“มะขามหวาน” ตำบลซับเปิบ อีกหนึ่งแหล่งมะขามหวานคุณภาพดี ที่เพชรบูรณ์ (ตอนที่ 3)

มะขามหวานพันธุ์ใหม่ “เพชรซับเปิบ”
รสชาติหอม หวาน เปลือกหนา และทนต่อเชื้อรา

คุณคนึง กองศรี อยู่บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 6 ตำบลซับเปิบ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. (087) 319-5210 เจ้าของสวนมะขามหวานพันธุ์ “เพชรซับเปิบ” ที่มารับช่วงสวนมะขามหวานต่อจากคุณพ่อ

คุณพ่อคล้าย ต้นตำรับที่ปลูกมะขามหวานเพชรซับเปิบ
คุณคนึง กองศรี กับมะขามหวานเพชรซับเปิบคัดพิเศษ จำหน่ายกิโลกรัมละ 300 บาท

โดยคุณคนึง เล่าว่า มะขามพันธุ์ “เพชรซับเปิบ” มีอายุต้นกว่า 30 ปีแล้ว มะขามหวานต้นนี้เกิดจากที่คุณพ่อของตนเอง นำเมล็ดของมะขามหวานพันธุ์อินทผลัมมาเพาะเมล็ดแล้วนำต้นไปปลูกไว้ที่สวน ต่อมาพบว่ามะขามต้นดังกล่าวมีลักษณะที่ผิดแปลกกว่าต้นอื่น ฝักใหญ่และยาว รสชาติหวานหอม ไม่เหมือนกับมะขามหวานสายพันธุ์ที่รู้จัก และตั้งชื่อว่าพันธุ์ เพชรซับเปิบ และได้ขอรับรองพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

. มะขามหวานเพชรซับเปิบ ได้รับรางวัลที่ 1 ในงานประกวดมะขามหวานเพชรบูรณ์ 2561

คุณคนึง กองศรี อธิบายว่า ลักษณะเด่นมะขามหวานพันธุ์ใหม่ “เพชรซับเปิบ” คือ ฝักมีความยาวมาก โดยถ้าฝักมีความสมบูรณ์และต้นมะขามได้อายุ ฝักจะมีความยาวเฉลี่ย 15-18 เซนติเมตร ฝักมีความโค้งเล็กน้อย ฝักมีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อมีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อมาก เนื้อเหนียวนุ่มหนึบ มีรสชาติหวานหอมเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมาก (ซึ่งการันตีจากการได้รับรางวัลในงานประกวดมะขามหวานประจำปีของจังหวัดเพชรบูรณ์ อย่างในปี 2561 มะขามหวานเพชรซับเปิบ ก็คว้ารางวัลที่ 1 ในประเภทมะขามหวานสายพันธุ์อื่นๆ ที่ต้องไปแข่งขันกับผู้ที่ส่งเข้าประกวดกว่า 50 ตัวอย่าง)

เพชรซับเปิบคัดพิเศษ จำหน่ายกิโลกรัมละ 300 บาท
มะขามหวานเพชรซับเปิบเกรดรองลงมา จำหน่ายกิโลกรัมละ 100-150 บาท

มะขามหวานพันธุ์ “เพชรซับเปิบ” ยังมีการออกดอกและติดผลดก เปลือกจะค่อนข้างหนา ซึ่งถือว่าเป็นข้อดี ในเรื่องของการทนต่อการขนส่ง เปลือกมะขามไม่กรอบแตกหรือหักได้ง่าย

จุดเด่นอีกข้อที่สำคัญคือ เป็นสายพันธุ์มะขามที่ทนต่อเชื้อรา มีความเสี่ยงเรื่องเชื้อราน้อยมาก ถ้าเทียบกับมะขามหวานสายพันธุ์อื่นๆ ที่เมื่อผลผลิตเริ่มสุกแก่จะเก็บได้ ถ้ามีฝนหลงฤดูตกลงมาซึ่งมักจะเกิดขึ้นทุกปี มักจะสร้างความเสียหายให้มะขามหวานอย่างมาก  เนื่องจากความชื้นจากฝนจะทำให้เชื้อราเกิดขึ้นง่ายกับเนื้อมะขามหวานที่มีความหวานสูงได้

ยกตัวอย่าง มะขามหวานประกายทอง ที่มีลักษณะประจำพันธุ์คือ เปลือกบางมาก การเก็บเกี่ยว การขนย้าย ต้องมีความระมัดระวัง หรือเมื่อเจอฝนตกช่วงที่ฝักมะขามหวานกำลังจะสุก มักจะสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งเปลือกมะขามมีความบางทำให้น้ำหรือความชื้นผ่านเข้าไปในฝักได้ง่ายนั่นเอง แต่มะขามหวานเพชรซับเปิบมีความได้เปรียบเรื่องของเปลือกที่หนา ทำให้เรื่องปัญหาเชื้อรามีน้อยมากนั่นเอง คุณคนึง อธิบาย

คุณคนึง เล่าว่า ตอนนี้ครอบครัวตนเองทำสวนมะขามหวานเป็นหลัก มีพื้นที่ปลูกรวมประมาณ 40 ไร่ ก็ปลูกมะขามหลากหลายสายพันธุ์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ในแต่ละยุคก็จะมีมะขามหวานสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดก็ต้องหาซื้อมาปลูกตามนิสัยของเกษตรกร เช่น พันธุ์ประกายทอง สีทอง สีชมภู

และที่เน้นปลูกมากเป็นพิเศษคือ สายพันธุ์ “เพชรซับเปิบ” ที่เป็นสายพันธุ์ของครอบครัว ซึ่งราคาผลผลิตค่อนข้างดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ในขณะนี้คือ ขายรวมไม่คัดฝัก กิโลกรัมละ 100-150 บาท แต่ถ้าแบบคัดเกรดฝักสวย ก็ราคาสูงขึ้น คือ 150-300 บาท มีลูกค้าที่เคยรับประทานสั่งจองมาล่วงหน้าทุกปี

เพชรซับเปิบ ฝักค่อนข้างยาวมาก

มะขามหวาน “เพชรซับเปิบ” หลังจากปลูกได้ 4-5 ปี ก็จะเริ่มให้ผลผลิตเหมือนกับมะขามหวานสายพันธุ์อื่นๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการดูแลของเกษตรกรด้วย อย่างปีที่ 4 ก็อาจจะให้ผลผลิตไม่มาก 5-10 กิโลกรัม ต่อต้น และรูปทรงของฝักก็จะไม่ค่อยยาวสมบูรณ์มากนัก แต่ในปีที่ 5-6 ก็จะดีขึ้นตามลำดับ ทั้งผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวและรูปทรงของฝักก็จะสวยสมบูรณ์ตามสายพันธุ์

มะขามหวานเพชรซับเปิบ รสหวาน หอม รับประทานอร่อยมาก

การดูแลรักษามะขามหวาน

คุณคนึง อธิบายว่า การให้น้ำ ถึงแม้ว่ามะขามจะเป็นพืชที่ทนความแห้งแล้งได้ดีก็จริง แต่ควรที่จะได้มีการเตรียมการเรื่องน้ำด้วยในระยะปลูกใหม่ๆ หากฝนไม่ตกหรือตกน้อย จำเป็นต้องรดน้ำทุกๆ วัน ประมาณ 1 สัปดาห์ จนกว่าต้นจะตั้งตัวได้

จากนั้นจึงเว้นเวลาการรดน้ำให้ห่างกว่าเดิม อาจจะเป็น 3 หรือ 7 วัน ต่อครั้ง โดยปกติพออายุ 1 ปี ก็หยุดการให้น้ำได้ สำหรับมะขามหวานที่โตแล้วพร้อมที่จะติดฝัก ธรรมชาติหรือนิสัยของมะขามต้องการพักตัวมาก หรือให้การกระทบแล้งจัดๆ ตลอดฤดูร้อน แล้วได้น้ำได้ฝนเต็มที่ตลอดฤดูฝน เก็บฝักหน้าหนาว ถึงต้นหน้าแล้ง แล้วพักตัวหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เช่นนี้

ดังนั้น การให้น้ำมะขามจึงต้องทำให้สอดคล้องกับวัฏจักรดังกล่าว คือเมื่อมะขามหวานแตกใบอ่อน หรือก่อนแตกใบอ่อน (หลังผ่านการทิ้งใบหมดแล้ว) ช่วงนี้เป็นช่วงของการเจริญทางกิ่งและใบซึ่งต้องการน้ำมากอยู่ในระหว่างช่วงปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม

หากช่วงนี้ฝนไม่ตกจะต้องมีการให้น้ำอย่างเต็มที่ (หากเป็นสวนเก่าเคยมีการเก็บเกี่ยวมาแล้ว เมื่อเก็บเกี่ยวฝักเสร็จก็ปล่อยให้มะขามหวานพักตัวไม่ต้องรดน้ำจนกว่ามะขามผลัดใบหมดทั้งต้นแล้วผลิใบอ่อน)ช่วงนี้อย่าให้ขาดน้ำอย่างเด็ดขาด

หลังจากนั้นใบมะขามหวานจะเริ่มแก่และเริ่มออกดอก ขณะที่ออกดอกให้น้ำไปเรื่อยๆ พอดอกเริ่มบานควรลดการให้น้ำลงมา อาจรดวันเว้นวัน หรือหยุดให้น้ำสัก 2-3 วัน จนกว่าผสมเกสรติด จึงค่อยๆ ให้น้ำอีกครั้ง

การให้น้ำต้องค่อยๆ ให้ทีละน้อยไปก่อน อย่าปล่อยให้แห้งเกินไปแล้วรดน้ำทันทีทันใด เพราะจะทำให้ปรับตัวไม่ทัน ทำให้ดอกร่วงได้ หมายความว่าช่วงออกดอกนี้ถ้าขาดน้ำหรือน้ำมากไปทันทีทันใดก็เป็นเหตุให้ดอกร่วงได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้มะขามที่ปลูกอยู่มักจะได้รับน้ำฝนธรรมชาติอยู่แล้ว (ปลายพฤษภาคม) พอเข้าปลายเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ฝนก็มักจะทิ้งช่วง จำเป็นต้องให้น้ำในระยะที่ออกดอกผสมเกสรและให้น้ำด้วย

จากการสังเกตพบว่า ถ้าปีใดฝนแรกมาช้า การพักตัวของมะขามหวานจะนาน การแตกใบอ่อนจะออกดอกช้ากว่าปกติ หรือถ้าฝนตกเป็นช่วงๆ มาตลอด ทำให้เกิดดอกขึ้นมาหลายรุ่น เป็นปัญหาต่อการรักษาดอกและฝักแต่ละรุ่นจะสุกแก่ไม่พร้อมกัน

ดังนั้น ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ถ้าฝนไม่ตกหรือตกไม่เพียงพอ จำเป็นต้องให้น้ำอย่างเต็มที่ ช่วงต่อไปเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างติดฝักอ่อน และตลอดช่วงของฤดูการเจริญเติบโตของฝัก ขณะที่ติดฝักอ่อนใหม่ๆ จะร่วงมาก

ดังนั้น ต้องให้น้ำมากเพื่อให้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย หมายความว่า หลังจากที่ดอกมะขามหวานผสมติดและเริ่มติดผลอ่อน จำเป็นต้องให้น้ำตลอดเวลาถ้าฝนไม่ตก ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ฝักร่วงหรือฝักแตก

มะขามเพชรซับเปิบที่ติดผลบนต้น

เพราะหากปล่อยให้ขาดน้ำหรือให้น้ำไม่สม่ำเสมอพอเข้าช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เป็นช่วงฝนใหญ่มา ทำให้ฝักมะขามได้รับน้ำมากเกินไปทันทีทันใด ฝักเกิดการขยายตัวไม่ทัน ทำให้ฝักแตกมาก โดยเฉพาะพันธุ์หมื่นจง แต่พอหลังจากติดฝัก เมล็ดเริ่มเปลี่ยนสีน้ำตาลเป็นสีดำ ให้หยุดการให้น้ำโดยเด็ดขาด ปล่อยให้ฝักแก่จัดไปจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว

การใส่ปุ๋ยเพิ่มความหวาน

คุณคนึง แนะนำว่า จะเน้นการใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความหวานในช่วงที่เนื้อมะขามเริ่มเปลี่ยนสี หรือเรียกมะขามหมู (มะขามหวานระยะเนื้อกึ่งสุกกึ่งดิบ) โดยเลือกใส่ปุ๋ยเคมีที่มีสูตรตัวท้ายสูง เช่น สูตร 13-13-21, 8-24-24 (แต่มักจะมีการให้ปุ๋ย สูตร 8-24-24

เพราะจะช่วยให้ต้นได้สะสมไว้ก่อนพักต้นหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งต้นจะใช้สำหรับสร้างตาดอกในรุ่นปีการผลิตต่อไปด้วย) ที่จะช่วยเรื่องคุณภาพเนื้อและความหวานได้เป็นอย่างดี ระหว่างบำรุงผลกลางถึงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะช่วยให้ต้นได้รับฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ การบำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยวด้วยสูตรเร่งหวาน ทั้งทางใบและทางรากก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย ช่วงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวถ้าต้นได้รับไนโตรเจน (ปุ๋ย และน้ำ) มาก จะทำให้รสไม่หวานสนิทหรือติดเปรี้ยว เนื้อน้อยบาง รกมาก สุกช้า ผิวขรุขระ เปลือกหนาและสีเปลือกไม่สวย

ไม่ควรใส่ปุ๋ยคอกที่มีไนโตรเจนมาก เช่น มูลวัวเนื้อ มูลวัวนม มูลควาย เพราะจะทำให้ต้นได้รับไนโตรเจนมากจนเป็นเหตุให้ต้นเฝือใบ แตกใบอ่อนขณะออกดอกติดผล และมีรสเปรี้ยวได้

แนะนำให้ใส่ปุ๋ยคอกที่มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูง เช่น มูลไก่ไข่ มูลไก่เนื้อ มูลนกกระทา แล้วเสริมด้วยมูลค้างคาว แต่ก็ไม่ควรใส่มากเหมือนไม้ผลอื่นๆ เพราะนอกจากยังมีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบอยู่บ้างแล้ว

งานตัดแต่งกิ่งมะขามหวาน

คุณคนึง อธิบายว่า มะขามหวานเป็นไม้ยืนต้นที่มีใบขนาดเล็ก จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องใบทึบจนแสงแดดส่องเข้าไปในทรงพุ่มไม่ได้ กับทั้งเป็นไม้ผลประเภททิ้งใบแก่จัดเองหลังจากได้ใบอ่อนชุดใหม่เข้ามาแทนแล้ว ดังนั้น การตัดแต่งกิ่งจะกระทำก็ต่อเมื่อต้องการควบคุมขนาดและรูปทรงของทรงพุ่มเท่านั้น ซึ่งจะไม่นิยมตัดแต่งกิ่งหนักเหมือนมะม่วง เพียงตัดแต่งกิ่งในทรงพุ่มออกบ้างเท่านั้นก็เพียงพอ

หรือหากจำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งจริงๆ ก็ให้ตัดแต่งเพื่อให้เกิดการแตกยอดใหม่ โดยตัดกิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้ กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรคก็พอ มะขามหวานออกดอกติดผลจากกิ่งแขนงที่ออกมาจากกิ่งประธานทำมุมกว้างกับลำต้นได้ดีกว่ากิ่งแขนงที่ออกมาจากกิ่งประธานทำมุมแคบกับลำต้น

ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม หรือหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว (ช่วงพักต้น) จะตัดแต่งกิ่งเลยก็ได้ แต่ตัดแต่งแล้วไม่ต้องให้น้ำ ปล่อยต้นให้กระทบแล้งตลอดเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม จนหน้าดินแตกระแหงอย่างนั้น กระทั่งถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม (เริ่มหน้าฝน) จึงเริ่มบำรุงเรียกใบอ่อน ถ้าไม่มีฝนตกก็จะต้องให้น้ำแบบวันต่อวันพร้อมกับให้ปุ๋ยทั้งทางรากและทางใบ

หลังจากที่ต้นได้ผ่านความแห้งแล้ง (พักต้น) อย่างหนักมาก่อนแล้ว เมื่อได้รับน้ำและการบำรุงก็จะแตกใบอ่อนชุดใหม่ทันที นิสัยการออกดอกของมะขามหวานไม่จำเป็นต้องกระทบหนาว แต่ถ้าตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนช่วงต้นหน้าฝนแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น

ปัญหาของมะขามหวาน คือโรคราในฝัก

เป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร ตอนที่เกษตรกรเก็บผลผลิตออกมาขาย แต่มะขามเป็นรา เมื่อผู้บริโภคซื้อไปแล้วเจอรา เกิดความไม่พอใจ พอเจอราก็ไม่ซื้อ ส่งผลให้เกษตรกรขายของไม่ได้ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้เกษตรกรไม่อยากปลูกต่อ มะขามหวาน พันธุ์ “ประกายทอง” เป็นพันธุ์ที่มีปัญหาเรื่องรามากที่สุด เนื่องจากเปลือกบาง รสชาติหวานจัด กลิ่นหอม เนื้อนุ่ม มีลักษณะเป็นทรายสีน้ำผึ้งออกทรายแดง เมล็ดเล็ก เยื่อหุ้มเมล็ดบาง

ออกดอกเดือนพฤษภาคม สามารถเก็บเกี่ยวฝักได้ประมาณปลายเดือนธันวาคม ด้วยข้อเสียเรื่องเปลือกบาง อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อราหลังการเก็บเกี่ยวฝักต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากเปลือกแตกจะทำให้เสียราคา

ฝักมะขามมีรก 3-4 เส้น ต่อฝัก ทำให้รับประทานยาก
และเนื่องจากเป็นมะขามที่มีฝักขนาดใหญ่ และติดฝักดกสม่ำเสมอจึงต้องให้ปุ๋ยอย่างเพียงพอเพื่อไม่ให้รสชาติเปลี่ยนแปลง จะพบได้ว่าเมื่อประกายทองออกมา ต้องมีรา จนกลายเป็นคำขวัญว่า ประกายทองดีต้องมีรา

มะขามหวานประกายทองเป็นพันธุ์ที่มีเนื้อเยอะสุด รสชาติหวานสุด และก็รามากสุด พันธุ์อื่นราไม่ขึ้นเพราะออกดอกช้ากว่า แต่พันธุ์ประกายทองออกดอกตั้งแต่หน้าฝน ไหลไปตามหยดน้ำบนกิ่งไปยังฝักมะขามเข้าทางขั้วผลหรือผ่านทางเปลือกฝัก เพราะฉะนั้นเกษตรกรจึงไม่สนใจพันธุ์นี้ หันมาปลูกพันธุ์อื่นแทน

แต่พันธุ์ประกายทองถ้าจะแก้ไขปัญหาคือ ใช้สารป้องกันและกำจัดโรคพืชที่เหมาะสม ซึ่งตัวที่ได้ทดลองและได้ผลดีที่สุดคือ “สารเเมนโคเซบ” วิธีใช้สารฉีดพ่นป้องกันกำจัดเชื้อราด้วยเมนโคเซบ (เช่น แมนเซท-ดี) ฉีดพ่นสารตั้งแต่ช่วงเริ่มออกดอก 1 เดือน ฉีดพ่น 1 ครั้ง ฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ก่อนเก็บเกี่ยวจะได้ผลค่อนข้างดีหรือตามความเหมาะสม

ข้อดีเพชรซับเปิบ นอกจากรสชาติหวาน หอมแล้ว เปลือกจะหนาทนต่อการเข้าทำลายของเชื้อราดีมาก

การเก็บฝักมะขามหวาน

คุณคนึง อธิบายว่า ต้องพิจารณาดูเป็นต้นๆ หรือเป็นฝักๆ ไป บางทีอาจจะแก่เก็บได้ไม่พร้อมกัน ฝักปลายๆ หรือด้านนอกพุ่มมักจะแก่ก่อนโดยสังเกตจากสีของฝัก ความเหี่ยวของก้านฝัก และลักษณะอื่นๆ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญ หรือประสบการณ์ จะต้องเก็บทีละฝัก โดยใช้มีดหรือกรรไกรตัดออกจากต้น

นำบันไดออกเก็บมะขามหวานเพชรซับเปิบส่งลูกค้าที่สั่งจองเอาไว้
ปีนเก็บมะขามหวานเพชรซับเปิบต้นแม่อายุกว่า 30 ปี

นำฝักมะขามหวานที่เก็บได้ไปกองผึ่งตากแดดไว้สัก 2-3 วัน เพื่อให้ความชื้นในฝักมีอยู่พอสมควรลดลง จึงตัดแต่งก้านหรือขั้วฝักมะขาม แล้วบรรจุถุงตาข่ายหรือกล่องจำหน่ายได้

เพชรซับเปิบ รับรางวัลชนะเลิศมะขาม ในการประกวดมะขามหวานเพชรบูรณ์ 2561