒนาให้เป็นสินค้าอินทรีย์ และพัฒนาการผลิตส้มโอแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตจนถึงขั้นตอนการจำหน่าย และการแปรรูป

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มมูลค่าส้มโอ โดยการแปรรูปสิ่งที่เหลือจากส้มโอ การพัฒนา Young Smart farmer สร้างเครือข่ายกับกลุ่มแปลงใหญ่ส้มโอในพื้นที่ใกล้เคียงและกลุ่มในจังหวัด ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวในตำบล และพัฒนาแปลงใหญ่ส้มโอ ตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็นโรงเรียนเกษตรกรส้มโอ และพัฒนา Young Smart Farmer ให้เป็น Smart Farmer ด้านส้มโอ ในอนาคต

แนะวิธีรับมือโรคแคงเคอร์

โรคแคงเคอร์ สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืชตระกูลส้ม สังเกตได้จากอาการบนใบ เริ่มแรกมีจุดฉ่ำน้ำ ต่อมาขยายใหญ่เป็นจุดแผลนูนฟูขึ้นคล้ายฟองน้ำสีเหลืองอ่อน จากนั้นแผลจะเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อแข็งสีน้ำตาลเข้ม ตรงกลางแผลยุบตัว ขอบแผลยกตัวขึ้น บริเวณรอบแผลปรากฏวงสีเหลืองล้อมรอบ แผลจุดนูนสีน้ำตาลพบได้ทั้งผิวใบด้านบนและด้านล่าง สามารถเห็นชัดเจนบนผิวใบด้านล่าง แผลเกิดได้ทั้งบนใบและก้านใบ ทำให้ใบเหลืองร่วงก่อนกำหนด บนกิ่ง ลักษณะคล้ายอาการบนใบ แต่ไม่มีวงสีเหลืองล้อมรอบแผล
ต่อมาแผลจะแตกแข็งเป็นสีน้ำตาลขยายรอบกิ่งหรือตามความยาวกิ่ง รูปร่างแผลไม่แน่นอน บนผล ลักษณะคล้ายอาการบนใบ แต่จะเกิดแผลเดี่ยวกลมฝังลึกลงไปในผิว แผลขยายเป็นสะเก็ดใหญ่ มีวงสีเหลืองล้อมรอบ รูปร่างไม่แน่นอน บางครั้งพบผลปริแตกตามรอยแผล หากเกิดโรคในระยะผลอ่อน ทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ หากรุนแรงผลจะร่วง

กรมวิชาการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นที่แสดงอาการของโรค ให้เกษตรกรตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค เก็บเศษซากพืชที่ร่วงหล่น และกำจัดวัชพืชในแปลงนำไปเผาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูกทันที จากนั้นให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชกลุ่มสารประกอบทองแดง เช่น สารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคิวปรัสออกไซด์ 86.2% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15-20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 7-10 วัน จำนวน 2-3 ครั้ง และควรเลือกใช้กิ่งพันธุ์จากแหล่งปลูกที่ไม่มีการระบาดของโรคนี้ หรือใช้กิ่งพันธุ์ที่ไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการนำกิ่งพันธุ์จากต้นที่เป็นโรคไปปลูกใหม่

นอกจากนี้ ในระยะที่พืชตระกูลส้มแตกใบอ่อนให้เกษตรกรกำจัดหนอนชอนใบที่เป็นพาหะเชื้อสาเหตุโรคนำมาทำลายทิ้ง เนื่องจากรอยทำลายของหนอนชอนใบเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายพืช และส่งผลให้อาการโรครุนแรงลุกลามอย่างรวดเร็ว หากพบให้พ่นด้วยปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

หรือสารอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งหลังใบและหน้าใบ  กรณีพบว่า ยังมีการระบาดของหนอนชอนใบ ให้พ่นซ้ำ และควรทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตรที่ใช้กับต้นเป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่กับต้นปกติทุกครั้ง