“นครินทรา” พืชป่าหายาก ดอกสวยงาม พรรณไม้เทิดพระเกียรติ “สมเด็จย่า”

นครินทรา เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2552 โดย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ เขาหินปูนบริเวณดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

กรมวิชาการเกษตร ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่มีพระราชกรณียกิจเกี่ยวข้องด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาดอยตุง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพรรณไม้ดังกล่าวว่า “นครินทรา” เมื่อ วันที่ 5 มีนาคม 2554 ซึ่งมีความหมายว่า พรรณไม้ที่เป็นศรีสง่าแด่สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี

“นครินทรา” (Trisepalum sangwaniae) species nova อยู่ในวงศ์ชาฤาษี จัดเป็นพืชหายาก และเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย ทั้งนี้ ทั่วโลกมีความหลากหลายของพืชสกุลชาฤาษี จำนวน 25 ชนิด ประเทศไทยนับว่า มีความหลากหลายของพืชสกุลชาฤาษีมากที่สุดในโลก เพราะค้นพบพืชสกุลชาฤาษีในประเทศไทยมากถึง 20 ชนิด

นครินทรา มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 20-60 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มจำนวนมาก ตั้งตรงหรือทอดเอนไปตามพื้นหิน ลำต้นส่วนล่างเป็นเนื้อไม้แข็งมีนวมหุ้ม 10-15 เซนติเมตร กิ่งมีขนาดเล็กเรียว

ใบ เป็นใบเดี่ยว 4-5 คู่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปไข่ กว้าง 6-7.5 เซนติเมตร ยาว 3.5-4.5 เซนติเมตร ปลายมน โคนรูปลิ่ม ขอบหยักมน ก้านใบยาว 1.5-1.8 เซนติเมตร เป็นครีบสอบเรียวเชื่อมต่อมาจากโคนแผ่นใบ ช่อดอกเป็นช่อกระจุก ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร เกิดที่ยอดหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านช่อดอก 4-8 เซนติเมตร ใบประดับและใบประดับย่อยรองรับดอกรูปร่างมนกลม

กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก 3 แฉกบนติดกัน 2 แฉกล่างแยกกันเป็นอิสระ กลีบดอกรูประฆัง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดด้านนอก สีขาวอมม่วงอ่อน ด้านในสีขาวที่โคนหลอดสีเขียว ปลายแยกเป็น 5 แฉก สีม่วง รูปไข่กว้าง กว้าง 1-1.2 เซนติเมตร ยาว 0.6-0.7 เซนติเมตร ปลายมนกลม เกสรเพศผู้ 2 อัน ติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอก อับเรณูรูปคล้ายสามเหลี่ยมของแต่ละอันมาเชื่อมติดกันตามรอยตะเข็บ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 2 อัน ลดรูปจนมีขนาดเล็ก รังไข่ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียเป็นแถบรูปลิ้น ผลแบบผลแห้งแตก เมื่อแก่บิดเป็นเกลียว ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก

เนื่องจาก นครินทรา เป็นพืชป่าที่พบใหม่และยังไม่เคยมีรายงานการนำไปใช้ประโยชน์ แต่กรมวิชาการเกษตร คาดว่า นครินทรา มีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาไปใช้เป็นไม้ประดับ เพราะมีดอกที่มีความสวยงามหรืออาจพัฒนาเป็นพืชเครื่องดื่มได้ เพราะในชาฤาษีชนิด Trisepalum albidum ซึ่งเป็นพืชในสกุลเดียวกันนั้น มีรายงานว่ายอดอ่อนตากแห้งสามารถนำไปชงดื่มได้เช่นเดียวกับใบชาทั่วไป