ลางสาดอุตรดิตถ์ ผลผลิตทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า

จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษลับแล ว่า ลางสาด เป็นผลไม้ตามธรรมชาติมาจากต่างถิ่น แถบแหลมมลายู ภาคใต้ของไทย มีนายพรานเข้าป่าล่าสัตว์ พบนก หนู ค้างคาว และสัตว์ป่าต่างๆ เก็บผลกิน นายพรานจึงทดลองกินบ้าง ติดใจในรสชาติ และเห็นว่าไม่เป็นอันตราย จึงเก็บผลและเมล็ด มาปลูกในบ้าน ต่อมาได้แพร่ขยายพันธุ์ในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องทั่วไป

ตำนาน “ลางสาดลับแล”

เล่าว่า เมื่อกว่า 200 ปี “หลวงพิบูล” เจ้าเมืองลับแลสมัยนั้น เป็นคนที่เกิดที่บ้านนาโป่ง ตำบลฝายหลวง สมัยไปติดต่อราชการบางกอกเมืองหลวง ล่องเรือตามน้ำไป ตอนเข้าประชุมข้อราชการ มีเจ้าเมืองจากทางใต้ เอาลางสาดมาแจกใช้ชิม เป็นการผูกไมตรี และแนะนำผลผลิตเกษตร

หลวงพิบูลเจ้าเมืองลับแล เป็นคนหนึ่งจากแดนเหนือ ที่ได้ชิมลางสาดแล้วติดใจ ด้วยท่านเป็นคนที่สนใจไม้ผล พืชผลต่างๆ จึงได้นำเอาเมล็ดลางสาด กลับมาเพาะปลูกที่ลับแลตอนเหนือ ตั้งแต่บ้านเกิดท่าน บ้านนาโป่ง ตำบลฝายหลวง ขึ้นไปจนสุดเขาน้ำตกแม่พูล ออกถึงตำบลนานกกก ข้ามเขาพลึง แพร่ขยายไปทั่ว

จากบ้านเจ้าเมือง สู่บ้านเจ้าขุนมูลนาย ถึงชาวบ้าน มีที่ว่างตรงไหนก็ปลูกกันทั่วไป เลือกปลูกตามชอบใจ สภาพภูมิอากาศมันให้เหมาะที่ปลูกแล้วได้ผลดี จนถึงสมัย “หลวงเทพ” บุตรหลวงพิบูล ขึ้นเป็นเจ้าเมืองลับแล ยิ่งเร่งขยายพันธุ์ลางสาดปลูกต่อ โดยขุดถอนจากต้นที่ขึ้นใหม่ตามโคนต้นลางสาดที่ร่วงหล่น หรือเอาเมล็ดไปเพาะบ้าง ปลูกขยายกันทั่วไป

เมืองลับแล เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น เพราะเป็นแหล่งเดียวในภาคเหนือที่มีการปลูกลางสาด ลางสาดเป็นผลไม้ที่มีรสชาติแปลก หอมหวาน ไม่เหมือนผลไม้ชนิดใดเลย มียางมากหน่อย แต่ไม่เป็นปัญหา ของอร่อยใครก็อยากชิมรส

ยุคสมัย รัชกาลที่ 5 เมืองลับแล ได้มีนายอำเภอเป็นผู้ปกครองเมืองแทนเจ้าเมือง คือ “พระศรีพนมมาศ” เป็นนายอำเภอคนแรก ซึ่งนายอำเภอท่านนี้ มีบ้านอยู่ที่บ้านยางกะได คือเขตเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ในขณะนี้ ท่านได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพทำสวนผลไม้เป็นอย่างมาก มีการเกณฑ์ชาวบ้านให้ปลูกผลไม้นานาชนิด โดยเฉพาะลางสาด มีการพัฒนาระบบน้ำ เป็นฝายกั้นน้ำลำห้วย “ฝายหลวง” คือผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ การสร้างฝายหลวง ต้องเกณฑ์แรงงานประชาชนมาทำงานจำนวนมาก และเป็นงานที่ยากลำบาก เพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำทำการปลูกพืชผลต่างๆ

ขณะเดียวกัน มีการตั้งกฎระเบียบว่า ใครที่ไม่ปลูกต้นหมากรากไม้ คอยแต่เก็บหาของกินจากป่า จับได้ต้องถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานทำฝายหลวง ชาวบ้านนอกจากใจรัก ที่จะปลูกต้นไม้ต่างๆ แล้ว และโดนบังคับด้วย จึงต้องปลูกต้นไม้ ที่ไหนว่าง จับจองที่ป่า มีตัดโค่นต้นไม้ ต้องปลูกลางสาดแทนที่

ที่ตรงไหนบนเขาบนดอยที่เห็นว่างๆ ใช้ “คันสุน” หรือคันกระสุน ซึ่งเป็นเครื่องมือล่าสัตว์ชนิดหนึ่งรูปทรงคล้ายคันธนู แต่ใช้ยิงด้วยลูกหิน หรือลูกดินปั้นกลมๆ เล็กๆ พอเหมาะ ยิงเมล็ดลางสาด หรือลูกไม้ต่างๆ เข้าไปในป่าบนเขาบนดอย ให้ไปขึ้นเป็นต้นใหม่ สวนผลไม้บนดอยลับแล ถึงได้เป็นสวนที่ต้นไม้ปะปนกัน ทั้งไม้ป่า ไม้ปลูก หลายชนิด ขึ้นไม่เป็นระเบียบนัก

ลางสาดลับแล ของดีเมืองอุตรดิตถ์

เมื่อกว่า 60 ปี มาแล้ว ลางสาดลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีชื่อเสียงมาก และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จนจังหวัดอุตรดิตถ์ มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก” อำเภอลับแลได้มีการจัดประกวดลางสาดหวานเป็นประจำทุกปี

จัดเป็นเทศกาลลางสาดของอำเภอลับแล มีการประกวด ออกร้านจำหน่าย แข่งขันการกินลางสาด เปิดให้ชม ชิม ซื้อกันเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ประจำอำเภอลับแล คนไปเที่ยวชมงานลางสาดลับแลกันมากมาย นั่นหมายถึงได้มาเที่ยวเมืองอุตรดิตถ์ด้วย

ปี 2528 สมัย ดร.ธวัธ มกรพงษ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้พิจารณาร่วมกับ กรมการเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอลับแล ยกระดับงานประกวดลางสาดหวานเมืองลับแล ขึ้นมาจัดระดับจังหวัด เป็นงาน “เทศกาลลางสาดหวานและของดีเมืองอุตรดิตถ์” มีการจัดงานยิ่งใหญ่ 7 วัน 7 คืน มีการออกร้านนิทรรศการ จำหน่ายลางสาดและสินค้าต่างๆ มีมหรสพ การแสดง การละเล่นต่างๆ จัดเป็นงานเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดอุตรดิตถ์

โดยการสนับสนุนงานด้วยดีจากเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งมี คุณสุนันท์ สีหลักษณ์ นายกเทศมนตรีเมืองอุตรดิตถ์ หรือ “เสี่ยยู้” ตำนานผู้ยิ่งใหญ่อยู่อย่างพอเพียงของเมืองอุตรดิตถ์ สมัยนั้น การจัดงานเทศกาลลางสาดหวานฯ ซึ่งขณะนี้เปลี่ยนชื่องาน เป็น “งานเทศกาลลางสาด ลองกองหวาน และสินค้าโอท็อป จังหวัดอุตรดิตถ์” ก็ยังคงความเป็นงานเทศกาลที่ดึงดูดความสนใจ และมีผู้คนคอยติดตามชมงานอยู่ตลอดมา โดยเฉพาะ การประกวดลางสาดหวาน ยังเป็นที่นิยมชมชอบ ตรึงใจคนชมเป็นอย่างยิ่ง

ทำเลไหน “ทากชุกชุม” ปลูกลางสาดได้ผลดี

ถิ่นกำเนิดเดิมของลางสาด เป็นไม้ป่าพื้นเมืองในเขตร้อน แถบหมู่เกาะมลายู อินโดนีเซีย ชวา ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยเรานี่แหละ ในประเทศไทยพบว่ามีที่บ้านสิโป ตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และขยายปลูกออกไป หรือแพร่ขยายกระจายออกไปด้วยวิธีต่างๆ อาจจะเป็นการนำพาโดยสัตว์หรือมนุษย์ แพร่ไปทั่ว

แต่ต่อมาหลังๆ การคมนาคมเส้นทางไปมาสะดวกขึ้น ก็มีการนำเอาไปปลูกกระจายมากขึ้น จากไม้ป่ามาเป็นไม้บ้าน แพร่ไปจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้แถบฝั่งทะเลตะวันออก ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา ปัตตานี และพื้นที่จังหวัดนราธิวาสถิ่นเดิมต้นกำเนิดเอง จนกระจายไปสู่ภาคอื่นๆ เช่น ตะวันออก จันทบุรี ระยอง ตราด ปราจีนบุรี ขึ้นเหนืออุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พะเยา ด้วยเพราะสภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมคล้ายคลึงกัน ปริมาณความชื้นพอๆ กัน โดยเฉพาะจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นถิ่นใหญ่สุดในภาคเหนือที่ปลูกลางสาด เป็นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผลไม้ประจำเมืองอุตรดิตถ์ เลยทีเดียว

ลางสาดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lansium domesticom corr. หรืออีกชื่อ Aglaia domesticom pelleg ชื่อสามัญหลายชื่อ Langsard,Lansome และ Lanzon เป็นไม้ผลตระกูลเดียวกันกับลองกอง หรือลอก็อง ดูกู หรือลูกู คือตระกูล Maliaceae มีลักษณะเปลือกบาง ผิวเปลือกเรียบ ทรงผลกลม ผลอ่อนนุ่ม

เมื่อแกะจะมียางมาก ยางรสขม ผลสุกสีเหลืองอ่อน มี 1-2 เมล็ด เนื้อสีขาวขุ่นและขาวใส เมื่อดิบเปรี้ยว เริ่มแก่ผลยังติดพวงมีรสหวานอมเปรี้ยว แก่จัดรสหวานหอม มีกลิ่นพิเศษในตัว เนื้อติดเมล็ด ถ้าเผลอขบกัดโดนเมล็ดสีเขียวเล็กๆ จะมีรสขมมาก ส่วนของใบจะมีสีเขียวกระด้าง ใบก็มีรสขมจัด ลำต้นที่โตแล้วมีผิวเปลือกเรียบ สีน้ำตาลมีจุดลายขาวประปราย

ลางสาด แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ลางสาดพันธุ์พื้นเมือง หรือพันธุ์ทิปปิก้า ซึ่งปลูกกันทั่วไป มีทั้งผลกลมและผลยาวมีจุก ชนิดผลจุกจะมียางน้อย เมล็ดเล็ก เนื้อละเอียด รสชาติดีหอมหวานกว่าผลกลม อีกพันธุ์คือ พันธุ์ขนดก จะเปลือกหนา ยางมาก เมล็ดใหญ่ เนื้อบาง ไม่หวานมากหรือออกเปรี้ยว

ลางสาด เป็นไม้ที่ชอบเจริญเติบโตบนพื้นที่ดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุมาก เช่น พื้นที่ในป่าเขตร้อนชื้นทั่วไป ที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ความชื้นค่อนข้างสูง ที่ได้รับจากร่มไม้ใหญ่น้อยนานาพรรณ

ถ้านำมาปลูกในพื้นที่ราบโล่ง ต้องปรับสภาพแวดล้อมให้เหมือนป่าธรรมชาติเดิม คือต้องให้มีร่มเงาให้มากๆ โดย ทำสวนกล้วย หรือปลูกไม้โตเร็ว มีทรงพุ่มที่พอพรางแสงได้ เช่น เพกา มะรุม ทองหลาง สะตอ ทำเป็นไม้ร่มเงา รักษาความชื้นให้เป็นสวนเย็นก่อนแล้วค่อยปลูกต้นลางสาดแซมแทรกตามระยะต่างๆ ที่ต้องการ

ทางธรรมชาติชาวบ้านว่าไว้ พื้นที่ใดมีตัว “ทาก” พื้นที่นั้นสามารถปลูกลางสาดได้ผลดี เพราะทากเป็นสัญลักษณ์ของความชื้น ที่มีตัวทากคอยเกาะดูดเลือดคน จะเป็นที่มีความชื้นเพียงพอ ชื้นมาก ทากก็ชุกชุม ลางสาดชอบที่แบบนั้น

การปลูกลางสาด

การปลูกลางสาด แนะนำให้ปลูกในระยะ 6×6 เมตร พื้นที่ 1 ไร่จะได้ 38-44 ต้น ขุดหลุมกว้างยาวลึก 50 เซนติเมตร ปรุงแต่งดินในหลุมด้วยปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก ต้นพันธุ์ส่วนใหญ่จะใช้การเพาะกล้าจากเมล็ด อายุกล้า 1-2 ปี จะสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร หรือจะปลูกด้วยกิ่งตอน กิ่งทาบ ก็ได้เพียงแต่จะมีปัญหาระบบราก ปลูกแล้วทำหลักปักยึดให้มั่นคง

โดยทั่วไปจะปลูกด้วยต้นกล้าที่เพาะเมล็ด เพราะระบบรากดี มีรากแก้วที่แข็งแรง และมีโอกาสที่จะเปลี่ยนยอดเป็น “ลองกอง” พืชในตระกูลเดียวกัน แต่มีความโดดเด่นมากกว่าได้

ผลลางสาดอาจจะมีเล็กบ้างใหญ่บ้าง มียางเยอะ ลูกที่เลี้ยงดูตามธรรมชาติ พวงก็เล็ก รสชาติก็ไม่หวาน ตัดมาไว้แค่ 2-3 วัน ร่วงจากพวงหมด ผิวเปลือกเปลี่ยนเป็นดำขี้เหร่ ไม่น่าดูชม ชาวสวนก็ระอา แง่การค้าก็อับเฉา ก็ต้องหาวิธีแก้ไขจุดอ่อนของลางสาดด้านนี้กันต่อไป

ตอนนี้ลางสาดหดหายไปจากพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มากพอดู จากเดิมหลายหมื่นไร่ เหลือ 11,098 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 6,000 ตัน ที่คงมีอยู่ขณะนี้เชื่อว่าจะไม่หมดไปอีก

คุณประโยชน์ของลางสาด ให้ทั้งทางโภชนาการและเภสัช เหนือกว่าผลไม้อื่นมาก จุดอ่อนหรือจุดด้อยของลางสาดมีจริง แต่จุดเด่นจุดดีมีมากมาย ชาวสวนอย่าทอดทิ้ง ประชาชนหันกลับมานิยมกินลางสาดกันตั้งแต่วันนี้ จะมีสิ่งที่ดีดีกลับคืนมา

เมื่อปี 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รวมใจกันจัดสร้าง “ลางสาดทองคำ” น้ำหนักทองคำบริสุทธิ์ 72 บาท ทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ท่าน ที่พระตำหนักไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยังความปลื้มปีติยินดีเป็นล้นพ้น ของพสกนิกรชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ทุกหมู่เหล่าที่ร่วมทูลเกล้าฯ ถวายในครั้งนั้น และยังสามารถชมลางสาดทองคำจำลองได้ที่ ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ขอขอบคุณ คุณพยงค์ ยาเภา โทร. (089) 203-4426 ที่อนุเคราะห์ข้อมูล