แปลงใหญ่ข้าวที่แม่เมาะ ลดต้นทุนได้ไร่ละ 1,000 ผลผลิตเพิ่ม 100 กก.ต่อไร่

นายสงกรานต์  ภักดีคง  รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการติดตามงานส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ที่ได้ดำเนินการโดยใช้ศูนย์เรียนรู้การ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเกษตร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม สามารถช่วยแก้ปัญหาของชุมชนและสามารถตอบสนองประเด็นการพัฒนาในพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร

โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ติดตามงานแปลงใหญ่(ข้าว) ที่ตำบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง พบว่ามีสมาชิกทั้งหมด 200 คน พื้นที่ในโครงการ 1,136 ไร่ เป็นพื้นที่ S3 ทั้งหมด พันธุ์ข้าวที่ปลูกได้แก่ สันป่าตอง 1 , กข 6, ไรซ์เบอร์รี่, มะลิแดง,หอมนิล โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 1 กลุ่ม มีการวิเคราะห์พื้นที่จัดทำข้อมูลรายแปลง  ทั้งนี้ ในการพัฒนาคุณภาพข้าวในรูปแปลงใหญ่ ได้กำหนดเป้าหมายและการดำเนินการตามแผนโครงการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมได้จัดตั้งกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน  ศูนย์ข้าวชุมชน  ศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชน เพื่อให้ความรู้ในเรื่องของการผลิตจนถึงการแปรรูปเพื่อจำหน่าย

รองอธิบดีฯ ได้กล่าวชื่นชมผลการดำเนินงานแปลงใหญ่ (ข้าว) ของที่นี่ ว่ามีผลสัมฤทธิ์ที่ดีมาก คือ 1. สามารถลดต้นทุนการผลิต การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากเดิม 15 กก./ไร่ เป็น 10 กก./ไร่ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี จาก 50 กก./ไร่ เป็น 30 กก./ไร่ โดยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และลดการใช้สารเคมี โดยใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทน ทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมลดลง จาก 5,182 บาท/ไร่ เป็น  4,041 บาท/ไร่ (ลดลงร้อยละ 22)

2.ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากเดิม 494 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 543 กิโลกรัม/ไร่ ที่ ความชื้น 15% (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0) 3. มีการพัฒนาคุณภาพผลผลิต โดยให้ความรู้และตรวจรับรองการผลิตข้าวตามมาตรฐาน Pre GAP 121 ราย GAP 4 ราย ตลอดจนส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เองและจำหน่าย รวมทั้งแปรรูปข้าวเพื่อจำหน่ายของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 4.  ตลาดมั่นคง เพราะมีการทำข้อตกลงซื้อ-ขาย ข้าวเปลือกในราคาสูงกว่าตลาด 200 บาท/ตัน กับโรงสีข้าวในพื้นที่จังหวัดลำปาง(โรงสีทรัพย์ไพศาล) สหกรณ์การเกษตรอำเภอสบปราบรับซื้อข้าวเปลือกในราคาข้าวตลาด และจำหน่ายข้าวแปรรูป (ข้าวสี) ในตลาดชุมชน และจุดจำหน่ายสินค้าทั่วไป

สำหรับแนวทางพัฒนาต่อไปนั้น ทางกลุ่มฯ มีความต้องการเครื่องสีข้าวขนาดกลางเพื่อใช้สำหรับสีข้าวเพื่อจำหน่ายเองเพื่อลดต้นทุนในการแปรรูปเป็นข้าวสาร และยังได้ วัสดุจากการสี ได้แก่ รำข้าว  แกลบ ที่สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย