น้ำว้าท่ายาง ชุมพร ปลูกและแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มได้ดี

“ทำสวนทุกอย่าง ต้องเน้นให้พืชมีลำต้นที่สมบูรณ์ด้วยการให้อาหาร ไม่ใช่รอเก็บแต่ผลผลิตเพียงอย่างเดียว”

คุณกิตติศักดิ์ กฤตโยภาส ข้าราชการบำนาญ ตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษ อยู่บ้านเลขที่ 44/1 หมู่ที่ 10 ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้าท่ายาง เริ่มปลูกกล้วยน้ำว้าท่ายางมาได้ประมาณ 3 ปี ภายหลังจากเกษียณอายุราชการ ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดจากสวนเก่าที่ไม่ได้รับการดูแลมานับ 10 ปี มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ปลูกกล้วยน้ำว้า 500 ต้น ผสมกับมะพร้าว และเลี้ยงปลาดุก ควบคู่กันไปภายในร่องสวน

คุณกิตติศักดิ์ เล่าว่า สภาพทางภูมิศาสตร์ของตำบลท่ายางมีเนื้อที่ติดกับทะเล ทำให้สภาพดินมีการทับถมจากตะกอนดินทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย สร้างให้พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นดินเหนียวเหมาะแก่การปลูกกล้วย

กล้วยน้ำว้าท่ายาง มีต้นกำเนิดอยู่ที่ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ถูกนำมาโดยชาวจังหวัดสมุทรสงคราม “คนเมืองใน” เป็นภาษาที่ชาวบ้านในท้องถิ่นใช้เรียกผู้นำกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์นี้มาปลูก เมื่อสืบค้นข้อมูลที่แท้จริงแล้วนั้นจะทราบได้ว่า กล้วยน้ำว้าท่ายาง เป็นกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง เมื่อถูกนำมาปลูกในเขตตำบลท่ายางแล้วเกิดผสมกับกล้วยสวนพื้นถิ่นจนกลายพันธุ์มาเป็น กล้วยน้ำว้าท่ายาง ในปัจจุบัน

โดยกล้วยน้ำว้าท่ายางมีจุดเด่นที่ลำต้น มีความสูงประมาณ 2-2.5 เมตร ลำต้นมีสีเขียวแกมเหลือง ให้ผลขนาดใหญ่ ลักษณะผลป้อมทรงกระบอก บริเวณส่วนปลายแหลม ผลดิบมีสีเขียวแกมขาวนวลเช่นเดียวกับกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์อื่น เมื่อสุกจะให้สีเหลืองนวล เนื้อเหนียวแน่นให้รสชาติหวานจัดอร่อยถูกปาก

คุณกิตติศักดิ์ ใช้วิธีการปลูกกล้วยน้ำว้าท่ายางด้วยการยกร่องปลูก ให้มีความกว้างประมาณ 6-12 เมตร เพื่อให้กล้วยสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ เว้นระยะห่างระหว่างต้น 2×2 เมตร ใช้ระยะเวลาตั้งแต่ปลูกจนออกปลีแรกประมาณ 14 เดือน ถัดไปประมาณ 6-8 เดือน จึงสามารถตัดเครือจำหน่ายได้ โดยใน 1 เครือ มี 7 หวี ให้น้ำหนักต่อเครือ ประมาณ 10-12 กิโลกรัม

การขยายพันธุ์ ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี จึงเริ่มแทงหน่อจากต้นแม่ไปปลูกใหม่ โดยเลือกหน่อที่มีความสมบูรณ์ส่วนโคนหน่อมีลักษณะอวบอ้วน ใช้เสียมแทงประมาณ 1-2 ครั้ง ให้ขาดออกจากต้นแม่ แต่พึงระวังไม่ให้หน่อกล้วยน้ำว้ามีความช้ำมากนัก จากนั้นให้นำไปปลูก โดยขุดหลุมให้มีความลึกประมาณ 20 เซนติเมตร แล้วจึงนำหน่อกล้วยลงปลูก

ด้วยตำบลท่ายาง เป็นแหล่งปลูกกล้วยที่อุดมสมบูรณ์ ดินดีน้ำถึงจึงส่งผลให้สามารถยืดระยะเวลาการเก็บเกี่ยวกล้วยต่อกอได้ไม่ต่ำกว่า 20 ปี หากดูแลได้ดีและมีลำต้นที่สมบูรณ์ สำหรับปุ๋ยที่ใส่บำรุงต้นนั้น คุณกิตติศักดิ์ ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี แต่เลือกใช้ธาตุอาหารที่สามารถแสวงหาได้ภายในท้องถิ่น อาศัยเพียงการซื้อเศษปลาที่หลงเหลือในการทำหัวน้ำปลาจากโรงงานนำมาโรยใส่บำรุงโคนต้น ประมาณปีละ 1 ครั้ง เพียงเท่านั้น

คุณกิตติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า “เนื่องจากกล้วยน้ำว้าท่ายางเป็นกล้วยที่ผสมกับกล้วยพันธุ์พื้นถิ่นทำให้มีความแข็งแรง ทนต่อโรคและแมลง ไม่มีแมลงศัตรูพืชรบกวนมากนัก แต่กลับกันต้องเน้นไปที่การกลบโคนต้นกล้วยด้วยดินเลนในร่องสวน เพื่อเสริมธาตุอาหารให้ต้นกล้วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคไส้เน่า (ตายพราย) หรือลำต้นไม่สมบูรณ์

หากต้นกล้วยมีลักษณะหัวลอยโผล่พ้นดินก็สามารถใช้ดินกลบโคลนเพื่อเสริมให้รากยึดติดกับหน้าดินได้มั่นคงมากขึ้น เพื่อป้องกันต้นกล้วยเอนล้ม หรือใช้เชือกผูกยึดไว้กับต้นมะพร้าว ซึ่งถือเป็นไปตามลักษณะของกล้วยเมื่อปลูกไปหลายๆ ปี แล้วลำต้นจะเริ่มเอนเข้าหาแดด ทำให้รากลอย ซึ่งทุกๆ ปี จะต้องสาดโคลนใส่โคนกล้วยเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว”

ส่วนการจำหน่ายกล้วยนั้น คุณกิตติศักดิ์ เลือกที่จะใช้วิธีการแปรรูปจำหน่ายแทนที่การส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ถือเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวด้วยการส่งกล้วยที่ได้จากสวนให้บุตรชาย (คุณสุทธิพงศ์) นำไปแปรรูปเป็นกล้วยน้ำว้าอบสร้างรายได้ต่อไป

 

แปรรูปกล้วยน้ำว้า สร้างรายได้

คุณสุทธิพงศ์ กฤตโยภาส ประธานกลุ่มกล้วยน้ำว้าท่ายาง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาปฐพีวิทยา กล่าวว่า “ก่อนเริ่มแปรรูปกล้วยน้ำว้าอบนั้น ได้ทดลองหาธุรกิจที่มีความเหมาะสมกับตนเองโดยใช้วิธีการเลือกทำในสิ่งที่ตนเองถนัด เช่น จัดต้นไม้ รับทำบายศรีไทย เปิดร้านอาหาร และแปรรูปกล้วยอบ โดยได้ทดลองทำทั้งหมดไปพร้อมๆ กัน เพื่อลองดูว่าธุรกิจใดมีความเหมาะสมกับตลาดมากที่สุด เมื่อทดลองทำไปได้ระยะหนึ่ง พบว่า กล้วยน้ำว้าท่ายาง มีความต้องการของตลาดมากที่สุด กอปรกับสามารถจัดหาวัตถุดิบได้ภายในท้องถิ่น รวมถึงจากสวนของตนเอง อีกทั้งยังมีรสชาติที่ดี โดยมีลักษณะเฉพาะที่ไส้เหลือง แกนไม่มี จึงนำมาสร้างจุดขายด้วยวิธีการแปรรูปเป็นกล้วยอบ”

ถือเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรจากสวนของตนเองและช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่นที่ปลูกกล้วยน้ำว้าท่ายางให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง มีตลาดส่งกล้วยในราคามาตรฐาน จึงเริ่มประกอบธุรกิจอย่างจริงจัง ภายใต้แบรนด์ “กล้วยบ้านก้อง” นำกล้วยนำว้าท่ายางมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยอบปลอดสารพิษ สร้างรายได้ในครอบครัว

ด้วยวิธีการเลือกรับซื้อกล้วยน้ำว้าที่ปลอดสารเคมีจากกลุ่มกล้วยน้ำว้าท่ายาง และจากแหล่งปลูก (ลูกสวน) ในตำบลท่ายางเพียงเท่านั้น โดยมีราคารับซื้ออยู่ที่ กิโลกรัมละ 8-10 บาท มักนิยมขายด้วยวิธีการชั่งแบ่งหวีแทนการชั่งขายยกเครือ โดยใช้การคัดกล้วยน้ำว้าที่มีรูปทรงเหมาะแก่การนำมาอบ ด้วยการสังเกตขนาดของผลกล้วยต้องเลือกที่ไม่ใหญ่มากนัก ผลมีลักษณะกลมป้อมสมบูรณ์ หากใช้กล้วยที่มีขนาดผลใหญ่อาจมีปริมาณแป้งมากจากการใส่ปุ๋ยเคมีซึ่งทำให้เนื้อไม่ละเอียดเมื่อนำมาอบ

นอกจากนี้แล้ว คุณสุทธิพงศ์ ยังรับซื้อกล้วยชนิดอื่นเพื่อนำมาแปรรูปเป็นกล้วยอบด้วยเช่นกัน อาทิ กล้วยเล็บมือนางจากแหล่งปลูกในอำเภอสวี จังหวัดชุมพร และกล้วยไข่ จากลูกสวนภายในตำบลสะพลี จังหวัดชุมพร

 กรรมวิธีอบกล้วยน้ำว้า

คุณสุทธิพงศ์ เล่าว่า การคัดสรรวัตถุดิบอย่างพิถีพิถันถือเป็นหัวใจหลักในการประกอบธุรกิจ คุณสุทธิพงศ์เลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพมากที่สุด มามอบให้แก่ผู้บริโภคผ่านกรรมวิธีแปรรูปด้วยการอบ ล้วนไม่มีการปรุงแต่งรสเพิ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด เน้นดึงศักยภาพของกล้วยออกมาให้มากที่สุด

ด้วยวิธีการทำที่ไม่ได้คำนึงถึงความประหยัดต้นทุนในการผลิต แต่กลับเน้นไปที่การสร้างรสชาติให้ดีที่สุดก่อน แล้วจึงนำมาปรับเรื่องต้นทุนด้วยการเลือกกล้วยเกรดที่ดีที่สุด จึงนำมารับประทานสดก่อนนำไปทดลองอบ เพื่อสร้างมาตรฐานด้านรสชาติให้คงที่

สำหรับการแปรรูปกล้วยน้ำว้าอบ เริ่มขั้นตอนแรกด้วยการคัดแยกขนาดกล้วยน้ำว้า ด้วยวิธีการเลือกกล้วยตามขนาดไซซ์ที่ต้องการเน้นให้กล้วยมีขนาดผลเต็มพอดี ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป เพื่อให้เมื่อนำมาอบเสร็จแล้วมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน หลังจากนั้น จึงนำกล้วยที่คัดขนาดไว้ไปล้างน้ำให้สะอาดก่อนนำมาเข้าสู่ขั้นตอนการบ่มกล้วยให้สุก

กล้วยบ้านก้อง เลือกใช้กรรมวิธีบ่มกล้วยให้สุกด้วยวิธีการแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากหากใช้วิธีการบ่มกล้วยด้วยสารเคมีอาจทำให้มีสารพิษตกค้างเมื่อไปถึงผู้บริโภค อีกทั้งกล้วยที่ได้ภายหลังขั้นตอนการอบจะมีรสชาติที่ผิดเพี้ยนไป จึงเลือกนำโอ่งมังกรเข้ามาแทนที่ ก่อนนำกล้วยน้ำว้าเข้าไปเรียงซ้อนกันภายในโอ่ง พร้อมคลุมทับด้วยกระสอบป่าน เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงเข้ามาทำลายผลกล้วยที่บ่มไว้

กล้วยน้ำว้าท่ายางพร้อมบ่มในโอ่งมังกร

ในขั้นตอนการบ่มกล้วย มีเคล็ดลับอยู่ที่สามารถเพิ่มลดระยะเวลาในการบ่มได้ตามสภาพอากาศภายนอก ซึ่งกล้วยน้ำว้าและกล้วยไข่ใช้ระยะเวลาในการบ่มประมาณ 3-4 วัน ส่วนกล้วยเล็บมือนาง ใช้เวลาบ่มประมาณ 4-5 วัน จึงได้ผลกล้วยที่สุกเต็มที่ หากมีอากาศเย็นเกินไปกล้วยอาจสุกช้า จึงต้องหมั่นตรวจสอบอยู่โดยตลอด เมื่อกล้วยสุกได้ที่จะให้กลิ่นหอม พร้อมที่จะนำไปเข้าสู่ขั้นตอนการอบต่อไป

หลังบ่มเสร็จ ต้องล้างผิวกล้วยด้วยน้ำสะอาดอีกรอบหนึ่ง เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกปนเปื้อนติดไปกับเนื้อกล้วยในขั้นตอนการปอกเปลือก เมื่อล้างผลกล้วยจนสะอาดดีแล้วตั้งพักไว้ ก่อนนำมาเป่าลมให้แห้งแล้วจึงเริ่มปอกเปลือกกล้วย เมื่อปอกเสร็จจึงนำเข้าตู้อบ ซึ่งกรรมวิธีดังกล่าวนี้จะกระทำในห้องปลอดเชื้อห้ามบุคคลภายนอกเข้า เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกปนเปื้อนกล้วย

ขั้นตอนการอบ ให้นำกล้วยน้ำว้าที่ปอกเปลือกแล้วมาจัดเรียงบนตะแกรงรองอบในลักษณะเป็นแถวเรียงต่อกัน เว้นระยะห่างประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อให้กล้วยสามารถขยายตัวได้เต็มที่เมื่อเจอความร้อนก่อนนำเข้าสู่ตู้อบ ใช้เวลาอบทั้งหมดประมาณ 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมง โดยตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 60-80 องศาเซลเซียส เมื่ออบไปได้สักระยะหนึ่ง (หนึ่งช่วงอบ) ประมาณชั่วโมงที่ 23-24 ให้นำออกมารีดให้แบน แล้วจึงนำเข้าไปอบต่อ สำหรับการเพิ่มหรือ ลดอุณหภูมิ ให้สังเกตสภาพอากาศภายนอก หากฝนตกอาจเปิดไฟเพิ่มอุณหภูมิความร้อนหรือปรับอุณหภูมิให้มากขึ้นได้เช่นกัน

กล้วยน้ำว้าขณะนำออกมารีดเตรียมนำเข้าอบต่อ

เทคนิคสำคัญในขั้นตอนการอบกล้วยน้ำว้านั้น ต้องเน้นอบให้กล้วยมีความแห้งเพื่อให้สามารถคงรสชาติที่เสมอต้นเสมอปลาย อีกทั้งยังคงรูปทรงเดิมอยู่ ทำให้เมื่อนำกล้วยน้ำว้าอบไปรับประทาน ณ อุณหภูมิห้องแล้ว กล้วยน้ำว้าจากที่นี่สามารถเก็บไว้ได้นานกว่า แต่หากเป็นกล้วยที่ใช้การอบแบบปกติทั่วไป กล้วยจะพองตัวอยู่ได้ประมาณ 7 วัน ภายหลังจึงเริ่มยุบตัวลง สำหรับขั้นตอนการอบนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญหากผ่านขั้นตอนการอบที่ดีแล้ว เมื่อนำมาปรุงแต่งจะให้รสชาติที่ดีด้วย

ส่วนการอบกล้วยเล็บมือนางและกล้วยไข่นั้น มีกรรมวิธีที่คล้ายคลึงกันกับกล้วยน้ำว้า คือใช้อุณหภูมิอบ อยู่ที่ 60-80 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกัน จะแตกต่างกันออกไปเพียงกล้วยเล็บมือนางต้องดูแลเป็นรายชั่วโมง เนื่องจากหากมีอุณหภูมิไฟที่ใช้อบต่ำไป จะทำให้กล้วยมีความเหี่ยว ไส้แข็ง ดูไม่น่ารับประทาน เมื่ออบเสร็จแล้วจึงนำมาตัดแต่งส่วนที่มีตำหนิแป้นดำตามส่วนหัวออกไป เพื่อให้ดูน่ารับประทาน ตั้งพักไว้ให้เย็นก่อนนำมาใส่บรรจุภัณฑ์ต่อไป

สำหรับเศษกล้วยที่เหลือจากการตัดแต่งนั้น ไม่ได้นำไปทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ แต่นำไปเป็นอาหารให้กับปลาดุกที่เลี้ยงไว้ภายในร่องสวน” คุณสุทธิพงศ์ กล่าว

ด้วยกำลังการผลิตที่เน้นทำขึ้นภายในครอบครัว สามารถผลิตได้วันละประมาณ 100-300 กิโลกรัม แต่ก็เพียงพอสำหรับความต้องการของตลาด เมื่อนำมาจำหน่ายกล้วยน้ำว้าท่ายางอบ จะขายได้ในราคา กิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งถือเป็นราคามาตรฐานสำหรับกล้วยน้ำว้าอบคุณภาพดี

 

สร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์

นอกจากทำกล้วยอบแล้ว คุณสุทธิพงศ์ ยังนำกล้วยมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปแบบอื่นเพิ่มรายได้ นอกจากการทำกล้วยอบเพียงอย่างเดียว แต่เลือกทำกล้วยอบช็อกโกแลตด้วยวิธีการนำกล้วยที่ผ่านกรรมวิธีการอบ ก่อนนำมาบดใช้ทำเป็นไส้ช็อกโกแลต ทำให้ในช็อกโกแลต 1 ก้อน มีการผสมด้วยกล้วยเล็บมือนาง กล้วยน้ำว้า และกล้วยไข่

นำมาใส่พิมพ์แล้วเทเคลือบด้วยช็อกโกแลตที่คิดค้นขึ้นเป็นสูตรของตนเอง เน้นให้เปอร์เซ็นต์ความเป็นช็อกโกแลตมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ตัดกับรสชาติของกล้วยที่ออกไปทางหวาน ซึ่งจะได้รสความอร่อยที่แตกต่างกันตามแต่ละรูปทรง หรือตามใจผู้สั่งซื้อ โดยเน้นทำช็อกโกแลตรูปหัวใจผูกริบบิ้น สนนราคาต่อไม้ (ก้าน) อยู่ที่ 15 บาท

ด้วยอาศัยความสามารถเฉพาะตัวในการออกแบบได้ตามความต้องการของลูกค้า เน้นคุณภาพมากที่สุด นอกจากคุณสุทธิพงศ์จะทำกล้วยอบช็อกโกแลตแล้ว ยังมีการนำกล้วยอบไปประดิษฐ์เป็นช่อดอกไม้สุดสวย คิดราคาตามดอกไม้จริง ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์

พร้อมกับการปรับปรุงเพิ่มความหลากหลายให้เป็นที่สนใจแก่ผู้บริโภคด้วยรสชาติที่แปลกใหม่ ทั้งกล้วยฉาบรสวาซาบิ และกล้วยฉาบรสซาวครีม ทำให้กล้วยบ้านก้องเป็นที่นิยมของลูกค้าทั้งในจังหวัดชุมพรรวมถึงจังหวัดใกล้เคียงจนสามารถสร้างรายได้ให้เดือนละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท

ปัจจุบัน คุณสุทธิพงศ์ ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (packaging) กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์ให้สามารถดึงดูดผู้ซื้อได้อย่างต้องตาตรึงใจ เพิ่มคุณค่าพัฒนาให้เป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยมที่มีความปลอดภัยสูง ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่สามารถจัดจำหน่ายให้อยู่ในตลาดระดับกลางจนถึงตลาดระดับบนได้ในราคาย่อมเยา พร้อมทั้งได้รับมาตรฐานฮาลาล ซึ่งถือเป็นการสร้างมิติใหม่ให้แก่เกษตรกรที่มุ่งมั่นแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรภายใต้แบรนด์สินค้าของตนเอง

คุณสุทธิพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบัน กล้วยบ้านก้อง มีการจัดจำหน่ายผ่านหน้าร้านกล้วยบ้านก้อง ในตำบลท่ายาง จังหวัดชุมพร และช่องทางอินเตอร์เน็ต พร้อมทั้งเตรียมเปิดแบรนด์สินค้าตัวที่ 2 คือ กล้วยบ้านตาล จัดจำหน่ายที่ ร้าน Golden place ในเดือนเมษายน 2561 นี้”

สำหรับท่านที่สนใจสั่งซื้อ กล้วยน้ำว้าอบท่ายาง ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง สามารถติดต่อได้ที่ คุณสุทธิพงศ์ กฤตโยภาส (คุณก้อง) เลขที่ 44/1 หมู่ที่ 10 ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86120 หรือ โทร. (089) 652-1978