กมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการ อ.ต.ก. หนุนเพาะเห็ดแครง พร้อมแปรรูปครบวงจร สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

เห็ดแครง หรือ เห็ดตีนตุ๊กแก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Schizophyllum commune โดยแต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ภาคเหนือ เรียก เห็ดแก้น เห็ดตามด ภาคใต้ เรียก เห็ดยาง เพราะพื้นที่ทางภาคใต้นั้นสามารถพบเห็ดชนิดนี้ได้บนไม้ยางพารา ส่วนภาคกลางนั้นเรียกว่า เห็ดมะม่วง เนื่องจากขึ้นอยู่บนไม้มะม่วง นอกจากนี้ เห็ดแครง ยังพบเห็นขึ้นบนไม้ชนิดอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ไม้สน ฯลฯ

เห็ดแครง เป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่ได้ทั่วไปและสามารถงอกได้ตลอดทั้งปี พบว่า ขึ้นอยู่กับวัสดุหลายชนิด เช่น ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า กระดาษ แต่ที่พบปริมาณมากสามารถเก็บรวบรวมเห็ดชนิดนี้มารับประทานได้คือ บนท่อนไม้และกิ่งไม้ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ พบมากบนท่อนไม้ยางพารา ต้นยางพาราที่ตัดโค่นไว้เมื่อท่อนไม้ตายและมีฝนตกก็จะพบเห็นเห็ดแครงเป็นจำนวนมาก

ลักษณะของเห็ดแครง เป็นเห็ดขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายพัด (fan-shaped) ด้านฐานมีก้านขนาดสั้นๆ ยาวประมาณ 0.1-0.5 เซนติเมตร หรือไม่มีก้านแต่จะติดอยู่กับวัสดุที่ขึ้นด้านข้าง ดอกเห็ดมีขนาดความกว้าง ประมาณ 1-3 เซนติเมตร ผิวด้านบนมีสีขาวปนเทาปกคลุมทั่วไป ลักษณะของดอกเหนียวและแข็งแรง เมื่อแห้งด้านใต้ของดอกเห็ดมีครีบ มีลักษณะแตกเป็นร่อง (spilt-gill) พิมพ์สปอร์มีสีขาว สปอร์มีสีใสรูปร่างเป็นทรงกระบอกหรือคล้ายเมล็ดข้าว ขนาด 3-4×1-1.5 ไมครอน เนื่องจากเห็ดแครงมีขึ้นทั่วไปในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน จึงทำให้ลักษณะดอกเห็ดอาจแตกต่างกันในแต่ละท้องที่

คุณกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)

คุณกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ให้ข้อมูลว่า นับเป็นความสำเร็จจากการที่ได้มีการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการเพาะเห็ดแครง ทำให้เวลานี้เห็ดแครงเป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมตลาดมีความต้องการสูง สามารถผลิตเห็ดแครงเป็นสินค้าที่ครบวงจร มีทั้งแบบเห็ดแครงสดและการนำเห็ดแครงเป็นสินค้าแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลสำเร็จเหล่านี้เกิดจากการส่งเสริมการเพาะเห็ดแครงในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้เป็นจำนวนมาก และสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เพาะได้เป็นอย่างดี

“ในเรื่องของการฝึกอบรมนั้น สำหรับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว เมื่อกลับไปที่บ้านสามารถทำผลผลิตเห็ดแครงออกมาได้ ทางเราก็มีการรับซื้อผลผลิตกลับคืนมา ซึ่งทางเราเองก็ได้มีการไปติดตามว่า ฟาร์มที่เขาทำเป็นอย่างไร ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ผลก็ปรากฏออกมาว่า ทุกคนที่ดำเนินการเปิดฟาร์มเพาะเห็ดแครง สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญยังสามารถทำเป็นศูนย์เรียนรู้ได้อีกด้วย จึงนับว่าการอบรมเพาะเห็ดแครงมีความสำเร็จ เพราะทุกคนมีรายได้ที่เกิดจากการเพาะเห็ดแครง” คุณกมลวิศว์ กล่าว

ซึ่งในอนาคต คุณกมลวิศว์ ยังบอกอีกด้วยว่า ทางจังหวัดสงขลาจะได้มีการเพาะเห็ดแครงเพื่อเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสงขลา เพราะอนาคตเห็ดแครงจะต้องเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะนำมาทำเป็นอาหาร เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญให้กับผู้ที่รักสุขภาพที่กำลังมีจำนวนมากขึ้น โดยการแปรรูปที่เกิดขึ้นก็มีด้วยกันหลายอย่าง เช่น นมเห็ดแครง และต่อไปจะมีการนำเสนอสินค้าที่เป็นโปรตีนผงจากเห็ดแครง เพื่อให้เป็นสินค้าสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการบริโภคเนื้อสัตว์และส่งจำหน่ายตามความต้องการของตลาดโลกอีกด้วย

คุณจิตสุภา ยวงใย อ.ต.ก.จังหวัดสงขลา

องค์ความรู้

สู่การสร้างคุณภาพชีวิต

คุณจิตสุภา ยวงใย อ.ต.ก. จังหวัดสงขลา ให้ข้อมมูลว่า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ เลขที่ 424 หมู่ที่ 2 ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ได้มีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้กับผู้ที่สนใจอยากจะเพาะเลี้ยงเห็ดแครง โดยทางผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) คือ คุณกมลวิศว์ แก้วแฝก ได้จัดทำเป็นโครงการศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดแครงอินทรีย์ขึ้นมา จากเมื่อปี 2560 มีผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้การเพาะเห็ดแครงอยู่ที่ 368 ราย โดยผู้ที่มารับการอบรมบางรายก็สามารถนำความรู้จากการอบรมไปพัฒนาเป็นอาชีพ มีผลผลิตที่ได้สามารถทำตลาดออกจำหน่ายได้เอง จึงนับได้ว่าการเพาะเห็ดแครงเป็นที่สนใจทำเป็นอาชีพสร้างรายได้ไปทดแทนสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่มีราคาตกต่ำ

“ทาง อ.ต.ก. จังหวัดสงขลา จะมีการจัดอบรมเกี่ยวกับเห็ดแครงทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งเราก็จะมีการแจ้งและประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ จากที่ผ่านมาก็ประจักษ์ชัดว่า คนที่มาอบรมก็เริ่มรู้จักเห็ดแครงมากขึ้น มีผู้สนใจจากทั่วประเทศมาลงฝึกอบรม เพราะการสอนของเราจะเน้นส่งเสริมให้ผู้เพาะเห็ดแครงได้เรียนรู้การทำเห็ดแครงเป็นสินค้าเกษตรแบบปลอดภัยและสินค้าเกษตรอินทรีย์ จึงทำให้ผลผลิตที่ได้สามารถสร้างมูลค่า มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จึงเกิดเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับผู้ที่เพาะเห็ดแครงได้” คุณจิตสุภา กล่าว

อาจารย์บรรลุ บุญรอด

ซึ่งผลผลิตเห็ดแครงที่ผลิตออกมานั้น คุณจิตสุภา บอกว่า ปัจจุบัน สามารถเก็บรักษาผลผลิตได้นานขึ้นหากยังไม่ได้นำไปประกอบอาหาร อย่างเช่น ทางหน่วยงานเองได้มีการบรรจุผลิตภัณฑ์ให้เป็นแบบสุญญากาศ ทำให้เห็ดแครงสามารถมีอายุการเก็บรักษาได้ถึง 1 เดือน ดังนั้น หากมีการทำการตลาดในอนาคตที่กว้างขึ้น เห็ดแครงสามารถวางแผนการผลิตได้อย่างชัดเจนในการกำหนดปริมาณสินค้าที่จะออกสู่ท้องตลาดแต่ละครั้ง จึงทำให้ไม่มีเรื่องของการล้นตลาดอย่างแน่นอน

ก้อนเชื้อเห็ดแครง

เห็ดแครง 1 ก้อน

ให้ผลผลิต 100-150 กรัม

อาจารย์บรรลุ บุญรอด ผู้เชี่ยวชาญการเพาะเห็ดแครง ให้ข้อมูลว่า เห็ดแครง มีวิธีการเพาะเหมือนเห็ดทั่วไป เพียงแต่มีการปรับสูตรในการเพาะที่แตกต่างออกไป เมื่อทำก้อนเชื้อเห็ดเสร็จแล้วเห็นเชื้อเดินเต็มถุง ในระยะเวลาไม่กี่วันก็จะมีดอกเห็ดออกมาให้เห็น จนสามารถเก็บจำหน่ายได้ ซึ่งอายุการเก็บเกี่ยวของเห็ดแครงมีอายุที่สั้นเมื่อเทียบกับเห็ดอื่นๆ และที่สำคัญเห็ดแครงยังมีการใช้ต้นทุนต่ำ ทำให้เมื่อจำหน่ายสามารถมีรายได้กลับคืนมาได้อย่างแน่นอน

ให้ผลผลิตทุกถุง

“ปัจจุบัน การจำหน่ายสมัยนี้ เมื่อเทียบกับสมัยก่อนแล้ว ผมว่าสมัยนี้ง่ายกว่ามาก เพราะผลผลิตที่เรามีเท่าไรสามารถนำมาทำการตลาดแบบออนไลน์ได้ ดังนั้น เมื่อสนใจที่อยากจะเพาะ ผมเชื่อว่าการทำในแต่ละวิธีไม่มีอะไรยุ่งยาก เพราะถ้าประสบผลสำเร็จแล้ว สามารถนำเห็ดตัวนี้ไปต่อยอดแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้อีกหลากหลาย ซึ่งการทำหัวเชื้อของเห็ดแครง ก็มีหลักการทำทั่วไปเหมือนกับเห็ดนางฟ้า ก็จะมีการทำหัวเชื้อในวุ้น เสร็จแล้วก็เอามาทำในเมล็ดธัญพืช พอหัวเชื้อเราเสร็จเรียบร้อย เราก็จะนำหัวเชื้อมาใส่ลงในก้อนที่มีไว้ให้เชื้อเดิน โดยมีสูตรที่ทางศูนย์กำหนดไว้แล้ว สำหรับผู้ที่มาฝึกอบรมสามารถนำไปใช้ทำได้” อาจารย์บรรลุ กล่าว

โดยสูตรอาหารทำก้อนเชื้อเห็ดแครง มีดังนี้

  1. ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม
  2. รำละเอียด 50 กิโลกรัม
  3. ภูไมท์ 2 กิโลกรัม
  4. ดีเกลือ 200 กรัม
  5. น้ำสะอาด ใช้ปรับความชื้น 70-75 เปอร์เซ็นต์
พื้นที่ภายในโรงเรือน

ขั้นตอนการผลิตก้อนเชื้อเห็ด

  1. เตรียมส่วนผสม ในอัตราส่วนตามสูตรจนได้ปริมาณตามต้องการ จากนั้นใช้พลั่วหรือเครื่องผสมคลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน
  2. เติมน้ำลงไปในขี้เลื่อย ผสมพร้อมกับคลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง ผสมน้ำให้มีความชื้น ประมาณ 70-75 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นทดสอบความชื้นของสวนผสมดูว่า เหมาะสมหรือยัง โดยใช้มือกำแล้วบีบขี้เลื่อยผสม ถ้าหากมีน้ำไหลออกมาทางง่ามมือแสดงว่าส่วนผสมมีความชื้นมากเกินไป แต่ถ้าในขณะที่บีบไม่มีน้ำไหลออกมาทางง่ามมือ และเมื่อแบมือออกขี้เลื่อยผสมแตกออกเป็นชิ้นๆ แสดงว่าส่วนผสมแห้งเกินไป ซึ่งระดับความชื้นที่เหมาะสมคือ ในขณะที่ใช้มือกำและบีบส่วนผสมน้ำจะไม่ไหลออกมาทางง่ามมือ และเมื่อแบมือออกส่วนผสมจะยังจับกันเป็นก้อน
  3. บรรจุขี้เลื่อยที่ผสมเสร็จแล้วใส่ถุงพลาสติก บรรจุให้มีน้ำหนัก ประมาณ 600 กรัม ถุงพลาสติกที่ใช้ทำก้อนเชื้อเห็ดนิยมให้ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 6.5×10 นิ้ว
  4. อัดขี้เลื้อยผสมให้แน่นพอสมควร จากนั้นดึงปากถุงพลาสติกให้ตึง รวบปากถุงไล่อากาศออก แล้วจึงใส่คอขวดพลาสติก แล้วพับปากถุงพาดคอขวดลงมารัดด้วยหนังยาง อุดด้วยจุกสำลีแล้วนำไปนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อต่อไป

หลังจากทำก้อนเชื้อเห็ดเรียบร้อยแล้ว ควรนึ่งก้อนเชื้อทันทีในวันเดียวกัน ซึ่งการเก็บเชื้อค้างคืนจะทำให้รำละเอียดในก้อนเชื้อบูด เพราะมีความชื้นและเกิดแก๊สขึ้นในก้อนเชื้อ การนึ่งฆ่าก้อนเชื้อเห็ดก็มีจุดประสงค์เพื่อกำจัดเชื้อรา แมลง และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เป็นศัตรูเห็ด เป็นวิธีการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอไรเซชั่น โดยนำไปนึ่งในหม้อแรงดันหรือหม้อลูกทุ่ง ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง แล้วจึงพักให้เย็นลง นำเข้าห้องเขี่ยเชื้อโดยเร็ว ไม่ควรทิ้งไว้เกิน 24 ชั่วโมง เพราะจะเกิดการปนเปื้อนจากเชื้อราชนิดอื่นๆ

จากนั้น นำก้อนเชื้อที่เขี่ยเชื้อเห็ดแครงแล้ว เก็บในโรงเรือนสำหรับบ่มเชื้อทันที ซึ่งภายในโรงเรือนต้องมีความสะอาดไม่สะสมโรค สามารถป้องกันแดด ลม และฝน ได้เป็นอย่างดี สามารถเก็บรักษาความชื้นและถ่ายเทอากาศภายในโรงเรือนได้สะดวก และที่สำคัญต้องมืด มิเช่นนั้นแสงจะเป็นตัวกระตุ้นให้เส้นใยสร้างดอก อุณหภูมิที่เหมาะสมกับการบ่มเชื้อ ควรอยู่ที่ 28-32 องศาเซลเซียส หลังจากพักบ่มไว้ 15-20 วัน เส้นใยสีขาวจะเจริญเต็มถุง พร้อมให้นำไปเปิดดอกได้

การเปิดดอกเห็ดแครงนั้น จะนำก้อนเชื้อเห็ดมาไว้ภายในโรงเรือน ที่ควรมีขนาด 4 เมตร ยาว 8 เมตร และสูง 2.50 เมตร โดยวางก้อนเชื้อเห็ดบนชั้น โดยเปิดฝาจุกพลาสติกออก รัดปากถุงด้วยเชือกฟางให้แน่น พร้อมทั้งกรีดด้านข้างก้อนเชื้อเห็ดให้ทะลุตามแนวเอียง 45 องศา ถุงละ 4-6 รอบ ในช่วงนี้ให้รดน้ำสะอาดลงที่พื้นและผนัง เพื่อเพิ่มความชื้นภายในโรงเรือน และเมื่อมองเห็นว่าเส้นใยบริเวณรอยกรีดสมานกันดีจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน แล้วจึงรดน้ำที่ก้อนเชื้อเห็ดโดยใช้หัวฉีดเจทสเปรย์ หากไม่สะดวกให้ใช้ถังฉีดพ่นปุ๋ยหรือสารเคมี (แต่ต้องล้างให้สะอาด) แทน

จากนั้นรักษาอุณหภูมิภายในโรงเรือนไว้ที่ 30-35 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ที่ 85 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะทำให้ดอกเห็ดเจริญเติบโตได้ดี หลังจากที่ฉีดพ่นน้ำทุกวันจนครบ 7 วัน ดอกเห็ดแครงก็จะโตพอที่จะเก็บเกี่ยวได้ วิธีการตัดจะใช้มีดคมๆ เฉือนตรงโคนดอกเห็ดที่บานเต็มที่ ซึ่งการเก็บผลผลิตในรุ่นแรก จะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 80-120 กรัม ต่อเห็ด 1 ก้อน หลังจากเก็บผลผลิตรุ่นแรกแล้ว ประมาณ 6-7 วัน ก็จะสามารถเก็บ รุ่นที่ 2 มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 20-30 กรัม ตามลำดับ ดังนั้น เห็ดแครง 1 ก้อน (600 กรัม) จะให้ผลผลิตประมาณ 100-150 กรัม

เมื่อเก็บผลผลิตหมดแล้ว ให้นำก้อนเชื้อไปทิ้งหรือทำลาย ในกรณีที่ทิ้งควรนำไปทิ้งให้ไกลจากพื้นที่ เพราะจะทำให้ไม่เกิดการสะสมโรคภายในบริเวณที่เพาะเห็ดได้ สำหรับโรงเรือนหลังจากเปิดดอกและย้ายก้อนเชื้อออกไปแล้ว ควรทำความสะอาดไม่ให้มีโรคสะสม จากนั้นพักโรงเรือนให้แห้ง เป็นเวลา 2-3 วัน แล้วจึงนำก้อนเชื้อเห็ดรุ่นใหม่ไปเปิดต่อไปได้

เห็ดแครง เป็นแหล่งของโปรตีน

ปรุงอาหารมีรสชาติอร่อย

คุณจิตสุภา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของการนำเห็ดแครงเพื่อนำไปประกอบอาหารว่า เห็ดแครง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่นิยมรับประทานเนื้อสัตว์ ก็สามารถนำเห็ดแครงไปประกอบอาหารแทนการปรุงจากเนื้อสัตว์ได้ เพราะในเห็ดแครงมีโปรตีนสูง แถมเมื่อนำไปประกอบอาหารสามารถทำได้หลากหลายเมนู เช่น แกง ห่อหมก ตลอดไปจนถึงเมนูทอดมันเห็ดแครงโดยขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้นๆ ว่าจะรังสรรค์เมนูในรูปแบบใด

เข้าอบรมฝึกทำก้อนเชื้อเห็ดแครง

“ราคาเห็ดแครงที่จำหน่ายตามท้องตลาด ก็สามารถทำตลาดได้หลากหลาย อย่างผู้ที่มาฝึกอบรมกับศูนย์ของเรา พอกลับไปทำเป็นอาชีพเอง เขาก็สามารถจำหน่ายได้ราคา ตั้งแต่ 200-400 บาท ต่อกิโลกรัม จากจำนวนการลงทุนและผลตอบแทนที่ได้ ก็ถือว่าเห็ดแครงเป็นอีกหนึ่งผลผลิตที่น่าสนใจ เพราะในอนาคตเราเองก็จะมีการต่อยอดมากขึ้น นำมาแปรรูปหลากหลาย ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเห็ดแครงได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เกิดรายได้กับเกษตรกรผู้เพาะได้อย่างยั่งยืน” คุณจิตสุภา บอกถึงเรื่องการทำตลาด

ลาบเห็ดแครง

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะฝึกการเพาะเห็ดแครง สามารถติดต่อขอฝึกอบรมได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดแครง อ.ต.ก. จังหวัดสงขลา หรือติดต่อทางหมายเลขโทรศัพท์ (074) 330-241-3 โดยทางศูนย์จะมีการฝึกอบรมให้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และท่านใดสนใจซื้อเห็ดแครงเพื่อนำไปประกอบอาหารเองที่บ้าน หรือจะเป็นสินค้ากับข้าวสำเร็จรูปที่พร้อมรับประทานได้ทันที ก็สามารถไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่ ตลาด อ.ต.ก. เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ (02) 790-4545 หรือ www.ortorkor.com