ข้าวพื้นเมือง ‘อัลฮัมดุลิลลาฮุ’ ผลผลิตจากทุ่งนา ‘บ้านโคกโดน’ เจาะตลาดมุสลิมแดนใต้-มาเลเซีย

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายภูมิภาคมีการเปิดจุดจำหน่ายข้าวกันอย่างคึกคัก ทั้งส่วนราชการ ภาคเอกชน เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านนำข้าวสารพันธุ์ดีมาวางขายส่งตรงถึงมือผู้บริโภคเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะจากราคาข้าวตกต่ำ บรรยากาศการซื้อขายเป็นไปอย่างคึกคัก ชื่นมื่น มีทั้งข้าวพันธุ์ดี ชื่อดังจากหลายภูมิภาค ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง รวมทั้งข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสซื้อข้าวชั้นดี หายาก

สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ต่างๆ ยังมีข้าวหลากหลายให้เลือกบริโภค โดยเฉพาะตลาดข้าวกล้องพื้นเมือง ได้รับความสนใจจากทั้งผู้บริโภคชาวไทยและต่างประเทศ

ที่จังหวัดสตูล เป็นอีกแหล่งปลูกข้าวพื้นเมืองที่นิยมบริโภคกันในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะผู้ชื่นชอบข้าวหุงขึ้นหม้อ รสชาติมัน กินอิ่มท้อง ทำข้าวต้ม-โจ๊ก อร่อย หรือใช้ทำแป้งขนมจีน จะได้เส้นขนมจีนเหนียวหนึบ หรือใช้ทำแป้งขนมทองพับ ปัจจุบัน มีการขยายตลาดไปยังผู้บริโภคประเทศมาเลเซียด้วย โดยเฉพาะ “ข้าวอัลฮัมดุลิลลาฮุ” ผลผลิตจากชาวนาบ้านโคกโดน หมู่ที่ 12 ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

201611101522451-20150518130435

ปัจจุบัน ชาวนาบ้านโคกโดน รวมตัวตั้ง “กลุ่มเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร” มีสมาชิกกลุ่ม 121 ราย มีพื้นที่ปลูกข้าว “ข้าวอัลฮัมดุลิลลาฮุ” 570 ไร่ ให้ผลผลิตข้าวปีละ 285 ตัน/ปี ในอดีตชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมาขายให้โรงสี ราคากิโลกรัมละ 8-12 บาท แต่หลังรวมกลุ่มกันและได้รับการส่งเสริมลดปัจจัยการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้ข้าวจนสามารถผลิตขึ้นเอง พร้อมขายออกสู่ตลาดเองได้เป็นผลสำเร็จสร้างความภาคภูมิใจให้ชาวบ้าน พร้อมชูจุดขายข้าวกล้องพื้นเมือง “ข้าวอัลฮัมดุลิลลาฮุ” ซึ่งมีความหมายว่า “ขอบคุณพระเจ้า”

อาแมน สาและ เจ้าของศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตรบ้านโคกโดน เล่าถึงที่มาของการตั้งกลุ่มว่า เดิมตนเริ่มทำนาตั้งแต่ปี 2525 พื้นที่ 10 ไร่เศษ ประสบปัญหาดินเสื่อมสภาพ ทำให้ได้ผลผลิตน้อย กระทั่งปี 2554 จึงขอความร่วมมือไปยังพัฒนาที่ดินจังหวัดสตูล ซึ่งให้คำแนะนำการปรับหน้าดิน ทำให้ดินมีความสมบูรณ์ รวมทั้งเข้ามาดูแล นำเครื่องจักรเข้ามาไถนาแล้วปลูกต้นปอเทือง เพื่อปรับสภาพดินให้มีความสมบูรณ์พร้อมให้ความรู้เรื่องของการใช้ปุ๋ยเพื่อปรับปรุงดิน ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจาก 300 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็น 500 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังได้รับพันธุ์ข้าว “ข้าวอัลฮัมดุลิลลาฮุ” สายพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดสตูล มาปลูก เป็นข้าวที่ให้ผลผลิตจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ในปี 2556 ได้ส่งผลผลิตเข้าร่วมประกวดผลผลิตข้าว และได้รับรางวัลที่ 1 กลับมา ชาวบ้านจึงรวมตัวกันตั้งกลุ่มเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตรขึ้น ในปี 2558

201611101522453-20150518130435-768x432

“ต่อมาสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรกลุ่มนี้ พร้อมมอบเครื่องสีข้าวและอุปกรณ์บรรจุถุงข้าว ปีงบประมาณ 2559 กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าว ซึ่งเดิมเราขายเป็นข้าวเปลือกในราคากิโลกรัมละ 10 บาท แต่หลังได้รับเครื่องสีข้าวและเครื่องบรรจุภัณฑ์ข้าว เรานำมาสีข้าวและบรรจุถุงขายเป็นราคากิโลกรัมละ 50 บาท จัดส่งขายในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ ไปออกบู๊ธร่วมกับทางจังหวัดบ้าง ทำให้ราคาข้าวของเกษตรกรไม่ตกต่ำ สำหรับ “ข้าวอัลฮัมดุลิลลาฮุ” เป็นตลาดภายในจังหวัด รวมทั้งเตรียมส่งไปขายตลาดมาเลเซีย ตลาดแป้งขนมจีนในจังหวัดพัทลุง และข้าวสำหรับฟาร์มไก่ชน” อาแมน สาและ กล่าว

ด้าน วิชาญ แก้วมี หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล กล่าวว่า แนวทางของการส่งเสริม “ข้าวอัลฮัมดุลิลลาฮุ” ด้วยการลดต้นทุนการผลิตในการทำนาต่อไร่ลง โดยลดการใช้ปุ๋ยเคมี เปลี่ยนมาเป็นปุ๋ยพืชสด การไถกลบตอซัง การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักชีวภาพให้มากขึ้น ลดต้นทุนค่าจ้างแรงงานโดยรวมกลุ่ม ลงแรง ลงแขก และลดการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกจากไร่ละ 15 กิโลกรัม เหลือ 5-8 กิโลกรัม ซึ่งทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น จากไร่ละ 450 กิโลกรัม เป็น 600 กิโลกรัม โดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่บริสุทธิ์ไม่ปลอมปน จากศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนในพื้นที่ถึง 5 ศูนย์ ไว้บริการชาวนา นอกจากนี้ ถ่ายทอดความรู้การทำนาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การป้องกันการกำจัดศัตรูพืช โดยใช้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนที่มีอยู่ในทุกอำเภอช่วยเหลือจัดการ ตลอดจนส่งเสริมการแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งขณะนี้สามารถรวมกลุ่มได้แล้ว 4 กลุ่ม ในพื้นที่อำเภอเมือง 2 กลุ่ม อำเภอละงู 1 กลุ่ม และอำเภอควนกาหลง 1 กลุ่ม

ปัจจุบัน “ข้าวอัลฮัมดุลิลลาฮุ” นิยมปลูกเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสตูลเท่านั้น บนพื้นที่ 60 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งจังหวัด ส่วนที่เหลือเป็นข้าวพันธุ์ปทุม กข 5 ไรซ์เบอร์รี่ข้าวเหนียวดำ ซึ่งให้ผลผลิตถึง 28,000 ตัน/ปี แต่กระนั้นยังไม่เพียงพอจำหน่าย เนื่องจากยังมีความต้องการบริโภคข้าวพันธุ์พื้นเมืองนี้อีกจำนวนมาก

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน