วิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น จ.แพร่ YSF ไทย ไม่แพ้ใครในโลก

หลังสวนมะม่วงประสบปัญหาหนัก กำนันบันเทิง ถิ่นฐาน จึงหันมาทดลองปลูกแก้วมังกร ด้วยความคิดว่า ดูแลง่าย ทนต่อสภาพอากาศ ใช้น้ำน้อย และไม่ค่อยมีโรค โดยเริ่มจากปลูก 200 ต้น ลงต้นแก้วมังกร 1 ต้น ต่อ 1 เสาปูน ปลูกระยะห่าง 2×3 เมตร ต่อมาพบว่าผลผลิตเติบโตได้ดี จึงขยายพื้นที่ปลูกแก้วมังกรเป็น 14 ไร่ จำนวน 3,000 ต้น โดยส่วนใหญ่เป็นแก้วมังกรเนื้อสีแดง พันธุ์แดงสยาม

“การตัดแต่งกิ่งแก้วมังกรเป็นหัวใจหลัก ที่ต้องอาศัยความชำนาญในการดูว่ากิ่งใดควรตัดทิ้ง เพื่อให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยจะเน้นการฟันจากด้านล่างย้อนขึ้นบน เพื่อให้เกิดการแตกกิ่งใหม่ออกมาเรื่อยๆ หลังการตัดแต่งกิ่งและตัดหญ้ารอบๆ โคนต้นให้โล่งเตียน ก็จะใส่ปุ๋ยหมัก แล้วฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพในช่วงเตรียมออกดอก”

ด้วยระบบการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้แก้วมังกรที่นี่มีรสชาติหวาน นิ่มละมุนลิ้น เปลือกบาง ตลาดให้การตอบรับเป็นอย่างดี ชาวบ้านจึงหันมาสนใจปลูกแก้วมังกรแบบอินทรีย์มากขึ้น จนเกิดการรวมกลุ่มเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น’ รวบรวมผลผลิตส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

การขยายพื้นที่ปลูกแก้วมังกรของชุมชน ทำให้มีผลผลิตจำนวนมากซึ่งอาจส่งผลให้ราคาขายลดต่ำลง กำนันบันเทิง จึงคิดแปรรูปสินค้า จนเป็นที่มาของ ‘แก้วมังกรอบแห้ง’ จากตู้อบพลังงานความร้อนจากอินฟราเรด ในการแปรรูปผลสดจะใช้เฉพาะแก้วมังกรเนื้อสีแดงเท่านั้น เพราะเมื่ออบแห้งแล้ว เนื้อจะสวย นุ่ม มีรสหวาน กลิ่นหอม เป็นที่ต้องการของตลาด

ซึ่งการแปรรูปในแต่ละครั้งใช้เวลาในการไล่ความชื้นและเข้าตู้อบนานถึง 8 ชั่วโมง เลยทีเดียว จากแก้วมังกรผลสด 400 กิโลกรัม จะเหลือเนื้อเพียง 35 กิโลกรัม เท่านั้น จำหน่ายตามน้ำหนัก เริ่มที่ขนาด 50 กรัม ราคา 50 บาท แตกต่างจากการขายผลสด ที่จำหน่ายในราคา กิโลกรัมละ 10-14 บาท

ตู้อบพลังงานความร้อนจากอินฟราเรด
แก้วมังกรแปรรูป

ความสนใจด้านการเกษตรที่สืบทอดต่อกันมาทำให้ลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นอย่าง ฤชภูมิ ถิ่นฐาน บุตรชายคนโตของกำนันบันเทิง เข้าร่วมโครงการ Young Smart Farmer มีโอกาสได้แสดงความรู้ ความสามารถ  จนได้รับการคัดเลือกไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกรไทยกับต่างประเทศร่วมกับวิทยาลัยเกษตรกรรมโคอิบูจิ ประเทศญี่ปุ่น

คุณฤชภูมิ จึงนำความรู้และมุมมองใหม่ๆ มาเป็นกำลังสำคัญในการเดินหน้าสร้างตลาดแก้วมังกร ทั้งทาง Online และ Offline ภายใต้แบรนด์ Bantin จนส่งผลให้ชุมชนบ้านถิ่นได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมไทลื้อของภาคเหนือตอนบน 2

ความสำเร็จที่น่าพึงพอใจเหล่านี้ เป็นแรงผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น เตรียมเดินหน้าสร้างโรงเรือนใหม่ เพื่อขอการรับรองมาตรฐานโรงเรือน และมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ให้สามารถเพิ่มพื้นที่ตลาดให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น

แก้วมังกร พืชที่ปลูกง่าย สร้างรายได้ดี ลงทุนเพียงครั้งเดียว เก็บผลผลิตได้นานไม่ต่ำกว่า 15 ปี รู้อย่างนี้แล้ว ใครที่สนใจก็สามารถเดินทางไปศึกษาเทคนิคดีๆ เยี่ยมชมสวนแก้วมังกรของกำนันบันเทิงกันได้ สอบถามเพิ่มเติม โทร. 081 951 0680 หรือ ติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการ YSF เพิ่มเติมที่ https://www.moac.go.th