การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

การฉีดพ่นสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีผลกระทบหลายด้าน เช่น สุขอนามัยของผู้ใช้และผู้บริโภค การตกค้างในผลผลิตและสภาพแวดล้อม ศัตรูพืชเกิดความต้านทานและระบาดเพิ่มขึ้น ทำลายสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ เกิดปัญหาการค้า-ส่งออกสินค้าเกษตร เป็นต้น และพิษของสารเคมีนั้น เกิดได้ 2 แบบ คือ แบบที่แสดงอาการทันที คือพิษเฉียบพลัน (Acuse) หรืออาจมีการสะสมทีละน้อยจนถึงขนาดหนึ่งแล้วจึงแสดงอาการเป็นแบบพิษเรื้อรัง (Chronic)

สำหรับพิษเฉียบพลันเป็นพิษที่คนกลัว เพราะมองเห็นทันตาและมีอาการต่างๆ เช่น คอแห้ง อ่อนเพลีย/เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ แน่นหน้าอก/ปวดเสียดที่ยอดอก ชา ปวดแสบตา คันตา ตาพร่ามัว แสบจมูก เจ็บคอ ผิวหนังอักเสบ มึนงง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นช้า หวิว วาบหวาม ลำไส้บิดตัว ปวดท้อง กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง ชัก เหงื่อซึม น้ำลายฟูมปาก น้ำตาไหล ซึมลง หมดสติโคม่า ตับวาย ไตวาย เสียชีวิต เป็นต้น

สำหรับพิษเรื้อรัง ก็มีอันตรายน่ากลัวเช่นกัน เพราะจะส่งผลระยะยาว เช่น การพัฒนาการของสมองผิดปกติในวัยเจริญเติบโต ปอดเป็นผังผืด หงุดหงิด งุ่นง่าน ซึมเศร้า ความจำเสื่อม ผิวหนังแข็งด้าน ฯลฯ เป็นภัยเงียบที่น่ากลัว นอกจากนี้แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ ดังนั้น เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ด้วยการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน

 

หลักการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน

(Integrated Pest Management : IPM)

  1. ปลูกพืชให้แข็งแรง สมบูรณ์ สามารถทนทานต่อการทำลายของแมลงศัตรูพืชและโรคพืช โดยสายพันธุ์ดี เมล็ดพันธุ์ดี เตรียมพื้นที่เพาะปลูกดี ระยะปลูกเหมาะสม มีการปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการปุ๋ย การจัดการน้ำ และปลูกพืชหมุนเวียน
  2. ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ ทำให้รู้สถานการณ์และข้อมูลต่างๆ ในแปลงปลูกพืช ทราบชนิดและปริมาณศัตรูพืช/ศัตรูธรรมชาติ สามารถตัดสินใจในการเลือกวิธีการจัดการควบคุมศัตรูพืชและวางแผนป้องกันกำจัดศัตรูพืชทันต่อเหตุการณ์ได้
  3. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ทั้งตัวห้ำ ตัวเบียน และจุลินทรีย์ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีความปลอดภัย เช่น สารชีวภัณฑ์ สารสกัดธรรมชาติจากพืช รวมทั้งเพิ่มปริมาณศัตรูธรรมชาติโดยการผลิตขยายปลดปล่อย
  4. เกษตรกรเป็นผู้เชี่ยวชาญ/ชำนาญการ/ผู้จัดการที่ดีในการเลือกวิธีการควบคุมศัตรูพืชที่เหมาะสม โดยคำนึงการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ จำเพาะเจาะจงศัตรูเป้าหมาย ประหยัด ปลอดภัยและยั่งยืน

วิธีจัดการควบคุมศัตรูพืช ในระบบ IPM

  1. วิธีกล (Mechanical control) เช่น การห่อผล การดักจับทำลาย การใช้พลาสติก/ตองตึงคลุมแปลง กับดักเหยื่อล่อ/กาวเหนียว การใช้มุ้งตาข่าย
  2. วิธีกายภาพ (Physical control) เช่น การใช้แดดในการตากเมล็ดพันธุ์ การใช้รังสีกำจัดแมลงวันทอง การใช้แสงไฟหลอดสีน้ำเงิน-ดำ ล่อแมลงศัตรู
  3. วิธีเขตกรรม (Cultural control) เช่น การรวบรวมส่วนของพืชที่ถูกศัตรูพืชทำลายเผา การปลูกพืชสลับ พืชหมุนเวียน การปลูกพืชหลายชนิดและหมุนเวียน
  4. ใช้พันธุ์ต้านทาน (Pest Resistace control) เพื่อต้านทานโรคและแมลงต่างๆ
  5. ชีววิธี (Biological control) วิธีการทางชีววิธี เป็นวิธีการใช้ศัตรูธรรมชาติให้ควบคุมศัตรูพืช โดยอาศัยหลักการสมดุลธรรมชาติ วิธีการนี้ใช้ได้ผลในการควบคุมแมลงศัตรู โรคพืช และวัชพืชบางชนิด เช่น

การใช้ตัวห้ำ (Predators) คือ สัตว์หรือแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งที่กินสัตว์หรือแมลงอื่นเป็นอาหาร เช่น ด้วงดิน แมลงหางหนีบ มวนพิฆาต งู กบ ตั๊กแตน แมงมุม ด้วงเต่า มดแดง ฯลฯ

การใช้ตัวเบียน (Parasitods) คือ สิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเกาะกินอยู่ภายในหรือบนตัวสัตว์หรือแมลงอาศัย (host) ทำให้ host อ่อนแอและตายก่อนกำหนด สามารถเข้าทำลายได้ในทุกระยะการเจริญของสัตว์/แมลงที่อาศัยคือ ระยะไข่ ระยะตัวหนอน ดักแด้ ตัวเต็มวัย

การใช้ชีวภัณฑ์ ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมในแง่ของมลภาวะต่างๆ และเชื่อว่าเป็นวิธีการควบคุมศัตรูพืชได้ถาวรกว่าวิธีการอื่นๆ เช่น การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในดิน ได้แก่ โรครากเน่า โคนเน่า โรคเหี่ยว โรคใบไหม้ ใบจุด เป็นต้น การใช้เชื้อราบิวเวอเรีย ควบคุมแมลงศัตรูพืชมากกว่า 60 ชนิด เช่น เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยกระโดด หนอน เป็นต้น

การใช้เชื้อ Bt (Bacillus thuringiensis) ควบคุมหนอนกัดกินใบพืช หนอนคืบ หนอนใยผัก หนอนแก้วส้ม ด้วงหมัดผัก เป็นต้น

การใช้เชื้อ BS (Bacillus subtilis) ควบคุมแบคทีเรียและเชื้อรา โรครากเน่าเละ ใบจุด ดอกร่วงไม่ติดผล (ไม้ผล) เป็นต้น

การใช้ไวรัสควบคุมศัตรูพืช เช่น การจัดการหนอนคืบกะหล่ำปลี หนอนเจาะสมอฝ้าย เป็นต้น

การใช้ไส้เดือนฝอย ควบคุมแมลงศัตรู

  1. ใช้สารสกัดธรรมชาติควบคุมศัตรูพืช (Plant Natural Extacts M. control) พืชสมุนไพรหลายชนิด มีคุณสมบัติควบคุม/กำจัด/ไล่แมลงศัตรูพืช และกำจัดโรคพืชได้ เช่น สะเดา ข่า เสี้ยน ขมิ้นชัน บอระเพ็ด สาบเสือ หนอนตายหยาก หางไหล (โล่ติ๊น) ตะไคร้หอม ลูกตะโก ใบยูคาลิปตัส หัวไพล ใบมะรุม ฯลฯ
  2. ใช้กฎหมาย (Legal control) เช่น การกักกันพืช การนำเข้าศัตรูธรรมชาติ ประกาศกระทรวงฯ (พืช พาหะ เป็นสิ่งต้องห้าม)
  3. ใช้สารเคมี (Chemecal control) เป็นวิธีการสุดท้ายของการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM) เช่น การใช้สารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง สารป้องกันและกำจัดโรคพืช ฯลฯ เพราะการใช้สารเคมีมีผลกระทบข้างเคียงทางลบมากมาย

คุณนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM) เป็นการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน แก่เกษตรกร ทำให้ศัตรูพืชลดปริมาณในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตปลอดภัยได้คุณภาพ อีกทั้งปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีการดังกล่าวเกษตรกรสามารถเรียนรู้และสามารถทำและนำไปปฏิบัติได้ สนใจในรายละเอียด สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่  โทร. (089) 854-3344

“การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM) ไม่ได้ทำเพื่อเกษตรกร แต่เกษตรกรต้องทำโดยเกษตรกรเองเท่านั้น เพื่อควบคุมศัตรูพืชได้อย่างยั่งยืน”

ขอขอบคุณ คุณศุภศักดิ์ ศรีโสดา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และ คุณเจริญ ผัดยา ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่ ที่ให้ข้อมูลทางวิชาการ