“ ชะพลู” พืชผักสารพัดประโยชน์ คู่ครัวไทย

“ ชะพลู”  เป็นพืชคลุมดินที่นิยมปลูกกันทั่วประเทศ ชะพลูมีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น ผักพลูนก พลูลิง ปูลิง ปูลิงนก ผักปูนา ผักนางเลิด  มองผิวเผิน บางคนอาจจำสับสนระหว่าง  ชะพลู กับใบพลู  ความจริงแล้ว ชะพลูและพลู  เป็นพืชคนละชนิดกัน ชะพลู เป็นพืชในวงศ์พริกไทย ใบไม่มีรสจัดเท่ากับพลูแถมยังมีขนาดใบที่เล็กกว่าด้วย

ประโยชน์ของ ชะพลู

ชะพลู เป็นพืชสมุนไพรที่มากคุณประโยชน์  รสเผ็ดร้อนของใบชะพลู ช่วยทำให้เจริญอาหารมากขึ้น ใบชะพลูมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยยับยั้งและชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง สารเบต้าแคโรทีนในปริมาณมาก ช่วยบำรุงสายตา แถมอุดมไปด้วยวิตามินเอ ธาตุเหล็ก ธาตุฟอสฟอรัส คลอโรฟิลล์ เส้นใย ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย คนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ จึงนิยมใช้ ชะพลู เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ใช้บำรุงธาตุ ขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับเสมหะ ฯลฯ เนื่องจาก ใบชะพลู  มีแคลเซียมในปริมาณสูงจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานใบชะพลูในปริมาณมากหรือทานติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากแคลเซียมในใบชะพลูจะเปลี่ยนเป็น แคลเซียมออกซาเลต (Oxalate) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคนิ่วในไตได้

สารพัดเมนูความอร่อยกับใบชะพลู  

ใบชะพลู เป็นผักคู่ครัวไทยมาเนิ่นนาน  สามารถนำไปปรุงอาหารได้มากกว่า 10 เมนู เช่น แกงคั่วหอยขมใส่ใบชะพลู  ไข่เจียวใบชะพลู(มังสวิรัติ) แกงหน่อไม้รวกใบชะพลู  แกงคั่วปลาช่อนใบชะพลู  หมูทอดใบชะพลู แกงทูน่าใบชะพลู  ยำตะไคร้ใบชะพลู ยำใบชะพลูกุ้งสด  แกงคั่วหมูย่างใบชะพลู ยำใบชะพลูทอดกรอบ  หมูย่างใบชะพลู  ฯลฯ นอกจากนี้ยังนิยมใช้ใบชะพลู เป็นผักเครื่องเคียงในเมนูข้าวยำปักษ์ใต้  ยำแหนมสดข้าวพองกรอบ  เมนูเมี่ยงคำ  เป็นต้น

การปลูกดูแล 

ชะพลู เป็นผักสวนครัวที่ปลูกดูแลง่าย   นิยมขยายพันธุ์ต้นชะพลูด้วยวิธีการตัดหรือเด็ดกิ่งก้านส่วนยอดของต้นชะพลู โดยให้มีใบติดอยู่สัก 2-3 ใบ นำมาปักชำในกระถางที่มีดินร่วนซุย ปลูกในระยะห่าง 10-15 เซนติเมตร วางกระถางในบริเวณที่ร่มรำไร รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ชะพลูจะออกรากและเติบโตเป็นต้นภายใน 1-2 เดือน  ควรใส่ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกบำรุงต้นชะพลู ทุก ๆ 3 เดือน

“  อาการใบหงิก ” จุดอ่อนที่ต้องระวัง

โดยทั่วไป  ชะพลู  มักไม่มีโรคหรือแมลงศัตรูเข้าทำลาย แต่ในช่วงฤดูแล้ง ต้นชะพลูอาจเจอปัญหา อาการใบหงิก  จากการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ และ ไรขาว

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงศัตรูพืชที่มีขนาดเล็กมาก ชอบเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงที่บริเวณใต้ใบพืช การระบาดจะรุนแรงในช่วงแล้ง เข้าดูดน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน และใบอ่อนของพืช ทำให้ต้นแคระแกร็น ใบห่อม้วนขึ้นด้านบน ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของพืชชนิดต่างๆ ลดลง

เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ให้ใช้มือจุ่มลงในน้ำแล้วลูบที่บริเวณใต้ใบ หากมีแมลงขนาดเล็กสีน้ำตาลติดมือขึ้นมา แสดงว่าเพลี้ยไฟเริ่มระบาด แก้ไขโดยฉีดน้ำหรือพ่นน้ำให้ต้นชะพลู เพื่อเพิ่มความชื้นให้สูงขึ้น ฉีดซ้ำอีก 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะบริเวณใต้ใบ ในที่สุดเพลี้ยไฟก็จะบินหนีไปหากินที่อื่น กรณีที่แสดงอาการเพียงเล็กน้อยให้เด็ดทิ้งทั้งต้น และนำไปเผาทำลาย ป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟมากขึ้น   หากเกิดการระบาดรุนแรง ให้ฉีดพ่นด้วย เซฟวิน 85 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ให้ทั่วทรงพุ่ม โดยเฉพาะใต้ใบและให้งดใช้ก่อนเก็บผลผลิตไปบริเวณอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ไรขาว เป็นแมลงศัตรูพืช ประเภท 8 ขา เช่นเดียวกับแมงมุม แต่มีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็น ไรขาวมักเข้าทำลายต้นพืชในช่วงที่มีฝนตกชุก อากาศชื้นที่บริเวณตาดอกและยอดอ่อน ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตน้อยลง ลักษณะของการทำลาย จะทำให้ใบพืชเรียวแหลม ขอบใบม้วนงอลงด้านล่าง และยอดหงิกงอเป็นฝอย

เมื่อพบการระบาดยังไม่รุนแรง ให้เด็ดส่วนที่มีการระบาดเผาทำลายทิ้ง หากพบการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยกำมะถันผง มีผู้ผลิตจำหน่ายเป็นการค้า ได้แก่ ไธโอวิท 80 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยูพี หรืออิโคซัลฟ์ 80 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60-80 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน การระบาดของไรขาวจะหมดไปและควรงดใช้สารดังกล่าวก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 สัปดาห์