นาข้าวผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ต ในฐานะเมืองท่องเที่ยว ที่ดินมีราคาแพงมาก เพราะเป็นทำเลทองของการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ แต่ที่นี่ ยังมีการทำนาปลูกข้าวอยู่นะ ชาวบ้านไม้ขาว อำเภอถลาง ชุมชนชายทะเลตอนเหนือของเกาะภูเก็ต ยังคงรักษามรดกวัฒนธรรม วิถีชีวิตกึ่งชนบทได้อย่างดีเยี่ยมภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พวกเขาอนุรักษ์วิถีชีวิตการทำนาเช่นเดียวกับรุ่นปู่ย่าตายาย พวกเขาทำเกษตรแบบเรียบง่าย มีความเอื้ออาทรของวิถีชีวิตแบบไทยๆ ที่ต่างชาติเห็นแล้วชื่นชมด้วยความประทับใจ

บ้านไม้ขาว อำเภอถลาง

“นาผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ต” ตั้งอยู่ หมู่ที่ 4 บ้านไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบัน มีพื้นที่ประมาณ120 ไร่ มี นายเนตร เดชากุล เป็นผู้ริเริ่มรวบรวมเพื่อนบ้านหันกลับมาทำนาข้าว ซึ่งเดิมเป็นนาร้าง โดยเสนอผ่าน นายมาโนช สายทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จัดทำโครงการเสนอทางจังหวัดภูเก็ต เริ่มทำเป็นโครงการเชิงอนุรักษ์อาชีพชาวนาภูเก็ตอย่างจริงจัง ในปี พ.ศ. 2554 ในช่วงที่ ดร. ปรีชา เรืองจันทร์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นจุดเริ่มต้นโครงการ “นาผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ต” ที่เน้น “ปลูกวันแม่เก็บเกี่ยววันพ่อ” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานเปิดงาน และหัวหน้าส่วนราชการผู้นำชุมชน พลังมวลชนและประชาชนในพื้นที่ร่วมงาน มีหน่วยงานในพื้นที่ร่วมจัดนิทรรศการมาอย่างต่อเนื่อง

“เนตร เดชากุล” ผู้ริเริ่มทำนาผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ต

ลุงเนตร เดชากุล เป็นคนภูเก็ตโดยกำเนิด อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 56/2 หมู่ที่ 4 บ้านไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นบุตรของ นายนัด เดชากุล นางข้อย เดชากุล เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนบ้านไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เมื่อลุงเนตรจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เข้าสู่อาชีพรับจ้างทั่วไป กับครอบครัว ทำงานบริษัทเอกชน ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (ยาม) ปฏิบัติที่สนามบินภูเก็ต

ในปี 2535 ลุงเนตรได้สมัครเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษา กับ กศน. อำเภอถลาง ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย จากการศึกษาเล่าเรียนทำให้เขาคิดว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนจะมีเงินใช้เพียงเดือนชนเดือน ถ้าทำอาชีพทางเกษตรหันมาใช้ชีวิตแบบพอเพียงน่าจะมีรายได้เพียงพอและมีเงินเก็บ ลุงเนตรตัดสินใจลาออกจากงาน มาใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9”

ในเดือนแรกที่เขาออกจากงานมาทำอาชีพเกษตรผสมผสาน มีรายได้ 70,000 บาท จึงเกิดความภาคภูมิใจ ยึดมั่นในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำอาชีพทางการเกษตรอย่างจริงจัง พร้อมกับเรียนต่อ กศน. จนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เห็นพื้นนาร้างคนภูเก็ตไม่มีใครทำนาแล้ว เพราะเป็นงานหนักหันไปทำงานสบายเป็นลูกจ้างภาคธุรกิจ จึงเกิดความคิดที่จะฟื้นฟูอาชีพทำนา ในตอนแรกชักชวนเพื่อนบ้านมารวมกลุ่มทำนาข้าว

ในปี 2554  ลุงเนตร ได้ทำโครงการ “ปลูกข้าววันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ” เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต โดยเชิญ ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้นมาเป็นประธาน ซึ่งโครงการนี้จัดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สามารถรักษานาข้าวผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ตไว้ได้ จากเดิมมีพื้นนาประมาณ 70 ไร่ ปัจจุบันมีผืนนามากกว่า 120 ไร่

ลุงเนตร กล่าวว่า “ลุงกับป้ามีที่นาของตนเองเพียง 3 ไร่ เช่าที่นาของเพื่อนบ้านในชุมชนอีก 14 ไร่ รวมพื้นที่นาของลุง 17 ไร่ ในที่ดิน 17 ไร่ ลุงได้แบ่งตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ คือแบ่งเป็นนาข้าว กับพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกพริก ปลูกมะเขือ ตะไคร้ เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ดไข่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และที่ทำใหม่ คือทดลองปลูกเมล่อนญี่ปุ่นในโรงเรือน ถือว่าเป็นการเรียนรู้ของใหม่ ลุงเรียนรู้ตลอดเวลา ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย ประมาณ 20,000 บาท ต่อเดือน เพียงพอกับการดำเนินชีวิต ของที่ปลูกช่วงแรกลุงเอาไปแจกแบ่งกันกินมากกว่า สิ่งตอบแทนกลับมา คือทำให้ลุงขายของได้

ลุงเนตร เอาต้นข้าวใส่กระถางขายโรงแรม กระถางละ 150 บาท ลุงเพาะต้นพริกขาย ต้นละ 20 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่มีเข้ามาเสมอ ถ้าเราดำเนินชีวิตตามแนวทางของในหลวงเราไม่มีทางอดตาย จากเดิมตอนที่ทำงานบริษัท เมื่อเวลาเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องเจ็บป่วยไม่สบาย บางครั้งเรายังไม่สามารถไปเยี่ยมได้ ดูเป็นคนใจดำ เพราะลางานไม่ได้ ออกจากบ้านแต่เช้ากลับถึงบ้านก็ค่ำ กินข้าวเสร็จก็เข้านอนพักผ่อน ชีวิตหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ อย่าหวังว่าจะช่วยเหลือสังคมเลย แค่ในครอบครัวยังไม่ค่อยมีเวลา

อบรมความรู้เศรษฐกิจพอเพียงให้นักศึกษา กศน. อำเภอถลาง

” เมื่อกลับมาทำเศรษฐกิจพอเพียงก็พบเลยว่า เวลาที่เสียไปมันเป็นเวลาของเราอย่างแท้จริง ทำมากขยันมากเราก็ได้มาก แต่ที่สำคัญคือครอบครัวทำแล้วมีความสุข ครอบครัวก็เป็นสุข มีเวลาช่วยเหลือชุมชน…รู้จักคำว่า พอก็เป็นสุขแล้ว…” ลุงเนตร กล่าวในที่สุด