“อัลฮัม-เข็มเงิน” ข้าวพื้นเมือง ของดีเมืองสตูล

ข้าวเข็มเงินที่ผลิตในลักษณะข้าวซ้อมมือ

จังหวัดสตูล เป็นแหล่งผลิตข้าวพื้นเมืองหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวเล็บนก ข้าวเฉี้ยง ข้าวบางแก้ว ข้าวหอมจันทร์ ข้าวหอมเหลือง ข้าวสังข์หยด ฯลฯ แต่น่าเสียดายกระแสความนิยมบริโภคข้าวพื้นเมืองมีแนวโน้มลดลง เหลือแค่ร้อยละ  25-30 เท่านั้น หากไม่ร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้ให้เป็นมรดกลูกหลาน ในอนาคตพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเหล่านี้ก็คงจะเหลือแต่ชื่อเท่านั้น

ข้าวอัลฮัม

บ้านเกตรี มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่หายากอยู่ชนิดหนึ่ง ชื่อว่า ข้าวอัลฮัมดุลิลละฮฺ มาจากภาษามลายู แปลว่า ขอบคุณพระเจ้า ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกสั้นๆ ว่า ข้าวอัลฮัม ปลูกในพื้นที่ตำบลเกตรี มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ที่ผ่านมา ข้าวอัลฮัม ปลูกกระจายไปถึงพื้นที่จังหวัดพัทลุงแต่ชาวนาพัทลุงกลับเรียกข้าวสายพันธุ์นี้ว่า “ข้าวขาวสตูล”

ข้าวอัลฮัม ถือว่า มีลักษณะพิเศษคือ ทนต่อความเป็นกรดของดินในพื้นที่ภาคใต้ได้ดี เช่นเดียวกับ ข้าวพันธุ์ลูกแดง ข้าวขาวตายก ไข่มด ช่อมุก ดอนทราย ลูกเหลือง ข้าวแดง หมออรุณ รวงยาว สีรวง มัทแคนดุ เป็นต้น ซึ่งข้าวพื้นเมืองในกลุ่มนี้โดยทั่วไปจะมีผลผลิตเฉลี่ยประมาณไร่ละ 15-40 ถัง

ข้าวอัลฮัม

หมู่บ้านเกตรี ตำบลเกตรี อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล โชคดีกว่าแหล่งอื่น เพราะมีแหล่งน้ำสมบูรณ์ จึงสามารถทำนาปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง สำหรับช่วงฤดูนาปี เกษตรกรจะนิยมปลูกข้าวไวแสง ในกลุ่มพันธุ์ข้าวพื้นเมือง คือ ข้าวอัลฮัม หลังจากนั้น ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะเริ่มปลูกข้าวนาปรังโดยใช้พันธุ์ข้าวไม่ไวแสง ที่ภาครัฐส่งเสริม เช่น ข้าวสุพรรณบุรี ข้าวเฉี้ยง เป็นต้น

เทคนิคการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นอยู่กับการเลือกจังหวะการปลูกที่ดีด้วย เพราะข้าวพื้นเมืองจะออกรวงได้ต้องอาศัยแรงอาทิตย์เป็นสำคัญ สำหรับพื้นที่จังหวัดสตูล ช่วงจังหวะที่แสงอาทิตย์ค่อนข้างเยอะ ก็คือ เดือนพฤศจิกายน-มกราคม แต่ชาวบ้านที่นี่จะเริ่มปลูกข้าวอัลฮัมกันล่วงหน้าประมาณ 4 เดือน โดยเริ่มปักดำนาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ใช้เวลาปลูกและดูแลประมาณ 5-8 เดือน และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม-มกราคม ของทุกปี

เดิมที หมู่บ้านแห่งนี้ ชาวนาส่วนใหญ่ปลูกข้าวในลักษณะนาดำเป็นหลัก แต่ระยะหลังเปลี่ยนมาใช้นาหว่านและนาดำอย่างละครึ่ง หากที่นาผืนไหนสามารถควบคุมปริมาณน้ำเข้าออกแปลงนาได้ ชาวนาก็จะปลูกด้วยวิธีนาหว่าน หากไม่สามารถระบายน้ำออกจากแปลงนาได้ ก็จะปลูกด้วยวิธีนาดำ ข้าวพันธุ์นี้ดูแลไม่ยุ่งยาก แค่หว่านปุ๋ยไร่ละ 15 กิโลกรัม ใน 2 ระยะ คือช่วงปักดำเพื่อเร่งให้ต้นข้าวแตกกอและช่วงที่ต้นข้าวเริ่มตั้งท้อง

ผืนนาที่ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง

ข้าวอัลฮัม เป็นข้าวขาว ที่มีรสชาติหวานมัน มีคุณค่าทางอาหารสูง ปลูกง่าย ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช ทุกวันนี้ชาวบ้านนิยมแปรรูปข้าวอัลฮัมในลักษณะข้าวกล้องเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนแล้ว ยังจำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจ ในราคากิโลกรัมละ 30 บาท เท่านั้น เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้อยู่ติดชายแดน จึงสะดวกต่อการขนส่งข้าวที่ปลูกได้ในท้องถิ่นไปขายในประเทศมาเลเซียอีกด้วย

ในอดีต หมู่บ้านแห่งนี้ เคยปลูกข้าวพื้นเมืองหลายชนิด เช่น ข้าวเข็มเงิน รวงยาว ฯลฯ แต่ขาดการดูแลพัฒนาสายพันธุ์ข้าวทำให้เกิดปัญหาข้าวกลายพันธุ์ ปลูกแล้วได้ผลผลิตต่ำ ชาวบ้านจึงเลิกปลูก เหลือแต่สายพันธุ์ข้าวอัลฮัมที่ยังปลูกกันอย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวชนิดนี้ ชาวบ้านจึงร่วมมือกันจัดทำแปลงผลิตและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองประจำหมู่บ้าน เพื่อรักษาสายพันธุ์ข้าวอัลฮัมให้อยู่กับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว     

ข้าวเข็มเงิน

พื้นที่อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ยังมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอีกชนิดเรียกว่า “ข้าวเข็มเงิน” ซึ่งชาวบ้านควนโดน ตระหนักถึงคุณค่าของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองชนิดนี้ จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตข้าวซ้อมมือ ชุมชนสะพานโยง หมู่ที่ 1 ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล 91160

ข้าวเข็มเงิน ที่ผลิตในลักษณะข้าวซ้อมมือ

ข้าวเข็มเงิน มีลักษณะเมล็ดเล็ก เรียว เหมือนเข็ม คนรุ่นก่อน จึงเรียกข้าวชนิดนี้ว่า เข็มเงิน ข้าวชนิดนี้มีรสชาติอร่อย เมื่อนำไปหุงจะนุ่ม หอม อร่อย ไม่แพ้ข้าวหอมพันธุ์อื่นๆ ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ ปลูกข้าวเข็มเงินในลักษณะนาปี มีเนื้อที่ปลูกเพียงแค่ 10 ไร่ เท่านั้น ส่วนใหญ่ปลูกไว้รับประทานในครัวเรือน เพราะข้าวเข็มเงินมีผลผลิตต่อไร่ในปริมาณน้อย แค่ไร่ละ 60 ถัง เท่านั้น เมื่อเหลือจากการรับประทานในครอบครัว ชาวบ้านจึงค่อยนำออกมาจำหน่ายในท้องตลาด

ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำในการเพาะปลูก ทำให้ทุกวันนี้ ชาวบ้านปลูกข้าวเข็มเงินได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเข็มเงินได้แล้ว กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรก็จะนำมาแปรรูปเป็นข้าวซ้อมมือ และข้าวกล้องตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ใช้ครกกระเดื่องในการสีข้าวแบบโบราณ ข้าวที่ผ่านการแปรรูป จะนำมาขาย ในราคากิโลกรัมละ 35 บาทเท่านั้น ไม่แพงเลย