แนะวิธีป้องกัน ปัญหาภัยแล้งในภาคเกษตร

ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในการทำการเกษตร เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดในการปลูกพืช ถ้าพืชขาดน้ำเป็นระยะเวลานาน อันเนื่องมาจากขาดแคลนน้ำหรือฝนทิ้งช่วง จะทำให้พืชเกิดอาการเหี่ยวเฉาถาวรและตายในที่สุด เกษตรกรจะไม่ได้รับผลผลิตและขาดรายได้

การป้องกันและแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ต้องวางแผนป้องกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว และหาทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยมีมาตรการป้องกันและแก้ไขประกอบด้วย

1.การจัดการดิน เพื่อรักษาความชื้นในดินไม่ให้เกิดการสูญเสียน้ำหรือขาดน้ำเป็นระยะเวลานาน โดย ไถพรวนดิน ตัดขวางทางเดินของน้ำใต้ดินลดการคายน้ำ และไถพรวนดินทำแนวกันไฟ และไม่เผาตอซังและคลุมดินด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ฟางข้าว แกลบ ขี้เถ้าแกลบ ขี้เลื่อย หรือพลาสติกคลุมดิน ปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน แล้วสับกลบให้ย่อยเป็นอินทรีย์จะช่วยดูดซับน้ำในดินไว้ได้นาน เช่น นาข้าว หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตควรไถกลบหรือตัดตอซัง และใช้ฟางข้าวคลุมดิน หรือใส่แกลบคลุมดิน ปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบ

พืชไร่ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อกำจัดวัชพืชแล้วทิ้งให้เศษวัชพืชไว้ในแปลง หรือใช้ฟางและพลาสติกคลุมดิน ไม้ผล คลุมโคนต้นด้วยฟาง เปลือกถั่ว เศษใบไม้ใบหญ้า ปลูกพืชตระกูลถั่วรอบบริเวณโคนต้น โดยเริ่มคลุมในช่วงปลายฝนหรือช่วงหน้าแล้ง พืชผัก คลุมด้วยฟางข้าว แกลบสด พลาสติก

2.การจัดการน้ำ ให้เหมาะสมและเพียงพอตลอดฤดูการการเพาะปลูก โดยการขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ปลูกพืช การให้น้ำพืชแบบประหยัด เช่น การให้น้ำระบบหยดน้ำหยดในปริมาณที่เหมาะสม

น้ำหยดช่วยประหยัดน้ำ

3.การจัดการพืช โดยพิจารณาเลือกปลูกพืชที่มีอายุสั้น ใช้น้ำน้อย เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว เช่นถั่วเขียว ถั่วเหลือง และผักชนิดต่างๆเกษตรกรสามารถปลูกและเก็บผลผลิตได้ก่อนที่จะเกิดความเสียหายเนื่องจากขาดน้ำ