ทุเรียนนก ของดีมีคุณค่า บอกเล่าโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษแสวง ภูศิริ จากเมืองตรัง

ทุเรียน มีสายพันธุ์มากมาย มีรสชาติและเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป ความหวาน มัน ขนาดของทุเรียนก็ไม่เหมือนกัน ที่มาของแต่ละสายพันธุ์ก็เยอะไปหมด ไม่ว่าจะมีต้นกำเนิดมาจากประเทศไทยของเราเอง หรือแม้กระทั่งมีต้นกำเนิดมาจากต่างประเทศอีกด้วย ดังนั้น จะแยกออกได้อย่างไร ว่าอะไรเป็นอะไร เทคโนโลยีชาวบ้านของเราได้รับความกรุณาจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษแสวง ภูศิริ จากจังหวัดตรัง มาแนะนำ ทุเรียนนก ให้ท่านทุกคนได้เข้าใจกันผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษแสวง ภูศิริ เกิดเมื่อ วันที่ 30 มิถุนายน 2468 ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา สำเร็จการศึกษาจากเตรียมอุดมศึกษาเกษตรศาสตร์แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ และวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เนื่องจากที่ทำงาน คือกองการยาง กรมวิชาการเกษตร มีหน่วยงานย่อยอยู่จังหวัดตรัง ท่านจึงได้ลงไปตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดตรัง พร้อมกับประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการบุกเบิกงานด้านการเกษตรที่ทำเป็นแบบอย่างและเผยแพร่แก่เกษตรกรทั่วไป อาทิ เป็นบุคคลแรกที่ปลูกข้าวโพดหวานของจังหวัดตรัง ในที่สุดข้าวโพดหวานได้เป็นที่นิยมบริโภคของชาวจังหวัดตรัง และเผยแพร่ไปสู่จังหวัดต่างๆ ทั่วภาคใต้ และริเริ่มการขยายพันธุ์ยางพาราด้วยวิธีติดตายางพันธุ์สีน้ำตาลเป็นคนแรกในจังหวัดตรัง

เมื่อเข้ารับราชการสอนหนังสือที่วิทยาลัยเกษตรกรรมตรัง จึงนำเรื่องการเพาะเห็ดนางฟ้า และเห็ดเป๋าฮื้อ มาสอนนักศึกษาและอบรมให้แก่เกษตรกร นับเป็นการเปิดตลาดเห็ดนางฟ้าให้ชาวจังหวัดตรังได้รู้จักเป็นครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช 2515 และได้เริ่มวิธีเพาะเห็ดฟางในฤดูฝนได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้ชาวนามีอาชีพเสริมจากการเพาะเห็ดฟาง ด้วยความเป็นบุคคลที่ไม่หยุดนิ่ง คิดวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางการเกษตร และได้นำวิธีการนั้นเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง อาทิ

ผู้ช่วยศาสตรจารย์พิเศษแสวง ภูศิริ

1. การคิดค้นให้สะตอออกฝักทุกฤดู
2. การใช้ต้นทุเรียนนก เป็นต้นตอทุเรียนพันธุ์ดี เพื่อให้ต้านทานโรครากเน่า (ได้รับรางวัลคิดค้นและประดิษฐ์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ) เกษตรกรได้นำไปใช้ประโยชน์ในทุกจังหวัดที่มีการปลูกทุเรียน
3. การขยายพันธุ์มะละกอโดยวิธีติดตา (ได้รับอนุสิทธิบัตร)
4. ค้นคว้า ทดลองให้กระเจี๊ยบออกผลนอกฤดู
5. การทำสวนส้มโชกุน บริเวณพื้นที่ใกล้แม่น้ำตรัง ซึ่งสภาพดินขาดความอุดมสมบูรณ์และน้ำท่วมขัง โดยใช้ต้นมะกรูดผีหรือมะนาวผี มาทำเป็นต้นตอต้นส้มโชกุน ทำให้ส้มโชกุนมีผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีรสชาติหวาน
6. นำขี้เถ้าทำเป็นปุ๋ย ใช้ในสวนปาล์มและเผยแพร่ความรู้นี้แก่เกษตรกร
นับได้ว่า ผู้ช่วยศาสตร์ตราจารย์พิเศษแสวง ภูศิริ เป็นนักพัฒนาวิชาการเกษตรที่ทำประโยชน์ต่อเกษตรกรของประเทศ และได้เผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ๆ แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรชาวจังหวัดตรังและจังหวัดอื่นๆ

ความหลากหลายของทุเรียน
ทุเรียน เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย จัดอยู่ในตระกูล Bombaceae มีขึ้นอยู่ทั่วๆ ไปในประเทศไทย มาเลเซีย พม่า อินเดีย ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ จากรายงานของหอพรรณไม้แห่งอินโดนีเซีย ปี 1958 มีรายงานไว้ว่า Genus Durio ที่พบแล้วทั้งสิ้น 27 ชนิด ด้วยกัน บางชนิดก็มีเนื้อใช้รับประทานได้เช่นกัน ทุเรียนบ้าน (ทุเรียนพื้นเมืองและทุเรียนพันธุ์ดี) บางชนิดก็ไม่มีเนื้อเลย จากหนังสือ “ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย พระยาวินิจวนันดร” ได้จำแนกทุเรียนที่พบในประเทศไทยไว้ 4 ชนิด ด้วยกันคือ
1. ทุเรียนบ้าน Durio zibbethinus
2. ทุเรียนดอน Durio malaccensis
3. ทุเรียนป่า Durio pinangianus
4. ทุเรียนนก Durio griffithii

ทุเรียนนก Durio lowianus

ประวัติทุเรียนนกตรัง
เมื่อปี พ.ศ. 2494 “อาจารย์แสวง” ได้ลงไปปฏิบัติราชการที่สถานีการยางเขาช่อง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง สถานีตั้งอยู่ในหุบเขา เต็มไปด้วยไม้ป่านานาชนิด ครั้งนั้น คุณหลวงสำรวจพฤกษาลัย (นายสมบูรณ์ ณ ถลาง) เป็นหัวหน้ากองการยาง กรมกสิกรรม คุณหลวงสำรวจพฤกษาลัย ได้แนะนำ “อาจารย์แสวง” ว่า มีทุเรียนที่ขึ้นอยู่ในป่าแถบนี้อยู่ชนิดหนึ่ง ต้นใหญ่โตมาก มีผลเล็กกว่าส้มโอเล็กน้อย ไม่มีเนื้อเลย การที่ท่านแนะนำเช่นนั้นเพราะท่านทราบว่าตัวของ “อาจารย์แสวง” เป็นคนที่มีนิสัยชอบศึกษาค้นคว้า นอกจากนั้น เมื่อออกสำรวจป่าในแถบนั้น เมื่อพบต้นทุเรียนนกยังได้ชี้ให้ดูอีกด้วย ต้นทุเรียนนกบางต้นมีเส้นรอบวงถึง 7 เมตร เมื่อถึงฤดูออกผล ซึ่งจะเป็นราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม บนต้นจะเห็นผลเต็มไปหมด แต่ในระยะนั้น “อาจารย์แสวง” ก็ยังไม่ได้สนใจเท่าไรนัก
เมื่อปี พ.ศ. 2498 “อาจารย์แสวง” ได้ลาออกจากราชการเพื่อประกอบอาชีพส่วนตัว และในปี พ.ศ. 2500 ได้ซื้อที่ดินเป็นสวนทุเรียนพื้นเมืองเอาไว้ 20 ไร่ เผอิญในที่ดินแปลงนี้มีทุเรียนนกอยู่ต้นหนึ่ง มีขนาดของเส้นรอบวง ประมาณ 4 เมตร สูงประมาณ 40 เมตร ทุกปีจะมีเมล็ดหล่นอยู่เต็มโคนต้น จึงได้ถอนเอาต้นกล้า ขนาด 1.25 เซนติเมตร เท่านั้นมาปลูก
“อาจารย์แสวง” เขียนเล่าไว้ในหนังสือว่า เมล็ดทุเรียนนกงอกแตกต่างกว่าทุเรียนบ้านมาก สังเกตข้อแตกต่างได้ชัดเจน เมล็ดของทุเรียนนกธรรมชาติได้สร้างไว้ปลอดภัยมาก เมื่อผลของทุเรียนนกแก่จะหล่นจากต้นที่สูง ทำให้ผลแตก เมล็ดกระจาย เมล็ดทุเรียนนกมีลักษณะคล้ายเมล็ดระกำ เนื้อของเมล็ดแข็งกว่าเนื้อของเมล็ดทุเรียนบ้านเล็กน้อย เมื่อแตกจากผลใหญ่ๆ จะมีสีน้ำตาลปนชมพูอ่อนๆ แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไหม้ในเวลาต่อมา แต่ถ้าเมล็ดได้รับแสงเต็มที่และมีความชื้นสูงจะเปลี่ยนเป็นสีเกือบดำ ขนาดของผลและเมล็ดของทุเรียนนกแตกต่างกัน แล้วแต่ต้นที่ได้มา เมล็ดมีขนาดตั้งแต่เท่าหัวแม่มือจนถึงขนาดไข่ห่าน รูปร่างของเมล็ดก็แตกต่างกัน ถ้าเมล็ดทุเรียนกลมเหมือนไข่ไก่แสดงว่าทุเรียนผลนั้นมีเพียงเมล็ดเดียว บางเมล็ดมีรูปร่างแบนข้างหนึ่งและโค้งข้างหนึ่งเหมือนหลังเต่า แสดงว่าผลนั้นมี 2 เมล็ด ส่วนผลที่มีอกแหลม หลังเมล็ดโค้ง แสดงว่าทุเรียนผลนั้นมี 3-4 เมล็ด

วิธีการเพาะเมล็ดทุเรียนนก
เมื่อเก็บเมล็ดทุเรียนนกมาได้แล้ว ต้องเตรียมแปลงเพาะเช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดพืชทั่วๆ ไป นอกจากนั้น ต้องทำหลังคาแบบเรือนเพาะชำให้แสงลงได้ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ โดยการฝังเมล็ดลงในดิน 3 ส่วน เหลือให้พ้นดิน 1 ส่วน รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ ประมาณ 10 วัน จะเห็นรากของเมล็ดทุเรียนนกงอกออกมามีสีขาวปนเหลืองอ่อน รากนี้จะหยั่งลึกลงไปในดินลึกมาก อาจยาวถึง 1 ฟุต โดยไม่แตกแขนงเลย หลังจากนี้ ประมาณ 1 เดือน นับจากเพาะเมล็ด ด้านที่อยู่ตรงข้ามกับด้านที่งอก หรืออาจจะเรียกว่าด้านหัวก็ได้ สังเกตเห็นว่ามีรอยต่อของฝาปิดเกิดขึ้น ขนาด 1 ตารางเซนติเมตร หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เมื่อเมล็ดเริ่มงอก ฝานี้จะเผยอขึ้นและจะเปิดหลุดไปโดยการดันของยอดอ่อนที่เจริญขึ้นมา
ในระยะนี้ถ้ามีเวลาควรจับเมล็ดทุเรียนนกตั้งขึ้น แกะเอาฝาปิดชิ้นเล็กนี้ออก จะสังเกตเห็นยอดเล็กๆ เจริญขึ้นมาแล้วใช้ดินถมเมล็ดจนเกือบมิดเมล็ด เหลือเมล็ดพ้นดินไว้ประมาณครึ่งเซนติเมตร การปฏิบัติดังนี้จะทำให้เมล็ดทุเรียนนกงอกเร็วขึ้น ต้นจะตั้งตรงและมีเปอร์เซ็นต์งอกดีขึ้นด้วย การปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติในแปลงเพาะ โดยการปล่อยให้เมล็ดทุเรียนนกดันฝาปิดออกมาเอง การงอกเป็นต้นจะช้าลง ไม่สม่ำเสมอ และยอดของเมล็ดทุเรียนนกที่เกิดใหม่จะฝังอยู่ในดินเมื่อฝนตก ทำให้โรคและแมลงทำลายได้ง่าย เปอร์เซ็นต์การงอกลดลง
บางท่านอาจมีคำถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไม ถึงไม่เพาะทางตั้งเสียเลย ไม่ต้องทำงานถึงสองครั้ง ในเรื่องนี้ “อาจารย์แสวง” อธิบายว่า เมื่อเมล็ดทุเรียนหล่นลงใหม่ๆ นั้น เมล็ดทุเรียนไม่ได้ติดอยู่กับผล มันจะกระจายไปคนละทิศละทาง ถ้าจะดูว่าทางไหนหัวทางไหนท้าย จะต้องใช้ความชำนาญมากและเป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุ จึงควรปล่อยให้ธรรมชาติเป็นฝ่ายแนะให้ดีกว่า เพราะเพียง 10 วัน เท่านั้น รากก็จะงอกออกมาให้เห็นแล้ว เราก็นำเมล็ดเอารากฝังลงในดิน ซึ่งจะง่ายกว่าการคัดเลือกเมล็ดใหม่ๆ

ลักษณะพิเศษของเมล็ดทุเรียนนก
เมล็ดของทุเรียนนก มีลักษณะกลมๆ มีอาหารสำรองหุ้มอยู่ภายนอก ส่วนภายในเป็น Hypocotyl ทอดยาวไปตามหัวท้ายของเมล็ด มีลักษณะตรงกลางป่องออกเล็กน้อย ที่สำคัญที่สุดเมล็ดนี้จะมีล่างมีบน หมายความว่า ทางด้านบนจะงอกขึ้นเป็นต้นและด้านล่างจะงอกเป็นรากเสมอไป ฉะนั้น ถ้าตัดเมล็ดทุเรียนนกออกด้านขวางแล้วนำเมล็ดไปเพาะ ท่อนที่อยู่ด้านล่างจะเจริญเป็นรากลงไปในดิน ส่วนด้านบนที่เป็นรอยตัดครึ่งนั้นจะสร้างตาขึ้นมาตรงรอยต่อระหว่าง Endosperm และ Hypocotyl ทำให้เกิดเป็นต้นได้หลายๆ ต้น เราอาจผ่าออกเป็นชิ้นๆ อีกชิ้นละ 1 ต้น ถ้าการดูแลดี แต่ต้นที่เกิดขึ้นก็เจริญแข็งแรงดี ส่วนท่อนบนที่จะงอกเป็นต้นเมื่อนำไปเพาะก็จะเจริญเป็นต้นจากจุดกำเนิดตามปกติ ส่วนด้านล่างของเมล็ดที่ถูกตัดออกไปก็จะสร้างรากขึ้นมาใหม่ อาจมีหลายรากก็ได้
ในการเพาะเมล็ดทุเรียนนกจำนวนมากๆ จะพบเสมอว่า เมล็ดทุเรียนนกเมล็ดหนึ่งอาจงอกได้ตั้งแต่ 1-5 ต้น ถ้านำเมล็ดมาแบ่งออกเป็นซีกๆ ตามความยาวของเมล็ดแล้ว ให้มีต้นติดมาซีกละต้น ก็จะได้ทุเรียนนก 2-5 ต้น ในการแบ่งเมล็ดทุเรียนนกทุกครั้ง รอยที่ถูกมีดเฉือนจะต้องทาด้วยปูนขาว เนื่องด้วยเหตุนี้ในการเพาะเมล็ดทุเรียนนก ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมหมายความว่าความชื้นในดินและความชื้นในอากาศพอดีแล้ว ไม่ว่าส่วนที่งอกออกมาเป็นต้นหรือส่วนที่รากถูกทำลายไป เมล็ดทุเรียนนกจะสร้างส่วนที่ถูกทำลายไปขึ้นมาทดแทน เช่น รากหรือตาขึ้นมาใหม่ได้เจริญเติบโตต่อไป
นับจากวันเพาะเมล็ดจนเมล็ดทุเรียนนกงอกเป็นต้นให้เห็น จะใช้เวลา 3-4 เดือน รอจนต้นกล้ายาว 6-12 นิ้ว ถอนจากแปลงเพาะโดยไม่ต้องให้ติดดิน แต่งรากที่ยาวเกินไปออก ชำลงถุงหรือกระถาง รดน้ำให้ชุ่ม ตั้งไว้ในร่ม หมั่นรดน้ำอย่าให้ใบเหี่ยวเฉา อาจใช้เป็นละอองพ่นในเวลากลางวันได้ยิ่งดี ประมาณ 10 วัน ต้นกล้าจะแข็งแรง จึงรดน้ำให้น้อยลง โดยมากมักจะเลี้ยงต้นตอไว้ในถุง 1-2 ปี รอให้ต้นตอแข็งแรงดีแล้วจึงจะนำลงปลูก ถ้าเปรียบเทียบการเจริญเติบโตในระยะ 1 ปีแรกแล้ว จะเห็นว่าทุเรียนนกเจริญเติบโตช้ากว่าทุเรียนบ้านมาก แต่เมื่อเริ่มเข้าปีที่ 2 ทุเรียนนกจะเจริญอย่างรวดเร็ว การดูแลรักษาก็น้อยกว่าทุเรียนบ้าน คืออาจปลูกแบบทิ้งขว้างได้ แต่การเจริญเติบโตจะเป็นไปตามปกติ

วิธีใช้ต้นทุเรียนนกทำต้นตอ แบ่งออกเป็น 3 วิธี
1. ใช้ต้นตอทุเรียนนกที่ชำใส่ถุงไว้จนได้ขนาดพอทาบกิ่งได้ แล้วนำไปทาบ วิธีนี้จะได้ต้นตอของทุเรียนนกสั้นเกินไป ไม่ปลอดภัยจากโรคที่จะเกิดขึ้นบริเวณโคนต้น นอกจากนั้น หลังจากทาบกิ่งเป็นทุเรียนพันธุ์ดีแล้ว การเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร อย่างที่เจ้าของสวนเรียนว่า เลี้ยงยาก
2. การเสียบยอด วิธีนี้ได้ผลดีพอสมควร ก่อนจะเสียบยอดจะต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้าคือ ต้องเลี้ยงต้นตอให้เจริญแข็งแรง โดยการเปลี่ยนภาชนะหรือถุงที่ใช้ปลูกให้ได้ขนาดอย่างน้อย 1 ฟุต หรือจะใช้ปี๊บได้ยิ่งดี เลี้ยงต้นตอไว้ในเรือนเพาะชำจนต้นตอเจริญเติบโต มีขนาดสูงประมาณ 75-100 เซนติเมตร จึงเสียบยอด การเลี้ยงต้นตอขนาดนี้อาจใช้เวลาถึง 2 ปี นับจากวันเพาะเมล็ด
3. การติดตาทุเรียนในสวน การปลูกต้นตอทุเรียนนกลงในสวนเพื่อติดตา หลังจากการกะระยะเรียบร้อยแล้ว ชาวสวนแถบระยองจะใช้ต้นตอทุเรียนนกปลูกลงระหว่างแถวของทุเรียนที่ปลูกไว้เดิมและเริ่มแสดงอาการเป็นโรค โดยขุดหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร
4. ใส่ปุ๋ยคอก เช่น มูลวัว มูลเป็ด หรือปุ๋ยหมัก (ยกเว้นมูลไก่ เพราะทุเรียนนกไม่ชอบ อาจตายได้ แต่หลังจากปลูกแล้ว 1 ปี มูลไก่ก็นำมาใช้ได้เช่นเดียวกันกับปุ๋ยคอกอื่นๆ) ปุ๋ยคอกเราจะใส่ลงหลุมละครึ่งปี๊บถึง 1 ปี๊บ ใช้ดินหน้าถมกลบลงในหลุมคลุกเคล้าให้เข้ากันกับปุ๋ยคอกจนดินเต็มหลุม ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน พอให้ปุ๋ยคอกสลายตัว ใช้ต้นทุเรียนนกที่ชำไว้ในถุงจนต้นแข็งแรงดีแล้ว นำไปปลูกลงหลุม หลุมละ 1-3 ต้น แล้วแต่ความต้องการของเจ้าของสวน ต้นหนึ่งห่างกัน 50-100 เซนติเมตร เพื่อจะได้ทุเรียน 2 ขา 3 ขา ตามต้องการ โดยการทาบโคนรวมกันเข้ามา แล้วตัดยอดที่ไม่สมบูรณ์ออก เหลือที่สมบูรณ์ไว้เพียงยอดเดียว เมื่อปลูกต้นตอลงในสวนแล้ว ระหว่างนี้อาจต้องเพิ่มปุ๋ยคอกให้บ้างเพื่อต้นตอจะได้สมบูรณ์พอจะติดตาได้เมื่ออายุ 2 ปี
ก่อนจะใส่ปุ๋ยคอกเพิ่ม ควรถากหญ้าโคนต้นให้เตียนห่างจากโคนต้นตอ ประมาณ 1 เมตร โดยรอบโคนต้นหว่านปุ๋ยคอกลงรอบๆ โคนต้น ประมาณหลุมละครึ่งปี๊บ แล้วใช้จอบหรือคราดสับดินเบาๆ พอปุ๋ยคลุกเคล้ากับดินทั่วกัน ในระหว่าง 2 ปีนี้ ต้นทุเรียนนกจะเจริญเติบโตเร็วมาก นอกจากบางต้นเท่านั้น อาจมีสัก 2-5 เปอร์เซ็นต์ ที่แสดงอาการแคระแกร็น ไม่ต้านทานโรคที่เกี่ยวกับใบได้ ต้องเอาต้นทุเรียนนกที่ชำสำรองไว้มาปลูกแอบข้างและทาบให้เป็นทุเรียน 2 ขา เมื่อทาบติดกันดีแล้วตัดต้นที่แสดงว่าใบไม่มีความต้านทานโรคทิ้งไป ต้นที่นำมาทาบใหม่จะเจริญอย่างรวดเร็ว ปัญหานี้มักไม่ค่อยพบกับสวนที่ทำทุเรียน 2 ขา หรือ 3 ขา

วิธีแก้ปัญหาโคนต้นทุเรียนนกเล็กกว่าต้นพันธุ์ดี
ในการเปลี่ยนยอดจากทุเรียนนกมาเป็นทุเรียนพันธุ์ดี มักพบปัญหาต้นตอเจริญไม่ทันลำต้นของทุเรียนพันธุ์ดีและพบมากในการใช้ทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นยอด เมื่อทุเรียนเจริญเติบโตต่อไปแล้วทำให้ดูไม่สมส่วน เท่าที่พบวิธีแก้ไข มี 3 วิธี คือ
1. เลี้ยงต้นตอให้เจริญเติบโตแข็งแรง โดยตัดแต่งกิ่งต้นตอที่ต่ำๆ ออก เมื่อต้นตอสูง 3 เมตร อาจใช้เวลา 2-3 ปี วัดจากพื้นดินขึ้นมาสูง 1.25-1.50 เมตร แล้วเปลี่ยนยอดด้วยวิธีติดตาหรือทาบกิ่งก็ได้ การเลี้ยงต้นตอนานถึง 3 ปี แล้วจึงทำการเปลี่ยนยอดมิได้ทำให้ทุเรียนติดผลช้าลง คืออาจตกผลพร้อมกันกับทุเรียนที่ปลูกด้วยต้นเสียบยอด หรืออาจเร็วกว่าด้วยซ้ำไป ทั้งนี้หมายถึงตั้งแต่เริ่มปลูกต้นตอในสวนและปลูกต้นทุเรียนเสียบยอดโดยใช้ต้นตอพื้นเมือง จะให้ผลพร้อมกัน
2. ปลูกต้นตอให้เจริญเติบโตจนสูง 1 เมตร แล้วเสียบยอดเลี้ยงกิ่งของทุเรียนนกเอาไว้ตามธรรมชาติ จนทุเรียนเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ อาจมีการตัดแต่งยอดกิ่งล่างออกบ้าง ถ้าส่วนล่างเจริญมากเกินไป
3. เลี้ยงต้นตอทุเรียนนก โดยไม่ตัดแต่งกิ่งของต้นตอเลย เมื่อต้นตอมีอายุ 2-3 ปี ต้นตอจะสูง 2-3 เมตร แล้วเปลี่ยนยอดตรงตำแหน่งที่สูงจากพื้นดิน 1.25-1.50 เมตร เมื่อเปลี่ยนยอดเสร็จแล้ว จะปล่อยให้ยอดทุเรียนพันธุ์ดีเจริญต่อไป ส่วนกิ่งของต้นตอทุเรียนนกที่อยู่ใต้กิ่งพันธุ์ดียังคงเลี้ยงไว้ต่อไปอีก 2-4 ปี หากกิ่งทุเรียนนกเจริญเติบโตออกทางด้านข้างมากเกินไป ก็ตัดปลายกิ่งออกเสียบ้าง การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลดีมาก
นอกจากนั้น ยังพบว่า การเปลี่ยนยอดโดยวิธีติดตาได้ผลดีกว่าวิธีทาบกิ่งอีกด้วย ฉะนั้น ถ้าติดตาทุเรียนเป็น สมควรจะเปลี่ยนยอดโดยวิธีติดตาดีกว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ต้นตอทุเรียนนกให้เป็นประโยชน์ในการใช้ทำต้นตอทุเรียนพันธุ์ดี เพราะต้นตอมักจะเล็กเกินไปดังกล่าว จนทำให้นักวิชาการโดยมากคิดว่าการใช้ต้นตอทุเรียนนกไม่ได้ผล

ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ต้นตอทุเรียนนก
1. ไม่ต้องเสียเวลาทำทุเรียน 2-3 ขา ให้ยุ่งยาก
2. ได้ต้นตอที่มีเนื้อไม้เหนียวกว่าธรรมดา (อาศัยจากการใช้ประโยชน์ เพราะทุเรียนนกใช้ในการทำบ้านเรือนได้ และมีความทนทานกว่าไม้ทุเรียนบ้าน ฉะนั้น เนื้อไม้น่าจะมีความเหนียวและทนกว่า เราต้องอาศัยการสังเกตและยังไม่มีการทดลองเปรียบเทียบวิชาการ)
3. ทุเรียนนก มีเนื้อไม้เหนียวกว่า จะลดการหักโค่นของทุเรียนได้มาก
4. ความสามารถในการหาอาหารของทุเรียนนกน่าจะดีกว่าทุเรียนบ้าน โดยสังเกตความเจริญเติบโตของทุเรียน 2 ชนิดนี้ แล้วลองเปรียบเทียบกันดู
5. ทุเรียนนก ทนแล้งได้ดี เพราะรากของมันหยั่งลงในดินลึกและมีความเคยชินกับความแห้งแล้ง เพราะมันสามารถขึ้นได้ในที่ดอนโดยไม่มีใครรดน้ำมันเลย
6. รากมั่นคงแข็งแรง เพราะเป็นไม้ป่าขนาดใหญ่
7. ในที่ลมแรงทุเรียนจะไม่ล้ม โคนต้นจะไม่หลวม เมื่อถูกลมโยกต้น
8. เชื่อว่ามีความทนโรคและแมลงได้ดีกว่าทุเรียนบ้านทั่วไป
หากใครสนใจอยากจะเรียนรู้เรื่องของทุเรียนนก สอบถามได้ที่ ศูนย์เรียนรู้ ครูขวัญศิษย์ เศรษฐกิจพอเพียง โดย เครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี…ผู้ช่วยศาสตร์ตราจารย์พิเศษแสวง ภูศิริ เลขที่ 12 หมู่ที่ 1 ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง 92170 หรือ โทร. (089) 472-9391

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2560