เตรียมรับมือโรคแอนแทรคโนสในหอมแดง

จากสภาพอากาศร้อน มีแสงแดดจัด สลับกับมีท้องฟ้ามืดครึ้มบางช่วงของวัน และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงให้เฝ้าระวังโรคแอนแทรคโนส ที่สามารถพบได้ในระยะที่เริ่มปลูกหอมแดง มักพบแสดงอาการของโรคบนใบ กาบใบ คอ หรือสวนหัว โดยเริ่มแรกพบจุดเล็กสีเขียวหม่นฉ่ำน้ำ ต่อมาแผลขยายใหญ่เป็นแผลรูปกลมหรือรี เนื้อแผลยุบลงเล็กน้อย บนแผลมีหยดของเหลวสีชมพูอมส้ม

เมื่อแผลแห้งจะเห็นเป็นตุ่มเล็กสีน้ำตาลดำ เรียงเป็นวงรีซ้อนกันหลายชั้น ถ้าแผลขยายใหญ่หรือหลายแผลมาชนกัน จะทำให้ต้นหอมแดงหักพับ แห้งตาย หรือเน่าตายทั้งต้น ทำให้ผลผลิตลดลง หากแสดงอาการของโรคในระยะที่ต้นหอมแดงยังไม่ลงหัว จะพบแสดงอาการต้นแคระแกร็น ใบบิดเป็นเกลียว ไม่ลงหัว ถ้าเป็นโรคในระยะที่หอมเริ่มลงหัว จะทำให้หัวลีบยาว บิดโค้งงอ ส่วนคอมักยืดยาว มีระบบรากสั้นกว่าปกติ ทำให้ไม่ได้ผลผลิต

กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรหมั่นตรวจและกำจัดวั ชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการสะสมเชื้อสาเหตุโรค ถ้าพบต้นที่เป็นโรค ให้ถอนต้นที่พบเชื้อรานำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที จากนั้น ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารโพรคลอราช 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งสลับกับสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อสาเหตุโรค กรณีโรคยังคงระบาด ให้พ่นซ้ำทุก 5 วัน

 

ทั้งนี้ก่อนการปลูกหอมแดง เกษตรกรควรไถพรวนพลิกดินขึ้น  มาตากแดด 2-3 แดด โดยไถให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป และตากดินไว้ให้นานกว่า 2 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจตกค้างในดิน และช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้ มาก

 

จากนั้นให้ใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับสภาพดิน และเลือกใช้หัวพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค โดยแช่หัวพันธุ์ก่อนปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 10-20 กรัม ต่อหอมแดง 1 กิโลกรัม หรือสารโพรคลอราช 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 15-20 นาที

อีกทั้งในแปลงที่เคยมี การระบาดของโรครุนแรง เกษตรกรควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชสกุลหอมและกระเทียมสลับหมุนเวียนอย่างน้อย 2 ปี