600 สายพันธุ์ทุเรียน “สมบัติล้ำค่า” ของชาติ ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกทุเรียนคุณภาพ รายใหญ่ที่สุดของโลก ตามด้วยประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในปี 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 581,659 ไร่ มีผลผลิต 517,955 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 เนื่องจาก 3-4 ปีที่ผ่านมา ราคาขายของเกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ดี แถมมีการขยายพื้นที่การปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับเกษตรกรดูแลเอาใจใส่สวนทุเรียนมากขึ้น มีการปรับปรุงดิน เกิดการรวมกลุ่มผู้ผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออก ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น

การส่งออกทุเรียนของไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก ราคาส่งออกทุเรียนสด ทุเรียนแช่แข็ง และทุเรียนกวน เพิ่มขึ้นตลอด สำหรับปี 2561 คาดว่า ประเทศไทยจะมีพื้นที่ปลูกทุเรียนจำนวน 611,186 ไร่ มีผลผลิตอยู่ที่ 760,032 ตัน ซึ่งเกิดจากการขยายพื้นที่ปลูกใหม่ในปี 2556 จะเริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ ส่วนสถานการณ์ส่งออกคาดว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ราคาที่เกษตรกรขายได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

ผอ.ศิริพร นำทุเรียนพันธุ์โบราณไปให้นายกรัฐมนตรีได้ทดลองชิม

อนุรักษ์ทุเรียนโบราณก่อนสูญพันธุ์

ภารกิจเพื่อชาติ ของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

ประเทศไทยได้เปรียบในด้านพันธุกรรมพืชที่หลากหลาย ในอดีตไทยปลูกทุเรียนพื้นบ้านหลายร้อยสายพันธุ์ โดยนำมาปลูกเชิงการค้าประมาณ 60-80 พันธุ์เท่านั้น ในปัจจุบันทุเรียนพื้นบ้านซึ่งเป็นสายพันธุ์โบราณเหล่านั้นปลูกน้อยลงและหายาก บางสายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากเกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกพันธุ์เชิงการค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุเรียนพันธุ์พันธุ์หมอนทอง รองลงมาคือ ทุเรียนพันธุ์ชะนี พันธุ์กระดุม และพันธุ์อื่นๆ

ขณะเดียวกัน สวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งพันธุกรรมสำคัญของทุเรียนไทย ได้ล้มหายไปกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร ทำให้พันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านที่เคยปลูกในอดีตต้องสูญหายไปด้วย ดังนั้น ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ในฐานะหน่วยงานหลักของกรมวิชาการเกษตร ที่ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานวิจัยและพัฒนาทุเรียน ได้เห็นถึงความสำคัญของความหลากหลายเชื้อพันธุกรรมทุเรียน จึงได้ทำการรวบรวมพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านกว่า 600 สายพันธุ์ไว้เป็นแหล่งพันธุกรรมทุเรียนเพื่อการอนุรักษ์และนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนในอนาคต

51 ปี กับภารกิจพิทักษ์พันธุ์ทุเรียน

เนื้อที่กว่า 280 ไร่ ของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี นับเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพืชสวนเศรษฐกิจที่สำคัญนานาชนิดของจังหวัดจันทบุรีและทางภาคตะวันออก ทั้งสวนสมุนไพร สวนไม้ดอกไม้ประดับ และสวนผลไม้ เช่น เงาะ มังคุด สะละ ทุเรียน ฯลฯ

คุณศิริพร วรกุลดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

คุณศิริพร วรกุลดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร เล่าให้ฟังว่า นักวิชาการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้ทำการรวบรวมเชื้อพันธุ์ทุเรียนมาตลอดระยะเวลา 51 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยังเป็นศูนย์วิจัยพืชสวนพลิ้ว เมื่อปี 2510 จนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ ปลูกและรวบรวมพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองโบราณไว้ไม่น้อยกว่า 600 สายพันธุ์ ภายใต้โครงการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมทุเรียน ถือว่า ที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ทุเรียนมากที่สุดของประเทศไทย

ศูนย์วิจัยฯ ตระหนักดีว่า ทุเรียนคุณภาพดีที่ผลิตเชิงการค้า ล้วนมาจากทุเรียนสายพันธุ์ดี จึงให้ความสำคัญกับภารกิจการรวบรวมพันธุกรรมสายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านจากทั่วประเทศ เช่น จังหวัดนครนายก นนทบุรี ฯลฯ มาปลูกอนุรักษ์ไว้ในพื้นที่แห่งนี้ ปัจจุบันทุเรียนที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นทุเรียนพันธุ์โบราณดั้งเดิมและหายาก เช่น กลุ่มพันธุ์กบ กลุ่มพันธุ์ลวง กลุ่มพันธุ์กำปั่น กลุ่มพันธุ์ทองย้อย

ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีได้เก็บรวบรวมพันธุ์ทุเรียน ทั้งพันธุ์การค้าและพันธุ์โบราณหายากมาปลูกรวบรวมไว้ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี เพื่อป้องกันปัญหาการสูญพันธุ์ทุเรียนไทยจากปัญหาภัยธรรมชาติ ทางศูนย์ได้กระจายความเสี่ยงโดยนำพันธุ์ทุเรียนบางส่วนไปปลูกอีก 2 แห่ง คือ แปลงทดลองศูนย์พัฒนาไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก ห้วยสะพานหิน จังหวัดจันทบุรี และแปลงทดลองศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี (ทุ่งเพล)

 แหล่งกำเนิดดั้งเดิมของทุเรียน

ผอ.ศิริพร กล่าวว่า ทุเรียนเป็นไม้ผลที่มีแหล่งดั้งเดิมในคาบสมุทรมลายู ก่อนจะกระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่างๆ สำหรับประเทศไทยคาดว่า ได้รับสายพันธุ์ทุเรียนมาจากประเทศมาเลเซีย โดยเริ่มปลูกครั้งแรกในพื้นที่ภาคใต้ก่อน จากนั้นจึงค่อยนำมาปลูกในพื้นที่ภาคกลาง เช่น จังหวัดนนทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา

ผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้สายพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านของไทยจำนวนมากสูญพันธุ์ไปตามกาลเวลา อย่างไรก็ตาม เกษตรกรชาวสวนทุเรียนของไทย เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชอยู่พอสมควร ทำให้มีทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีความหลากหลายเรื่องพันธุกรรมทุเรียนมากกว่าประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีได้ทำหน้าที่ด้านการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ทุเรียนมากกว่า 30-40 ปีมาแล้ว ทำให้มีทุเรียนสายพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 1-9 และกำลังศึกษาทดสอบทุเรียนลูกผสมตัวใหม่อีกหลายสายพันธุ์ คาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

 

การผลิตทุเรียนโบราณเชิงการค้า

ผอ.ศิริพร มั่นใจว่า ทุเรียนโบราณสามารถผลิตเชิงการค้าได้ โดยยกตัวอย่าง ทุเรียนพื้นบ้านของนนทบุรี ซึ่งเป็นสายพันธุ์โบราณหายาก สามารถปลูกเชิงการค้าได้ทุกสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนพันธุ์กบแม่เฒ่า กบชายน้ำ กบพิกุล ก้านยาว ชมพูศรี ชะนี ลวง ฯลฯ เพียงแต่ว่า ทุเรียนโบราณดังกล่าวไม่ค่อยปลูกกันมากนัก

ทุเรียนพันธุ์โบราณสำหรับบริโภคสด น่าจะมีสายพันธุ์ค่อนข้างเยอะ แต่ทุเรียนที่ปลูกเชิงการค้า ควรมีคุณสมบัติสำหรับบริโภคสดและแปรรูปไปพร้อมกัน ขณะเดียวกัน สามารถส่งออกไปขายได้ไกลๆ หากพิจารณาจากคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ทุเรียนพื้นบ้านที่มีศักยภาพผลิตเชิงการค้าน่าจะเหลืออยู่ได้ไม่กี่พันธุ์ เช่น พันธุ์กระดุม พันธุ์ชะนี พันธุ์ก้านยาว พันธุ์กบชายน้ำ พันธุ์กบแม่เฒ่า พันธุ์กบเล็บเหยี่ยว พันธุ์ฝอยทอง พันธุ์สาลิกา พันธุ์สาวน้อยเรือนงาม เป็นต้น ซึ่งศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้ผลิตกิ่งพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านเหล่านี้ออกจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจอย่างต่อเนื่องทุกปี

ผอ.ศิริพร เล่าว่า ทุเรียนสายพันธุ์โบราณโดดเด่นเรื่องความทนทานโรค-แมลงและการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม เพราะถูกทดสอบและคัดเลือกพันธุ์มาจากเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนในอดีต ช่วงที่นักวิชาการไปเก็บรวบรวมพันธุ์ทุเรียนโบราณจากแหล่งผลิตที่มีอายุการปลูก 40-50 ปี ขณะที่บางสวนมีทุเรียนต้นพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุมาก 100-200 ปีก็เคยเจอมาแล้ว

ทุเรียนโบราณที่ผ่านการคัดเลือกพันธุ์ และปลูกเชิงการค้าในปัจจุบัน ถือว่าต้านทานโรคได้ค่อนข้างดี ทุเรียนบางสายพันธุ์มีเมล็ดลีบทั้งลูก บางชนิดมีเนื้อสีอ่อน ฯลฯ นับว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับใช้ปลูกเป็นต้นตอในเรื่องวิจัยปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนลูกผสมของศูนย์แห่งนี้ เพื่อให้ได้ทุเรียนลูกผสมพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะเด่นตรงกับความต้องการของตลาดคือ เนื้อหนา รสชาติอร่อย เมล็ดลีบ กลิ่นอ่อน และต้านทานโรคแมลงได้ไปพร้อมๆ กัน

เมล็ดตายหรือเมล็ดลีบ

เสน่ห์ของทุเรียนพื้นเมืองโบราณ

ผอ.ศิริพร ได้พาทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้าน เดินชมจุดรวบรวมพันธุ์ทุเรียนโบราณ ที่มีอายุการปลูก 40-50 ปี ยกตัวอย่างเช่น ทุเรียนพันธุ์อีทุย ที่มีลักษณะเนื้อและผลเป็นรูปไข่ ผอ.ศิริพร กล่าวว่า ทุเรียนโบราณแต่ละสายพันธุ์ มีลักษณะแตกต่างกันเยอะ เช่น ขนาดผลเล็ก ผลกลาง ผลใหญ่ ลักษณะเนื้อสีเข้ม เนื้อสีอ่อน เรียกว่า สีใบลาน หรือเนื้อสีเหลืองเข้มก็มี

ทุเรียนพื้นบ้าน สายพันธุ์โบราณที่ปลูกในศูนย์แห่งนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มหายาก และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั้งสิ้น การเก็บรวบรวมพันธุ์ทุเรียนเหล่านี้ นักวิชาการของศูนย์ ต้องใช้เวลาและแรงกายแรงใจในการทำงานอย่างเต็มที่ เพราะเกษตรกรบางรายมีความหวงแหนสายพันธุ์ทุเรียนโบราณของตัวเองอยู่พอสมควร นักวิชาการต้องชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับภารกิจการรวบรวมพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนในครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและอยู่ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อพวกเขาเข้าใจแล้ว ก็จะได้รับความร่วมมืออย่างดีในเวลาต่อมา

ทุกวันนี้ นักวิชาการของศูนย์ได้เดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อเก็บรวบรวมสายพันธุ์ทุเรียนจากแหล่งพันธุกรรมดั้งเดิม เช่น จังหวัดนนทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด อุตรดิตถ์ สุโขทัย กาญจนบุรี ภาคใต้ ก็เก็บรวบรวมพันธุ์จนถึงจังหวัดยะลาแล้ว หากเจ้าของสวนทุเรียนแห่งใดที่มีสายพันธุ์ทุเรียนโบราณปลูกอยู่และประสงค์บริจาคต้นพันธุ์ เพื่อให้ทางศูนย์เก็บรวบรวมสายพันธุ์ไว้ ก็ยินดีอย่างยิ่ง เพื่อร่วมกันอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนพื้นบ้านของไทยให้คงอยู่เป็นมรดกแก่ลูกหลานต่อไป

หมอนทองอยู่ในกลุ่มกำปั่น

ทางศูนย์มองว่า สายพันธุ์ทุเรียนของไทยคือ สมบัติของแผ่นดิน เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทอง นับเป็นสินค้าส่งออกของประเทศ สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศจำนวนมหาศาลต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน เพราะทุเรียนพันธุ์หมอนทองให้ผลผลิตคุณภาพดี เหมาะสำหรับรับประทานสดและแปรรูป เกษตรกรนิยมปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นแปลงใหญ่ หากเราต้องการรักษาแชมป์การส่งออกทุเรียนของไทย ก็ต้องมีสายพันธุ์ทุเรียนที่ดีสำหรับใช้ปลูกเพื่อการค้า ดังนั้น พันธุกรรมทุเรียนโบราณของไทยไม่ต้องห่วงว่าจะสูญพันธุ์เพราะมีการปลูกสำรองไว้แล้ว

 

ทุเรียนพันธุ์โบราณคืนถิ่นเมืองนนท์

ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีได้ปลูกเก็บรักษาพันธุ์ทุเรียนกว่า 60 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมของจังหวัดนนทบุรีที่มีลักษณะเด่น เช่น พันธุ์การะเกด พันธุ์ย่ำมะหวาด พันธุ์จอกลอย พันธุ์เมล็ดในยายปรางค์ ฯลฯ ปัญหามหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ปลูกทุเรียนของจังหวัดนนทบุรีกว่า 2,000 ไร่ เหลือรอดอยู่เพียง 40 กว่าไร่เท่านั้น

ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน จึงได้เข้าไปเก็บกู้ยอดพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมในตำบลบางศรีทอง ตำบลวัดชะลอ อำเภอบางกรวย ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ และตำบลไทรม้า ตำบลบางรักน้อย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งสามารถเก็บกู้ได้ 17 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์กบก้านเหลือง พันธุ์สาวน้อย พันธุ์กบตาเฒ่า พันธุ์ทองย้อยฉัตร พันธุ์กระดุมเขียว พันธุ์แดงรัศมี พันธุ์แดงรัศมี (สว่างจิตร) พันธุ์กบหัวสิงห์ พันธุ์ลวงหางสิงห์ พันธุ์กระเทยเนื้อเหลือง พันธุ์กบพวง พันธุ์กบสีนวล พันธุ์กบจำปา พันธุ์กบตาเหมย พันธุ์กำปั่นเจ้ากรม พันธุ์เจ้าเงาะ และพันธุ์กระดุมสีนาค

ทางศูนย์ได้ขยายพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองดั้งเดิม จากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในส่วนที่เก็บกู้ระหว่างน้ำท่วม ส่งคืนให้กับเกษตรกรชาวสวนนนทบุรีมากว่า 25,000 ต้น ได้แก่ กบสุวรรณ กบแม่เฒ่า จอกลอย นกหยิบ กบชายน้ำ สาวชมเห็ด ยินดี กำปั่นขาว กบหน้าศาล กบตาขำ ย่ำมะหวาด ก้านยาวสีนาค เม็ดในยายปรางค์ ฝอยทอง อีงอน เขียวตำลึง กำปั่นพวง ก้านยาว เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรนำไปปลูกทดแทนพื้นที่เดิมได้ประมาณ 1,000 ไร่

 

ผอ.ศิริพร พาพิธีกรรายการตลาดสดพระราม 4 เยี่ยมชมสวนทุเรียน ( ภาพจากศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี )

กระจายทุเรียนโบราณพันธุ์ดีสู่สังคม

ผอ.ศิริพร กล่าวต่อไปว่า ภารกิจการอนุรักษ์สายพันธุ์ทุเรียน ช่วยให้เรามีพันธุกรรมทุเรียนจำนวนมากและหลากหลายสำหรับใช้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนลูกผสมในอนาคต ที่ผ่านมาทางศูนย์จะปลูกขยายพันธุ์และกระจายพันธุ์ทุเรียนโบราณที่มีรสชาติดีจำนวนหมื่นต้นให้แก่เกษตรกรที่สนใจปลูกทุเรียนโบราณเชิงการค้า รวมทั้งแจกจ่ายพันธุ์ทุเรียนโบราณให้กับหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่มีประสงค์ปลูกทุเรียนโบราณเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ทุเรียนให้เกิดความหลากหลายด้วยเช่นกัน

ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี มีศักยภาพในการผลิตต้นทุเรียนพันธุ์แท้ คุณภาพดี ปลอดโรคโคนเน่า และจำหน่ายกิ่งพันธุ์คุณภาพดีในราคาราชการ ซึ่งมีราคาถูกมาก เพียงแค่ต้นละ 25 บาท (ตลาดทั่วไปขายต้นละ 200 บาท) เพราะทางศูนย์ไม่ได้มองผลกำไรหรือขาดทุน แต่ต้องการกระจายพันธุ์ดีให้เกษตรกรนำไปปลูก

ผอ.ศิริพร กล่าวว่า ทุกครั้งเปิดจำหน่ายกิ่งพันธุ์ จะมีเกษตรกรเข้าคิวขอซื้อกิ่งพันธุ์ทุเรียนเป็นจำนวนมาก (จำกัดสิทธิ์การซื้อได้เพียงรายละไม่เกิน 25 ต้น) โดยเก็บรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่มาซื้อพันธุ์ทุเรียนโบราณทุกรายว่า ซื้อไปกี่ต้น นำไปปลูกที่ไหนบ้าง เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเรื่องการกระจายทุเรียนพันธุ์โบราณคุณภาพดี หากในอนาคต เกิดปัญหาเรื่องพันธุกรรมทุเรียน ทางศูนย์ก็จะได้มีข้อมูลว่าจะสามารถหาแหล่งทุเรียนพันธุ์ดีได้จากที่ไหนได้บ้าง

สำหรับปีนี้กรมวิชาการเกษตร ประกาศปรับราคาจำหน่ายกิ่งพันธุ์เพิ่มขึ้นเป็นต้นละ 50 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและไม่ให้แตกต่างจากราคาท้องตลาดมากนัก ทั้งนี้ ทางศูนย์จะเปิดจำหน่ายกิ่งพันธุ์ทุเรียนโบราณให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมความเคลื่อนไหวของศูนย์ได้ทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก “ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี เลขที่ 63 หมู่ที่ 6 ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี โทร. (039) 397-030, (039) 397-146 และ http://www.doa.go.th/hrc/chantaburi

 เจออากาศแปรปรวน ผลผลิตทุเรียนมีน้อย         

ผอ.ศิริพร กล่าวว่า โดยปกติ ทางศูนย์จะจัดกิจกรรมชิมทุเรียนพันธุ์โบราณ ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักทุเรียนโบราณสายพันธุ์ต่างๆ เป็นประจำทุกปี แต่เนื่องจากปีนี้ ประสบภาวะอากาศแปรปรวน เจอฝนตกตลอด ในช่วงที่ต้นทุเรียนกำลังออกดอก ติดผล ทำให้ต้นทุเรียนติดผลน้อยมากในปีนี้ ผลผลิตที่ได้จะใช้เก็บข้อมูลงานวิจัยเป็นหลัก ส่วนกิจกรรมชิมทุเรียนพันธุ์โบราณคงต้องของดไปสักปีหนึ่งก่อน เชื่อว่า ปีหน้าแปลงปลูกทุเรียนของศูนย์น่าจะให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น จึงค่อยเปิดให้ชิมทุเรียนโบราณตามปกติ

สำหรับผู้สนใจเรื่องทุเรียนพันธุ์โบราณสามารถแวะเยี่ยมชมความมหัศจรรย์พันธุ์ทุเรียนโบราณหลากหลายสายพันธุ์ ของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีได้ในงาน “เกษตรมหัศจรรย์ 2561” จัดโดยนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ณ บริเวณสกายฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ระหว่างวันที่ 24-27 พฤษภาคม 2561