ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ เชียงใหม่ หนุนเกษตรกรปลูกพลับแทนฝิ่น

ผลไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่สูงทางภาคเหนือมีหลากหลายชนิด ซึ่งพลับเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรบนพื้นที่สูงนิยมปลูก  ดังเช่น บ้านแม่แฮ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับการส่งเสริมการปลูกจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ เพื่อสร้างรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ เริ่มมีการปลูกพลับมาตั้งแต่ ประมาณ พ.ศ. 2470 แต่การปลูกพลับเป็นการค้านั้น เริ่มจากมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นำพลับพันธุ์ต่างๆ มาทดลองปลูกและศึกษาวิจัยเมื่อ พ.ศ. 2512 ที่สถานีวิจัยดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ และส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูกเป็นอาชีพทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ปลูกพลับส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในพื้นที่โครงการหลวง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง จ.เชียงราย

สวนพลับของเกษตรกร

พันธุ์พลับที่ปลูกในประเทศไทย มีทั้งชนิดพลับฝาด ผลจะมีรสฝาด ตั้งแต่ระยะผลพลับยังอ่อนจนถึงผลแก่แต่ยังไม่สุกนิ่มเพราะมีสารแทนนินชนิดละลายน้ำได้ เป็นส่วนประกอบอยู่ โดยปกติผลพลับฝาดจะมีปริมาณแทนนิน อยู่ 0.80-1.94 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักผล เมื่อรับประทานดิบๆ จะทำให้เซลล์ของแทนนินแตกเกิดรสฝาดและเหนียวติดปาก ในทางการค้าจะนำไปผ่านกระบวนการขจัดความฝากในขณะที่ผลแก่แต่ยังไม่สุกนิ่มเพื่อทำให้สารแทนนินเปลี่ยนไปอยู่ในรูปไม่ละลายน้ำและบริโภคได้ในขณะที่ผลยังแข็งอยู่ ปริมาณสารแทนนินนี้จะมีมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ พันธุ์พลับฝาด ได้แก่ พันธุ์ซือโจ หรือพี 2 พันธุ์ฮาชิยา และโทเนวาเซ่ เป็นต้น

พลับหวาน  ผลจะมีรสหวาน ไม่มีรสฝาด ถึงแม้ว่าผลจะยังไม่สุกนิ่ม เมื่อผลแก่สามารถเก็บจากต้นมารับประทานได้เลย โดยไม่ต้องใช้วิธีการขจัดความฝาด พันธุ์พลับหวาน ได้แก่ พันธุ์ฟูยู พันธุ์จิดร พันธุ์อิซึ และเฮียะคุมะ เป็นต้น

ผลผลิตพลับที่พร้อมเก็บและจำหน่าย

นอกจากพลับจะแบ่งเป็นพลับฝาดและพลับหวาน ยังแบ่งตามชนิดสีเนื้อคงที่ เป็นพลับที่สีของเนื้อคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมีการผสมเกสรจนติดเมล็ดหรือไม่ก็ตาม แต่จะสังเกตเห็นจุดสีเข้มเป็นจุดเล็กๆ ในบางพันธุ์ พลับหวานชนิดสีเนื้อคงที่สามารถรับประทานได้ในขณะที่ผลยังแข็ง

ส่วนพลับชนิดเนื้อสีเปลี่ยนแปลง สีเนื้อของผลจะเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการผสมเกสร จนเกิดเมล็ดโดยเนื้อผลจะเปลี่ยนจากสีเหลืองอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดงบริเวณรอบๆ เมล็ดที่เกิดขึ้น แต่ถ้าการผสมเกสรไม่ดี วนที่ไม่ได้รับการผสมจะไม่มีเมล็ดและเนื้อผลบริเวณนั้นจะมีสีเหลืองอ่อนหรือหากมีเพียงเมล็ดเดียวที่ได้รับการผสมก็จะปรากฏสีน้ำตาลแดงให้เห็นเฉพาะรอบๆ บริเวณเมล็ดเท่านั้น

สำหรับพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้เป็นพันธุ์การค้า คือ พลับฝาด พันธุ์ซือโจ หรือ พี 2 เป็นพลับฝาดชนิดสีของเนื้อคงที่ นำเข้าจากประเทศไต้หวัน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทยต้องการความหนาวเย็นไม่ยายนานนัก ปลูกเป็นการค้าได้ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900 เมตรขึ้นไป ใบแก่ก่อนร่วงจะมีสีส้มแดง ผลมีลักษณะทรงสีเหลี่ยมค่อนข้างแบน เนื้อผลสีเหลืองอ่อน น้ำหนักผลประมาณ 80-140 กรัม ไม่ค่อยมีเมล็ด ติดผลค่อนข้างดก ผลผลิตมีคุณภาพดีมากซึ่งมีสีเหลืองสม่ำเสมอทั้งผลในขณะที่ผลยังแข็งอยู่และหลังขจัดความฝาดแล้วเนื้อผลยังรักษาความกรอบได้ดี ความหวานประมาณ 17 องศาบริกซ์ เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกมากที่สุด ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด

พลับหวาน พันธุ์ฟูยู  เป็นพลับหวานชนิดสีเนื้อคงที่ พันธุ์ที่โครงการหลวงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก มีการนำพันธุ์เข้ามาจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา  นิยมปลูกเป็นการค้าในประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ในประเทศไทยยังมีการปลูกและมีผลผลิตน้อยมาก เพราะเป็นพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตช้ามาก และต้องการอากาศที่หนาวเย็น พื้นที่ที่เหมาะสำหรับปลูกพันธุ์นี้จะต้องมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตรขึ้นไป

นอกจากนี้ยังมีปัญหาขั้วแตก ผลผลิตจึงเสียหายมากเมื่อโดนน้ำฝน ใบพลับพันธุ์ฟูยูมีสีเขียวเข้ม ฐานใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ดอกไม่สมบูรณ์เพศ มีทั้งดอกตัวผู้และตัวเมีย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นดอกตัวเมีย สามารถติดผลได้โดยไม่ต้องผสมเกสร ดอกตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ กลีบดอกสีเขียวอ่อน มองเห็นรังไข่ได้อย่างชัดเจน ผลมีลักษณะกลมแบนเล็กน้อยมี 4 พู มีเมล็ด 2-4 เมล็ด เมื่อสุกผลมีสีเหลืองสดจนถึงอมส้ม รสหวาน เนื้อกรอบ ออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ และเก็บเกี่ยวได้ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม ถึงต้นเดือนกันยายน พลับพันธุ์ฟูยูในประเทศไทยมีน้ำหนักผล ประมาณ 150-200 กรัม

และพลับหวาน พันธุ์เฮียยะคูเมะ เป็นพลับหวานชนิดสีเนื้อของผลเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันมีการปลูกน้อยเช่นกัน เพราะยังติดผลได้ไม่ดีนัก ลักษณะผลค่อนข้างยาวคล้ายรูปหัวใจ และขนาดค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักประมาณ 150-200 กรัม ผลมีสีเหลืองแต่ก้นผลจะมีรอยเส้นเป็นขีดสีดำทำให้ดูไม่สวยงาม แต่คุณภาพในการรับประทานสดดี เมื่อดอกได้รับการผสมเกสรหรือติดเมล็ด สีของเนื้อใกล้ๆ บริเวณที่ติดเมล็ดจะมีน้ำตาลแดงและไม่มีรสฝาด แต่บริเวณที่ไม่มีเมล็ดเนื้อผลจะมีสีเหลืองอ่อนและมีรสฝาดมาก  ซึ่งถ้าดอกได้รับการผสมเกสรไม่ทั่วถึงจะมีการติดเมล็ดน้อย ในผลนั้นจะมีส่วนที่มีรสหวานและรสฝาดอยู่ด้วยกัน ซึ่งลักษณะนี้เมื่อสังเกตจากภายนอกจะไม่ทราบ  ดังนั้นก่อนที่จะนำผลมารับประทานหรือจำหน่าย ต้องนำไปขจัดความฝาด เพื่อความแน่ใจโดยการบ่มด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

คัดเกรดพลับ

นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาทั้งพลับหวาน และพลับฝาด อีกหลายสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ไจแอนท์ฟูยู จิโร อั้งไส ไนติงแกล จากประเทศญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อนำมาปลูกในประเทศไทย

ศูนย์พัฒนาโครงการแม่แฮ ต.แม่นาจร อ.แม่เจ่ม จ.เชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า การปลูกเริ่มต้นจากการเตรียมต้นตอพลับเต้าซื่อหรือต้นที่มีความทนทานโรคและหาอาหารเก่ง อายุประมาณ 6-12 เดือน ขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 12 นิ้ว ความกว้างระหว่างแปลงประมาณ 8-10 เมตร ต่อไร่จะปลูกได้ต้นพลับได้ประมาณ 45 ต้น หลังจากที่ขุดหลุมเรียบร้อยแล้วนำปุ๋ยคอกรองก้นหลุมแล้วนำต้นเต้าซื่อที่เตรียมไว้มาปลูก ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี สามารถเปลี่ยนยอด โดยนำยอดพลับที่คัดเลือกคุณภาพมาแล้วมาเสียบ หลังจากเสียบยอดอีกประมาณ 2-3 ปี พลับจะให้ผลผลิต แต่ในปีแรกผลผลิตที่ได้ยังมีจำนวนน้อย

ส่วนการตกแต่งกิ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ใส่ปุ๋ยคอกรอบต้น ล้างแปลงด้วยปิโตรเลียมออยล์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดเพลี้ยหอย สารเคมี หลังจากนั้น ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ต้นพลับจะเริ่มแตกใบออกพร้อมติดผล มีการฉีดพ่นสารป้องกันเพลี้ยไฟ และใส่ปุ๋ยคอกอีกรอบ  จากนั้นจะใส่ปุ๋ยอีกประมาณ 2 ครั้ง ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต

ตั้งแต่ติดผลจนถึงเก็บเกี่ยวผลใช้ระยะเวลา 5-6 เดือน ประมาณเดือนสิงหาคม – กันยายน  โดยแต่ละต้นเก็บได้ 3 รุ่น แต่ละรุ่นประมาณ 50 กิโลกรัม  เฉลี่ยแล้วต่อต้นในหนึ่งฤดูกาลจะเก็บได้ประมาณ 150-200 กิโลกรัม ภายหลังที่เก็บเกี่ยวแล้วจะคัดขนาดและสีผิวให้ได้คุณภาพที่ดีใส่ถุงพลาสติกใสแล้วอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถนำมาจำหน่ายได้ โดยการบ่ม จะใช้เวลา 4-6 วัน หลังจากที่ใส่ก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถรับประทานได้ ซึ่งจะไม่มีรสชาติฝาด ในกรณีที่พลับยังฝาดอยู่เนื่องจากว่าการเปิดถุงพลับเพื่อรับประทานอาจจะเปิดก่อนกำหนดที่ความฝาดจะหมด สำหรับราคาพลับประมาณกิโลกรัมละ 20-25 บาท

นอกจากที่ทางศูนย์ฯ จะทำการวิจัยและปลูกภายในศูนย์ฯ ยังส่งเสริมให้กับเกษตรกร โดยจัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้เกษตรกรที่สนใจได้เข้ามาศึกษา ซึ่งทำให้เกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการปลูกพลับ ที่สามารถเป็นศูนย์เรียนรู้ต่อยอดจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮได้อีกส่วนหนึ่ง เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจจากที่อื่นๆ มาศึกษาเรียนรู้ต่อไป

ผู้สนใจ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิโครงการหลวง โทร.0-5381-0765–8 โทรสาร 0-5332-4000 หรือ อีเมล์ [email protected]