สัมผัสไร่กาแฟ ที่ดอยช้าง เชียงราย ชิมกาแฟอร่อย ดื่มด่ำบรรยากาศธรรมชาติ

ชื่อเสียงของ ดอยช้าง จังหวัดเชียงราย เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวว่ามีความสวยงาม อันเกิดจากความหลากหลายทางธรรมชาติ ทั้งภูเขา น้ำตก ป่าไม้ ตลอดจนแหล่งอารยธรรมทางวัฒนธรรมของชนเผ่าชาวไทยภูเขา สร้างความหลงใหลให้แก่นักท่องเที่ยวต้องแวะเยือนกันอย่างไม่ขาดสาย

ขณะที่สภาพทางกายภาพบนดอยช้างมีความสูงชันตามลักษณะภูเขา ตลอดจนมีอากาศชุ่มชื้นจากป่าไม้ ซึ่งเอื้อต่อการปลูกไม้เมืองหนาวหลายชนิด โดยเฉพาะกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่ขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพดี กลิ่นหอม และรสชาติเยี่ยมไม่แพ้กาแฟนอก

จึงทำให้ชาวบ้านในชุมชนหมู่บ้านต่างๆ หันมาปลูกกาแฟขาย พร้อมกับรวมตัวกันเป็นกลุ่มผลิตกาแฟแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การเก็บผลผลิต การคั่ว การส่งออก รวมถึงการขายเป็นกาแฟสำเร็จรูปอีกด้วย มีคุณภาพเทียบเท่ากาแฟต่างประเทศ จนเป็นที่ถูกใจของคอกาแฟทั้งไทยและต่างชาติ

คุณฐิณัฏฐา นภาจรี หรือ คุณลักกี้

เช่นเดียวกับ คุณฐิณัฏฐา นภาจรี หรือ คุณลักกี้ คลื่นลูกใหม่ที่เข้ามาสานต่ออาชีพปลูกกาแฟซึ่งทำกันมายาวนานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แล้วยังสร้างเครือข่ายด้วยการรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านในพื้นที่เพื่อผลิตกาแฟแบบครบวงจร เน้นผลิตกาแฟด้วยมาตรฐาน จนได้รับการยอมรับจากตลาดลูกค้าทั้งใน/ต่างประเทศ ในชื่อดอยช้างคอฟฟี่ฟาร์ม (Doi Chang Coffee Farm) พร้อมกับเปิดร้านกาแฟ และรีสอร์ต จัดกิจกรรมต่างๆ ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาตลอดทั้งปี

เพาะต้นกาแฟจากเมล็ด

คุณลักกี้ เล่าว่า ขยายพันธุ์กาแฟด้วยเมล็ด ภายหลังเมื่อเพาะเป็นต้นกล้าได้เกือบ 2 ปี จึงย้ายต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ลงดินปลูกในสวน โดยขุดหลุมขนาดกว้าง ยาว ลึก ประมาณ 1 ศอก แล้วให้รองก้นหลุมด้วยเปลือกกาแฟ เพราะมีอยู่จำนวนมากแล้วยังมีคุณค่าทางอาหารที่ดีให้กับต้นกาแฟอีก ถือเป็นการลดต้นทุนโดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี

ต้นกาแฟในสวนจะปลูกห่างกันประมาณ 1 วา แล้วปลูกไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่เพื่ออาศัยร่มเงา จนเมื่อต้นกาแฟอายุประมาณ 4 ปี จะเริ่มให้ผลผลิตรุ่นแรก แต่ก่อนจะได้ผลผลิตสัก 1 ปี ต้องใส่ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 ในปริมาณครึ่งกำมือ ใส่บริเวณโคนต้น ไม่ต้องชิดแล้วรดน้ำตาม

ดอกกาแฟ

ในปีที่ 4 ต้นกาแฟจะเริ่มให้ผลผลิตรุ่นแรก ทั้งนี้จำนวน คุณภาพ และความสมบูรณ์ จะมีมาก-น้อย ต่างกันขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่แล้วพัฒนาปรับปรุงคุณภาพเนื้อดิน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา คุณลักกี้ ชี้ว่า กาแฟรุ่นแรกจะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 5 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม จำนวนผลผลิตจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุของต้นกาแฟ รวมถึงการดูแลบำรุง

เพราะเมื่อต้นมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จะแตกกิ่งก้านสาขาออก แล้วผลกาแฟจะเกิดขึ้นตามกิ่งก้านที่แตกออกมา ดอกกาแฟจะผสมกันเองตามธรรมชาติ แล้วจะเริ่มบานในราวเดือนเมษายน จะติดผลในราวเดือนกรกฎาคม พอเข้าช่วงปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ผลกาแฟจะทยอยสุก สังเกตจากผลที่มีสีแดงหรือสีเหลือง จากนั้นคนงานจะเก็บไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม

สมาชิกกลุ่มเก็บผลผลิต
เมล็ดกาแฟสุกแก่จะมีสีแดง

หลังจากเก็บผลผลิตเมล็ดกาแฟสดจากสวนในแต่ละวัน ก็จะนำมาเข้าโรงงานแปรรูป โดยจะเริ่มตั้งแต่

1. การนำเมล็ดกาแฟสุกไปแช่ในน้ำ เพื่อคัดแยกคุณภาพเมล็ด ทั้งนี้เมล็ดที่สมบูรณ์และมีคุณภาพสูงจะจมน้ำ ส่วนเมล็ดที่ลอยแสดงว่าเป็นเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ จะแยกไว้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไป

คนงานช่วยกันคัดแยกเมล็ดกาแฟ

2. เมล็ดสมบูรณ์จะแช่น้ำไว้สัก 1 คืน พอตอนเช้าจะเทน้ำทิ้งแล้วนำเมล็ดกาแฟมาขัดสีเพื่อนำเปลือกสีแดงออก

3. เมล็ดที่นำเปลือกออกแล้ว จะนำไปแช่ในบ่อน้ำต่ออีกสัก 2 คืน เพื่อให้เมือกที่ติดกับเมล็ดกาแฟหลุดออกไป

4. แล้วนำเมล็ดไปตากแดดเพื่อไล่ความชื้นออกให้หมด ซึ่งเรียกกันว่า เมล็ดกะลา โดยใช้เวลาตากแดด ประมาณ 7 แดด (7 วัน)

คนงานกำลังกรอกเมล็ดกาแฟกะลาที่ตากแห้งสนิท

5. ให้นำเมล็ดกะลาไปกะเทาะเปลือกหรือกะลาออก แล้วจะเหลือเป็นกาแฟสาร

6. คัดแยกคุณภาพเมล็ดกาแฟสาร ทั้งนี้เมล็ดกาแฟสารที่มีคุณภาพสมบูรณ์ จากนั้นจะนำไปบรรจุใส่กระสอบป่านขนาด 50 กิโลกรัม เพื่อส่งให้ลูกค้ากลุ่มที่มีโรงคั่วเองทั้งในและต่างประเทศตามยอดการสั่งจอง

กาแฟดิบและกาแฟคั่วที่ส่งลูกค้าในประเทศ

คุณลักกี้ บอกว่า ตลาดต่างประเทศที่ส่งเป็นประจำ ได้แก่ ทางเกาหลี และเยอรมนี ทั้งนี้ตลาดต่างประเทศมีสัดส่วนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของตลาดในประเทศ โดยผลิตส่งครั้งละประมาณ 5 ตัน ส่วนตลาดในประเทศทำธุรกิจ 2 แบบคือการส่งขายกาแฟสาร กับการส่งขายกาแฟคั่วสำเร็จให้แก่ตามร้านกาแฟทั่วไป ขณะเดียวกันกาแฟบางส่วนยังนำไปคั่วขายที่ร้านกาแฟของตัวเอง

นอกจากนั้น ลูกค้าทางเกาหลียังสนใจกระบวนการผลิตกาแฟที่สวนของคุณลักกี้ โดยจัดส่งบุคลากรเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของไร่กาแฟ จนเป็นที่มาของการสร้างรีสอร์ตไว้รองรับ

ความต้องการของตลาดที่มีมากมาย ลำพังผลผลิตในสวนกาแฟของเธอคงไม่พอรองรับ ดังนั้น ต้องรับซื้อเมล็ดกาแฟจากสมาชิกที่มีอยู่ จำนวน 45 ราย เข้ามาเสริมด้วย โดยแต่ละครั้งสมาชิกจำนวนดังกล่าวจะนำผลผลิตมาส่งรวมกัน ประมาณ 300 ตัน ถ้ารวมสวนตัวเองด้วยจะได้ผลผลิตทั้งสิ้นกว่า 400 ตัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้อาจเพิ่ม-ลด ได้ตามสภาพทางธรรมชาติที่เอื้อต่อการปลูกกาแฟในแต่ละปี

คุณลักกี้ บอกว่า กาแฟในสวนของครอบครัวรวมถึงของสมาชิกเป็นการปลูกกาแฟโดยไม่ใช้สารเคมี แล้วเน้นใช้แนวทางอินทรีย์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเอาใจใส่อย่างละเอียดในทุกขั้นตอน

กาแฟสารดิบ

ทั้งนี้มีการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดกาแฟจากสมาชิกหากพบปัญหาทางด้านคุณภาพผลผลิตที่เกิดจากสมาชิกทั้งในเรื่องการเก็บผลผลิตหรือโรค/แมลง แล้วส่งผลทำให้คุณภาพผลผลิตลดลงหรือไม่ได้มาตรฐาน ก็จะเชิญสมาชิกมาประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหา พร้อมกับเชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาให้ความรู้หรือแนะนำ

อีกวิธีของการควบคุมผลผลิตเพื่อไม่ให้กระทบกับคุณภาพกาแฟที่ส่งให้ลูกค้าด้วยการคัดแยกเมล็ดกาแฟตั้งแต่ต้นทาง โดยการนำเมล็ดกาแฟสุกที่สมาชิกนำมาส่งแล้วนำไปแช่ในน้ำเพื่อแยกความสมบูรณ์ของเมล็ดกาแฟออกก่อนในชั้นแรก

คุณลักกี้ บอกว่า การผลิตกาแฟสดสามารถเลือกคั่วกาแฟตามคุณภาพของกาแฟแต่ละชนิดได้ หมายถึง ทางโรงงานสามารถกำหนดคุณภาพเมล็ดกาแฟได้หลายชนิด เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าตามกำลังซื้อ โดยกาแฟสดที่แปรรูปแบ่งออกเป็น
1. กาแฟคั่วแล้วแต่ยังเป็นเมล็ด
2. กาแฟดริ๊บที่บรรจุถุงเวลาจะดื่ม ต้องใช้อุปกรณ์ชง ภายใต้ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ABOPA” แล้วกำหนดราคาขายกาแฟสาร เริ่มที่ 200 บาท ต่อกิโลกรัม กาแฟคั่ว เริ่มที่ 350 บาท ต่อกิโลกรัม

จุดเด่นของกาแฟ “ABOPA” คือ ความมีเอกลักษณ์เฉพาะของรสกาแฟแท้ที่ปลูกจากต้นกาแฟที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการผลิตเป็นกาแฟอย่างพิถีพิถันใส่ใจทุกขั้นตอนจากโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน จึงทำให้ได้รสชาติกาแฟที่เข้มข้น หอมละมุน สะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพ

นอกจากสร้างจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ด้วยรสชาติ กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานเป็นที่เชื่อถือของลูกค้าแล้ว คุณลักกี้ ยังนำกิจกรรมต่างๆ เข้ามาเสริมในไร่กาแฟเพื่อสร้างฐานกลุ่มลูกค้าให้มาก และเป็นที่รู้จักแพร่หลายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย โดยลูกค้าสามารถเข้ามาสัมผัสกับกระบวนการผลิตกาแฟในไร่ได้ตั้งแต่การปลูก การเก็บผลผลิต กระบวนการแปรรูปไปจนเห็นกาแฟสำเร็จที่ชงในถ้วย

บรรยากาศของรีสอร์ต
ของที่ระลึกเป็นรูปช้าง

ร้านดอยช้างคอฟฟี่ฟาร์ม (Doi Chang Coffee Farm) เปิดบริการมาได้กว่า 10 ปี ภายใต้ความมุ่งมั่นที่ต้องการผลิตกาแฟคุณภาพจากฝีมือของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคงต่อครัวเรือน ทั้งนี้ไม่เพียงจำหน่ายกาแฟแต่ยังมีอาหารว่างหลายเมนู มีเครื่องดื่มอื่นที่ผลิตจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ชาดอกกาแฟ ชาใบกาแฟ แล้วยังมีจำหน่ายสินค้าที่ระลึกที่เป็นสัญลักษณ์จากดอยช้าง

ของที่ระลึกเป็นรูปช้าง

สอบถามรายละเอียดสั่งซื้อ หรือสนใจเป็นตัวแทนจำหน่ายกาแฟ แบรนด์ “ABOPA” หรือต้องการมาเที่ยวสัมผัสกับธรรมชาติบนดอยช้าง พร้อมเยี่ยมชมและทำกิจกรรมต่างๆ ของดอยช้างคอฟฟี่ฟาร์ม (Doi Chang Coffee Farm) ติดต่อโดยตรงได้ที่ คุณลักกี้ หรือ คุณฐิณัฏฐา นภาจรี โทรศัพท์ (090) 465-5956 Line ID lucky110331