เตรียมความพร้อม ในการผลิต “มะม่วงนอกฤดู”

สวนคุณลี อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398 ที่คลุกคลีและมีประสบการณ์ทำมะม่วงนอกฤดูในเขตภาคเหนือตอนล่างมานาน โดยเฉพาะการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออก ทางสวนคุณลี จึงอยากจะเรียบเรียงเทคนิคการผลิตมะม่วงนอกฤดูคุณภาพส่งออก เพื่อเป็นแนวทางในการผลิตมะม่วงเบื้องต้น ให้นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

มะม่วงน้ำดอกไม้ส่วนหนึ่งที่คัดเข้าสู่เกรดส่งออกญี่ปุ่น

ยกตัวอย่าง การผลิตมะม่วงนอกฤดูของจังหวัดพิจิตร ที่เป็นแหล่งผลิตมะม่วงอันดับต้นๆ ของประเทศ การผลิตมะม่วงนอกฤดูนั้นเริ่มจาก หลังจากเก็บมะม่วงในฤดูเสร็จเดือนเมษายนจะตัดแต่งกิ่ง เตรียมต้น เตรียมใบ โดยฉีดสะสมอาหารด้วยปุ๋ยทางใบ 0-52-34+ซุปเปอร์-เค ฉีดประมาณ 3-4 ครั้ง ส่วนทางดินใส่ 8-24-24

ช่วงหลังราดสารประมาณปลายเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคม เพียงครั้งเดียว อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น (ต้น 15-20 ปี) เพื่อให้มะม่วงออกดอกสม่ำเสมอ ออกช่อพร้อมกัน พอช่วงเดือนกันยายนถ้าใบแก่ ใบพร้อม สภาพอากาศพร้อม หมายความว่าไม่มีฝนชุก ก็จะเปิดตาดอก

มะม่วงเกรดส่งออกผิวต้องสวย ไร้สารตกค้าง

โดยใช้ไทโอยูเรีย บวกกับปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรต 13-0-46 พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน  ถ้าเตรียมต้นมาดี ใบพร้อมเสมอทั่วต้น ก็จะได้ดอก 70-80% ถ้าโชคไม่ดีเจอฝน ดอกออกไม่เยอะก็ต้องฉีดสะสมอาหารใหม่ เพื่อฉีดเปิดตาดอกอีกครั้ง 20 วัน หลังจากนี้

จากนั้นก็ปล่อยให้มะม่วงเติบโตไปตามเกณฑ์ เมื่อขนาดผลเท่าไข่เป็ดหรือประมาณ 45 วัน จะห่อผลด้วยถุงห่อคาร์บอนชุนฟง มะม่วงรุ่นแรกนี้จะสามารถเก็บได้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม-ต้นเดือนมกราคม

จากนั้นมะม่วงจะกระทบหนาวและออกดอกมาตามธรรมชาติ แทบไม่ต้องดูแลอะไรก็มีมะม่วงให้ได้เก็บอีกรุ่นในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นรุ่นในฤดู เท่ากับว่าปีหนึ่งจะได้เก็บมะม่วง 2 รุ่น โดยการพ่นสารเคมีจะพ่นแค่ช่วงดอกถึงติดผลอ่อน ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง

สวนที่มีพื้นที่ใหญ่ เครื่องจักรต้องสามารถเข้าทำงานสะดวก
รถฉีดพ่นยาแบบแอร์บัส นำเข้ามาใช้ในสวนมะม่วงเพื่อความสะดวกและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

ซึ่งช่วงนี้ฝนที่นี่ค่อนข้างชุก ถ้าฝนตกวันไหนชาวสวนจะต้องฉีดพ่นยาทันที บางครั้งพ่นกันทุกวัน ยาเชื้อราจะใช้พวกสารโพรคลอราซ, อมิสตา, แอนทราโคล ส่วนยาฆ่าแมลงใช้พวกสารเมโทมิล, แลมป์ด้า ไซฮาโลทริน เพื่อกำจัดหนอน

ส่วนแมลงปีกแข็งใช้สารกลุ่มคาร์บาริลและแลมป์ด้า ไซฮาโลทริน แต่สวนใหญ่ๆ ปัจจุบันสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น เพราะใช้รถแอร์บัสในการฉีดพ่น ซึ่งฉีดได้ทั่วถึงดีมาก อันนี้เป็นภาพรวมคร่าวๆ ที่จะทำให้เห็นภาพการผลิต

เคล็ดลับการดูแลมะม่วงก่อนแต่งกิ่ง

ก่อนตัดแต่งกิ่งประมาณ 15-20 วัน จะต้องใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 15-0-0 (แคลเซียมไนเตรต) ต้นละประมาณ 1-2 กิโลกรัม โดยใส่แล้วฝังกลบแล้วรดน้ำตามทันทีให้ปุ๋ยละลายจนหมด ข้อนี้หากใส่ปุ๋ยแล้วไม่รดน้ำให้ปุ๋ยละลาย ปุ๋ยก็จะสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

เคยเห็นเกษตรกรบางคนใช้วิธีหว่านปุ๋ยรอฝน คือเมื่อเห็นฝนทำท่าจะตกก็ใส่ปุ๋ยรอ ถ้าฝนตกปุ๋ยละลายหมดก็ไม่เป็นไร แต่บางครั้งใส่แล้วฝนก็ไม่ตกปุ๋ยก็สูญเสีย เหมือนเราหว่านทิ้งหว่านขว้างเสียมากกว่า

ทำใบอ่อนให้เสมอต้น สะสมอาหารให้ใบมีความพร้อมที่สุด
ใบอ่อนควรจะต้องออกมาเสมอกันทั้งต้น

หลังจากมะม่วงแตกใบอ่อนเสมอกันดีแล้ว จะราดสารแพคโคลบิวทราโซลชนิด 10 เปอร์เซ็นต์ อัตราต้นละ 15 กรัม ต่อทรงพุ่ม 1 เมตร ใส่ปุ๋ยทางดินเพื่อเร่งการสะสมอาหาร โดยใช้สูตร 8-24-24 อัตรา ต้นละ 2 กิโลกรัม ทางใบจะฉีดพ่นปุ๋ย สูตร 0-42-56 อัตรา 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร (อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร) ร่วมกับสาร “ไฮเฟต” อัตรา 1 ลิตร สารไฮเฟตจะช่วยยับยั้งการแตกใบอ่อน เร่งการสะสมอาหารได้ดี ต่างจากคนอื่นที่จะนิยมใช้ปุ๋ย 0-52-34 ฉีดพ่นจุดนี้

คุณเจริญ แนะนำว่า ถ้าใช้ปุ๋ย 0-52-34 ในการสะสมอาหารต้องใช้ถึง 10 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วการใช้ปุ๋ย สูตร 0-42-56 จะมีต้นทุนที่ถูกกว่า ในขณะที่ผลผลิตออกมาเหมือนกัน จึงเลือกใช้เพราะเป็นการประหยัดต้นทุน

เมื่อสะสมอาหารได้ประมาณ 3-4 ครั้ง หรือนับจากวันราดสารแล้ว ประมาณ 60 วันขึ้นไป จะเปิดตาดอกโดยใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรต อัตรา 20 กิโลกรัม ร่วมกับไทโอยูเรีย (เช่น ไทเมอร์) อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่นจะทำให้มะม่วงออกดอกสม่ำเสมอ

เมื่อใบแก่สมบูรณ์ มีสีเขียวเข้ม จะเปิดตาดอกได้ง่าย

ในช่วงดอกจะต้องเน้นการดูแลเป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการฉีดพ่นสารโบร่า เพราะจะทำให้มะม่วงติดผลดกและผลมีคุณภาพดี เนื้อแน่นไม่เป็นโพรง ถ้าทำมะม่วงส่งออกต้องเน้นเป็นพิเศษ เพราะต่างประเทศเขาพิถีพิถันเรื่องเนื้อขาดเป็นโพรงมาก

สะสมอาหารดี ดอกจะสมบูรณ์

หลังจากราดสารแล้วจะต้องใส่ปุ๋ยเร่งการสะสมอาหาร สูตรที่ใช้คือ 8-24-24 อัตรา ต้นละ 1-2 กิโลกรัม (ใส่แบบฝังกลบเหมือนเดิม) ส่วนทางใบนั้นจะใช้สูตร นูตราฟอส ซุปเปอร์-เค อัตรา 40 กรัม ผสมกับโฟแมกซ์ แคลเซียมโบรอน อัตรา 10 ซีซี และน้ำตาลทางด่วน (เกรดดี) 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นประมาณ 3 ครั้ง ห่างกันประมาณ 10 วัน ใบมะม่วงจะสมบูรณ์ เขียวเข้ม พร้อมที่จะเปิดตาดอก

หลังราดสารต้องบำรุงอย่างดี เกษตรกรส่วนใหญ่หลังจากราดสารแล้วจะใช้วิธีสะสมอาหารด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบเพียงอย่างเดียว จะเน้นการใส่ปุ๋ยทางดินร่วมด้วย “ปุ๋ยทางดินสำคัญมาก เราต้องดูว่าปีหนึ่งเราเก็บมะม่วงไปจากต้นกี่กิโล ต้นมะม่วงต้องเสียอาหารไปเท่าไร ถ้าเราไม่ใส่คืน ต้นมะม่วงจะเอาแรงที่ไหนออกลูกให้เรา”

มะม่วงออกดอกอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งต้น

การใส่ปุ๋ยทางดิน จะใช้ปุ๋ย สูตร 9-25-25 หรือ 8-24-24 อัตรา ต้นละ 2 กิโลกรัม เน้นใส่ในวันที่มีฝน เพราะที่สวนทางพิจิตรมักจะไม่ค่อยไม่มีระบบน้ำ อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว จึงต้องคอยติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าจะมีฝนตกชุกช่วงวันไหน ก็จะใช้โอกาสวันนั้นเร่งการใส่ปุ๋ย แล้วให้ฝนเป็นตัวละลายปุ๋ย หากใส่แล้วฝนตกน้อย ก็ต้องใช้คนงานรดน้ำให้ปุ๋ยละลายจนหมด การใส่ปุ๋ยที่ดี ต้องรดน้ำให้ปุ๋ยละลายไม่เช่นนั้นก็สูญเปล่า

ส่วนทางใบ จะเน้นการฉีดปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัส กับโพแทสเซียมสูง เช่น ปุ๋ย 0-52-34 หรือซุปเปอร์-เค การฉีดปุ๋ยทางใบจะเริ่มฉีดหลังจากที่ราดสารไปแล้ว ประมาณ 15 วัน สูตรฉีดพ่นปุ๋ยเพื่อการสะสมอาหาร ดังนี้

ช่วงที่มีฝนตกชุก

– ปุ๋ย 0-52-34 1 กิโลกรัม
– เฟตามิน 400 ซีซี
– สังกะสี 100 ซีซี
– โกรแคล 100 ซีซี
– โรคและแมลง ตามการระบาด

( ต่อน้ำ 200 ลิตร)

การใช้ปุ๋ย สูตร 0-52-34 ช่วงฝนตกชุก จะช่วยยับยั้งการแตกใบอ่อนได้ดีมาก แต่ไม่ควรฉีดพ่นติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง เพราะจะทำให้ตายอดของมะม่วงแห้ง และบอดได้ (ถ้าตาบอดจะดึงดอกยาก) การใส่ฮอร์โมนเฟตามิน โกรแคล และสังกะสี ร่วมด้วย จะทำให้ตายอดสดใส เต่งตึง อวบอั๋น ตาไม่บอด

ช่วงที่ฝนน้อย
– ปุ๋ยซุปเปอร์เค 400 กรัม
– เฟตามิน 400 ซีซี
– สังกะสี 100 ซีซี
– โกรแคล 100 ซีซี
– โรคและแมลง ตามการระบาด

( ต่อน้ำ 200 ลิตร)

เมื่อฝนทิ้งช่วงจะเปลี่ยนปุ๋ยโดยให้กลับมาใช้ ซุปเปอร์-เค (6-12-26) เพราะมีไนโตรเจน 6% จะช่วยให้ตายอดสมบูรณ์ ไม่แห้ง หรือบอดง่าย การสะสมอาหารจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน (ในมะม่วงพันธุ์เบา เช่น น้ำดอกไม้ ฟ้าลั่น เพชรบ้านลาด) การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบจะฉีด 4-5 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

ดึงดอกอย่างไร ให้ออกทั้งต้น

ถ้าเราทำใบอ่อนได้เสมอ ใส่ปุ๋ยถูกช่วงเวลา บำรุงรักษาใบดีมาตลอด โอกาสดึงดอกให้ออกมาพร้อมกันจะสูงมาก ส่วนใหญ่ชาวสวนจะดูองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ก่อนดึงดอก เช่น อายุหลังราดสาร ต้องไม่น้อยกว่า 60 วัน (มะม่วงพันธุ์เบา)

ช่วงเวลาของการตัดแต่งเป็นตัวกำหนดอย่างหนึ่งของการคาดการณ์ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว

และ 90 วัน สำหรับมะม่วงพันธุ์หนัก ใบมะม่วงแก่ดี เอามือกำแล้วกรอบ ใบหลุบลง ตายอดนูน พร้อมดึง ถ้าใบยังไม่พร้อม หรือมีใบอ่อนแตกออกมาขณะสะสมอาหาร อย่ารีบร้อน ให้ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบสะสมอาหารจนกว่าใบจะพร้อม จึงเปิดตาดอก ดูสภาพอากาศ ฝนต้องทิ้งช่วงนิด ดินไม่ชุ่มน้ำเกินไป เพราะหากเปิดตาดอกขณะฝนตกชุก โอกาสเป็นใบอ่อนสูง

เปิดตาดอกในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม

ปกติแล้วเราจะเปิดตาดอกมะม่วงหลังจากราดสารแล้วประมาณ 45 วัน ในการเปิดตาดอกเกษตรกรหลายรายนิยมใช้สารไทโอยูเรียในปริมาณที่สูง การออกดอกจะเร็วและออกดอกมาก แต่บางครั้งพบว่าแม้จะใช้สารไทโอยูเรียในปริมาณที่สูงดอกมะม่วงก็ยังไม่ออก หรือออกก็พบปัญหาดอกไม่สมบูรณ์

ในส่วนนี้คุณพนมแนะนำให้ใช้โพแทสเซียมไนเตรต อัตรา 400 กรัม ผสมกับไทโอยูเรีย อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ส่วนเกษตรกรบางท่านอาจจะใส่ฮอร์โมนจำพวกสาหร่ายสกัดก็สามารถใส่เพิ่มได้

ใบมะม่วงแก่ จับแล้วกรอบ พร้อมฉีดเพื่อดึงดอก

การใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรตในการเปิดตาดอกจะทำให้ดอกออกเสมอและสมบูรณ์กว่า ถ้าเกษตรกรท่านใดมีปัญหามะม่วงออกดอกยากลองใช้วิธีนี้ดู รับรองได้ผล  กรณีเปิดตาดอกแล้วเป็นใบ สามารถแก้ไขได้ แต่ใบอ่อนที่ออกมาต้องมีความยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร หรือยังไม่คลี่ใบ ให้ใช้

ครั้งที่ 1
– ปุ๋ย 10-52-17 500 กรัม
– ไฮเฟต 500 ซีซี

( ต่อน้ำ 200 ลิตร)
ฉีดพ่นโดยห้ามใส่อาหารเสริม จำพวกสาหร่าย-สกัด หรือจิ๊บ โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้มีปริมาณใบอ่อนออกมามาก จากนั้นเว้น 3 วัน แล้วซ้ำด้วย สูตรที่ 2

ครั้งที่ 2
– ปุ๋ย 10-52-17 500 กรัม
– ไฮเฟต 300 ซีซี

( ต่อน้ำ 200 ลิตร)
หลังฉีด ครั้งที่ 2 เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของตาใบอย่างชัดเจน ใบจะหยุดนิ่งแล้วเริ่มแตกใบเพื่อเปลี่ยนเป็นตาดอก สูตรนี้เกษตรกรจำนวนมากใช้แล้วได้ผลดี แต่ต้องดูว่าความยาวของตาใบ ต้องไม่เกิน 1 เซนติเมตร จะได้ผลดีที่สุด