“โนนเขวาโมเดล” ต้นแบบแปลงใหญ่กลุ่มเกษตรกรทำสวน ใช้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” สร้างรายได้ยั่งยืน

“นโยบายเกษตรแปลงใหญ่” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน ตั้งแต่ ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยไม่จำเป็นต้องมีแปลงติดต่อกัน แต่อยู่ในชุมชนเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน เพื่อลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพผลผลิต เพิ่มโอกาสด้านการแข่งขัน ผ่านตลาดและการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ เกิดการยกระดับอาชีพและรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน สำหรับ ปี 2561 มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมการเกษตรแบบแปลงใหญ่กว่า 277,127 ราย จำนวน 3,724,607 ไร่ แบ่งเป็น 11 กลุ่ม ได้แก่ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น พืชผัก สมุนไพร เป็นต้น

“โนนเขวาโมเดล” ต้นแบบแปลงใหญ่ปลูกผัก

เกษตรกรในพื้นที่บ้านโนนเขวา หมู่ที่ 3 ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ทำนาเป็นอาชีพหลัก และปลูกผักเป็นอาชีพเสริม ภายหลังเกิดภาวะวิกฤตน้ำท่วม ในปี 2554 เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาปลูกผักมากขึ้น เนื่องจากใช้เวลาปลูกเก็บเกี่ยวน้อยกว่าการปลูกข้าว แถมขายผลผลิตได้ราคาสูงกว่าการขายข้าว

แต่การปลูกผักของเกษตรกรในชุมชนนี้ยังมีลักษณะการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว เพราะเกษตรกรปลูกผักเพียงแค่ชนิดเดียว ทำให้สินค้าไม่มีความหลากหลาย โรคและแมลงศัตรูพืชเข้ามาทำลายพืชผักที่ปลูกได้ง่าย เกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลงในปริมาณที่มาก เพื่อให้ผลผลิตจำหน่ายเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น เสี่ยงต่อปัญหาสารเคมีตกค้าง ทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภค

กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักบ้านโนนเขวา จังหวัดขอนแก่น

ในปี 2558 เกษตรกรบ้านโนนเขวา กว่า 43 ราย ลดพื้นที่การทำนา และหันมารวมกลุ่มผู้ปลูกผักเป็นอาชีพหลัก เนื้อที่รวม 300 ไร่ ตามคำชักชวนของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ตามนโยบายรัฐบาล ที่ส่งเสริมชาวบ้านลดพื้นที่นาปรัง และหันมาปลูกพืชอื่นทดแทน ตามหลัก Zoning by Agi-map เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีความเหมาะสมต่อการทำนา

ในระยะแรก กลุ่มผู้ปลูกผักบ้านโนนเขวา ยังคงใช้สารเคมีในปริมาณมากเพราะขาดองค์ความรู้ด้านการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงจากการใช้สารเคมีเกษตร และมีปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากขายพืชผักได้เฉพาะตลาดในท้องถิ่น ทำให้ขาดอำนาจต่อรองราคาสินค้าเกษตรกับพ่อค้าคนกลาง

กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานภาคี จึงเข้าให้ความรู้ด้านการปลูกผักปลอดสารพิษ จนเกษตรกรเกิดความเชื่อมั่น และเล็งเห็นความสำคัญของการทำเกษตรปลอดภัย หันมาเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน (GAP) ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ทั้ง 43 ราย ต่อมากลุ่มผู้ปลูกผักบ้านโนนเขวา ได้รวมตัวกันจดทะเบียนเป็นกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559

“การตลาดนำการผลิต” ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร

ถึงแม้พืชผักที่กลุ่มเกษตรกรปลูกจะผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP แล้วก็ตาม แต่เจอปัญหาราคาพืชผักไม่แน่นอนและโดนกดราคารับซื้อผลผลิตจากพ่อค้าคนกลาง ประกอบกับชาวบ้านบางรายได้มีปัญหากู้หนี้ยืมสินจากพ่อค้าคนกลางมาลงทุนเพาะปลูก กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานภาคีเครือข่ายจึงสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าร่วมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ประเภทสินค้าพืชผัก และแก้ปัญหาราคาสินค้า โดยใช้นโยบายการตลาดนำการผลิต

พิธีเปิดโรงคัดบรรจุพืชผักผลไม้สด บ้านโนนเขวา
คุณกฤษฎา บุญราช รมว. กระทรวงเกษตรฯ เปิดโรงคัดบรรจุพืชผักผลไม้สด

กรมส่งเสริมการเกษตร ประสานงานกับภาคเอกชน คือ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารห้างเทสโก โลตัส ให้เข้ามารับซื้อพืชผักสดในชุมชน ในราคาเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ห้างเทสโก้ โลตัส พึงพอใจกับผลงานเกษตรกร สั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งสนับสนุนเงินทุนสำหรับใช้ก่อสร้างโรงคัดบรรจุพืชผักผลไม้สด (Packing House) ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัย เพื่อรักษาความสดใหม่ของพืชผักตั้งแต่แหล่งผลิต จนถึงปลายทาง ใช้รถควบคุมอุณหภูมิสำหรับขนส่งจากแหล่งผลิตไปยังศูนย์กระจายสินค้า เทสโก้ โลตัส จังหวัดขอนแก่น เพื่อกระจายไปยังสาขาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งมอบผักสดคุณภาพสูงให้กับลูกค้าต่อไป

คุณสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส (คนกลาง) เยี่ยมแปลงปลูกผัก
รถห้องเย็น รับผักจากเกษตรกรไปยังศูนย์กระจายสินค้า เทสโก้ โลตัส ขอนแก่น

คุณสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารห้างเทสโก้ โลตัส กล่าวชื่นชมกลุ่มผู้ปลูกผักบ้านโนนเขวา ที่มีการรวมตัวอย่างเข้มแข็ง ช่วยกันพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้ “โนนเขวาโมเดล” กลายเป็นต้นแบบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของภาครัฐ

ตลอดจนการประสานงานร่วม “ประชารัฐ” ระหว่างรัฐและ เทสโก้ โลตัส ที่เข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานด้วยการรับซื้อผักทั้งหมด ซึ่งได้มาตรฐาน GAP เพื่อวางจำหน่ายในร้านค้าของ เทสโก้ โลตัส 98 สาขา ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยให้ผู้บริโภคมีโอกาสซื้อผักสดคุณภาพดี ปลอดภัย ในราคาที่เอื้อมถึงได้ทุกวัน

ที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส ได้มอบงบสนับสนุนจำนวน 1 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับจัดซื้อปัจจัยการผลิต อาทิ เมล็ดพันธุ์ผักและปุ๋ย หลังจากนั้น กลุ่มเกษตรกรได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ และเทสโก้ โลตัส สำหรับก่อสร้างโรงคัดบรรจุพืชผักผลไม้สด (packing house) เพื่อใช้โรงคัดบรรจุแห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลผลิต ขณะเดียวกันเกษตรกรในละแวกใกล้เคียงทั้งในจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม สามารถรวบรวมพืชผักมาส่ง ณ โรงคัดบรรจุแห่งนี้อีกด้วย

ในอนาคต เทสโก้ โลตัส มีแนวคิดที่จะนำ “โนนเขวาโมเดล” ไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดอื่นๆ เช่น อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อไป เพราะอยู่ใกล้กับศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้ โลตัส สามารถใช้รถควบคุมอุณหภูมิขนส่งพืชผักสดจากศูนย์กระจายสินค้า ไปยังสาขาต่างๆ ได้ภายใน 1 วันเท่านั้น

คุณอภิสิทธิ์ ชุมยางสิม ประธานกลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกผักปลอดภัยบ้านโนนเขวา

ด้าน คุณอภิสิทธิ์ ชุมยางสิม ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัยบ้านโนนเขวา กล่าวว่า ปัจจุบัน มีสมาชิกผู้ปลูกผัก 93 ราย เนื้อที่พื้นที่ 370 ไร่ ปลูกพืชผัก 9 ชนิด ได้แก่ คะน้าต้น คะน้ายอด กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ขึ้นฉ่าย ผักชีไทย ใบกะเพรา ผักกาดหอม ต้นหอม โดยผักทุกแปลงผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP เดิมมีรายได้จากการจำหน่ายผักให้เทสโก้ โลตัส สัปดาห์ละ 5-8 ตัน มูลค่า 172,000 บาท แต่ใน 6 เดือนที่ผ่านมา มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย สัปดาห์ละ 13 ตัน สร้างรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ชุมชนแล้วกว่า 1,354,528 บาท

ปลูกผักส่งห้าง ขายได้วันละ 2,000 บาท

คุณลุงคำปั่น โยแก้ว สมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัยบ้านโนนเขวา เล่าว่า ลุงยึดอาชีพปลูกผักมานาน เพิ่งจะรู้ว่าการปลูกผักเพื่อทำธุรกิจ กับการปลูกผักเพื่อขาย มันไม่เหมือนกัน ตอนที่ เทสโก้ โลตัส เข้ามารับซื้อผักจากชาวบ้านในหมู่บ้านโนนเขวา เป็นครั้งแรกที่พวกเราได้เรียนรู้เรื่องการวางแผนการเพาะปลูกตามยอดสั่งซื้อ ได้มีการตกลงราคาผลผลิตล่วงหน้า เรียนรู้เรื่องการไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต และปลอดภัยกับทั้งเกษตรกรเองและคนกินผักไปพร้อมๆ กัน

คุณลุงคำปั่น เปิดใจเรียนรู้การเกษตรรูปแบบใหม่จาก เทสโก้ โลตัส พร้อมชักชวนเพื่อนเกษตรกรในหมู่บ้านมาเรียนรู้ร่วมกัน พวกเขารวมกลุ่มกันปลูกผักแปลงใหญ่ เพื่อกระจายยอดสั่งซื้อสู่เพื่อนชาวสวนสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพร่วมกัน ทุกวันนี้กลุ่มเกษตรกรบ้านโนนเขวาส่งผัก 9 ชนิด ขายยัง เทสโก้ โลตัส ทั่วภาคอีสาน ประมาณ 11 ตัน ต่อสัปดาห์

คุณลุงคำปั่น โยแก้ว ต้นแบบเกษตรกรบ้านโนนเขวา จังหวัดขอนแก่น

กลุ่มเกษตรกรเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบ รับผิดชอบในยอดการสั่งซื้อ และรักษามาตรฐานคุณภาพผักปลอดภัย ซึ่งชาวโนนเขวาได้ผ่านการอบรมการตรวจสอบสารเคมีหลังเก็บเกี่ยวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนตรวจสอบในเบื้องต้นได้

“เทสโก้ โลตัส สั่งซื้อผักจำนวนมาก ครั้งละ 300 กิโลกรัม ชาวบ้านจึงแบ่งกันปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตตามยอดสั่งซื้อ โดยเทสโก้ โลตัส ส่งรถห้องเย็นมารับสินค้าทุกวันจันทร์ พุธ พฤหัส เสาร์ ปัจจุบัน ตัวผมเองปลูกผักบนพื้นที่ 4 ไร่ มีรายได้ตกวันละ 2,000 บาท ในการขายผักให้กับ เทสโก้ โลตัส” คุณลุงคำปั่น กล่าวในที่สุด