“มังคุดทิพย์พังงา” ผลไม้รสอร่อย ต้องลองชิม

“มังคุด” นับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดพังงา เพราะมีตัวเลขพื้นที่ปลูกมากเป็น อันดับ 3 รองจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน ลักษณะเด่นของมังคุดพังงาคือ มี “ผิวสีน้ำตาลอมแดง รสชาติหวานอมเปรี้ยว” กลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญของจังหวัดพังงา ปลูกง่าย ขายดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งคนไทยและต่างชาติ จากคุณลักษณะเด่นดังกล่าว ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จึงตั้งชื่อมังคุดพังงาว่า “ทิพย์พังงา” หมายถึง ผลไม้ที่เป็นของเทวดา มีรสเลิศจากจังหวัดพังงา

ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เข้าช่วยประชาสัมพันธ์สินค้ามังคุดทิพย์พังงาอย่างเต็มที่ โดยจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิญนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฯลฯ เข้ามากินมังคุดในช่วงฤดูกาลผลไม้ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ผ่านมา มังคุดทิพย์พังงา สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจแก่ชาวพังงาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง สู่ครอบครัวเกษตรกรและกระจายรายได้ก้อนโตเข้าสู่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องทุกปี

กลุ่มพัฒนามังคุด เพื่อการส่งออกจังหวัดพังงา 

โดยทั่วไป มังคุดทิพย์พังงา จะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี แต่ปีใด มังคุดพังงามีผลผลิตเข้าตลาดในช่วงเวลาเดียวกับภาคตะวันออก มักเสียเปรียบในเรื่องการขนส่ง และถูกกดราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรผู้ปลูกมังคุด จึงได้รวมตัวกัน ในชื่อ “กลุ่มพัฒนามังคุดเพื่อการส่งออกจังหวัดพังงา”

เพื่อรวบรวมผลผลิตมังคุดเกรดส่งออก คือ มังคุดที่มีน้ำหนักเฉลี่ยผลละไม่น้อยกว่า 90 กรัม หรือเฉลี่ยไม่เกิน 12 ลูก ต่อกิโลกรัม ประมูลขายให้กับพ่อค้า เพื่อส่งออกไปขายที่ประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฯลฯช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตให้ผู้ส่งออกได้ในราคาดีกว่าเดิมเกือบ 2 เท่าตัว

แหล่งผลิต มังคุดทิพย์พังงา

เดิมทีแหล่งปลูกมังคุดทิพย์พังงา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอกะปง อำเภอคุระบุรี และ อำเภอตะกั่วป่า ซึ่งเป็นเขตเหมืองแร่เก่า อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของพืช หลังจาก มังคุดทิพย์พังงาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของตลาดในประเทศและส่งออก ชาวพังงาก็เร่งขยายพื้นที่ปลูกมังคุดทิพย์พังงามากขึ้น ในพื้นที่อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง ฯลฯ

จังหวัดพังงา ได้สำรวจพบว่า มีเนื้อที่ปลูกมังคุดทิพย์พังงามากกว่า 22,540 ไร่ มีต้นมังคุดที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว มีอายุเฉลี่ย 25 ปี ยิ่งมังคุดมีอายุมากขึ้น ยิ่งให้ผลผลิตสูงเป็นเงาตามตัว

โดยธรรมชาติ มังคุดเป็นไม้ผลที่ต้องการอุณหภูมิสูง และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงตลอดช่วงของการเจริญเติบโต ดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี มีความเป็นกรดเป็นด่าง ประมาณ 5.5-6.5 ที่สำคัญคือ พื้นที่ปลูกต้องมีน้ำเพียงพอตลอดในช่วงฤดูแล้ง เพราะต้องมีการกระตุ้น เพื่อชักนำให้เกิดการออกดอก

การดูแลหลังการเก็บเกี่ยว

หลังสิ้นสุดฤดูมังคุดในช่วงเดือนกรกฎาคม เกษตรกรจะนำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยเคมี มาใส่บำรุงต้นมังคุดให้มีสภาพสมบูรณ์ และสะสมอาหารอย่างเต็มที่ก่อนเริ่มต้นให้ผลผลิตในช่วงฤดูถัดไป ประมาณช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ต้นมังคุดจะเริ่มแตกยอด เกษตรกรต้องคอยดูแลไม่ให้หนอนแมลงทำลายยอด

ช่วงระยะแตกใบอ่อน ประมาณเดือนมกราคม เกษตรกรนิยมใส่ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารตัวกลางสูงๆ เพื่อช่วยให้ต้นมังคุดออกดอกได้อย่างเต็มที่ ช่วงนี้เสี่ยงเจอปัญหาการแพร่ระบาดของ หนอน ไร และเพลี้ย จึงต้องฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงทุกๆ 10 วัน หรือประมาณ 10 ครั้ง ในช่วงเวลา 2 เดือน เมื่อต้นมังคุดเริ่มออกผล ควรให้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 เพื่อเร่งพัฒนาเนื้อ และให้น้ำต้นมังคุดอย่างสม่ำเสมอจนกว่าฝนจะตก และเก็บผลมังคุดทิพย์พังงาออกจำหน่ายตั้งแต่เดือนมีนาคม-กรกฎาคมของทุกปี