สมภพ ลุนาบุตร พลิกผืนนาทุ่งกุลาร้องไห้ มาปลูก อินทผลัม ได้ผลมานานกว่า 5 ปี ผลผลิตไม่พอต่อความต้องการของลูกค้า

อินทผลัม มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแบบทะเลทราย ลำต้นมีความสูงประมาณ 30 เมตร มีขนาดลำต้น ประมาณ 30-50 เซนติเมตร ใบเป็นแบบขนนก ผลทรงกลมรี ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ออกเป็นช่อ รสหวานฉ่ำ กินได้ทั้งผลดิบและสุก นิยมปลูกกันมากในประเทศอิสราเอล และอิหร่าน แต่ในปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรนำเข้ามาปลูกทั่วทุกภาคในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่ แพร่มาตามภาคอีสาน แถบจังหวัดสกลนคร เข้ามาถึงดินแดนข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด อีกหนึ่งพื้นที่ที่มีเกษตรกรปลูกอินทผลัมกินผลสด และได้ผลดีจนถึงปัจจุบันนี้

คุณสมภพ ลุนาบุตร อยู่บ้านเลขที่ 53 หมู่ที่ 9 บ้านน้อยพัฒนา ตำบลดงครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เกษตรกรผู้ริเริ่มเปลี่ยนผืนนาหันมาปลูกอินทผลัมเพื่อสร้างรายได้ โดยก่อนที่คุณสมภพจะเปลี่ยนมาปลูกอินทผลัม ได้ประกอบอาชีพเป็นช่างโยธา อบต. แถวบ้านมาก่อน แต่เมื่อทำงานช่างได้สักระยะ จึงรู้ว่ารูปแบบงานที่ทำไม่ตรงตามความถนัดกับตัวเอง จึงตัดสินใจลาออกจากงาน กลับบ้านมาช่วยที่บ้านทำนา

จุดเริ่มต้นเปลี่ยนความคิด

พลิกผืนนา ปลูกอินทผลัม แก้ปัญหาดินเป็นเกลือ

คุณสมภพ เล่าว่า เมื่อตนได้ลาออกจากงานช่างโยธา ได้กลับมาช่วยที่บ้านทำนา แต่ช่วงหน้าแล้งต้องประสบปัญหาดินเป็นเกลือ ไม่สามารถปลูกข้าวได้ จึงเกิดความคิดที่อยากจะลองหาพืชอย่างอื่นมาปลูกเพื่อแก้ปัญหา ช่วงนั้นตนได้ศึกษาถึงการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน แต่พืชสองชนิดนี้ก็ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการเท่าที่ควร จนเมื่อ ปี 2548 ได้ดูข่าวจาก ทีวี ว่า ในประเทศไทยสามารถปลูกอินทผลัมเป็นผลสำเร็จแล้วที่เชียงใหม่ จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากจะปลูก เพราะคิดว่าอินทผลัมเป็นพืชที่น่าสนใจ ราคาดี และมองว่าพื้นที่แถบทุ่งกุลาร้องไห้ยังไม่มีใครปลูก จึงศึกษาหาข้อมูลมาเรื่อยๆ กระทั่ง ปี 2553 มีโอกาสได้ไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่จังหวัดสกลนคร ตอนนั้นพ่อของเพื่อนกำลังปลูกอินทผลัมที่นำพันธุ์มาจากเชียงใหม่พอดี จึงถามเพื่อนว่าเป็นอย่างไร ปลูกแล้วได้ผลไหม เพื่อนบอกว่าตอนนี้ให้ผลผลิตแล้ว จึงยิ่งเกิดความต้องการอยากที่จะปลูกมากยิ่งขึ้น

คุณสมภพ ลุนาบุตร

ซึ่งก่อนที่จะเริ่มปลูก ทางคุณสมภพได้มีการปรึกษาและศึกษาข้อมูลกับพ่อของเพื่อนมามากพอสมควร เนื่องจากพื้นที่ที่จะปลูกเป็นดินเกลือ พ่อเพื่อนแนะนำว่าให้ถมดินขึ้นมา เมื่อจัดการตรงนี้เสร็จ จึงได้เริ่มนำต้นพันธุ์อินทผลัม พันธุ์ Kl1แม่โจ้ 36 จากบ้านเพื่อนที่จังหวัดสกลนคร มาเริ่มปลูก จำนวน 60 ต้น  ซึ่งได้จากการเพาะเมล็ด ลงแปลงปลูก วันที่ 30 มกราคม 2555

ปลูกอินทผลัมคุณภาพเพียง 3 ไร่ 1 งาน มีรายได้เลี้ยงครอบครัว

คุณสมภพ บอกว่า ทุ่งกุลาร้องไห้นับเป็นอีกดินแดนทองเหมาะสำหรับการปลูกอินทผลัม เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศที่คล้ายภาคตะวันออกกลาง จึงค่อนข้างได้เปรียบกว่าพื้นที่อื่น แต่ตามที่ได้ศึกษามาจากผู้รู้ ดินลูกรังก็สามารถปลูกได้ ขออย่างเดียวว่าอย่าให้เป็นดินเหนียว เพราะดินเหนียวอุ้มน้ำ ทำให้ต้นเจริญเติบโตไม่ค่อยดี

 

วิธีการปลูกไม่ยาก

อินทผลัม เป็นพืชทะเลทราย หลายคนคิดว่าเป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่ต้องการน้ำ

แต่จริงๆ แล้ว การปลูกอินทผลัมต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ มีระยะเวลาให้สารอาหาร ให้ปุ๋ย เพิ่มปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ต้องให้น้ำสม่ำเสมอ ถ้าปลูกแบบปล่อยปละละเลย การเจริญเติบโตจะไม่ค่อยดี ลองคิดว่า อินทผลัม เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ถ้าปลูกแบบไม่ดูแลเท่าที่ควร ผลผลิตก็ไม่ได้ราคา

พื้นที่ของคุณสมภพเป็นดินถมใหม่ จึงทดลองปลูกในหลุม 2 ขนาด กว้างxยาวxลึก 50x50x50 เซนติเมตร และ 80x80x80 เซนติเมตร เพื่อทดลองเปรียบเทียบ แต่ก็ยังไม่ค่อยเห็นความแตกต่าง จากที่ได้ศึกษาจากรุ่นแรกเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2555 เมื่อนำต้นมาลงเพิ่ม ปี 2556-2557 ลองขุดหลุมระยะความกว้างขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตรxลึก 1 เมตร ปรากฏว่าได้ผลดี

ระยะห่างระหว่างต้นระหว่างแถว

ในแปลงพื้นที่ปลูก 3 ไร่ 1 งาน ปลูกจำนวน 109 ต้น ระยะห่าง 8×7 เมตร ระหว่างแถว 8 เมตร ระหว่างต้น 7 เมตร

1 ไร่ ปลูกได้ 30 ต้น ราคาต้นพันธุ์ ต้นละ 800-1,000 บาท

เริ่มปลูก ปี 2555 ต้นปี 2557 เริ่มแทงจั่น และทำการผสมเกสร ปี 2557 เก็บผลผลิตช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน

ดูแลรดน้ำ-ใส่ปุ๋ย ทำอย่างไร

ระบบน้ำ…ช่วงระยะเริ่มปลูก 1 เดือนแรก รดน้ำ 3-5 วันครั้ง

เมื่อต้นโต ให้รด 7-10 วันครั้ง ถ้าเป็นฤดูฝนให้งดน้ำ หรือใช้วิธีขุดรอบต้นเพื่อสำรวจความชื้นของดิน ขุดลึกประมาณ 1 ฟุต แล้วกำดินขึ้นมาดู ถ้าดินยังเป็นก้อนก็แสดงว่ามีความชื้นอยู่ แต่ถ้าจับขึ้นมาดินไม่จับเป็นก้อน แสดงว่าดินไม่มีความชื้นแล้ว ก็ต้องเติม นี่คือ เทคนิคที่ทำง่ายๆ

การให้ปุ๋ย…ช่วงปีที่ 1 ถึง 2 ปีแรก ที่ทำในรอบ 1-2 เดือน ให้ปุ๋ยสูตรเสมอ เพื่อเร่งการแตกยอด 2 เดือน/ครั้ง เพื่อให้ต้นโตเร็ว และให้ปุ๋ยมูลไก่อัดเม็ดในระยะ 3-4 เดือน/ครั้ง เฉลี่ย 5-10 กิโลกรัม ต่อต้น

สารเคมี ใช้สารเคมีในปริมาณที่น้อย จะให้ปุ๋ยเคมีแค่ช่วงแรกในสัดส่วนเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมากจะใช้เป็นมูลไก่อัดเม็ด มูลค้างคาว ที่มีการรับรองขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร

การป้องกันแมลง…เบื้องต้นใช้วิธีแบบภูมิปัญญาชาวบ้านป้องกันด้วง ใช้ทรายผสมกับยาสูบโรยที่ยอดและลำต้น แต่ถ้าเจอเจาะยอดหรือลำต้น ภูมิปัญญาชาวบ้านเอาไม่อยู่ ก็อาจจะต้องมีการใช้สารเคมีบ้าง แต่ใช้ในปริมาณน้อย เน้นฉีดทำลายเป็นจุดที่ด้วงเจาะ จะไม่ใช้วิธีพ่นทั่วสวน

การดูแลผิว…ห่อด้วยกระดาษห่อผลไม้ 1 ชั้น และครอบด้วยถุงพลาสติก ถ้าไม่ห่อช่วงที่มีผลผลิต ฝนตกจะทำให้ผลร่วง ผลแตก

ห่อผล 2 ชั้น ดูแลผิว ป้องกันผลร่วงแตก

ขั้นตอนการผสมเกสร

วิธีการผสมเกสร คุณสมภพ บอกว่า ได้ทดลองทำมาแล้วหลายวิธีด้วยกัน ทั้งวิธีการเก็บเกสรตัวผู้ไว้ รอเกสรตัวเมียแตกแล้วเอาไปเคาะใส่ หรือวิธีการใช้แปรงปัดก็ทำมาแล้ว แต่จะแนะนำเสนอวิธีการ “คลุมถุงชน” ซึ่งทำแล้วได้ผลดีที่สุด คือการนำเกสรตัวผู้ใส่ถุงพลาสติก ผสมแป้งเด็กเขย่าแล้วนำไปครอบจั่นตัวเมีย ปริมาณให้คาดคะเนตามขนาดของจั่น เล็กหรือใหญ่

ขั้นตอนการเก็บเกสรตัวผู้…เพื่อให้สเปิร์มอยู่ได้นานขึ้น ให้เก็บใส่ไว้ในกระดาษ A4 แช่ตู้เย็น เก็บไว้ในช่องแช่ไข่ แบ่งไว้ปริมาณไม่มากเพื่อลดการเสียหาย ระยะเวลา 3-5 วัน เปิดดู 1 ครั้ง ถ้ามีความชื้นกระดาษจะเปลี่ยนสี ก็ให้นำมาตากเพื่อไล่ความชื้นอีก ความชื้นจะทำให้เกสรเน่าเสียขึ้นราได้

เรียกว่าต้นสายบุญ ผลจะแก่ก่อนเพื่อนทุกปี ได้นำไปทำบุญ ถวายพระ และแบ่งปันญาติพี่น้อง

ผลผลิตดกขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์

“ชุดแรกที่ลงปลูก 60 ต้น เป็นตัวเมีย 36 ต้น ตัวผู้ 24 ต้น ผลผลิตที่ให้ปีแรก บางต้นให้ผลผลิตสูงถึง 60 กิโลกรัม ต่อต้น บางต้นให้เพียง 4 กิโลกรัม เป็นเพราะช่วงแรกยังขาดความชำนาญในการผสมเกสร ผสมติดบ้างไม่ติดบ้าง ผสมผิดเวลาบ้าง ฝนตกบ้าง แต่เวลาทำให้เราพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ หมั่นศึกษา สังเกตและเรียนรู้ ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 5 บางต้นทำได้ผลผลิตถึงต้นละ 100 กิโลกรัม คือทำได้ผลดีมาเรื่อยๆ และยิ่งอายุต้นเยอะขึ้น การดูแลของเราดีขึ้น ผลผลิตก็จะเยอะตามไปด้วย” เจ้าของบอก

เจ้าของบอกว่า ผลผลิตที่ได้กับเงินลงทุนถือว่าได้กำไรระยะยาว ถึงแม้ว่าครั้งแรกอาจจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง หากเป็นพื้นที่ต้องถมใหม่ ค่าถมไร่ละ 80,000-100,000 บาท ค่าต้นพันธุ์ 800-1,000 บาท ต่อต้น การดูแลรักษา เฉลี่ยต้นละ 450-800 บาท ต่อต้น ต่อปี 1 ต้น ให้เก็บผลผลิตนานเท่าต้นตาล ต้นมะพร้าว คิดซะว่าปลูกครั้งเดียวเก็บได้นานเกินคุ้มแล้ว

ทำสินค้าให้มีคุณภาพ ไม่หลอกลวง สร้างตลาดได้ทั่วทุกภาค

คุณสมภพ เล่าว่า การทำการตลาดช่วงก่อนปลูกต้องบอกตรงๆ ว่า ตนไม่ได้คิดเรื่องการตลาดมาก่อน คิดแค่ว่า อินทผลัม เป็นพืชที่น่าสนใจ มีราคาดี และเหมาะสมกับพื้นที่ จึงอยากลองนำมาปลูก คิดแค่ว่าขอให้ปลูกแล้วติดลูก แล้วกินได้ ก็น่าจะขายได้ หากขายเป็นผสสดไม่ได้มีการคิดอีกทางคือ อินทผลัมเป็นพืชตระกูลปาล์ม จะนำมาขายเป็นไม้ขุดล้อมตามบ้านจัดสรร และโรงแรม แต่เมื่อปลูกและช่วงที่มีผลผลิตออก ก็ได้รับโอกาสจากสื่อเกษตรนำเสนอข่าวของเรา และทางสภาเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ดมีการนำเสนอเป็นพืชทางเลือก และยังมีการไปออกบู๊ธให้ผู้คนได้เห็นว่า เป็นพืชที่สามารถปลูกได้จริง มีแหล่งที่มา มีสวนสามารถเข้าไปศึกษาดูงานได้ ประกอบกับการใช้ช่องทางสื่อให้เป็นประโยชน์ มีการโพสต์รูป โพสต์ข้อความ ให้ผู้คนได้เห็นภาพว่าสามารถปลูกได้จริงที่นี่นะ เมื่อทำอย่างนี้ ตลาดเข้ามาหาเราเองเรื่อยๆ ทั้งทางเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือโทร.ติดต่อเข้ามาขอดูที่สวนเราก็ยินดี

ตอนนี้ราคาขายอินทผลัมกินผลสด กิโลกรัมละ 500-600 บาท 4 ปี ที่ผ่านมา ผลผลิตไม่พอที่จะจำหน่าย มีลูกค้าทั่วประเทศ เหนือ ใต้ อีสาน กลาง

ฝากถึงเกษตรกร อยากปลูกต้องศึกษาถึงแหล่งที่มา อย่าหลงเชื่อแค่เสียงเล่าว่า

สำหรับเกษตรกรที่กำลังสนใจอยากที่จะปลูกอินทผลัม ณ ขณะนี้ คุณสมภพ แนะนำว่า อันดับแรกที่ต้องมีคือ รักในการทำเกษตร อินทผลัม เป็นพืชที่ต้องดูแลด้วยหัวใจ เอาใจใส่ด้วยความรัก ปลูกทิ้งขว้างไม่ได้ และอีกประการที่สำคัญคือต้องศึกษาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ว่าเหมาะที่จะปลูกไหม สายพันธุ์ที่นำมาปลูก ตลาดมีความต้องการหรือเปล่า ถ้าเป็นมือใหม่แนะนำให้หาพันธุ์ที่มีคนปลูกแล้วได้ผลมาลองปลูกก่อน อย่าเพิ่งไปเล่นพันธุ์ใหม่ และหาพันธุ์ที่นำมาปลูกปรับสภาพเข้ากับภูมิประเทศของเราได้ดี และที่สำคัญอยากให้ซื้อต้นพันธุ์ของร้านที่เขามีสวนเป็นของตัวเอง จะได้ไปดูถึงสวน ว่าปลูกแล้วมีผลผลิตจริงไหม “ไม่ใช่ฟังแค่เขาเล่าว่า” หรืออ้างถึงรายได้ที่จะเกิดในอนาคต เพราะว่าหลายท่านที่มาหาผมที่สวน บอกว่าที่สวนเขาก็ปลูก แต่ทำไมของเขาไม่เห็นผล เห็นแต่ใบ จึงเป็นเหตุผลที่อยากให้ผู้ปลูกไปเห็นกับตา สัมผัสกับตัวเองอย่างน้อยก็ต้องได้ชิม

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรืออยากแวะเข้าไปชมสวน คุณสมภพ ลุนาบุตร ยินดีให้คำปรึกษา และพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ โทร. (087) 248-2928